แรงงานสตรีร้องรัฐขอให้เยียวยาแบบถ้วนหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิตในวิกฤติโควิด-19

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ติดตามข้อเรียกร้องเดิม พร้อมยื่นข้อเรียกร้องใหม่ให้เร่งเยียวยาแรงงานสตรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกร่วมแสดงเพลงสีดาลุยไฟปิดท้าย

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

1 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (1 ก.พ. 2564) เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับเครือข่าย เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือทวงถามมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2563 ในวันสตรีสากล ว่าผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปีมีการดำเนินงานไปขั้นใดแล้วบ้าง นอกจากนี้ ยังยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วนเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่

1. ข้อเรียกร้องรัฐต้องมีมาตรการเรื่องการแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานที่นายจ้างกระทำโดยอ้างเหตุโรคระบาดโควิด-19 รัฐต้องมีมาตรการในการตรวจสอบการเลิกจ้างที่เข้มงวด และมีมาตรการแก้ไข ปราบปราม ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วน ทั้งยังต้องจัดหาอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสากลในการป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และต้องจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น หน้ากากอนามัยให้กับประชาชนทุกคนอย่างเพียงพอและถ้วนหน้า รวมถึงส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงในการเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือในทุกโครงการฯ ที่รัฐบาลจัดทำเพื่อช่วยเหลือแรงงานในสถานการณ์โควิด-19

2. ข้อเรียกร้องเรื่องการเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยรัฐต้องเยียวยาประชาชนทุกคนเป็นเงินสด เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนหรืออินเทอร์เน็ต และต้องจัดหางบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาเยียวยาประชาชน โดยไม่นำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้ รวมถึงจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงานในย่านอุตสาหกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ กล่าวคือ ทุกคนที่มีลูกก่อนปฐมวัยสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษา อุปกรณ์ และอาหาร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิดศูนย์เลี้ยงเด็กระหว่างมีโรคระบาดโควิด-19

3. ข้อเรียกร้องเรื่องการส่งเสริมสิทธิในสุขภาวะและอนามัยเจริญพันธ์สตรี โดยเรียกร้องให้ผลักดันโครงการผ้าอนามัยฟรี กล่าวคือ ผู้หญิงหรือผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องสนับสนุนให้ผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งที่ ปลอดภัย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ทำแท้ง โดยไม่มีการดำเนินคดีอาญาหรือตีตราผู้ทำแท้ง

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

กลุ่มทำทางเรียกร้องสิทธิให้แรงงานสตรี

สุพิชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง เรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ด้วยการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดโทษแก่หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ และแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด ในช่วงโควิด-19 แรงงานหญิงหลายคนต้องตกงานหรือถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานเพราะการตั้งครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์จึงช่วยให้แรงงานหญิงเหล่านี้สามารถทำงานเลี้ยงปากท้องได้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลเปิดบริการ TeleMed หรือการให้คำปรึกษาและจ่ายยาออนไลน์ ซึ่งต้องครอบคลุมถึงการจ่ายยาทำแท้ง วิธีนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาคนไข้กระจุกตัวที่สถานพยาบาลในช่วงโรคระบาด และช่วยป้องกันการขายยาเถื่อนได้อีกด้วย

สุพิชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง

ตัวแทนพยาบาลร้องทุกข์

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายอื่น ๆ ร่วมกล่าวปราศรัยสะท้อนปัญหาและผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 นำโดย พ.ต.ท.หญิงฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย 1 ในเครือข่ายแรงงานสตรีขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบาดของโรคโควิด-19 โดย พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนพยาบาลวิชาชีพต่อจำนวนประชากรไทยอยู่ที่ 1:400 ในขณะที่มาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่ที่ 1:200 สะท้อนให้เห็นว่าพยาบาลไทยซึ่งเกินกว่า 90% เป็นผู้หญิงมีภาระงานที่มากเกินเกณฑ์ ยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 พยาบาลถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อสำหรับใช้ปฏิงานอย่างเพียงพอ และได้ค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาน้อยกว่าที่สมควรจะได้รับ ทั้งยังขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรค จึงเรียกร้องให้นายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุขจัดสวัสดิการช่วยเหลือดูแล เพื่อให้พยาบาลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้แก่

1. ให้จัดเวรการทำงานสำหรับพยาบาลภาคสนามให้เหลือผลัดละ 6 ชม. จากเดิม 8 ชม. เพื่อให้ชั่วโมงการทำงานน้อยลงแต่มีกำลังพลมาหมุนเวียนสับเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ให้ค่าตอบแทนความเสี่ยงสำหรับพยาบาลที่ปฏิบัติงานรับมือโควิด-19 อย่างเป็นธรรม การกำหนด ให้ค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎหมายแรงงานที่ 100 บาท/ชั่วโมง หากเป็นข้าราชการขอให้ปูนบำเหน็จเทียบเท่าทหารหรือตำรวจที่เสียชีวิตในสนามรบ หากเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนให้ได้รับบำเหน็จส่วนหนึ่งและรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนตามสิทธิ

3. ขอให้บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทันทีเมื่อจบการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีต และแก้คืนอายุราชการแก่บุคลากรสาธารณสุขจำนวน 24,321 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมติ ครม. ดังกล่าว

4. ส่งเสริมให้พยาบาลมีบทบาทในการบริหารองค์กร และกำหนดนโยบายแยกค่าวิชาชีพออกจากค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ ที่รัฐกำหนดจ่ายแก่ข้าราชการทุกคน และกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐให้เป็นมาตรฐานเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของข้าราชการอื่น ๆ

พ.ต.ท.หญิงฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ สหภาพพยาบาลฯ

คนละครึ่งไม่ถึงครึ่ง

จงดี สุขประเสริฐ แม่ค้าหาบเร่แผงรอย กล่าวว่า ตนเข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่รัฐกำนหนดให้ใช้ในการลงทะเบียนรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง แม้จะขอความข่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ธนาคารแต่ตนก็ไม่มีความรู้มากพอในการใช้เทคโนโยลี จึงทำให้ค้าขายไม่ดีและขาดรายได้

ด้านตัวแทนจากกลุ่มแรงงานนอกระบบ และรองประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีได้กล่าวเน้นย่ำถึงปัญหาอื่นๆ ที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ เช่น การจัดระเบียบพื้นที่ของภาครัฐ แต่ไม่จัดสรรพื้นที่ค้าขายใหม่ให้กับผู้ขาย หรือกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและร้านนวดที่ตกหล่นจากการสมัครเป็นผู้ประกอบการในโครงการคนละครึ่ง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจและช่วยแก้ปัญหา กระจายสิทธิ์ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่เป็นคนชายขอบมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสมทบเงินประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งแรงงานนอกระบบต้องจ่ายเต็มจำนวน หรือขอให้จัดสวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยต้ำจากรัฐ เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ได้

จงดี สุขประเสริฐ

โควิด-19 เป็นเหตุให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น

บัณฑิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อนหญิงเปิดศูนย์ร้องทุกข์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก และพบว่าเรื่องที่แรงงานหญิงร้องเรียนเข้ามามากที่สุด รองจากเรื่องหน้าที่การงาน คือ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และการเข้าถึงนโยบายหรือบริการของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือกลุ่มที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงสูงวัย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในในภาคบริการและอุตสาหกรรมเบา ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระ

ทบโดยตรงจากการระบาดทั้ง 2 ระลอก จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาส่วนนี้ รวมถึงส่งเสริมอาชีพและสวัสดิการที่แรงงานหญิงกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

เมื่อตัวแทนกลุ่มเครือข่ายแถลงข้อเรียกร้องเสร็จสิ้น กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีได้ส่งมอบจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีรองเลขาธิการสำนักนายกฯ ฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับจดหมายและรับปากว่าจะส่งเรื่องต่อไปยังนายกฯ

ภายหลังการยื่นจดหมาย มีการแสดงเพลงสีดาลุยไฟจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เป็นการสะท้อนปัญหาที่แรงงานหญิงต้องพบเจอผ่านบทเพลงและศิลปะ จากนั้นจึงยุติการจัดกิจกรรมในเวลาประมาณ 11.30 น.

การเต้นสีดาลุยไฟโดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท