เทเบียร์ทิ้งที่ สธ. ร้องรัฐผ่อนปรนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดื่มในร้าน

กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเทเบียร์ทิ้ง ร้องภาครัฐผ่อนปรนมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อนั่งดื่มในร้าน    

1 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 ก.พ.64) เวลา 12.50 น. กลุ่มผู้ประกอบและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักดนตรี และบาร์เทนเดอร์ ราว 30 คน นัดรวมตัว เพื่อเดินทางมายื่นหนังสือถึง ศบค. กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้านได้ โดยผู้มารับหนังสือคือ นายแพทย์รุ่งเรื่อง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 

บรรยากาศการยื่นหนังสือวันนี้ กลุ่มผู้เรียกร้องปราศรัยสะท้อนปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์นำถังที่บรรจุเบียร์สดที่เสื่อมสภาพมาตั้ง และมีการนำขวดมาเรียงเป็นคำว่า "แพะ" เพื่อสื่อสารว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ผู้ร้ายของการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นี่คือผู้ประกอบการถูกกฎหมาย เสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ แต่กลับถูกเข้มงวด

หลังจากนั้น กลุ่มผู้เรียกร้องเทเบียร์เสื่อมสภาพจากขวดลงถังขยะ และทิ้งเบียร์สดที่บรรจุถังมา เพื่อสะท้อนปัญหามาตรการที่ออกอย่างกระทันหัน และบังคับใช้มาเกือบหนึ่งเดือน ส่งผลให้ผู้ค้าคราฟต์เบียร์ที่ไม่สามารถขายได้จนเบียร์สดเสื่อมสภาพ  หมดอายุจนต้องเททิ้ง โดยไม่ได้อะไรคืนมา และไม่มีการเยียวยาจากรัฐ

การร้องเรียนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงเขต กทม. (พื้นที่สีแดง) ขยายเวลาเปิดร้านถึง 23.00 น. แต่ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ 

นอกจากนี้ นี่เป็นการยื่นหนังสือถึงภาครัฐครั้งที่ 4 ของกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสามครั้งแรกมีการไปยื่นหนังสือที่สำนักงานนายกฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กระทรวงมหาดไทย และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

เจ้าของร้านอาหาร ร้องภาครัฐฟังเสียงพวกเขาหน่อย เชื่อพวกเขาช่วยดูเรื่องมาตรการทางสาธารณสุขได้ 

ช่วงก่อนหน้าการยื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวประชาไทสัมภาษณ์ สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพัน เจ้าของร้านอาหาร Jim’s Burgers & Beers และสมาชิกสมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย ถึงการเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ 

สุกฤษฎิ์ กล่าวว่า เบื้องต้น เหตุผลที่มายื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการประกาศของ ศบค. เมื่อ 29 ม.ค. 2564 ภาครัฐยังไม่อนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านอาหาร ซึ่งเขามองว่า ในฐานะร้านอาหารที่มีจุดเด่นเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต่อให้ขยายเวลาเปิดมากขนาดไหน ลูกค้าก็ไม่มาใช้บริการร้านเขาอยู่ดี

“เราเรียกร้องไปคราวที่แล้ว คือให้ลูกค้าสามารถนั่งดื่มได้ภายในร้าน แต่ว่ามาตรการที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่เห็น ยังไม่ได้ผ่อนคลายให้เราตรงนั้น คือขยายเวลาไปถึงห้าทุ่มก็จริง แต่การนั่งดื่มภายในร้านจะทำให้ลูกค้าเข้ามาในร้านมากกว่า ไม่มีประโยชน์ต่อให้ขยายเวลาเที่ยงคืนถึงตีสาม แต่ไม่ปล่อยให้ลูกค้ามานั่งดื่มในร้าน ก็ไม่มีประโยชน์ครับ” 

“เราเลยออกมาร้องเรียนอีกครั้ง เพราะคราวที่แล้ว เราร้องเรียนไปแต่ไม่บรรลุผล มันทำให้เหมือนเสียงของเรามีค่าไม่พอ เขาจะปล่อยให้เราตายต่อ” สุกฤษฎิ์ กล่าว

เจ้าของร้าน Jim’s Burgers & Beers กล่าวเพิ่มว่า เขาชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการจัดการโควิด-19 แต่ภาครัฐต้องไม่ลืมมิติทางเศรษฐกิจ ในเมื่อรัฐไม่มีมาตรการเยียวยาให้คนค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อยากให้รัฐผ่อนปรนเรื่องการขาย ให้พวกเขาช่วยเหลือตัวเอง และดูแลคนข้างหลังได้  

“การแก้ปัญหาตรงนี้ เรามองไปถึงสองมิติใหญ่ มิติทางสาธารณสุข ต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์เก่งมาก เราชื่นชม แต่ในอีกทางหนึ่ง คุณจะดูแค่มิติเดียวไม่ได้ ต้องดูมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ค้าขายแอลกอฮอล์มักได้ผลกระทบเป็นรายแรก แต่ไม่ได้เยียวยา แต่ในเมื่อคุณไม่เยียวยาแล้ว ขอพวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้ไหม เปิดผ่อนปรนให้เราช่วยเหลือตัวเอง ไม่มีใครร่ำรวยจากสถานการณ์นี้หรอก แต่เรามีลูกน้อง เรามีคนข้างหลัง เรามีครอบครัวที่ต้องดูแล เราอยากทำให้เศรษฐกิจมุันควบคู่ไป”

อีกสาเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้เรียกร้องมาที่ สธ. ครั้งนี้ เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักที่ออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธ.ค.2563 ส่งผลให้สถานการณ์ของผู้ค้าเครื่องแอลกอฮอล์ในช่วงโควิด-19 ระลอกสองแย่ลงไปอีก เพราะประกาศตัวนี้ทำให้พวกเขาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้ เหมือนกับรัฐปิดประตูช่องการขายทุกทางซะสนิท 

สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามสุกฤษฎิ์ ถึงเหตุผลของวิธีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการเทเบียร์ทิ้ง 

สุกฤษฎิ์ อธิบายว่า มาตรจากภาครัฐที่ให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มันทำให้เบียร์ที่พวกเขาสั่งล่วงหน้า 4-6 เดือนนั้น ไม่สามารถขายได้ และเบียร์สดเป็นสินค้าที่มีเชลฟ์ไลฟ์สั้น หรือมีอายุค่อนข้างน้อย เพราะเบียร์ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (ซึ่งการใส่พาสเจอร์ไรซ์มีโอกาสทำให้เบียร์รสชาติเพี้ยน หรือเปลี่ยนรสชาติ) เมื่อหมดอายุแล้ว ก็ต้องเททิ้งเท่านั้น   

“การที่รัฐไม่ให้เราขาย มันทำให้เบียร์ลดคุณภาพไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งถ้ามันขายไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์มีค่าเหมือนกับการเททิ้งอยู่ดี เพราะฉะนั้น เราจึงแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่า ถ้าไม่ให้เราขาย เมื่อมันขายไม่ได้ มันก็คือเสียมูลค่า และนี่คือสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการกำลังพบอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งสุด ๆ แล้วครับ”

“วอนไปทางผู้เกี่ยวข้อง วอนถึงรัฐบาลช่วยฟังเสียงของเรานิดหน่อย และเราเชื่อว่าเราดูแลกันได้ เรามีมาตรการถ้าปล่อยให้พวกเราจำหน่าย เราดูแลกันเองได้ ภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งเราทำเป็นกฎระเบียบไม่มีการแชร์แก้ว แลกแก้ว คือมั่นใจได้ เราควบคุมในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดโรคระบาดได้” สุกฤษฎิ์ ทิ้งท้าย

สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพัน เจ้าของร้านอาหาร Jim’s Burgers & Beers

จดหมายข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

เรื่อง  ขอชี้แจงปัญหาของผู้ประกอบการในระบบธุรกิจคราฟท์เบียร์จากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน

เรียน  คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

เนื่องด้วยคำสั่งของกรุงเทพมหานครในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหารและบาร์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์อย่างรุนแรง

ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ มีความเข้าใจถึงความปรารถนาดีของหน่วยงานสาธารณสุขและความกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

อย่างไรก็ตามทางสมาคมฯมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ มีดังต่อไปนี้

1.) ร้านค้า ตัวแทนจำหน่าย และผู้นำเข้าไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สด ซึ่งเป็นสินค้าที่ มีต้นทุนสูงและมีอายุสินค้าสั้นได้

2.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สด ในบรรจุภัณฑ์อื่น เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ เนื่องจากผิดพรบ.สรรพสามิต ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ

3.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ แม้ตัวกฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหา มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน เช่น ไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

4.) ปัญหามาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังรวมไปถึง การเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

5.) เมื่อร้านค้าไม่สามารถโพสอธิบายสินค้าของตัวเองได้เลย ก็ไม่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้มาซื้อสินค้าแบบกลับบ้านได้  ทำให้ไม่มีรายได้ใดๆเข้ามาเลย

6.) คราฟท์เบียร์เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น การถูกคำสั่งห้ามขาย ส่งผลให้สินค้าเสื่อมสภาพลงทุกวัน และหลายเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก

7.) บริษัทนำเข้าประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากไม่สามารถเก็บเงินจากร้านค้าได้เช่นกัน และส่งผลไปถึงการติดต่อทำธุรกิจระหว่างประเทศ

8.) บริษัทนำเข้ายังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตตามปกติเป็นจำนวนมาก โดยที่บริษัทกำลังเผชิญภาระปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง

9.) บริษัทจัดจำหน่ายและบริษัทขนส่งต้องหยุดกิจการไปแบบไม่มีกำหนด และส่งผลถึงพนักงานเป็นจำนวนมาก

10.) ธุรกิจโรงbrewpub ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง เนื่องจากสินค้าหลักคือเบียร์สดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และยังส่งผลถึงเบียร์ที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้าประกาศห้ามขาย ทำให้มีเบียร์จำนวนมากเสื่อมสภาพและต้องถูกทำลายทิ้งในที่สุด

 จากปัญหาข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ และประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง ทางสมาคมฯจึงขอเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังต่อไปนี้

1.)   ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

2.)   ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถ จำหน่ายเบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้

3.)   ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย

4.)   ผ่อนปรนให้ร้านค้าสามารถโพสรูปสินค้า และอธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโซเชียลมีเดียได้

5.)   อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม

6.)   อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพาสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

ท้ายที่สุดแล้ว ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ประกอบอาชีพสุจริตในธุรกิจคราฟท์เบียร์ ได้แต่หวังว่าทางภาครัฐจะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจปัญหาอย่างจริงใจ ถึงสถานการณ์ที่พวกเราได้รับผลกระทบอยู่ และขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเยียวยาตามที่ได้เสนอไป

 

____________________

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์

นายกสมาคมคราฟท์เบียร์

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท