Skip to main content
sharethis

ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ที่ประเทศไทยรวมตัวต้านรัฐประหารต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ด้านสื่อ NHK ของญี่ปุ่น รายงานว่าผู้คนราว 5,000 คน รวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตพม่าในกรุงโตเกียว

7 ก.พ. 2564 สยามรัฐออนไลน์ รายงานว่าเวลา 11.00 น. ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มชาว​เมียนมาที่อาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มพระสงฆ์ นักศึกษา คนทำงาน และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กว่า 300 คน ​เดินทางมาชุมนุมกันเพื่อทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารในประเทศพม่า ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมแสดงสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดี ภาพนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ซึ่งอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหาร พร้อมภาพสัญลักษณ์ต่อต้าน พล.อ.วิน อ่อง หลาย มีการการร้องเพลงชาติ และเพลงปลุกใจ กับ ชู 3 นิ้ว​ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี และคืนประชาธิปไตยให้ประเทศพม่า ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำวจ บก.น.1 และ สน.นางเลิ้ง จำนวน 50 นาย เฝ้าสังเกตการณ์และดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้นายเว่น หนึ่งในชาวพม่าที่ร่วมชุมนุม ระบุว่า การทำกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเคลื่อนไหวพร้อมชาวพม่าในกรุงย่างกุ้ง ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านกองทัพพม่าและพล.อ.วิน อ่อง หลาย สำหรับกิจกรรมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมียนมา ได้ดำเนินไปจนถึงเวลา 14.00น. ก่อนชาวพม่าทั้งหมดจะแยกย้ายกันกลับ​ด้วยความเรียบร้อย

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเวลาประมาณ 17.30 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าประจำประเทศไทย ถนนสาทร กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวพม่ากลุ่มหนึ่งรวมตัวกันทำกิจกรรมบริเวณทางเท้าริมกำแพงสถานทูต และผิวจราจร 1 ช่องทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวา และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตรึงกำลังในจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณประตูหน้าสถานทูต

บรรยากาศทั่วไป เวลาราว 18.00 น. กิจกรรมยังดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีการถือภาพนางออง ซาน ซูจี และสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดี รวมถึงป้ายไวนิลขนาดใหญ่มีข้อความต่อต้านรัฐประหาร บางช่วงมีการนำภาพนายพล มิน อ่อง ลาย มารุมเหยียบที่พื้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไทยเข้าร่วมด้วย อาทิ กลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี

เวลา 18.05 น. ‘เพชร’ เยาวชนที่ถูกออกหมายเรียก ม.116 และ ‘แอม’ บัณฑิต ม.ศิลปากร เข้าร่วมกิจกรรม โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมให้เคลื่อนย้ายขึ้นบนทางเดินเท้าเพื่อความปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังขอให้แยกย้ายกลับเมื่อจบกิจกรรม

ต่อมาเวลา 18.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ชาวพม่าชายรายหนึ่งประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียงจากรถตำรวจให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับ

เวลาประมาณ 18.15 น. ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ทยอยเดินทางกลับ ในขณะที่เยาวชนไทยที่เข้าร่วมยังคงปักหลักสังเกตการณ์ โดนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อย และกล่าวขอบคุณผู้ชุมนุมที่ให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 18.25 น. ยังมีกลุ่มชาวพม่าบางส่วนจับกลุ่มพูดคุยบริเวณใต้สะพานลอยใกล้ปากซอยสาทร 12

ต่อมาเวลาประมาณ 18.25 น. หญิงชาวพม่ากลุ่มหนึ่งเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขออนุญาตกางป้ายไวนิลภาพนางอองซานซูจี เพื่อถ่ายภาพบริเวณหน้าประตูสถานทูต แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ปรับเปลี่ยนมาถ่ายภาพจากด้านข้างแทน กลุ่มหญิงชาวพม่าตกลงแล้วร่วมกันถ่ายภาพโดยชู 3 นิ้ว

จากนั้นหญิงชาวพม่ารายหนึ่งกล่าวกับตำรวจว่า ‘ร้องไห้ทุกวัน พรุ่งนี้ไม่อยากทำงานเลย’ ตำรวจรายดังกล่าวตอบกลับว่า ‘อ่ะ สู้ๆ ครับ’ หญิงชาวพม่ากล่าวขอบคุณแล้วแยกย้ายกลับ

