เปิดเอกสารของบฯ วัคซีนโควิด ลงนามโดยอนุทิน ส.ค.63 ระบุชัด ได้เร็ว 1 เดือน ช่วยท่องเที่ยว 2.5 แสนล้าน

ท่ามกลางข้อวิจารณ์จัดหาวัคซีนล่าช้าของ รบ.ไทย ชวนย้อนดูเอกสารของบกลาง 1,000 ล้าน กรณี COVID-19 เมื่อ ส.ค.ปีที่แล้ว ลงนามโดย รมว.สาธารณสุข ระบุชัด 'การมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตฯท่องเที่ยว 2.5 แสนล้าน' ด้าน สธ.แจงอัตราฉีดวัคซีนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้ล้ำกว่าไทย

31 ม.ค.2564 กระบวนการจัดหาและฉีดวัคซีนโควิดสำหรับประเทศไทยถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง หลังจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง สิงคโปร์ อินโดนีเซียและพม่า เริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว โดยเฉพาะพม่าที่ได้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียจำนวน 1.5 ล้านโดสจากรัฐบาลอินเดียภายใต้โครงการบริจาควัคซีนให้ประเทศเพื่อนบ้านก่อน รวมทั้งที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อภิปรายตั้งคำถามเมื่อ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนไทยเป็นการ 'แทงม้าตัวเดียว' เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ และคำถามว่าทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า แม้รัฐบาลจะออกมาตอบโต้ ไปถึงมีการแจ้งจับ คดี ม.112 โดยอ้างว่าการอภิปรายธนาธรมีการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ก็ตาม

หากย้อนกลับไปเมื่อ 25 ส.ค.63 ในเอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ลงนามโดย อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข เป็นต้องวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในลักษณะอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต

ในเอกสารของบประมาณดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า "..เนื่องจากการมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย"

เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง

เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง

เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง

เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง

เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง

โดยงบประมาณดังกล่าว ตามรายงานของเว็บไซต์สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.63 ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ซึ่งมี อนุทิน ร่วมประชุมด้วย ได้มีการรายงานความคืบหน้าแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนไทย ในโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคโควิด 19 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรจากงบกลางปี 2563 โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่

  • การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 365 ล้านบาท  
  • การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท
  • และการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 35 ล้านบาท

สธ.แจงอัตราฉีดวัคซีนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้ล้ำกว่าไทย

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ออกมาตอบโต้ข้อวิจารณ์ความล่าช้าของวัคซีนว่า ในเอเชียขณะนี้มี 3 ประเทศที่ฉีดวัคซีนก่อนไทย คือสิงคโปร์ ฉีดไปร้อยละ 2 ของประชากร อินโดนีเซีย ร้อยละ 0.14 และเมียนมา ร้อยละ 0.13 เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ถือว่า มีการฉีดจำนวนมากกว่าไทย เพราะหากวัคซีนของไทย มาตามกรอบก็ฉีดทันแน่นอน

ส่วนแผนการฉีดวัคซีน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวของข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

  • 1. ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ
  • ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ
  • และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่ มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

ส่วนเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุทิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการจัดการวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 50,000 โดส ที่มีการสั่งซื้อมาจากอิตาลี โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไหร่ แต่อาจไม่สามารถเริ่มดำเนินการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ. แต่คาดว่าวัคซีนคงถึงไทยภายในเดือน ก.พ.แน่ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง และทางอียูจำกัดการส่งออกวัคซีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท