ประณามอุทยานห้ามนำข้าวบริจาคผ่านด่านไปช่วยชาวบ้านบางกลอย - กะเหรี่ยงนัด 5 ก.พ. ขอเจรจา รมว.ทส.

นักวิชาการประณามอุทยาน ผู้บังคับบัญชาควรลงโทษและไม่ควรปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เหตุห้ามนำข้าวบริจาคผ่านด่านเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย ขณะที่กะเหรี่ยงนัดรวมพล 5 ก.พ.นี้ขอเจรจา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ

 

4  ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่าได้รับทราบถึงการที่ผู้บริหารระดับสูงในกรมอุทยานฯห้ามการนำข้าวและอาหารที่หลายฝ่ายช่วยกันระดมเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดผ่านด่านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตทำงานตั้งแต่สอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ที่ผ่านมาชาวบ้านบางกลอยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ถูกอพยพลงกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังถูกจำกัดเสรีภาพ โดยชาวบ้านจะเข้าหรือออกจากหมู่บ้านเพื่อลงมาทำกิจกรรมด้านล่างต้องถูกควบคุม หลายครั้งครูพานักเรียนออกมาเล่นกีฬาในอำเภอแก่งกระจาน แต่พอหลัง 6 โมงกลับเข้าหมู่บ้านบางกลอยไม่ได้เพราะด่านปิด ทำให้ต้องหาที่นอนกันอยู่ด้านล่าว

เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า หน่วยงานราชการที่ดูแลดูแลทรัพยากรธรรมชาติไม่ควรมีพฤติกรรมเช่นนี้ ขนาดในสงครามสู้รบเขายังยอมให้คนกลางเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยขาดแคลนและได้รับความทุกข์ยากจากการต่อสู้ แต่นี้ไม่ใช่สงคราม โดยกรมอุทยานฯมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรของชาติและต้องทำงานกับคน แต่เมื่อบุคลากรภายในกรมอุทยานฯมีทัศนคติเป็นลบต่อคนที่ต้องเจรจาด้วยและดำเนินการในลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการกีดขวางไม่ให้นำข้าวของไปถึงมือชาวบ้าน ควรต้องถูกประณามและผู้บังคับบัญชาควรลงโทษและไม่ควรปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

“จริงๆแล้วอุทยานฯและเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหรือมีสิทธิห้ามกิจกรรมที่เข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ชาวบ้านเขาขาดแคลนข้าวเพื่อการยังชีพ ผมขอกล่าวหาว่าการห้ามเช่นนี้เป็นการลุแก่อำนาจ โดยไม่คำนึงถึงคนที่กำลังทุกข์มา 20 ปี แถมเมื่อมีคนเข้าไปช่วยเหลือยังขัดขวางอีก ผมไม่รู้ว่าหัวใจเขาทำด้วยอะไร ชีวิคคนไม่มีความหมายหรืออย่างไร ทำไมคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ มีการศึกษาดีที่ประชาชนมอบหมายให้ทำงานจึงไม่อยู่บนฐานของมนุษยธรรม” เพิ่มศักดิ์ กล่าว

นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า การที่ผู้บริหารอุทยานฯบางคนอ้างเรื่องโควิดนั้น จริงๆแล้วการเข้าไปบริจาคข้าวของให้ชาวบ้านบางกลอยครั้งนี้ เป็นคนละพื้นที่กับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญการเอาข้าวและอาหารเข้าไปไม่เกี่ยวข้องกับโควิด เป็นการเอาข้าวและอาหารไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจึงไม่มีเหตุผลต้องขัดขวาง และข้าวส่วนใหญ่ก็ยังเอาไปทำบุญเรียกขวัญข้าวซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านบางกลอยทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สำคัญคือเป็ยการเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของชาวบ้านด้วย

ณัฐวุฒิ อุปปะ รองเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)กล่าวว่า เราได้รับภาพว่ามีชาวบางกลอยเดินเท้ากลับไปอยู่บ้านเดิม เราได้คุยกันและเช็คข้อมูลว่าเป็นอย่างไรและมีช่องทางสื่อสารกับชาวบางกลอยด้านบนซึ่งทราบว่าหลังจากพวกเขาถูกอพยพมาด้านล่างความเป็นอยู่ไม่ได้ดีเหมือนดังที่หน่อยงานราชการสะท้อนกลับมา ที่ดินก็ไม่ได้ครบ พื้นที่บางส่วนยังเป็นพื้นหินไม่สอดคล้องกับวิถีไร่หมุนเวียน รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจึงต้องการกลับไปอยู่พื้นที่เดิม 

ณัฐวุฒิกล่าวว่า เรากลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมคือใช้เงื่อนไขในกฎหมายอุทยานฯฉบับใหม่ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่กรณีบางกลอยยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ ชาวบ้านควรได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป แต่พอหน่วยงานลงพื้นที่กลับข่มขู่ที่จะดำเนินคดีกลับชาวบ้าน

“ตอนนี้ประเด็นบางกลอยไม่ใช่แค่เรื่องของบางกลอยแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อุทยานฯประกาศทับพื้นที่เดิมของชาวบ้านทั่วประเทศ เพียงแต่กรณีบางกลอยเป็นตัวอย่างสำคัญ กฎหมายอนุรักษ์ที่ทับคน มองไม่เห็นคน กลายเป็นปัญหาครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว" รองเลขาธิการ กป.อพช. กล่าว และว่าการห้ามไม่ให้ข้าวของที่ประชาชนร่วมกันบริจาคผ่านด่าน เป็นเรื่องด่วนที่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติควรรีบออกมาแก้ไข และความความขัดแย้งหลายประเด็นจะลดลง ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติลงมาเคาะ 

“ตอนนี้เรากำลังสื่อสารไปยังพี่น้องกะเหรี่ยงทั่วประเทศเพื่อให้มาร่วมยืนยัน โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งและประชาชนที่สนใจจะเดินทางมาหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติตอน 9 โมงเช้า เพื่อขอพบรัฐมนตรีในตอน 11 โมงเพื่อเจรจาในหลายประเด็น บวกกับกรณีที่เสบียงของชาวบ้านบางกลอยถูกกัก จึงต้องเจรจาหารือกัน ระหว่างนั้นเราจะเชิญพี่น้องกะเหรี่ยงและผู้ที่เกี่ยวข้องขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องไรหมุนเวียนและสิทธิมนุษยชน ทำอย่างไรกะเหรี่ยงจึงกลับใจแผ่นดินได้” ณัฐวุฒิ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท