Skip to main content
sharethis

คมส. เห็นชอบเดินหน้าขับเคลื่อน 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 “ความมั่นคงทางอาหาร-การจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ออกแบบระบบรับมือโรคระบาดใหญ่ให้ดียิ่งขึ้น ผลักดัน “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขณะที่ สช. เร่งกระบวนการ พร้อมนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาโดยเร็ว

3 ก.พ. 2564 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองประธาน คมส. เป็นประธาน ได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบ กรอบและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 มติ 13.1 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต และมติ 13.2 การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม: กรณีโรคระบาดใหญ่ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป 

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน มติ 13.1 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต จะผลักดันให้มีการบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกับการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความพร้อม และสามารถจัดการปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตได้ลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงผลักดันให้เกิดการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อรองรับภาวะวิกฤต

ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เปิดเผยว่า เป้าหมายของมติดังกล่าวคือ ภายในปี 2568 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ โดยจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนหลักการที่จะสร้างความมั่นใจว่าทุกคนจะมีอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ องค์ประกอบของการพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต มีทั้งในด้านการผลิตอาหาร ด้านการสำรองอาหาร ตลอดจนด้านการกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมไปถึงเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยนอกจากการดำเนินการในระดับนโยบายแล้ว ยังจะต้องทำให้เกิดความพร้อมด้านองค์ความรู้ และพัฒนาไปสู่การปฏิบัติต่อไป

“แนวทางการพัฒนาระบบเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต จะมีตั้งแต่มาตรการควบคุมราคาสินค้าอาหาร การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ จัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ กำหนดมาตรการทางภาษี จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือธรรมนูญสุขภาพชุมชน จัดตั้งกลไกและระบบสำรองอาหารอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อให้ อปท.สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรในการแก้ปัญหา” ทิพย์รัตน์ กล่าว

ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อน มติ 13.2 การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม: กรณีโรคระบาดใหญ่ จะมุ่งเป้าให้เกิดโครงสร้างในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบข้อมูลที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ แก้ไขปัญหา และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันเมื่อเกิดผลกระทบแล้ว จะมีการเยียวยาทั้งในระดับรัฐลงไปสู่ระดับชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นพร้อมกับองค์ความรู้ที่สามารถใช้ได้ทั้งช่วงเฉพาะหน้าและในระยะยาว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนมติว่า ทิศทางหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาตั้งหลักพูดคุยว่าจะออกแบบระบบในการรับมือโรคระบาดใหญ่ที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เช่น การทบทวน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่ออุดช่องว่างและทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การสร้างความเข้มแข็งของกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมถึงสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นอีกมิติหนึ่งให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนความทับซ้อนและปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องออกแบบให้ราบรื่นที่สุดเมื่อเกิดภาวะวิกฤต

“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญยังเป็นการจัดการด้านข้อมูล ซึ่งทุกวันนี้พบว่าหลายหน่วยงานทำระบบโปรแกรมของตนเองมากมาย ทำไมในระดับประเทศไม่ทำให้เป็นเรื่องเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงกันได้ การใช้ประโยชน์ในระบบฐานข้อมูล Big Data ที่จะนำไปสู่การสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ของประชาชน หลังจากที่เราเผชิญกับข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ (infodemic) หรือปัญหาจากข้อมูลมหาศาลที่สร้างความคลาดเคลื่อนมากมาย ซึ่งในระยะยาวยังจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหา ออกแบบระบบต่างๆ โดยถอดบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ รวมถึงข้อชี้แนะต่างๆ ต่อแนวทางการขับเคลื่อนทั้ง 2 มตินี้ จะถูกนำไปปรับเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ปรับกระบวนการขับเคลื่อนทั้งหมดให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้มติสมัชชาฯในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“เมื่อเทียบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก่อนหน้านี้ ที่มักจะเข้าสู่ ครม. ในช่วงกลางปี เราจะเร่งกระบวนการนี้ให้เร็วมากขึ้น โดยจะประสานกับทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยติดตามมติดังกล่าว ควบคู่กับการประสานองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการเตรียมการที่จะขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าตามมติ และมานำเสนอยังภาคีที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง” นพ.ประทีป กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net