Skip to main content
sharethis

ดูภาพรวมความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ที่จีนจัดตั้ง และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ 2 กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้ามาขยายอิทธิพลการเมืองในประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการอย่างไร ให้เงินไทยไปแล้วเท่าไหร่ และในวันที่เขื่อนเต็มแม่น้ำ อะไรขาดหายไปในการแข่งขันนี้

หินและเครื่องจักรถูกนำมาก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะริมน้ำโขง

เดือน ส.ค. 2563 ที่โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระดับความลึกของแม่น้ำโขงอยู่ที่ 3 เมตรถือว่าน้อยกว่าธรรมชาติจากการเฝ้าสังเกตของนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายชุมชนเพื่อพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ระดับน้ำในหน้าฝนอย่างนี้ควรอยู่ที่ระดับ 6 เมตร แต่ระดับน้ำก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ หลังมีการสร้างเขื่อนบนลำน้ำนานาชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศริมน้ำอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อ. เชียงของคือพื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ใกล้กับเขื่อนปากแบง เขื่อนใน สปป.ลาวที่ผู้พัฒนาโครงการคือบริษัท China Datang Oversea Investment จำกัด จากประเทศจีน (บริษัทต้าถัง)

เขื่อนที่สร้างในแม่น้ำโขงกลายเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่องหลังความผิดปกติของแม่น้ำโขงเริ่มเป็นที่สัมผัสได้ของสื่อและสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำที่ผันแปรอย่างคาดเดาไม่ได้เพราะการเปิด-ปิดเขื่อนที่ไม่มีการประสานงานกัน การหายไปของตะกอนดินจนทำให้น้ำโขงที่เคยขุ่นกลายเป็นน้ำใสๆ เพราะตะกอนดินถูกกักอยู่หน้าเขื่อน ไปจนถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคที่เกิดขึ้นเพราะความเดือดร้อนจากความผิดปกติของสายน้ำ เช่น การถูกกัดเซาะชายฝั่งปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม หรือความเดือดร้อนเรื่องปริมาณการหาอาหารในแม่น้ำโขงของลาว ไทยและกัมพูชา

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

นิวัฒน์เล่าว่ากระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงยังทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งทั้งฝั่งไทยและลาวมาก รัฐจึงป้องกันการเสียดินแดนด้วยการนำหินมาถมเป็นกำแพงป้องกันการกัดเซาะ ที่ฝั่งไทยก็ต้องก่อสร้างยาวกว่า 800 กม. สูญงบประมาณไปหลักแสนล้านบาท

เขื่อนและผลกระทบในแม่น้ำความยาว 4,800 กม. ผ่าน 6 ประเทศคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของบทบาทการเมืองระหว่างประเทศบนผืนน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน เม็ดเงิน ความช่วยเหลือทางการทูตถูกทุ่มเทลงมาในอนุภูมิภาคอย่างยาวนานด้วยวัตถุประสงค์นานาประการนับตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1990 จนวันนี้ การขยายอิทธิพลทางการเมืองตอนนี้มีจีนและสหรัฐฯ เป็นตัวละครหลัก ทั้งในส่วนของเม็ดเงิน บทบาทการวางโครงสร้างพื้นฐานและอิทธิพลระหว่างประเทศริมน้ำโขง

ทำไมมหาอำนาจแห่กันสนใจแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงมีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุครัฐสมัยใหม่ เนื่องด้วยเส้นทางสายน้ำที่ผ่านประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศ (จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม) ประชากรราว 60 ล้านคนพึ่งพาแม่น้ำโขงโดยตรงในฐานะแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและพื้นที่เพาะปลูก จำนวนปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงถือเป็นปริมาณมากที่สุดในหมู่การจับปลาตามลุ่มแม่น้ำทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก มีการค้นพบพันธุ์ปลาแล้วมากถึง 1,300 สายพันธุ์ การมีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศบนแม่น้ำโขงจึงสามารถเริ่มต้นจากหลายประเด็น และมีอิทธิพลได้หลายเรื่อง

เมื่อทศวรรษ 1960 สหรัฐฯ เคยมีแนวคิดสร้างเขื่อนแต่ก็ชะงักไปในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามเย็น แนวคิดการสร้างกรอบความร่วมมือในประเทศบนแม่น้ำโขงจากประเทศนอกพื้นที่แบบเป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1990 เมื่อญี่ปุ่นเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation - GMS) โดยใช้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นแกนหลักในการให้ทุนสนับสนุนประเทศสมาชิก

