Skip to main content
sharethis

ประกันสังคม ยันผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพ ยังมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นข่าวในกรณีผู้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รับเงินซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญ หรือสวัสดิการอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ, เบี้ยหวัด, บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใด ในลักษณะเดียวกันนั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม คลายข้อกังวลดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ขณะที่ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้ น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงถึงข้อสงสัยของผู้ประกันตนในกรณีนี้ว่า "แม้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม ก็มิใช่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกันตนดังกล่าวจึงเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 6 (4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552" ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จึงเป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินตาม นโยบายของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญด้านสวัสดิการสังคมในวัยเกษียณให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เพื่อช่วยสร้างความอุ่นใจมีเงินเลี้ยงชีพในรูปแบบบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณอย่างยั่งยืน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/2/2564

พนักงานการบินไทยร้อง ปปช. เอาผิด กลต. ปล่อยบริษัทเบี้ยวจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ 400 ล้าน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย เปิดเผยว่าวันนี้ (4ก.พ.) ตนและ พนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สอบสวนเอาผิด นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ก.ล.ต.) ข้อหาปฏิบัติหน้าที่ และการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายกับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน)

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทการบินไทยฯ ได้มีการออกข้อบังคับกองทุนฯ เกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ โดยระบุว่าบริษัทฯจะจ่ายเงินสมทบให้ เฉพาะกรณีที่พนักงานลาออกจากกองทุนฯและลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทด้วยเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ขัดกับกฎหมายกองทุนและประกาศ กลต. โดยก่อนหน้านี้สมาชิกกองทุนได้ยื่นหนังสือขอให้นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลต.สั่งการให้ คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทการบินไทย แก้ไขข้อบังคับกองทุน ให้เป็นไปตามประกาศ กลต. แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ

“เราเคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลต. แต่นายทะเบียนเพิกเฉย ไม่ได้สั่งการให้การบินไทย แก้ไขข้อบังคับกองทุนที่ขัดต่อกฎหมาย จึงจำเป็นต้องร้องให้ ปปช.ดำเนินคดีกับนายทะเบียน และ ขอให้สั่งการให้การบินไทยแก้ไขข้อบังคับกองทุนให้เป็นไปตาม ประกาศ กลต.ด้วย เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกกองทุนฯของการบินไทยประมาณ 600 คนที่ลาออกจากกองทุนฯ กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก นอกจากปัจจุบันจะถูกบริษัทฯปรับลดเงินเดือนแล้ว ยังต้องสูญเสียเงินสมทบที่ควรจะได้จากองทุนฯ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายอีก รวมเป็นเงินราว 400 ล้านบาท และหากพนักงานฯ มีการทยอยลาออกจากกองทุนเพิ่มขึ้น อีกความเสียหายก็จะมากขึ้น โดยปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นสมาชิกองทุนสำรองฯ มากกว่า1.5 หมื่นคน”

ที่มา: ข่าวสด, 4/2/2564

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง เลิกจ้างพนักงาน 29,917 คน

รายงานข่าวแจ้งว่าจากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า โดยประเภทกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย เป็นผลมาจากการเกิดโอเวอร์ซัพพลายเหล็กล้นตลาดจาก 1.2 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศห้ามเปิดโรงงานเหล็กเส้นในไทยเป็นเวลา 5 ปี ราคาเหล็กตกลงมากและลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กต่อจากนี้ไปจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐที่ทยอยออกมา จะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากยังมีการปิดโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้นอีกจะน่ากังวลว่า เหล็กในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดไทยจะต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาแทน

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่าปี 2563 ยอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,9179 คน

ดังนั้นปี 2563 จึงถือว่าไทยเก่งและยังมีศักยภาพ เพราะถึงเจอกับโควิด-19 เต็มๆ กลับมีการตั้งโรงงานและขยายกิจการเพิ่ม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยอยู่ ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ รวมถึงการที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย ที่เป็นโอกาสช่วงที่จะลงทุนมีอำนาจการต่อรองช่วงที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ตรงนี้มันจะมีผลต่อการจ้างงานอีกเกือบ 200,000 คน

