Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“จะให้ข้าสวนกลับท่านได้อย่างไร ท่านคือฐากูรของข้า ฐากูรที่เป็นเคารพดั่งพ่อแท้ๆ ของข้า”[1]

ตัวบทข้างต้น มีความคล้ายคลึงกับการปฏิบัติตัวของ “พลราม” ตัวเอกในหนัง The White Tiger ที่พินอบพิเทากับเจ้านายของเขาเสียเหลือเกิน หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากผลงานชิ้นเอกของ Aravind Adiga ที่เคยคว้ารางวัล Booker Prize มาแล้วในปี 2008 ความต่ำต้อยของผู้คนพบแทรกอยู่ในทุกอณูของเรื่อง เราอาจเปรียบคนต้อยต่ำเหล่านี้ได้กับ “ผู้อยู่ในสถานะรอง” (subaltern)[2] ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือกบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม หนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นเมื่อปี 1983 หรือ 38 ปีมาแล้ว สำหรับคนรุ่นก่อนอาจจะชินกับการรอคอยหนังสือวิชาการสักเล่มในภาษาต่างชาติที่จะถูกแปลมาเป็นภาษาไทย  แต่สำหรับคนรุ่นใหม่คงจะสงสัยไม่น้อยว่า เหตุใดเวลาแห่งการรอคอยจึงกินเวลาที่มากกว่าทั้งชีวิตเขาเสียอีก

ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับสถานการณ์โลกก็ไม่เป็นใจสำหรับฝ่ายซ้าย จนเรียกได้ว่า อยู่ในสถานะที่เพลี่ยงพล้ำเป็นอย่างยิ่งทั้งเจ็บตัวและเจ็บแค้น ความผิดพลาดจากค่ายจีน-สหภาพโซเวียต เวียดนาม-เขมรแดง ฯลฯ ได้ก่อรอยด่างให้กับเส้นทางสายคอมมิวนิสต์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากกบฏชาวนาฯ ตีพิมพ์ อีก 6 ปี กำแพงเบอร์ลินก็ถูกทุบทิ้ง และไม่นานสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย นักวิชาการในยุคนี้ได้พยายามแสวงหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้สังคม นักเขียนอินเดียในกลุ่ม Subaltern Studies ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เสนอแนวคิดการวิเคราะห์แบบหลังอาณานิคม อันเป็นการตั้งคำถามว่า แม้การปกครองแบบอาณานิคมอย่างเป็นทางการจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ยังกังขาต่ออำนาจครอบงำจากเจ้าอาณานิคมเดิม และผู้ปลดปล่อยที่เป็นชาตินิยม เนื่องจากทั้งคู่ก็ล้วนเป็นชนชั้นนำ พวกเขาได้มุ่งเป้ามาให้ความสำคัญกับ Subaltern (ผู้อยู่ในสถานะรอง) หนังสือ "กบฏชาวนาฯ" ก็อยู่ในคลื่นความเคลื่อนไหวนั้น

ณชิต คูหา (Ronnajit Guha) ผู้แต่ง ได้ถกเถียงกับไอเดียของ Eric Hobsbawm ที่เคยปรามาสกบฏชาวนาว่า ยังไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองหลักเป็นได้เพียงส่วนย่อยๆ ดังที่เขาเรียกคนเหล่านี้ว่า sub-political เนื่องจากถือว่ายังขาดจิตสำนึกทางการเมืองแบบที่ฝ่ายซ้ายควรจะเป็น คูหาพยายามจะเถียงถึงการตีตราจากนักวิชาการตะวันตกที่มักใช้มาตรฐานแบบยุโรปเป็นศูนย์กลางมาตัดสิน

เขาใช้หน้ากระดาษที่หนากว่า 500 หน้า (ของเล่มนี้) ในการถกเถียงให้เห็นว่า กบฏชาวนามีความเป็นการเมืองแค่ไหน มีการจัดตั้งในแบบของพวกเขายังไง และหัวใจก็คือ "จิตสำนึกกบฏชาวนา" นั้นมีสารัตถะเช่นไร ปัญหาสำคัญของนักประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ การอ่านหลักฐานแบบตรงไปตรงมา ทำให้ point of view ไปอยู่ที่บริติชราช (British Raj) เจ้าอาณานิคม คูหาเสนอว่า ต้องใช้วิธี "อ่านย้อนเกล็ด" คือใช้หลักฐานเดียวกัน แต่ตีความเพิ่มเติมจากข้อสนเทศที่ค้นพบ โดยอาศัยมุมมองจากคนสถานะรอง-กบฏชาวนา หรือหากใช้หลักฐานจากคติชาวบ้าน คติชนวิทยา บทเพลงชาวบ้าน ก็มีความเสี่ยงถ้าจะใช้ตรงๆ เพราะว่า สาระเหล่านี้มักโน้มเอียงและเห็นใจผู้นำ-เจ้า เพราะคนเหล่านี้คือ ผู้อุปถัมภ์ศิลปินหรือผู้แต่งท่วงทำนองนั้นๆ

ความพยายามดังกล่าวออกมาเป็นเนื้อหาหลักที่มีอยู่ 6 บท นั่นคือ การกลับด้าน, ความคลุมเครือ, ลักษณะร่วม, ความปึกแผ่น, การแพร่กระจาย และอาณาเขต ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเลยก็ว่าได้ เรามีความรู้น้อยมากว่าสังคมอินเดียในช่วงอาณานิคมเป็นยังไง ทำไมประเทศที่ประชากรมากขนาดนี้ถึงยอมสยบอยู่ใต้เท้าอาณานิคมบริติชได้ อย่างน้อยในเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า กบฏชาวนาที่เติบโตอยู่ช่วงหนึ่งเป็นห้วงเวลาที่ร่วมสมัยกับตอนที่บ้านเราทำสนธิสัญญาเบาวริ่งกับอังกฤษในปี 1855 ยังไม่นับว่าก่อนหน้านั้นก็ไม่ว่างเว้นกบฏ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏ timeline กับ แผนที่การเกิดกบฏในยุคต่างๆ แนบไว้ในเล่มเพื่อปูพื้นฐานให้คนเข้าใจอินเดียได้สะดวกขึ้น แต่อาจไม่ยากเกินความพยายามคนอ่านสมัยที่จะค้นต่อด้วย google แล้ว

คูหาชี้ในบทที่ 2 ถึงการกลับด้านว่า ศีลของจิตสำนึกด้านกลับมีอยู่ 2 ประการนั่นคือ ประการแรกการเลือกปฏิบัติที่จะโจมตีศัตรู เสนอคำว่า "อติเทศ" ที่หมายถึง การลุกลามของการลุกฮือด้วยการสร้างภาพอุปมาขึ้น[3] ประการที่สองคือ ตัวแบบจิตสำนึกมูลฐานของกบฏที่เลือกทำลายหรือปรับใช้สัญลักษณ์ของผู้ปกครองที่เป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน[4] เรายังพบการใช้ภาษาในการต่อต้าน เนื่องจากภาษาเป็นดุจกรงขังทางความคิด อย่างที่เรารู้กันในภาษาไทยว่า การใช้ภาษาบ่งบอกความต่ำต้อยและสูงส่งของสถานภาพคนเช่นไร ดังนั้นในการกบฏแต่ละครั้ง ภาษาได้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติท้าทายอำนาจ คำหยาบคาย ผรุสวาทที่เคยมีโทษอย่างหนักหากพ่นใส่ชนชั้นสูงตามบัญญัติกฎหมายโบราณ เช่น การลบหลู่พราหมณ์อาจจะถูกตัดลิ้น ถูกแทงด้วยตะปูเผาไฟแดงฉานเสียเข้าไปในปาก หรือกรอกน้ำมันเดือดเข้าปากและหู ราวกับเป็นทัณฑ์ในนรก การต่อต้านนอกจากจะด้วยคำหยาบแล้ว ยังครอบคลุมไปสู่การเผาทำลายเอกสารทางการ อันแสดงถึงความจงเกลียดจงชังของภาษาเขียนที่เป็นเอกสารที่ถูกใช้โดยข้าราชการ ผู้พิพากษา ทนายความ และเจ้าที่ดินผู้พรากเอาที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไป[5] นอกจากนั้นยังนับรวมถึงการใช้ภาษากายในการต่อสู้ นั่นคือ การพลิกกลับกิริยาที่พวกเขาเคยนอบน้อมต่อผู้มีสถานะเหนือกว่า ความต้อยต่ำบางแห่งถึงกับกำหนดว่า ห้ามทุกคนถือร่มต่อหน้าเจ้าของไร่เกษตรผิวขาว ต่อหน้าผู้ใหญ่ห้ามใส่รองเท้า หรือในบางชุมชนคนวรรณะต่ำจะถูกลงโทษหากโพกหัวในที่สาธารณะ การแสดงออกอย่างการขี่ม้าฝ่าเข้าไปในที่อยู่ของเจ้าที่ดิน ตำแหน่งบนหลังมาย่อมหมายถึงการยกเลิกการศิโรราบบนพื้นดิน[6] หรือเรียกได้ว่ามีระบบรหัสสัญญะที่มีลักษณะทางภาษาศาสตร์ นั่นคือ รหัสกิริยา (kinesic) และรหัสระยะ (proximic)[7]

บทที่ 3 เป็นการอธิบายถึงความคลุมเครือของการเป็นอาชญากร อันเนื่องมาจากในอีกด้านแล้วพวกเขาเป็นวีรบุรุษแห่งกบฏชาวนา[8] แน่ละว่าความอดอยากเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การปล้นสะดม อาจเรียกว่า คนเหล่านี้อาจพัฒนาไปสู่ความเป็นโรบินฮู้ด ที่พบว่าชาวบ้านอาจสนับสนุนศีลธรรมแห่งการขโมยอาหารเพื่อการประทังชีวิต[9] ความเป็นกบฏชาวนาในมุมมองของเขาสารัตถะของปฏิบัติการทางการเมืองของพวกเขาคือ ความขัดแย้งทางชนชั้น[10] และพบว่าการประกอบอาชญากรรมในบริบทสงครามชนชั้นนั้นคือ การใช้ภาษาในภาษาใหม่ การก่อกบฏคือการเปลี่ยนผ่านจากการเปลี่ยนอาชญากรให้เป็นผู้ก่อกบฏ[11] อาจกล่าวว่า เผด็จการต่างด้าว หรือบริติชราช ไม่เข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของชาวนาชาวไร่ผู้เคยสงบเสงี่ยม ว่านอนสอนง่าย ไฉนจึงกลายเป็นผู้ต่อต้านอย่างแข็งขันในนามกบฏ[12] การเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านนั้นอาจกล่าวได้ว่ามี 2 รหัสสัญญะ รหัสสัญญะแรก คนกลุ่มแรกกระทำการนอกกฎหมายและแปลกหน้า รหัสสัญญะที่สองคือ การที่คนทั้งสังคมลุกขึ้นต่อต้านความไม่เป็นธรรม การกระทำแรกสะท้อนถึงสภาวะความเป็นไปได้ (becoming) [13]

ลักษณะร่วมที่ปรากฏในบทที่ 4 นั้น พบว่ากบฏจะเป็นการประกาศเป็นสาธารณะ เปิดเผย ต่างจากอาชญกรรมที่เป็นการะทำที่ปิดลับ[14] ลักษณะสำคัญของการประกาศก็คือ คำสั่งหรือโองการที่อ้างอิงจากเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าหรืออะไรก็ตาม ซึ่งการอ้างถึงผู้มีอำนาจก็เป็นการยืนยันอำนาจของตนเช่นเดียวกัน[15] ลักษณะร่วมประการที่ 2 คือ การรวมหมู่ และมีลักษณะเป็นชุมชนร่วมกัน หรือเรียกว่า “การกระทำรวมหมู่” (collective enterprise) [16] ความร่วมมือแสดงให้เห็นได้หลายประการที่ชัดเจนก็คือ การใช้แรงงานร่วมกัน การกบฏก็คือการขอแรงนั่นเอง[17] คูหายังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการลุกฮือว่ามีอยู่ 4 ประเภท นั่นคือ ทำลาย เผา เขมือบ และปล้นสดมภ์[18] งานชิ้นนี้ยังย้ำว่าเป็นการมองโดยใช้การเมืองเป็นตัวกำหนดไม่ใช่เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด[19] การทำลายล้างเหล่านี้เป็นไปเพื่อคิดบัญชีแค้นกับเจ้าหน้าที่รัฐ, เจ้าหนี้เงินกู้ และเจ้าที่ดิน มีลักษณะเป็นการรวมหมู่ (total and many) ไม่ใช่เฉพาะส่วน (partial) มิฉะนั้นก็เป็นเพียงอาชญากรรม[20] เราพบว่ากบฏที่เกิดขึ้นมีการฆ่าน้อยกว่าที่คิด ว่ากันว่าความล้มเหลวในการฆ่าไม่ใช่เพราะพวกเขามีจิตเมตตา แต่เพราะจิตสำนึกในสถานะของพวกเขาเอง ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดทางจิตวิญญาณ เป็นจิตสำนึกที่มิติความเฉื่อยและเป็นลบ ไม่ใช่จิตสำนึกแห่งการปลดปล่อย ความต้อยต่ำกว่าความสูงกว่าถูกทำให้เป็นทางการในราชสำนักอักบัร กล่าวกันว่า ผู้น้อยที่ถูกทำร้ายโดยเจ้านายกล่าวว่า “จะให้ข้าสวนกลับท่านได้อย่างไร ท่านคือฐากูรของข้า ฐากูรที่เป็นเคารพดั่งพ่อแท้ๆ ของข้า” อันเป็นการยอมรับว่าเจ้าที่ดินเป็นดั่งพ่อของตน อย่างไรก็ตาม คูหาเห็นใจและตบท้ายบทว่า แค่การที่พวกเขามุ่งจะพลิกกลับหัวกลับหางด้วยการเดินกางร่มผ่านบ้านคนรวย หรือเรียกผู้กดขี่ว่า “ไอ้” แทน “ท่าน” ก็มากพอแล้ว เหตุใดจะต้องฆ่าแกงกัน[21]

