Skip to main content
sharethis

กองทัพพม่าขวางเปิดสภา ยึดจุดสำคัญ ควบคุมตัวอองซานซูจีและแกนนำรัฐบาล อ้างรัฐธรรมนูญ ม.417 ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี ตั้งรองประธานาธิบดีโควตากองทัพ "มิ้นท์ ส่วย" ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เช้านี้วุ่นหนัก ตัดสายโทรศัพท์ ธนาคารปิด ATM ทุกตู้ทั่วประเทศกดถอนเงินไม่ได้

1 ก.พ. 64 สถานการณ์ในพม่าตั้งแต่เช้ามืดวันนี้ กองทัพทหารพม่านำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.กองทัพพม่า ควบคุมตัวอองซานซูจี แกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย และประธานาธิบดีวินมิ้นต์ พร้อมแกนนำรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ

ขณะเดียวกันทหารพม่าควบคุมจุดสำคัญในย่างกุ้ง เนปิดอว์ รวมทั้งเมืองหลวง 7 รัฐ 7 ภาค มีรายงานว่าผู้ว่าการรัฐและภาคของพม่าหลายคนถูกควบคุมตัว

ภาพกองทัพพม่าบุกยึดที่ว่าการภาคพะโค ที่เมืองพะโคหรือหงสาวดีเช้านี้ รวมทั้งควบคุมตัวผู้ว่าการภาคพะโคและแกนนำรัฐบาลท้องถิ่น (ที่มา: DVB)
ภาพกองทัพพม่าบุกยึดที่ว่าการภาคพะโค ที่เมืองพะโคหรือหงสาวดีเช้านี้ รวมทั้งควบคุมตัวผู้ว่าการภาคพะโคและแกนนำรัฐบาลท้องถิ่น (ที่มา: DVB)

 

ในรายงานของสถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า (DVB) เผยภาพกองทัพพม่าบุกยึดที่ว่าการภาคพะโค ที่เมืองพะโคหรือหงสาวดีเช้านี้ รวมทั้งควบคุมตัวผู้ว่าการภาคพะโคและแกนนำรัฐบาลท้องถิ่น

สถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพพม่า ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี (ที่มา: เมียวดีทีวี)
สถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพพม่า ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี (ที่มา: เมียวดีทีวี)
 

ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพพม่าเป็นช่องเดียวที่ยังออกอากาศ ได้อ้างมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และตั้ง มิ้นท์ ส่วย รองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 2 โควตากองทัพ เป็นประธานาธิบดี

แหล่งข่าวที่เมืองท่าขี้เหล็กระบุว่า ตั้งแต่เวลา 01.00 น. มีการตัดสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ผู้คนในเมืองท่าขี้เหล็กทราบข่าวความเคลื่อนไหวกองทัพตั้งแต่เช้ามืด ขณะที่ด่านชายแดนไทยพม่า ทหารพม่าเข้ามาประจำตั้งแต่เวลา 01.00 น. เช่นกัน และตั้งแต่เช้าสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่าที่ด่านท่าขี้เหล็กอยู่ในสภาพเงียบเหงา ในช่วงกลางวันนี้ชาวเมืองท่าขี้เหล็กแห่กักตุนสินค้า สนามบินท่าขี้เหล็กซึ่งสามารถติดต่อเมืองสำคัญในรัฐฉานและพม่าถูกประกาศปิด ธนาคารพาณิชย์ถูกปิดทั้งหมด รวมทั้งด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 ซึ่งปกติใช้ขนส่งสินค้าก็ปิดเช่นกัน

รายงานในบีบีซีพม่าเช้านี้ ระบุด้วยว่า ตู้ ATM ในย่างกุ้งไม่สามารถใช้ได้ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ก็ปิดทำการ

 

นักวิเคราะห์ชี้กองทัพพม่าใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร จับตาสันติภาพชะงัก