“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนไทยจะยังเป็นตัวหลัก จะเกิดการผลิต ความคึกคักภายในประเทศยังคงมีอยู่” นายประกอบกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/2/2564

กสศ.ผนึกกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี ค้นหาศักยภาพเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเป็น “ช่างชุมชน”

น.ส.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงาน 41 เครือข่ายโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จัดกิจกรรมวางแผนช่วยเหลือเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ให้สามารถค้นหาศักยภาพตัวเองจากการได้รับทุนสนับสนุนให้มี “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ “ต่อยอดอาชีพเดิม” พร้อมหนุนเสริมอุปกรณ์ประกอบอาชีพ โดยมีเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาทั้งที่ทำงานในโรงงาน หรือ บุตรหลานผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกิจกรรม 40 กว่าคน

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กสศ.ต้องการเข้ามาดูแลสนับสนุนและช่วยเหลือให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาตัวเองและมีทักษะความรู้ใหม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาที่ซับซ้อน พร้อมกับได้มีความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพ “ครูพี่เลี้ยง” หรือ ครูนอกระบบการศึกษาให้เข้ามาช่วยดูแลเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยเฉพาะแกนนำสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพที่ตนเองทำงานอยู่ในโรงงานเข้ามาร่วมจัดพื้นที่การศึกษาใหม่ที่เหมาะสมกับเยาวชนแรงงานและสภาพพื้นที่

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 2/2/2564

จนท.จัดหน่วยเคลื่อนที่ ลงทะเบียนแรงงานไร้นายจ้าง ในตลาดกลางกุ้ง

2 ก.พ. 2564 นางอัธยา อ่ำหนองโพ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร นำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ให้บริการลงทะเบียนออนไลน์ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่รับจ้างทำงานภายในตลาดกลางกุ้ง แต่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งมีอยู่ราว ๆ 700 คน ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามระบบกระทรวงแรงงาน และการควบคุมโรค ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

นางอัธยา เปิดเผยว่า การลงทะเบียนทางออนไลน์นี้ เปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่ยังไม่มีนายจ้างสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า เมื่อลงทะเบียนแล้วก็ต้องไปทำการตรวจโรคและหานายจ้าง เพื่อยื่นขอทำงานภายในวันที่ 13 ก.พ. นี้ ส่วนแรงงานที่อยู่นอกตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่มีนายจ้าง สามารถขอลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ในซอยเทศบาล 8 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: ข่าวสด, 2/2/2564

“นักร้อง-ดนตรีอิสระ” ยื่นหนังสือทวงถาม นายกฯ ถึงแนวทางเยียวยาผลกระทบโควิด

1 ก.พ. 2564 กลุ่มนักร้อง นักดนตรีอิสระ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือทวงถามนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

โดยตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบอาชีพกลางคืน นำโดย นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาได้เคยมายื่นหยังสือไว้แล้ว โดยมี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ทั้งนี้ นายทักษะศิลป์ กล่าวว่า ทางกลุ่มเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้อง-นักดนตรีอิสระ รวมถึงกลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ซึ่งได้ทวงถาม 3 ข้อที่เคยเสนอไปดังนี้ 1. ขอให้รัฐเร่งพิจารณาหนังสือขอความช่วยเหลือที่ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด 2. ขอให้ทบทวนมาตรการเยียวยา “เราชนะ” เป็นเงินสดเนื่องจากมาตรการที่ทางรัฐออกมาช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถนำไปจ่ายหนี้สินค่าที่พักอาศัยได้ และข้อสุดท้าย หากกลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ขอให้กลุ่มนักร้องนักดนตรีอิสระ สามารถกลับไปทำงาน โดยจะยินยอมให้มีมาตรการร่วมกันของทางภาครัฐ ศบค. เพื่อมีมาตรการสร้างความปลอดภัยจากทุกฝ่าย

ที่มา: สยามรัฐ, 1/2/2564

ส.อ.ท.ห่วงแรงงานเมียนมาทะลักไทยจากเหตุรัฐประหาร ซ้ำเติมสถานการณ์ COVID-19

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจาก พลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมา ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานเมียนมาอาจไหลทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด -19 ที่แพร่ระบาดขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องลักลอกขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2564

สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก-ส่งออกมีลุ้นดีขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานปี 2564 มีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีอัตรากำลังการผลิตที่เหลืออยู่แต่ยังต้องพยายามรักษาสภาพการจ้างงานเอาไว้โอกาสจ้างแรงงานเพิ่มจึงมีอัตราต่ำ ขณะที่แรงซื้อยังไม่เพิ่มมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงถึงชาวบ้านโดยเร็วและต่อเนื่องเพื่อที่จะพยุงให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยกลไกการใช้เงินที่เต็มประสิทธิภาพ

“ปีนี้ธุรกิจและแรงงานจะเหนื่อยกว่า ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้มองในเรื่องกลไกการปฏิบัติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่ทำอย่างไรให้เบิกจ่ายจริงแล้วถึงมือประชาชนให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแต่กลับเบิกจ่ายใช้จริงไม่ถึง 50%” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาถือว่ารัฐได้ทำอย่างเต็มที่ภายใต้เงินที่มีอยู่ รวมถึงโครงการเราชนะล่าสุดภาพรวมสนับสนุนที่จะต้องเร่งอัดฉีดให้ต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขเช่น เงินฝากทุกบัญชีต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะตั้งไว้เพราะหากรัฐส่งเสริมการออมการมีเงินออมเพียงเท่านี้ถือว่าไม่ได้มากเลย หากมีเงื่อนไขนี้ต่อไปคนอาจไม่อยากออม ขณะเดียวกัน เห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเยียวยาโควิด-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นคนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท 1 เดือน ซึ่งเห็นว่าหากเป็นไปได้ก็ควรจะพิจารณาให้เท่ากับโครงการเราชนะคือ 7,000 บาท (3,500 บาท 2 เดือน) เป็นต้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงอยู่ที่ว่าธุรกิจใดจะประคองตัวเองได้มากสุดเท่านั้นหากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ ดังนั้น ปัญหาด้านสภาพคล่องธุรกิจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มลำบาก หากไทยเริ่มฉีดวัคซีนและเสร็จภายในไตรมาส 3 การท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 แต่ต่างชาติคงยังไม่มีมา ภาพรวมจะส่งผลให้แรงงานระดับ 1 ล้านคนในส่วนนี้ยังคงว่างงาน

ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มที่อาจค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าหลายรายการของต่างประเทศเริ่มหมดลงเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้โรงงานมีการปิดตัวลง จึงทำให้มีคำสั่งซื้อมายังภูมิภาคเอเชีย และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์เนื่องจากเป็นประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. 63 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 2562 จึงทำให้มีการประเมินว่าส่งออกปี 2564 จะโตได้ 4% จากปี 2563 ที่การส่งออกรวมทั้งปีติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิดเนื่องจากแม้ว่าทั่วโลกเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดว่าจะได้ผลอย่างแท้จริง

“ภาคแรงงานของไทยยังคงต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งน่าห่วงเด็กจบใหม่ที่จะออกมาในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้อีกราว 5 แสนคน และยังมีเด็กจบใหม่ของปีก่อนที่ยังคงว่างงานอีกราว 3 แสนคนที่จะหางานยากขึ้นหากไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ จึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ โดยมีแนวทางสนับสนุนการโอนหน่วยกิตเดิม เช่น คนจบรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็สามารถโอนหน่วยกิตบางส่วนที่จะไปเรียนต่อสาขาคอมพิวเตอร์ หรือภาษา ที่ตรงกับตลาดแรงงาน เพื่อดูดซับเด็กบางส่วนไปสร้างทักษะใหม่ เป็นต้น” นายธนิตกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2564

กรมชลประทานจัดงบ 5.6 พันล้าน จ้างเกษตรกร-คนตกงานจากโควิด 9.4 หมื่นคน

31 ม.ค. 2564 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณปี 2564 วงเงิน 5,662 ล้านบาท สำหรับจ้างงานเกษตรกรจำนวน 94,000 คน ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 13,294 บาท โดยงานที่จ้างจะดำเนินการจ้างเพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง และการจัดการคุณภาพน้ำ

ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2564 มีการจ้างงานไปแล้ว 8,237 คน ประมาณ 8.76% ของเป้าหมายที่วางไว้ วงเงินที่จ้างงานประมาณ 109.49 ล้านบาท หรือประมาณ 1.93% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างงานจะให้กับ 4 กลุ่ม ดังนี้

1. เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่

2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่

3. ประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่

4. หากแรงงานในพื้นที่ไม่พอ ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและลุ่มน้ำตามลำดับ

“กรมชลประทาน จะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างงานในช่วงฤดูแล้งในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ส่วนการระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมาก มีแรงงานเกษตรกรที่เข้าไปรับจ้างในกรุงเทพฯ หรือเมืองอุตสาหกรรม ที่มีการหยุดงาน หรือโรงงานปิดกิจการ ร้านอาหารไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ทางกรมชลประทานก็จะประกาศเชิญชวนให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน หากคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ก็พร้อมรับเข้าทำงาน”

นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวว่า สำหรับโครงการการจ้างงานเพื่อจ้างเกษตรกรประจำปี 2563 ภายใต้งบประมาณ 4,498 ล้านบาท จ้างแรงงานวงเงิน 2,713 ล้านบาท หรือ 60% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่จ้างเกษตรกรทำงานได้ประมาณ 91,159 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือประมาณ 103% ของเป้าหมายที่วางไว้ที่จำนวน 88,838 คน แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 4,248 ล้านบาท เป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 81,538 คน และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2563 วงเงิน 250 ล้านบาท เป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 7,300 คน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจ้างทำงานกับกรมชลประทาน เฉลี่ยมีรายได้ประมาณคนละ 29,770 บาท สำนักชลประทานที่มีการจ้างงาน มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักชลประทานที่ 7 จ้างงานจำนวน 14,761 คน สำนักชลประทานที่ 5 จ้างงานจำนวน 9,161 คน และสำนักชลประทานที่ 8 จ้างงานจำนวน 8,148 คน

“หลักเกณฑ์การจ้างงานยังยึดเกณฑ์เดิมเหมือนทุกปี คือจ้างเกษตรกรในพื้นที่ หากไม่มีเกษตรกรร่วมโครงการ ก็ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ”

สำหรับจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน ขุดลอกคูคลอง มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ จ.อุบลราธานี จ้างแรงงานจำนวน 5,781 คน, จังหวัดเชียงใหม่ จ้างแรงงานจำนวน 5,377 คน และจังหวัดสกลนคร จ้างแรงงาน 3,938 คน ตามลำดับ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 31/1/2564

ธปท.แนะจับตา 3 ปัจจัยใกล้ชิด ชี้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคบริภาค

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวย ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 รอบใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางธ.ค. นั้นยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่ธ.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีนี้ด้วย

ดังนั้นมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ด้านแรกคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะลากยาว และการแพร่ระบาดจะมีต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบวงกว้างมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ด้านที่สอง คือตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ภาคนบริการได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบนี้

โดยหากดูอัตราการว่างงาน จากจำนวนผู้รับสิทธิการว่างงานของผู้ประกันต้น พบว่า เดือนธ.ค.อยู่ที่ 5.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.8 แสนคน ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงาน อยู่ที่ 3.9 แสนคน จาก4.7 ล้านแสนคน ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนผู้เสมือนว่างงานต่อรายสาขาธุรกิจ พบว่า จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 2.4 ล้านคน จาก 2.2 ล้านคน ในเดือนก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นภาคเกษตรที่ 0.8 ล้านคน จาก 0.9ล้านคนในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นอกภาคนเกษตร เพิ่มมาอยู่ที่ 1.6 ล้านคน จาก 1.3 ล้านคน สุดท้ายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตาม

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เดือน ธ.ค. 2563 ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน

โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน

ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

ขณะที่ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ

อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า

ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง

แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

ส่วน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น

แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน

ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/1/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net