บทที่ 5 กล่าวถึงความเป็นปึกแผ่น คูหาเสนอว่ารูปแบบของจิตใจกบฏนั้นประกอบด้วย การเอาอย่าง (emulation) และความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ความเป็นปึกแผ่นเราเห็นได้ผ่านความเป็นชาติพันธุ์[22] นอกจากนั้นยังพบว่ามีการพยายามข่มขู่พวกที่ไม่ยอมเข้าร่วม[23]  และยังจัดประเภทผู้สมรู้ร่วมคิดกับศัตรูทั้งในเชิงรับ (คือไม่ยอมร่วม) และเชิงรุก[24]  พบว่า ยุทธศาสตร์ที่บริติชราชใช้ปราบกบฏนั้นมีอยู่ 3 กลยุทธ์ นั่นคือ ใช้สายลับ, การบีบให้ซัดทอดเมื่อจับตัวกบฏได้ และการใช้นกต่อเพื่อให้กบฏแตกแยกกันเองให้มาเข้ากับเจ้าอาณานิคม ในทางตรงกันข้ามกับการยากที่จะฆ่าผู้สูงกว่า สำหรับคนในระดับเดียวกันจะถือว่า ผู้ทรยศมีจิตสำนึกที่ฉ้อฉล การกระทำ “ภาดาฆาตทางจิตวิญญาณ” จึงจำเป็นเพื่อจะรักษาความเป็นปึกแผ่นของหมู่คณะ[25]

บทรองสุดท้ายว่าด้วยการแพร่กระจาย มีการเปรียบเปรยว่ากบฏเปรียบได้กับการติดเชื้อของโรคระบาด การอุปมาด้วยคำทางพยาธิวิทยา แสดงให้เห็นถึงความแปดเปื้อนทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชาวนาเสียความบริสุทธิ์เพราะรับเชื้อร้ายจากภายนอก[26] คูหาชี้ว่าการสื่อสารอันทรงประสิทธิภาพของกบฏนั้นกระทำผ่านมุขปาฐะบ้าง สัญลักษณ์ลึกลับ อวัจนภาษาที่เหล่าเจ้าอาณานิคมไม่สามารถเข้าใจได้[27]  แค่ตัวอย่างการส่งต่อแป้งจะปาตีไปยังผู้คนต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ โดยนัยแล้วมันมีลักษณะคล้ายจดหมายลูกโซ่[28] และที่น่าสนใจคือ ข่าวลือเป็นการส่งสัญญาณกบฏ โดยมีตลาดเป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวลือ นึกถึงข่าวลือว่า บริติชราชจะใช้กระสุนบรรจุน้ำมันหมูยิงเข้าใส่ฝูงชนมุสลิม หากเป็นจริงจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายเพียงใด ข่าวลือจึงเป็นปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่ทรงพลังยิ่ง[29]