เวลาประมาณ 18.30 น. กลุ่มคนไทยที่มาร่วมกิจกรรมยังคงรวมตัวกันหน้าปากซอยสาทร 12 โดยพูดคุยกันถึงสถานการณ์ในพม่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบสังเกตการณ์ตามจุดต่างๆ อาทิ สะพานลอยใกล้สถานทูต ริมกำแพงสถานทูต และบริเวณประตูด้านหน้า

เวลาประมาณ 18.50 น. เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กบริเวณหน้าประตูสถานทูตออก ชาวพม่า 3 รายนำป้ายมีข้อความต่อต้านรัฐประหารยืนถ่ายภาพหน้าป้ายสถานทูตแล้วแยกย้าย

 

 

อนึ่ง ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่ากลุ่ม WeVo ได้นำรถเครื่องเสียงไปสนับสนุนผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า อ้างว่าเป็นคำขอของผู้ชุมนุม แต่ถูกตำรวจสกัดไม่ให้เข้าพื้นที่ ขณะวนรถกลับที่แยกสาทร-สุรศักดิ์ ถูกเรียกตรวจบัตรประชาชน-ใบขับขี่ และย้ำไม่ให้เข้าไปหน้าสถานทูต ระบุเป็นพื้นที่ควบคุม และให้เป็นการชุมนุมเฉพาะชาวพม่าเท่านั้น

"ยืนหยัดตราบโลกสลาย" เพลงแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย "8-8-88" ดังขึ้นอีกครั้งหน้าสถานทูตพม่าในไทย 

เวลา 20.00 น. เพจ The Mekong Butterfly รายงาน ชาวพม่าที่อาศัยในไทยนัดรวมตัวหน้าสถานทูตพม่า แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จุดเทียน ส่องไฟ และร้องเพลงประจำการชุมนุม "8-8-88"ต่อสู้กับรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว อองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี

 

"ยืนหยัดตราบโลกสลาย" เพลงแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย "8-8-88" ดังขึ้นอีกครั้งหน้าสถานทูตพม่าในไทย  เวลา 20.00 น. เพจ...

โพสต์โดย ประชาไท Prachatai.com เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์  2021

 

บรรยากาศการทำกิจกรรม ผู้เข้าร่วมเกือบ 100 คน เริ่มทยอยเข้าพื้นที่หน้าสถานทูตตั้งแต่ประมาณ 19.45 น. มีการใส่เสื้อสีแดง สีสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดี ชูรูปซูจี และป้ายข้อความต้าน รปห. เช่น "Save Myanmar, We don't accept the military coup. We want democracy. We want justice." และอื่น ๆ 

ต่อมา มีการตะโกน เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวซูจี จุดเทียน ส่องไฟไปที่สถานทูต พร้อมกับร้องเพลง "กะบามะเจบู" หรือยืนหยัดตราบโลกสลาย เพลงประจำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าเมื่อครั้งอดีต เหตุการณ์ "8-8-88" 

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมได้ความว่าจะมีการจัดกิจกรรมทุกวัน ช่วงสองทุ่ม และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงขณะทำกิจกรรม

ผู้คนราว 5,000 คน ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตพม่าในกรุงโตเกียว

ผู้คนราว 5,000 คน ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตพม่าในกรุงโตเกียว

วันเดียวกันนี้ (7 ก.พ.) NHK WORLD-JAPAN รายงานว่าผู้คนราว 5,000 คน ออกมาประท้วงนอกสถานทูตเมียนมาในกรุงโตเกียวเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมาที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

ผู้เข้าร่วมการประท้วงถือรูปของนางอองซานซูจีและป้ายที่มีข้อความเช่น “Save Myanmar” หรือ “ช่วยเมียนมา” ขณะที่ตะโกนว่า “จงปล่อยตัวอองซานซูจี” และ “เราไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร”

นักศึกษาคนหนึ่งจากพม่าที่กำลังเรียนอยู่ในญี่ปุ่นระบุว่า ผู้คนในประเทศของเธอถูกจำกัดสิ่งที่ทำได้เพราะอินเทอร์เน็ตถูกตัดสัญญาณ และว่าเธอต้องการให้ประชาคมนานาชาติซึ่งรวมไปถึงญี่ปุ่นเข้ามาช่วย

ชายคนหนึ่งจากพม่าระบุว่าอนาคตของพม่าจะเสียผลประโยชน์เป็นอย่างมากในท้ายที่สุดหากพวกตนไม่ทำอะไรสักอย่างในตอนนี้ และเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น

ผู้จัดประท้วงคนหนึ่งระบุว่าเขาต้องการให้ผู้คนในพม่ารับรู้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศกำลังต่อสู้ไปพร้อมกับพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net