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นที่เพิ่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองและมีการเติบโตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เช่น การเป็นผู้ขายสินค้าและยุทโธปกรณ์ให้สหรัฐฯ ในแนวรบที่เกาหลี รวมถึงการรับฟื้นฟูเกาหลีหลังสงคราม เมื่อสิ้นสงคราม ญี่ปุ่นก็เล็งให้ความช่วยเหลือการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างความไว้วางใจในชาติต่างๆ ที่เคยถูกญี่ปุ่นรุกราน ให้ภูมิภาคดังกล่าวกลับมาซื้อสินค้าญี่ปุ่นอีกครั้ง

ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2522 มีการเริ่มประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น หลังจากนั้น บรรยากาศสงครามเย็นที่ลดลง การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนามที่มีการปกครองแบบในระบอบคอมมิวนิสต์ และการแสวงหาฐานการผลิตต้นทุนต่ำและภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกของญี่ปุ่น นำมาซึ่งการก่อตั้ง GMS ที่มุ่งพัฒนาเรื่องการเกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ การลงทุน โทรคมนาคม การท่องเที่ยว การค้าและการขนส่ง

จีนแสดงความสนใจต่อพื้นที่แม่น้ำโขงในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการก่อตั้ง GMS สะท้อนจากการให้มณฑลยูนนานและมณฑลกวางสีเข้าร่วม GMS ในปี 2535 และ 2548 ตามลำดับ (ควรบันทึกไว้ว่า เขื่อนจีนเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักคือเขื่อนมานวาน เปิดใช้งานเมื่อปี 2539) ในปี 2543 จีนมียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก มุ่งพัฒนาพื้นที่ตอนในของประเทศซึ่งกล่าวถึงการรวมตัวเองกับโครงการ GMS เพื่อให้จีนมีเส้นทางส่งสินค้าจากยูนนานไปท่าเรือในพม่า เวียดนามและไทย นอกจากนั้นยังวางแผนสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกทั้งถนน ราง และทางน้ำ

ดอกผลของ GMS คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารพัด เช่น พื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงประเทศลุ่มน้ำโขงด้วยสะพานข้ามแม่น้ำและทางหลวงผ่านทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่า สร้างข้อตกลงการส่งสินค้าข้ามแดนเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเดินเรือพาณิชย์บนแม่น้ำ และกรอบความร่วมมือในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

อนึ่ง ความพยายามในการจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดตั้งปี 2538 ประกอบด้วยไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้เกิดประโยชน์สูงสุดทุกด้านยังคงมีบทบาทอย่างจำกัด

และเมื่อมหาอำนาจโลกกลายมาเป็นสหรัฐฯ กับจีน การเมืองบนแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนผลัดไปสู่การแข่งขันทางการเมืองมหาอำนาจอีกแบบ

LMC vs US-Mekong Partnership กรอบความร่วมมือบนแม่น้ำโขงที่ไปไกลว่าแม่น้ำโขง

ความร่วมมือ LMC ที่มีจีนนั่งหัวโต๊ะได้ก่อรูปก่อร่างภายใต้กรอบแนวทางความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และด้านสังคม วัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และแตกย่อยออกมาเป็น 5 ประเด็นย่อย ได้แก่ การขยายการค้าและการลงทุน การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านกายภาพและกฎระเบียบ การส่งเสริมความร่วมมือทางการงิน การส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากน้ำและการจัดการน้ำ การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดย LMC เรียกกรอบนี้ว่า “กรอบความร่วมมือ 3+5

ตามแผน 5 ปีภายใต้กรอบความร่วมมือ LMC จีนจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศสมาชิกรวม 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การให้ทุนของ LMC ที่พบจะเป็นการให้ทุนผ่านหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ก่อนที่จะกระจายเงินนั้นไปให้กับโครงการที่ขอสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ข้อมูลเมื่อ มี.ค. 2563 ระบุว่า ภายใต้กรอบกองทุนพิเศษนี้ จีนสนับสนุนโครงการต่างๆ ไปแล้วมากกว่า 410 โครงการ การสำรวจจากหน้าข่าวพบตัวอย่างการสนับสนุนในประเทศต่างๆ จีน ดังนี้

