Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศึกโควิดที่สมุทรสาครเวลานี้แตกต่างกับที่ศึกโควิดในอดีตและปัจจุบัน ณ จุดอื่นของประเทศ โควิดเป็นโรคแปลกปลอมจากต่างประเทศรุกเข้ามาในประเทศไทย แล้วลามจากเมืองหนึ่งสู่เมืองอื่น ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาก็ คือ ใช้มวลชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กสกัดกั้นตรวจจับ แยกเชื้อออกจากคนปรกติ 

แต่สมุทรสาครเป็นเสมือนเมืองทรอยที่รับม้าโทรจันเข้าไปในเมือง ทำให้ทหารกรีกซึ่งซ่อนอยู่ในม้าไม้เข้ายึดเมืองไว้ได้แล้ว มหากาพย์ที่โฮเมอร์จัดให้กรีกชนะยึดเมืองทรอยโดยเด็ดขาด แต่ไทยเราจะไม่ยอมให้สมุทรสาครเป็นเมืองทรอย ต้องยึดกลับจากโควิดให้ได้

การยึดฐานที่มั่นคืนจากข้าศึกเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้าส่วนใหญ่ของประเทศยังดีอยู่ ฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขไทยมั่นคงและแข็งแรงพอที่จะปลดปล่อยสมุทรสาครจากโควิด แต่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี

ประการแรก คือ การปิดล้อมไม่ให้โควิดออกมาก่อเรื่องขยายตัวตีตลบเราในแนวหลัง ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้ บ่อนไพ่ ก๊วนยา ล้วนเป็นระเบิดโควิดลูกใหม่ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องช่วยกันเก็บกวาดให้หมด

การเข้าตียึดพื้นที่คืนจากโควิด ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ต้องกุมสภาพพื้นที่ให้ดี จุดยุทธภูมิใหญ่น้อย คือ โรงงาน และแคมป์คนงาน ทั้งหลายต้องอยู่ในแผนที่ พร้อมๆ กับรายละเอียดเท่าที่จะมีได้ การส่งกำลังสาธารณสุขเข้าลุยโดยไม่ได้วางแผนว่าจะยึดสมรภูมิใดเพราะเหตุใด อาจจะเป็นการเสียเวลาและกำลังพล เพราะจำนวนโรงงาน และคนงานมีมากเกินกว่าที่จะใช้ยุทธการปูพรมหรือเอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้วอย่างที่เราเคยจัดการเรื่องไข้หวัดนกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว 

พูดถึงเรื่องการเอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้ว ถ้ามีกองกำลังสาธารณสุขสิบทีม ตรวจแล็บได้รวมวันละ 10,000 ราย (รายละ 2,000 บาท เท่ากับ 20 ล้านบาทต่อวัน) มีคนงานอยู่สองแสน ต้องใช้เวลา 20 วันต่อรอบ แต่ละรอบต้องใช้เงินเฉพาะค่าแล็บ 400 ล้านบาท ยังไม่รวมภาระเรื่องการส่งกำลังบำรุงอื่นๆ และจุดโหว่ภายนอกที่เกิดจากกำลังพลลดลงและอ่อนล้า การตรวจก็ต้องดำเนินการหลายรอบ เพราะถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น ในพื้นที่ซึ่งตรวจไม่พบคนที่มีเชื้อ อาจจะกลายเป็นพื้นที่มีเชื้อในวันรุ่งขึ้น กองทัพสาธารณสุขก็ตรวจผ่านไปแล้ว กว่าจะกลับมาก็อีกสามสัปดาห์ โรคที่ลอดหูลอดตาก็ลุกลามขึ้นได้ สรุปว่า การตรวจแบบเอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้วน่าจะสิ้นเปลืองและไม่ได้ผล

ที่ผ่านมากองทัพสาธารณสุขกำลังใช้ยุทธศาสตร์รบแบบหน่วยซีล ค้นจุดต้องสงสัย เมื่อได้ตัวการก็ส่งกองกำลังทหารราบไปตรวจคนงานทั้งโรงงาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมากักตัวในโรงพยาบาลสนาม ยุทธการแบบนี้จะดีถ้าแหล่งแพร่เชื้อมีแหล่งเดียวหรือน้อยแหล่ง แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเช่นนั้น อะไรคือวิธีการได้มาซึ่งเบาะแสว่าจะเข้าตรวจค้น ณ จุดใด? ถ้าผู้ติดเชื้อมีจำนวนไม่มาก วิธีการสืบสวนโรคหรือที่เรียกว่า contact tracing หา timeline ของผู้ติดเชื้อแต่ละคนว่าไปไหนเจอใครบ้าง เอาผู้สัมผัสหาตรวจหาเชื้อและกักตัว โดยเฉลี่ยผู้ติดเชื้อแต่ละรายมีผู้ต้องสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วย และต้องแยกตัวถึง 50 ราย แต่ละวันการค้นเชิงรุกได้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 700-800 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติอาจจะต้องติดต่อผ่านล่าม จะเอากำลังที่ไหนไปทำ contact tracing ไหว ในอเมริกาและอังกฤษ ที่เป็นเมืองครูบาอาจารย์วิชาระบาดวิทยาที่หมอไทยไปร่ำเรียนมา แค่โควิดบุกประเทศได้ไม่กี่วัน ก็ทำ contact tracing ไม่ไหวแล้ว สภาพจึงเป็นอย่างที่เห็น

กำลังพลสาธารณสุขที่ออกสุ่มตัวอย่างตรวจ และกำลังคนที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานหรือพื้นที่ต้องสงสัย เป็นกองกำลังชุดเดียวกัน ทำให้ยุทธการเป็นการรบแบบผสมผสาน ระหว่างการลาดตระเวณ (reconnaissance) เพื่อหาข่าว กับการรบแบบทหาราบเพื่อยึดพื้นที่ ข้อดีของยุทธวิธีนี้ คือ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ฉับไว ข้อเสีย คือ จะมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้เยอะมาก จนอาจจะทำให้งานการข่าวโดยภาพรวมเสียไป เสนาธิการไม่ได้ข้อมูลภาคสนามที่จำเป็นมากพอ การรบโดยภาพรวมก็จะไม่ได้ผล 

ภาพที่เห็นในรายงานทุกวันนี้ คือ ค้นพบผู้ป่วยจากการตรวจเชิงรุก 700-800 ราย จากการตรวจกี่ราย กี่แหล่ง แหล่งละกี่คน ครอบคลุมพื้นที่การตรวจแบบกระจุกหรือกระจาย มีเสนาธิการรับรู้ไม่กี่คน information sharing ค่อนข้างน้อย เพราะยังไม่ได้จัดระบบ information ให้ดีพอ

เอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้วก็สิ้นเปลืองมากและอาจจะไม่ได้ผล ลาดตระเวณไปรบไปก็ได้ภาพรวมช้า ได้ข้อมูลไม่ดี มีแต่ก้มหน้าก้มตาทำไป แล้วจะทีว่าดีน่ะจะทำอย่างไร

ผมเสนอว่าให้แยกหน่วยหา information ออกจากหน่วยยุทธการแก้ปัญหา และอาจจะต้องเลิกคิดตรวจแล็บรายตัวเพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อชั่วคราว 

การหาข้อมูลให้ใช้วิชาสถิติเข้าช่วย ส่วนการแก้ปัญหาต้องใช้วิธีสร้างการมีส่วนร่วม ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานสาธารณสุขและรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว

เอาเรื่องการหา information โดยใช้วิธีการทางสถิติ วิชานี้มีไม้ตายที่สำคัญใช้สำหรับการศึกษาประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากจนสำรวจทุกคน (สำมะโน) ไม่ไหว ไม้ตายที่ว่านี้ คือ การสุ่มตัวอย่าง สำนักงานสถิติแห่งชาติจะมีกิจกรรมของเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลภาคสนามด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ทุกวัน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่าง เขาจะทำสำมะโนหรือแจงนับเก็บข้อมูลจากทุกครัวเรือนก็แค่สิบปีครั้งนึง เพราะการทำสำมะโนหรือสำรวจปูพรมเอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้วต้องใช้ต้นทุนสูง ข้อมูลที่เก็บได้ก็มากกว่าจะวิเคราะห์เสร็จในเบื้องต้นก็ใช้เวลาหลายเดือน

การสุ่มตัวอย่างช่วยลดภาระและต้นทุนการเก็บข้อมูลลง ได้ข้อมูลน้อย ประมวลผลง่าย เร็ว แต่การสุ่มตัวอย่างจะได้ค่าประมาณการ ไม่ใช่ค่าจริงของทั้งประชากร ถ้าสุ่มตัวอย่างได้ดีไม่ลำเอียง ขนาดตัวอย่างหรือคนให้ข้อมูลมากพอ ค่าประมาณจะผิดไปจากค่าจริงของประชากรไม่มาก

ในการวางแผนยุทธการโควิด เราต้องการรู้ว่าพื้นที่ใดมีปัญหามากน้อยเพียงไร จะได้ลงทรัพยากรไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด เราก็ต้องแบ่งสมุทรสาครเป็น segments ทางภูมิศาตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ข้อมูลในแต่ละ segments ชัดเจนพอสมควร เราค้นหาในโซเซียลก็พอจะเห็นแผนที่สมุทรสาครเป็น segments (ตำบล?) อยู่แล้ว ใน segment ที่มีประชากรหนาแน่นเช่นอำเภอเมืองอาจจะต้องแบ่งเป็น segment ย่อยลงไปอีก แล้วสุ่มตัวอย่างโรงงานทีละ segment

หน่วยที่เราจะแจงนับ (unit of analysis) สำหรับการวางแผน ไม่ควรจะเป็นคนงานแต่ละคน หากแต่เป็นโรงงานหรือเป็นแคมป์คนงานแต่ละโรง คำถามเบื้องต้นของเราควรเป็น “มีโรงงานกี่เปอร์เซนต์ในแต่ละ segment ที่มีการติดเชื้อแล้ว” ไม่ใช่ถามว่า “วันนี้ยังมีคนติดเชื้ออยู่ในสมุทรสาครเท่าไหร่” เพราะหน่วย (unit) ที่เราจะจัดการได้น่าจะเป็นโรงงานมากกว่าคนงาน เราจัดการโรงงานแล้วค่อยให้โรงงานไปจัดการคนงานอีกทอดหนึ่ง 

ทำนองเดียวกัน ภายในโรงงาน เราก็ไม่จำเป็นต้องตรวจคนงานทุกคน สุ่มตัวเพียงราว 20 คน ถ้าไม่พบเลยก็อาจจะเหมาเอาเบื้องต้นว่ายังไม่ติดเชื้อ ถ้าพบเชื้อเกิน 20% ของกลุ่มตัวอย่าง ก็อาจจะเหมาเอาว่าโรงงานนั้นติดเชื้อไปเต็มที่แล้ว ถ้าคนงานทั้งหมดอยู่ด้วยกันตลอดไม่ไปไหนเลยเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ การติดเชื้อก็อาจจะใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว ถ้ามีการติดเชื้อประปรายรายสองรายในโรงงานก็พึงระวังว่าในโรงงานนั้นอาจจะมีหัวเชื้ออยู่ (โปรดกลับไปอ่านตอนที่หนึ่งของบทความนี้ ว่าทำไมจึงเรียกว่า “หัวเชื้อ”)

โดยมีวิธีนี้ เราก็จะมีข้อมูลอัตราการติดเชื้อของโรงงานในแต่ละ segment ซึ่งหน่วย information ต้องสำรวจ update เป็นระยะๆ นำข้อมูลมาแจ้งฝ่ายกำลังหลักว่าจะจัดการอย่างไรต่อ โรงงานที่ติดเชื้อในระดับเปอร์เซนต์ทีมากน้อยจะจัดการแตกต่างกันอย่างไร จะเป็นเรื่องที่ทางสาธารณสุขจะเสนอและผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ต้องนำไปพิจารณา ผมขอไม่กล่าวในที่นี้ครับ

อันที่จริงกระบวนการสุ่มตัวอย่างสำรวจการติดเชื้อในโรงงานอย่างเป็นระบบสามารถทำต่อเนื่องเป็นรอบๆ เป็นระยะเวลานาน ต้นทุนไม่สูงมาก และสามารถใช้กับพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศที่มีแรงงานต่างชาติอยูจำนวนมากได้