บทสุดท้ายว่าด้วยอาณาเขต ถกเถียงกันเรื่องสากลนิยมและท้องถิ่นนิยม ว่า กบฏชาวนาในอินเดียนั้นจะติดกับดักความเป็นท้องถิ่นนิยมไม่สามารถก้าวข้ามสร้างพลังร่วมกันได้หรือไม่[30] มิติทางอาณาเขตหรือพื้นที่นั้นมีอยู่ 2 ส่วนได้แก่ พื้นที่ทางชาติพันธุ์ และพื้นที่ทางกายภาพ อย่างหลังพบว่าสัมพันธ์กับที่ดินที่พวกเขาทำมาหากินที่มีแนวโน้มว่าจะถูกพรากสิทธิ์ไป[31] เมื่อก่อกบฏพบว่าภูมิศาสตร์จิตสำนึกของกบฏมิได้ยึดแผนที่เดียวกับที่เจ้าอาณานิคมใช้อีกต่อไป[32] นอกจากนั้นในมิติที่คู่กับพื้นที่คือ มิติทางเวลา พบว่ามีการเปรียบเปรียบเมื่อก่อน-เดี๋ยวนี้ว่า สมัยก่อนที่บ้านเมืองยังดี แต่ทุกวันนี้ศีลธรรมเสื่อมลง กระนั้น กบฏไม่ได้ยึดอดีตเช่นนั้น แต่มองอนาคตในฐานะอุดมคติของสังคมใหม่อีกด้วย มีการเปรียบเปรยว่ายุคนี้เป็นกลียุคที่เมียทศกัณฑ์ คือ นางมณโฑเป็นใหญ่ เทียบได้กับ พระราชินีวิคตอเรียแห่งบริเตน[33] นอกจากนั้นมุมมองดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวคิดผีบุญ-millennium  ทั้งหลายที่เชื่อว่ามีสังคมที่ดีกว่ารออยู่ข้างหน้า อาณาเขตดังกล่าวเข้าใกล้ศาสนาและความเชื่อ จึงมีมิติทางจิตวิญญาณผสมอยู่ด้วย[34] ในเชิงพื้นที่แล้ว ศาลาว่าการเป็นจุดที่ถูกกบฏโจมตีมากที่สุดในกรณีกบฏทางตอนเหนือ[35] เนื่องจากเมืองเป็นสัญลักษณ์ของพันธมิตรระหว่างเจ้าผู้ปกครองและเจ้าหนี้เงินกู้[36] อาจกล่าวได้ว่าอาณาเขตเป็นการบรรจบกันของพื้นที่ทางชาติพันธุ์ และพื้นที่ทางกายภาพ[37]

เมื่อพิจารณาดูแล้วงานชิ้นนี้ มิได้มองแต่กรณีอินเดียล้วนๆ เพื่อแสดงว่ากบฏชาวนาในอินเดียมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร แต่มีความพยายามเทียบเคียงประสบการณ์ของทั่วโลก ไม่ว่าจากจีนผ่านคำอธิบายเรื่องกบฏชาวนาของเหมา เจ๋อตง[38], กบฏรัสเซียในมุมมองทรอตสกี้[39], กบฏชาวนาในยุโรปอย่างเยอรมันหรืออังกฤษ การลักษณะร่วมกันเช่นนี้จึงมิได้เป็นไปตามที่เขาถูกเหมารวมวิพากษ์จากนักคิดคนอื่นมากนัก[40]  และในอีกด้านก็พบว่า การทำความเข้าใจสังคมอินเดียยังประกอบด้วยมรดกผลงานทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาที่ลงไปศึกษาในชุมชนต่างๆ ร่วมกับหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ภาพการลุกฮือของกบฏที่ปรากฏในตัวอักษร มันได้ซ้อนเหลื่อมภาพของชาวบ้านในหมู่บ้านของตัวเอกอย่าง “พลราม” ได้อย่างแปร่งปร่านัก หมู่บ้านที่เต็มไปด้วยผู้คน ความยากจนข้นแค้น หนี้สิน และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ เจ้าที่ดิน หรือการขูดรีดกันเองในครอบครัว หมู่บ้านในหนัง ไม่ใช่ชุมชนพอเพียงอันสวยงาม การไปรักษาพยาบาลอาจต้องใช้เวลาเป็นวันเพื่อเดินเท้าไปยังอีกหมู่บ้านที่ไกลออกไป เราอาจเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมผู้คนถึงสมยอมกับสถานภาพที่ต่ำต้อย ทำไมถึงยอมให้วรรณะมากดให้คนต่ำอยู่ในระดับเดียวกับเดรัจฉานได้

พลราม ได้ทำการเปลี่ยนตัวตนและจิตสำนึกเป็นคนใหม่ คนละชุดกับมูลฐานจิตสำนึกของกบฏชาวนาที่มีลักษณะรวมหมู่และการปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน แต่เขาได้สมาทานจิตสำนึกแบบปัจเจก-เสรีชนที่เปรียบตัวเองและสังคมอินเดียว่าเป็นไก่ที่อยู่ในกรงที่รอถูกเชือด ขณะที่ตัวเขานั้นได้กลายร่างไปเป็นเสือขาว อันเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ที่แห่ง เสรีภาพ แต่เสรีภาพก็มีราคาของมัน การจะกลายเป็นเสือ ต้องทลายตัวเองออกจากกรงที่ภายในนั้นแต่ละชีวิตจะมีบ่วงที่ผูกคอแต่ละคนๆ และตัวบ่วงก็มีเป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินเอย ระบบอุปถัมภ์ กระทั่งชีวิตและจิตวิญญาณ หาก “ภาดาฆาตทางจิตวิญญาณ” เป็นคำที่ กบฏชาวนาฯ ที่ใช้กับคนทรยศต่อขบวนการแล้ว เราอาจใช้คำว่า “วงศาฆาตทางจิตวิญญาณ” ซึ่งในมุมกลับ พลรามนั้นเองที่เป็นผู้ทรยศเสียเอง ทรยศต่อวงศ์ตระกูลของเขา โศกนาฏกรรมนี้เองที่เป็นพิธีกรรมที่เปลี่ยนผ่านให้เขากลายเป็นไอ้เสือขาว และมีชื่อว่าใหม่ที่ช่างเสียดสีเสียนี่กะไรว่า “อโศก” ทั้งในความหมายของคำ และทั้งชื่อของเจ้านายของเขาที่เขาได้ทำให้หายจากโลกไปกับมือ

กบฏชาวนาฯ จึงเปิดให้เห็นถึงความเป็นไปได้หนึ่งของการลุกขึ้นสู้ของคนสถานะรองที่มีลักษณะรวมหมู่ หากจับวิธีคิดนี้ยัดเข้าไปในพล็อตหนังเรื่องนี้ ก็อาจเป็นว่า กบฏชาวนา คือ พลังแห่งความเป็นไปได้ที่จะทลายกรงที่ขังพวกเขาอยู่ด้วยความสามารถทั้งหมดร่วมกัน มีใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่งที่แหกกรงออกมา แล้วปล่อยให้ที่เหลือเผชิญหน้าโทษลงทัณฑ์รวมหมู่ที่ไม่ต้องคำนึงว่าพวกเขาจะทรมาณแสนสาหัสแค่ไหน.

 

 

[1] รณชิต คูหา, กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม, ปรีดี หงษ์สต้น, แปล (กรุงเทพฯ : อิลลูมิเนชั่น เอดิชั่นส์, 2564), หน้า 282

[2] คำแปลโดย สิงห์ สุวรรณกิจ อ่านประเด็นผู้อยู่ในสถานะรองขยายความได้ต่อจาก สิงห์ สุวรรณกิจ, “ “งานศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง”: ทบทวนประวัติศาสตร์นิพนธ์และมวลชนผู้เคลื่อนไหว”, สังคมศาสตร์, 27 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2558) : 149-189

[3] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 63, 66

[4] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 74

[5] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 94-105

[6] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 115-125

[7] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 110

[8] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 144

[9] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 160

[10] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 161

[11] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 164

[12] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 184

[13] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 185

[14] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 190

[15] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 190-196

[16] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 200

[17] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 217

[18] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 233

[19] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 249-259

[20] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 266-268

[21] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 280-283

[22] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 296

[23] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 326-328

[24] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 345

[25] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 371

[26] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 374-377

[27] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 385-391

[28] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 413-417

[29] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 426-443

[30] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 471

[31] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 485

[32] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 482

[33] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 493-498

[34] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 500-509

[35] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 522

[36] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 525

[37] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 557

[38] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 74

[39] รณชิต คูหา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 231

[40] Chibber สรุปหัวใจข้อโต้แย้งของ Subaltern Studies (SS) ไว้ 2 ประการ นั่นคือ (1) การเน้นย้ำถึงความเฉพาะเจาะจง หรือความแตกต่างทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับโลกอื่นๆ ระหว่างโลกอาณานิคมกับโลกหลังอาณานิคม และ (2) การวิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) โดยมองว่าทฤษฎีที่มีที่มาจากโลกตะวันตกล้วนแต่บดบังภาพความจริงที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆไปเสียหมด  ดูใน ภาคิน นิมมานรวงศ์, "Marxism vs. Subaltern Studies วิวาทะระหว่าง Vivek Chibber กับ Partha Chatterjee", ฟ้าเดียวกัน, 13 : 1 (มกราคม-เมษายน 2558) : 27

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net