  • 30 มี.ค. 2563 สนับสนุนเงินจำนวน 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้รัฐบาลพม่า ทำ 22 โครงการด้านเกษตรกรรม การศึกษา ไอซีทีและอื่นๆ
  • 14 ก.พ. 2562 สนับสนุนเงินจำนวน 7.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้รัฐบาลกัมพูชาทำโครงการ 19 โครงการ
  • 21 ธ.ค. 2560 สนับสนุน 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กัมพูชา
  • 24 มิ.ย. 2563 สนับสนุนสถาบันแห่งชาติด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (NIDIR) ประเทศกัมพูชา จัดทำโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพด้านการทูตไซเบอร์” ในจำนวนเงิน 498,740 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย เส้นทางของกองทุนพิเศษจะอยู่ในลักษณะการทำเป็น MOU ระหว่างสถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทยกับส่วนราชการเจ้าของเรื่องแต่ละโครงการ การรับทุนของไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ เม.ย. 2561 ที่กรุงเทพฯ เมื่อไทยเซ็น MoU รับทุนมาทำวิจัยเพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) และกลไกการร่วมมือในด้านการพัฒนาพลังงานน้ำ จากนั้นการเซ็น MoU ก็เกิดขึ้นเรื่อยมา เท่าที่รวบรวมได้จากมติ ครม. และหน้าข่าวพบว่ามีดังนี้

  • 9 ม.ค. 2561 กระทรวงพาณิชย์ กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้กองทุนพิเศษ LMC อย่างสูงสุด
  • 15 ม.ค. 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากกองทุนพิเศษแม่โขงล้านช้าง จำนวน 389,500 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กรมทรัพยากรน้ำ
  • 12 มี.ค. 2562 กระทรวงการต่างประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประสานงานระดับชาติของกรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างของประเทศสมาชิก
  • 17 ธ.ค. 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการสาธิตการบรรเทาความยากจน โดยภาคการป่าไม้ในประเทศ จำนวน 2,430,000 หยวน
  • 24 ก.ย. 2562 กระทรวงศึกษาธิการรับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 220,000 หยวน (ราว 948,200 บาท) จัดโครงการประชุมสัมนาจัดทำแผนพัฒนาอาชีวศึกษาไทยลาว-จีน และโครงการอบรมการพัฒนาหลักสูตรการขนส่งทางราง
  • 22 ต.ค. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม โครงการอบรมเจ้าหน้าที่/ข้าราชการระดับกลางจากประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง มีเนื้อหาการอบรมที่สำคัญ เช่น สถานะด้านอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ แนวทางส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น จำนวน 450,000 หยวน
  • 6 พ.ย. 2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2 โครงการ เรื่องนำร่องควบคุมโรคพยาธิใบไม้ในตับในประเทศลุ่มน้ำโขง และการคัดกรองอาหารที่ไม่ปลอดภัยเบื้องต้น รวมจำนวน 4.16 ล้านหยวน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • 29 ต.ค. 2563 ครม. อนุมัติร่าง MoU รับมอบงบ 5 โครงการจากจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินงาน 5 โครงการใต้งบประมาณ 1.4062 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้จีนอนุมัติ
  • 11 ธ.ค. 2562 เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 เพื่อดำเนินความร่วมมือในการสนับสนุนเวทีการผลิตข้าว การพัฒนาเทคโนโลยี และศักยภาพองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
  • 11 ธ.ค. 2562 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสายน้ำรวก ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 2,450,000 ล้านหยวน
  • 17 พ.ย. 2563 กองทุนพิเศษ LMC มอบเงินสนับสนุนราว 2.2 ล้านดอลลาร์ให้รัฐบาลไทยทำโครงการเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านหาร การควบคุมวัชพืชและโรค การจัดการดินและการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบยั่งยืน

หันไปดูทางสหรัฐฯ US-Mekong Partnership ยังไม่มีรายละเอียดมากนักเนื่องจากอยู่ในขั้นกำลังก่อรูปก่อร่าง เบื้องต้นเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยระบุว่า เป็นการต่อยอดจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2552-2563 เพื่อยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาทุนมนุษย์ การจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน และรับความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น ประเด็นสุขภาพ โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การปราบปรามค้ามนุษย์ ยาเสพติด และสัตว์ป่า

สิ่งที่น่าจับตามองในหุ้นส่วนนี้ นอกจากเรื่องเงินสนับสนุนแล้วก็คือการจัดตั้งแพลตฟอร์มติดตามเขื่อนบนแม่น้ำโขง หรือ Mekong Dam Monitor โดยใช้เทคโนโลยีรีโมทเซนซิงและภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อติดตามการทำงานของเขื่อนจีนและผลกระทบจากมัน US-Mekong Partnership ให้การสนับสนุนโครงการนี้ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกับศูนย์สติมสัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Stimson Center’s Southeast Asia) และบริษัท Eyes on Earth ทั้งสององค์กรนี้เป็นคนจุดประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมาจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจากภาพถ่ายดาวเทียมที่พบว่าระดับน้ำที่เปลี่ยนไปจากธรรมชาติจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจำนวนมาก

รายงานดังกล่าวนำมาซึ่งการปฏิเสธผลกระทบของเขื่อนอย่างต่อเนื่องจากจีน ตามด้วยการขยี้ประเด็นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ว่าการสร้างเขื่อนตามอำเภอใจมีผลต่อระดับน้ำที่ผิดปกติในสายน้ำนานาชาตินี้จริงๆ

อนึ่ง กรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2552-2563 ได้มีการมอบเงินช่วยเหลือประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงในโครงการด้านสาธารณสุข การเติบโตทางเศรษฐกิจ สันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล การศึกษาและบริการด้านสังคม และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรวมทั้งสิ้น 3,417 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แข่งขันมากขึ้น ผืนน้ำสายเดิม

รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) มองภาพรวมของการแข่งขันของมหาอำนาจบนพื้นที่ลุ่มน้ำโขงว่ามีความเข้มข้นขึ้นสืบเนื่องจากการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ระอุขึ้น ทำให้ท่าทีของจีนต่อพื้นที่ใดๆ ในโลกมักเป็นที่เพ่งเล็งของสหรัฐฯ การสร้างเขื่อนของจีนที่ทำไว้เยอะและเป็นระบบที่ตอนบนของแม่น้ำโขง เมื่อผนวกกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการที่จีนไม่คำนึงถึงการใช้น้ำโขงร่วมกันยิ่งทำให้ประเทศตอนล่างของแม่น้ำเดือดร้อนและรู้สึกเป็นเบี้ยล่างของจีนมากขึ้น

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศบนแม่น้ำโขงที่มีอยู่แล้วอย่าง MRC หรือ GMS หรือ ACMECS จีนก็ไม่ได้เข้าร่วม เป็นอย่างมากก็เพียงผู้สังเกตการณ์ แต่กลับมาตั้งกรอบความร่วมมือของตัวเองแล้วตั้งกติกาขึ้นมาเองอย่าง LMC และมีบทบาทแซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยมีอิทธิพลในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ผ่าน GMS ส่วนประเทศในลุ่มน้ำโขงก็ต้องการหาอะไรที่มาคานอำนาจกับจีนอยู่ เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนในผลัดปี 2563 ก็สามารถยกเรื่องแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำโขง ที่เดิมทีไม่ได้รับความสำคัญในระดับภูมิภาคให้เป็นวาระของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนก็ควรมีแนวทางการรับมือมหาอำนาจเช่นเดียวกันกับกรณีทะเลจีนใต้ อีกสนามการเมืองของจีน-สหรัฐฯ

ด้วยปัจจัยทั้งหมดผนวกกับข้อท้าทายทางนโยบายของจีนเอง การกลับมาของสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือว่าลงตัวและไม่นับว่าสายเกินไป ฐิตินันท์คาดว่าแนวนโยบายในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเด้น ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2564 คงมีความต่อเนื่องทางยุทธศาสตร์ เพราะที่จริงความสนใจในแม่น้ำโขงในรัฐบาลทรัมป์ก็มีความต่อเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลบารัก โอบาม่าอยู่แล้ว