ทีนี้มาคุยเรื่องการแก้ปัญหาหลักบ้างว่าจะทำอย่างไร ผมเห็นว่ากำลังพลสาธารณสุขจากภายนอกเป็นกำลังเสริมไม่ใช่กำลังหลักในการแก้ปัญหา กำลังหลักคือผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ที่สำคัญ คือ บริษัท โรงงาน และคนงาน นอกจากนั้นก็จะเป็นฝ่ายบ้านเมืองทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ถ้าบริษัท โรงงานและคนงาน ไม่เป็นเจ้าของงาน การยึดพื้นที่คืนจากโควิดจะทำไม่ได้เลย

แรงผลักดันหลักให้คนทำงานอย่างไรอย่างหนึ่ง คือ ผลประโยขน์ของเขา ไม่ใช่อุดมการณ์ อุดมการณ์อาจจะระดมได้ในระยะสั้น แต่ก็อยู่ได้สั้นๆ ถ้าอุดมการณ์ขัดกับผลประโยชน์ อุดมการณ์จะพ่ายแพ้ในที่สุด การจัดการให้ได้ตามอุดมการณ์จึงเป็นการจัดการผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายรับรู้ได้อย่างลงตัว ผลประโยชน์สำคัญของแรงงานและบริษัท คือ รายได้ คนงานจะคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้นมากๆ เพราะชีวิตของเขาไม่ค่อยแน่นอน ส่วนบริษัทมีสายป่านยาว มีทางไปได้มากกว่า ก็จะคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวกว่า 

กระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จในการระดมความร่วมมือของ อสม. ควบคุมโควิดได้สำเร็จ แต่ประสบความล้มเหลวกับ อสต. หรือ อาสาสมัครแรงงานต่างชาติในการแจ้งเบาะแสแรงงานจากภายนอก ไม่ว่าจะพูดดีและตั้งค่าหัวก็ไมได้ผล เพราะผลประโยชน์ของแรงงานต่างชาติพี่น้องเขาที่ผิดกฎหมายอยู่เหนือผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ทางเราให้ ต่างกับ อสม.ที่ผลประโยชน์ของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านสอดคล้องกับกับงานที่เขาทำ อสม.กลัวว่าจะเกิดโรคระบาดในคุ้มบ้านของตัวเอง แต่ อสต. อาจจะกลัวว่าญาติพี่น้องของตนจะโดนตำรวจจับส่งกลับประเทศ มากกว่ากลัวโรคระบาดเสียอีก เขาไม่เห็นว่าโรคระบาดทำให้ใครป่วยหนักหรือตาย แต่ถ้าพี่น้องที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแล้วเขาไม่ช่วย เขาจะแบกหน้ากลับไปหาพีน้องคนอื่นๆ ได้อย่างไร

โรงงานหลายแห่งต้องการแรงงานเพิ่ม เรียกร้องให้นำเข้าโดยมีการคัดกรอง แต่รัฐไม่สามารถตอบสนอง ผลประโยชน์ไม่ค่อยลงตัว จนเกิดโควิดยึดสมุทรสาคร ตอนนี้ผลประโยชน์ร่วมกันที่จะกำจัดโควิดน่าจะลงตัวระดับหนึ่งแล้ว จะเจรจาอะไรกันก็เชิญเลยครับ รัฐต้องรับฟังให้มากๆ เพราะถ้าโรงงานและคนงานไม่เอาด้วย เรื่องจะไม่สำเร็จแน่

การรับฟังว่าอีกฝ่ายหนึ่งเห็น (perceive) อย่างไร คิดอย่างไร จะช่วยให้ฝ่ายเราปรับท่าทีและทิศทางให้เป็นที่ยอมรับของอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ความปรารถนาดีเป็นจุดเริ่มต้น แต่ปรารถนาดีท่าทีร้ายกาจอาจจะสร้างมากกว่าแก้ปัญหา

เราท่านที่คอยให้กำลังใจอยู่นอกสมุทรสาครก็คอยดูต่อไปครับว่าจะมี information อะไรออกมาชัดเจนกว่าเดิม และจะมีพัฒนาการอะไรใหม่ๆ ที่สะท้อนความร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่บ้าง ช่วยกันให้กำลังใจนะครับ

ยังมีอีกอย่างน้อยหนึ่งตอนครับ ที่เชื่อว่าทุกคนอยากคุยกัน คือ การฉีดวัคซีนให้แรงงานและประชากรในสมุทรสาคร ติดตามตอนที่สามนะครับ

 

ที่มา: Facebook Viroj NaRanong

ศึกโควิดสมุทรสาคร (1)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net