คืนใส ใจเย็น ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน S.H.A.N. และสถาบันสันติภาพปิดองสุเพื่อสันติภาพและการเจรจา ให้สัมภาษณ์ประชาไทวันนี้ (2 ก.พ.) ว่าเท่าที่ทราบแกนนำฝ่ายรัฐบาลถูกควบคุมตัวไปหลายคน จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม ส่วนคำแถลงของรักษาการณ์ประธานาธิบดีเช้าวันนี้ คือ การประกาศว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นในพม่า เพื่อควบคุมเหตุการณ์ที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ แต่ไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ตามเดิมถ้ารัฐประหาร ต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วย แต่ครั้งนี้ไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือในสายตาของกองทัพก็คืออ้างตามมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญปี 2008 และเป็นการทำตามที่เคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะปฏิบัติตามค่านิยมของระบอบประชาธิปไตยและตามรัฐธรรมนูญปี 2008 แต่ในสายตาของชาวบ้านหรือทูตต่างประเทศก็มองเห็นอีกอย่าง ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นรัฐประหารทั้งนั้น 

ทีนี้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ต้องประเมินว่านานาชาติจะปฏิบัติต่อพม่า ต่อกองทัพพม่าอย่างไร เมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ปราบปรามประชาชนและยึดอำนาจเมื่อ ค.ศ. 1988 ที่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยกเลิกสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พม่าเหลือเพื่อน 4 คนคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย แต่ครั้งนี้ประเทศเหล่านี้จะมีท่าทีอย่างไรกับพม่า เป็นเรื่องที่สื่อจะต้องถามท่าทีของรัฐบาล

ส่วนกระบวนการสันติภาพ ที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี 2015 และมีการเจรจาสันติภาพต่อเนื่องนั้น คืนใสแสดงความห่วงใยว่ากระบวนการสันติภาพจะอยู่ในภาวะชะงักงันแน่นอน เพราะสำหรับกองทัพพม่า เรื่องกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องรองลงมา เรื่องสะสางปัญหาที่อยู่ในหัวเมืองต่างๆ ของพม่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง 

คืนใสซึ่งก่อตั้งสถาบันเพื่อสันติภาพเสนอว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1988 รัฐบาลทหารพม่าก็กวาดล้างการต่อต้านระบอบเผด็จการตามเมืองต่างๆ หลังจากนั้นจึงตกลงเจรจาสันติภาพและหยุดยิงกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งในเวลานั้นมีทั้งพรรคมอญใหม่ กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น กองทัพสหรัฐว้า กองกำลังโกก้าง กองกำลังเมืองลา ฯลฯ ส่วนศัตรูหมายเลขหนึ่งของกองทัพในปีนี้คงเป็นการต่อต้านของประชาชนตามเมืองต่างๆ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ชายแดน ทั้งนี้ประเมินว่ากองทัพพม่าคงจะพยายามรักษาสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศฉบับปี 2015 เอาไว้ก่อน ยกเว้นกลุ่มที่ลงนามจะประกาศต่อต้านกองทัพพม่า

ส่วนความเคลื่อนไหวของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ลงนามหยุดยิงปี 2015 คืนใสระบุว่าแต่ละกลุ่มได้จัดการประชุมฉุกเฉินในวันนี้เช่นกัน และหลังจากนี้จะมีการแถลงท่าทีออกมา

 

การเมืองพม่าระอุ หลัง ผบ.เหล่าทัพจ่อทำรัฐประหาร, 29 ม.ค. 64

ชนวนวิกฤตกองทัพฮึ่มไม่พอใจผลเลือกตั้ง

(ซ้าย) อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (ขวา) พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า
(ซ้าย) อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (ขวา) พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

 

ชนวนวิกฤตการเมืองพม่า เกิดขึ้นหลังการเจรจาระหว่างตัวแทนจากรัฐบาลพม่าและคณะทหารเหล่าทัพ ที่เนปิดอว์ เมื่อ 28 ม.ค. 2564 ประสบความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มทหารขอให้นับคะแนนผลการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยขอให้นับใหม่ทุกหน่วยเลือกตั้ง ใช้กำลังพลทหารเป็นผู้ช่วยนับคะแนน และเลื่อนการเปิดประชุมสภาซึ่งมีกำหนดเปิด 1 ก.พ. 2564 แต่อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งหมด

การประชุมดังกล่าวสร้างความตึงเครียดทางการเมืองตลอดสัปดาห์ระหว่างกองทัพและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง โดยกองทัพพม่าบอกว่าอาจจะกระทำการบางอย่างหากข้อเรียกร้องไม่บรรลุผล

ขณะที่ตัวแทนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) พรรคที่ตั้งโดยกองทัพซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวหาว่าชัยชนะะที่ถล่มทลายของพรรค NLD ไม่โปร่งใสและมีการทุจริต กองทัพและพรรค USDP จึงออกมาเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จาก กกต.

สำนักข่าวอิระวดีรายงานเพิ่มเติมว่าพบตำรวจหลายกองร้อยออกประจำการทั่วกรุงเนปิดอว์ และมีการยกระดับการรักษาความปลอดภัยรอบบ้านพักคณะกรรมการพัฒนากรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นที่พักของ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งอาศัยอยู่เพื่อรอการประชุมสภาที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2564

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 พบรถถังหุ้มเกราะออกมาประจำการในนครย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ ตามที่ปรากฎภาพบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้ประชาชนว่าอาจเกิดการรัฐประหารขึ้นหลังจากนี้

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า กล่าวในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติและพลทหารในกองทัพเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่หากต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญเพราะมีคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็คงต้องทำ

ทั้งนี้มีแถลงการณ์ของสำนักงานผู้บัญชาการเหล่าทัพพม่าเมื่อ 30 ม.ค. 2564 ปฏิเสธข่าวรัฐประหาร ย้ำจุดยืน “ปกป้องและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 รวมถึงปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น” แต่ก็ปรากฏว่ากองทัพเคลื่อนกำลังออกมาในวันจันทร์นี้

 

แอมเนสตี้เรียกร้องกองทัพปล่อยตัวแกนนำรัฐบาล

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การจับกุมอองซาน ซูจี เจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองคนอื่น ๆ เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง ซึ่งหากไม่มีการตั้งข้อหาต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามความผิดอาญาอันเป็นที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้นโดยทันที  

“กองทัพพม่าต้องชี้แจงว่ามีการใช้ข้อกฎหมายใดในการควบคุมตัวพวกเขา ทั้งยังต้องประกันให้มีการเคารพสิทธิของผู้ถูกจับกุมอย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่ให้มีการปฏิบัติที่โหดร้าย ให้พวกเขาสามารถติดต่อครอบครัวและเข้าถึงทนายความที่ตนเลือกทนายความที่ตนเลือกได้ ต้องสามารถยืนยันว่าอยู่ในที่ใด และต้องได้รับการรักษาพยาบาล  

“นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับประชาชนในพม่า และจะยิ่งทำให้การปราบปรามและการลอยนวลพ้นผิดของกองทัพเลวร้ายยิ่งขึ้น การจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพร้อมกันหลายๆ คน ส่งสัญญาณที่น่ากลัวว่ากองทัพจะไม่ยอมให้บุคคลแสดงความเห็นต่าง ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้   

“การทำรัฐประหารและการปราบปรามครั้งก่อนในเมียนมาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในวงกว้างและการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เราจึงขอเรียกร้องให้กองทัพใช้ความยับยั้งชั่งใจ ปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้   

“อีกทั้งมีรายงานว่ามีการสั่งปิดกั้นการสื่อสาร ซึ่งการกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นภัยคุกคามมากขึ้นต่อประชาชนในช่วงเวลาที่อ่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการต่อสู้กับโรคระบาดในพม่า และในขณะที่ยังมีการทำสงครามในประเทศกับกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพลเรือนในทุกส่วนของประเทศ ดังนั้นทางการจำเป็นต้องมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่อีกครั้งโดยทันที”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net