“ไม่ช้าไป เพราะจีนตอนนี้ประสบกับข้อท้าทายเยอะ จีนอ่อนลง ถ้าจีนไปลิ่วเลยคือ BRI (Belt and Road Initiative - โครงการให้กู้ หรือลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ) ของเขาไปไกลกว่านี้ เขาได้รับการยอมรับมากกว่านี้ ประเทศใต้น้ำไปเข้าเล่นอยู่ในกรอบ LMC สหรัฐฯ ก็อาจจะช้าไปแล้ว แต่ตอนนี้จีนมีข้อกังขาเรื่อง BRI หลายประเทศสงสัย ไม่มั่นใจกับโครงการ BRI ทั้งหลายเพราะทำให้เป็นหนี้เป็นสิน สอง กลุ่มประเทศใต้น้ำต้องการที่จะคานอำนาจจีน เพราะจีนตั้งกรอบแบบมัดมือชก ในขณะที่ก็เริ่มแสดงอำนาจ เช่น เขากักน้ำไว้ จะปล่อยเมื่อไหร่ ถ้าเกิดมีประชุมสุดยอดทีหนึ่งเขาก็ปล่อยน้ำเข้ามาทีหนึ่ง ทำให้ประเทศใต้น้ำเขารู้ว่าเป็นเบี้ยล่าง”

“จีนก็ทำตัวเป็น hegemon (ผู้มีอำนาจนำ) สหรัฐฯ ในสถานการณ์แบบนี้ การที่เขาขยับเดินหมากมาก็ถือว่าไม่ช้า แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือมันจะมีการต่อเนื่องจากทรัมป์ไปไบเดนหรือเปล่า คิดว่าคงจะมี เพราะน้ำโขงเป็นน้อยเวทีที่มีความต่อเนื่องจากโอบาม่ามาทรัมป์ ซึ่งทรัมป์ก็ไม่ปฏิเสธ ยังไปต่อยอด LMI ด้วยซ้ำ คิดว่าไบเด้นก็จะต่อยอด”

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ผู้ทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ บนแม่น้ำโขงมายาวนานเล่าว่า กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ไม่มีความหมายในการตัดสินใจเรื่องประเด็นข้ามพรมแดน กลายเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่คนจะสร้างเขื่อนเอาไว้ขอการรับรองก่อนสร้างเขื่อนว่าได้กระทำการแจ้งให้ทราบแล้ว ตัวละครใหม่ที่เข้ามาอย่าง LMC ของจีนตอนนี้เน้นไปที่การตกลงกับประเทศต่างๆ ในลักษณะทวิภาคีโดยตรง ไม่ใช่การที่แต่ละประเทศมานั่งถกกัน

เธอเล่าต่อไปว่า แม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่นานาชาติต้องการเข้ามามีส่วนร่วม แต่สิ่งที่ขาดไปคือกระบวนการหรือกลไกที่จะสร้างการใช้ทรัพยากรบนแม่น้ำร่วมกันอย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและประชาชน

แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ใกล้กับสามเหลี่ยมทองคำที่เชื่อมต่อไทย-ลาว-พม่า

"แม่น้ำโขง บางคนก็บอกว่าจะตายแล้ว แต่เรามองว่ามันบอบช้ำ ทรัพยากรมันถูกทำร้ายค่อนข้างเยอะ มันมีการตักตวงทัพยากรไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือผลประโญชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยที่ผู้แบกรับต้นทุนคือระบบนิเวศแม่น้ำโขง ก็คือคนหลายล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากร"

"ถ้ามันเดินไปในแนวทางนี้เรื่อยๆ ลุ่มน้ำโขงก็คงอยู่ยาก เราคงจะเห็นแต่คนบาดเจ็บ และมีคนที่เป็นชนชั้นนำ ครอบครัวชั้นนำหรือบริษัทชั้นนำไม่กี่แห่งที่จะได้ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรแม่น้ำโขงนี้ไป ซึ่งเราเห็นว่ามันเลยเวลาแล้วที่จะกลับมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นและจัดการลุ่มน้ำนานาชาติแห่งนี้ในแบบที่มันมีความรับผิดรับชอบมากขึ้น"

"2-3 วันนี้ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) กับ MRC ก็แจ้งว่าจีนแจ้งว่ามีการลดปล่อยน้ำจากจิ่งหงเพราะซ่อมบำรุงเขื่อนของเขา ระบบสายส่ง จะเป็นแบบนี้จนถึงวันที่ 25 เราก็คิดว่านี่เหรอที่จีนสัญญาบอกว่าจะให้ข้อมูล คือข้อมูลที่ว่าเขาจะปิดก๊อกน้ำแล้วเราก็อยู่ไปลำบากแบบนี้หรอ จริงๆ มันควรจะมีกลไกในการรับทราบและตระหนักปัญหาที่เกิดขึ้นว่าการ ปป ของแม่น้ำโขง ความผันผวนของแม่น้ำจากการใช้งานเขื่อนทั้งเขื่อนในจีน ในลำน้ำสาขา หรือเขื่อนไซยะบุรีในลาวมันสร้างผลกระทบมากมายขนาดไหน มันต้องมีกลไกในการแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่ใช่แค่รอว่าจีนจะมาแจ้งอะไรหรือเปล่า" เพียรพรกล่าว

ทุนจากไหนไม่สำคัญ แล้วอะไรสำคัญ?

รูปประโยค “รับทุน+...” มักถูกใช้ในทางการลดทอนเจตจำนงหรือเจตนารมย์แรกเริ่มของผู้รับการสนับสนุนเสมอในสังคมไทย สำหรับการแข่งขันการเป็นสนามแข่งขันอิทธิพลทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจอย่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง คงเป็นเรื่องยากและซับซ้อนที่จะตอบชัดๆ ว่าการช่วยเหลือของใครสำคัญกว่าใคร แต่สำหรับคนที่มองการแข่งขันจากภายนอกและผู้รับทุน มีคำตอบอย่างอื่นที่สำคัญกว่านั้น

อภิสม อินทรลาวัลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในผู้รับทุนวิจัยใต้กองทุน LMC จาก สทนช. เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเหมืองฝาย (ฝายกั้นน้ำตามภูมิปัญญาดั้งเดิม) บนแม่น้ำรวก แม่น้ำสาย ลำนาสาขาที่จะไหลลงแม่น้ำโขง เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทยและพม่า สองประเทศที่ใช้แม่น้ำทั้งสองสายร่วมกัน

อภิสมเล่าว่า การสร้างเหมืองฝายของทั้งสองประเทศทำให้เกิดผลกระทบตามชายแดนเนื่องจากเป็นลักษณะการจัดการน้ำแบบทำใครทำมัน การจัดการน้ำแบบนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เช่นการแย่งน้ำ หรือการปล่อยน้ำเพื่อให้ฝั่งตัวเองน้ำไม่ท่วม แต่น้ำไปท่วมอีกฝั่ง โดยการทำวิจัยจะทำร่วมกับทีมจากพม่าเพื่อหาข้อมูลพื้นฐาน 4 เรื่อง ได้แก่เรื่องอุทกวิทยา การใช้ที่ดิน ผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจจากคุณภาพแม่น้ำ และการทำข้อเสนอทางนโยบาย โชคร้ายที่โครงการที่มีกำหนดจะเริ่มในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ถูกเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

อาจารย์ ม.แม่ฟ้าหลวงเล่าว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกัมพูชาและลาว ไทยถือว่าได้ทุนจากกองทุนพิเศษ LMC น้อย ทุนที่อภิสมได้รับเป็นทุนวิจัย คือเป็นทุนให้ไปทำวิจัยเพื่อหาคำตอบ นอกจากทุนแบบนี้ก็จะมีทุนที่ให้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่มีธงว่าต้องการอะไร ซึ่งเขาก็ไม่ได้รับทำงานกับทุนประเภทนี้ เขาคิดว่าในฐานะนักวิชาการ การผลักดันประเด็นที่ทำนั้นมีความสำคัญ

“วัตถุประสงค์ของผมคือการผลักดันให้ประเด็นเรื่องน้ำสู่ประชาคมโลก ผมรับทุนจากสหรัฐฯ จากญี่ปุ่น จากเกาหลี จากจีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เราต้องซื่อตรงต่อตัวเราเอง เราต้องซื่อตรงต่อสังคมที่เราอยู่ ไม่มีการบิดเบือนผลของโครงการ ผมคิดว่านั่นคือบทบาทของนักวิชาการ พวกเราต้องมีความซื่อตรง รักษาความซื่อตรงนั้นและซื่อสัตย์กับข้อเท็จจริง” อภิสมกล่าว

นิวัฒน์เองก็เคยมีทุนสนับสนุนจากจีนจะมาให้ผ่านทางกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่ แต่ไม่ได้ตรงวาระและเวลาจึงไม่ได้รับไว้ ทั้งนี้ ทัศนคติต่อการเข้าหาภาครัฐและเอกชนจากจีนนั้น นิวัฒน์มองว่าภาคประชาชนจะต้องเข้าใจการเมืองบนแม่น้ำเพื่อผลักดันวาระการอนุรักษ์ การพัฒนาน้ำโขง ส่วนการรับทุนสนับสนุนนั้น หากเป็นประโยชน์ก็ควรรับและพิจารณาจากเงื่อนไขเป็นหลัก

“เรื่องอย่างนี้มันหนีไม่พ้น แม่น้ำโขงมันก็เป็นการเมืองมาตั้งแต่อดีตแล้ว เราก็มองตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส ยุคอาณานิคม เราก็เห็นมาหมดแล้วนี่ มันมีเรื่องเีก่ยวพันกับการเมืองหมด เพียงแต่ว่าการเมืองในยุคนั้นๆ ใครจะเข้ามามีบทบาทในด้านไหน ยกตัวอย่างอเมริกาสมัยก่อนจะสร้างเขื่อนผามองเขาก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เขาก็นักสร้างเขื่อนเหมือนกัน แต่วันหนึ่งเมื่อ LMI เข้ามา LMI ก็เริ่มมีบทบาทการอนุรักษ์เข้ามา มันมีมาอยู่ตลอด”

“สิ่งสำคัญคือ เมื่อแม่น้ำเป็นเรื่องของการเมือง ภาคประชาชนต้องเข้าใจการเมืองของแม่น้ำว่าคุณจะต้องยืนอยู่จุดไหน แล้วใช้ประโยชน์ของการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร ถ้าคุณไม่รู้ คุณก็ไปตามรัฐบาลไปเรื่อยเปื่อยมันก็ไปหมดแล้ว”

“เราจะทำยังไงให้มีอำนาจที่คานกัน ให้มันมากระแทกกันแล้วดึงดุลมันมาสู่การอนุรักษ์ให้ได้ ทุกวันนี้ดึงยังไม่ได้”

เกาะแก่งกลางน้ำคือเอกลักษณ์หนึ่งของแม่น้ำโขง (ที่มา: เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง)

นิวัฒน์ฝันถึงการมีสภาประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงอาเซียน ภาคประชาชนที่จะจัดทำคู่ขนานไปกับกรอบความร่วมมือนานาชาติต่างๆ บนผืนน้ำ ซึ่งตอนนี้ก้าวแรกได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่โรงแรมเชียงขอบ ทีค การ์เด้น ที่กลุ่มประชาชนจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการรวมตัวเป็นเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ที่รวมตัวกันเพื่อให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ สนับสนุนข้อมูลด้วยการทำวิจัยมาแล้วก่อนหน้า สภานี้จะยกระดับการทำงานในประเด็นการอนุรักษ์ให้มีน้ำหนักมากขึ้นให้ถึงขั้นการเสนนโยบายให้กับรัฐ

สยามรัฐรายงานว่า ทางภาคประชาชนได้ส่งหนังสือเชิญร่วมงานไปยังสถานทูตสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเยอรมนี มีเพียงสหรัฐฯ ออสเตรเลียและญี่ปุ่นตอบรับคำเชิญร่วมงาน

ภาพฝันบนผืนน้ำแห่งการแข่งขัน

แม้เทรนด์การเอาใจใส่พัฒนาน้ำโขงจะเปลี่ยนแนวจากการเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเขื่อน ถนน การลงทุน ฯลฯ แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมคือการจัดการทรัพยากรในแม่น้ำร่วมกันให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่แข่งขันกันยังมีพื้นที่พอที่จะพัฒนาให้ดีกว่านี้ และทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่านี้

ฐิตินันท์เล่าว่าสิ่งที่เขาพึงปรารถนาจะเห็นคือจีนเล่นตามกติกาที่ประเทศในลุ่มน้ำโขงมีอยู่ กรอบความร่วมมือ LMC นั้น เมื่อตั้งมาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรื้อหรือยกเลิก แต่ต้องให้กลุ่มประเทศปลายน้ำมีปากมีเสียง มีบทบาทมากขึ้น จีนเองก็สามารถให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมอย่าง LMC MRC หรือ ACMECS ที่ตอนนี้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น

“ถ้าสังเกตตอนนี้ ประเทศใต้น้ำให้ความสำคัญกับ ACMECS ที่ไทยทำไว้สมัยทักษิณ เวียดนามก็สนใจ กัมพูชาก็สนใจ มันตัวรองที่จะมาคาน LMC ได้ สิ่งที่อยากจะเห็นก็คือ จีนเล่นตามกติกาที่หมู่ประเทศในลุ่มน้ำโขงใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ตั้งกติกาของตัวเองขึ้นมาแล้วก็มัดมือชกให้คนอื่นเล่นตาม

“สิ่งที่พึงปรารถนาคือ ใช้ลุ่มน้ำโขงด้วยกันเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่งของส่วนรวม ถ้าทำดีๆ แม่น้ำโขงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ มีการประสานงาน มีรถไฟฟ้าจากจีนมาลาว ในที่สุดมาถึงลาวก็มาถึงไทย ถ้าพัฒนาให้มีความร่วมมือกันแบบแฟร์ๆ มันก็จะเป็นหม้อข้าวให้ประเทศทั้ง 6 ประเทศใน mainland Southeast Asia แต่ถ้าจีนทำตัวแบบสร้างความได้เปรียบก็จะเกิดความระแวงกันและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่สามารถทำให้ภูมิภาคเติบโตอย่างมั่งคั่งได้ในภาพรวม”

เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานโปรเจกต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEVANA South-East Asia) ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านประชาสังคมและสิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ มองว่าที่ผ่านมา ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างพยายามในการทำให้จีนปรับพฤติกรรมการใช้น้ำโขงที่ทำให้ประเทศอื่นๆ เดือดร้อนอยู่ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดเพราะประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขงก็ไม่สามารถรวมตัวพูดกับจีนในเรื่องที่จริงจังได้

เปรมฤดีกล่าวว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องนโยบายในการพัฒนา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถยกกลไกที่ทำให้ประชาชนมีส่วนรว่ม ไม่ได้หมายถึงชาวบ้านริมโขงเท่านั้น แต่สาธารณชน ประเด็นพวกนี้ไปไม่ถึงไหน ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามหรือนำไปสู่ความเข้าใจ ทุกอย่างที่รัฐบาลทำก็มีอะเจนด้าชัดเจนว่าจะพูดอะไร แต่เป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยที่ไม่เคยมีช่องทางสาธารณะมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ มีช่องว่างมาก เรื่องงานเหล่านี้จึงกลายเป็นงานของกลุ่มเฉพาะเช่น NGO เมื่อมีช่องว่างแบบนี้ สิ่งที่ควรมีก็ไม่เกิด ในขณะที่การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงก็รุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

"20-30 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคมีประสบการณ์มากพอที่จะบอกว่าอะไรที่ไม่ได้สนองความต้องการ คล้ายกับได้ไม่คุ้มเสีย อาจจะใช้คำนั้นก็ได้ ประสบการณ์เรามีมากพอ เพียงแต่ว่าจะทำให้สถานการณ์มันดีกว่านี้ไดอย่างไร ในฐานะคนทำงานสิ่งแวดล้อม ความเป็นห่วงของเราที่สุดก็คือทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียไปเกือบหมดอย่างรวดเร็ว และมันกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น กับวิถีชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง นักธุรกิจท้องถิ่น มันล่มลงไปแบบนั้นโดยไม่มีอะไรมารองรับ”

"ข้อพิสูจน์ที่ทำให้ควบคู่ไปกับความร่วมมือเศรษฐกิจกับพวกคุณคือการที่ต้องเชื่อมโยงให้ได้ ให้รู้กันว่าทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด เรื่องทรัพยากร สิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ต้องมีบริบทการพูดถึงเรื่องนี้ แลกเปลี่ยน ถกเถียงลงมาให้ถึงระดับเนี่ย ไม่ใช่อยู่ในระดับผิวๆ ว่าจะเติบโตไปด้วยกัน ร่ำรวยไปด้วยกัน ค้าขายระหว่างพรมแดนให้ภาษีน้อยที่สุด"

ด้านเพียรพรมองว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายต้องฟังชาวบ้านให้มากขึ้น และตระหนักถึงปัญหาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบนผืนน้ำนี้ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มองว่ามีประชาชนลำบากจากการที่แม่น้ำและทรัพยากรถูกทำลาย การจะแก้ปัญหาก็คงเป็นไปได้ยาก ชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องกว่า 20 ปี ก็คงจะเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ คงทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้บ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net