เปิดทุกความเจ็บช้ำของคนคราฟท์เบียร์ ยุคโควิด-19 รัฐไม่เหลียวแล จนต้องเทเบียร์ทิ้งหน้า สธ. (1)

ร่วมรับฟังเสียงสามเจ้าของบาร์คราฟท์เบียร์ที่มาร่วมสะท้อนปัญหาของพวกเขาในช่วงโควิด-19 ในวันที่รัฐมีคำสั่งปิดประตูช่องทางขายแทบทุกบานและไร้การเยียวยาช่วยเหลือ ตลอดจนข้อเสนอและข้อเรียกร้องของพวกเขาที่อยากให้รัฐรับฟัง ก่อนที่วงการคราฟท์เบียร์จะ ' 'ได้แต่รอวันตาย' หรือ 'ตายสนิท' เท่านั้น 

สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง

กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นัดรวมตัวยื่นหนังสือข้อเรียกร้องที่กระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ภาพโดย กันต์ แสงทอง

ประตูสองบานที่ถูกปิดสนิท-จนนำมาสู่การเทเบียร์หน้า สธ.

เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของวงการคราฟท์เบียร์ขณะนี้ อาจจะต้องเกริ่นถึง 2 มาตรการจากภาครัฐที่ทำให้ผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายเบียร์ไร้ซึ่งช่องทางขายสินค้า 

ประตูบานแรก คือ การออกประกาศฟ้าผ่า งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้านอาหาร โดยกรุงเทพมหานคร  จุดประสงค์หลักคือเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสองที่กำลังเล่นงานไทยตั้งแต่ปลาย ธ.ค. 2563   

คำสั่งคุมเข้มการขายนี้เริ่มประกาศวันที่ 4 ม.ค. 2564 และบังคับใช้ทันทีวันที่ 5 ม.ค. 2564 ออกแบบชนิดฟ้าผ่า ทำให้ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ตั้งหลักไม่ทัน มีเวลาเตรียมตัวรับมือแค่วันเดียว

เรื่องนี้ส่งผลร้ายต่อวงการคราฟท์เบียร์ทันที เจ้าของร้านอาหารหรือบาร์จำหน่ายเบียร์สดปรับตัวกันแทบไม่ทัน เหลือคงค้างสต็อกกันมากมาย ใครใคร่เหลือน้อยก็โชคดีไป แต่ใครเหลืออยู่มาก อาจต้องเทเบียร์ทิ้งกันระนาวหากเบียร์หมดอายุในช่วงที่รัฐห้ามขาย สร้างความเสียหายหลักหลายหมื่น หรืออาจจะถึงแสนให้กับผู้ประกอบการ 

ปัจจุบัน คำสั่งนี้ยังถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อเบียร์สดที่ถูกสั่งล่วงหน้าและกำลังถูกนำเข้ามาสมทบในอนาคต จะไม่สามารถขายได้หากรัฐยังไม่มีการผ่อนปรน 

แม้ว่าการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วันที่ 29 ม.ค. 2564 จะอนุญาตให้ซื้อเบียร์กลับบ้าน (take away) แต่ข้อผ่อนปรนนี้อาจไม่ได้ช่วยพวกเขาเท่าใด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าจะมีคนอยากเดินทางมาซื้อเบียร์ที่ร้านเพื่อกลับไปนั่งทานที่บ้านสักกี่คน ถ้ามี มีมากพอที่ผู้ประกอบการจะพยุงตัวเองผ่านสถานการณ์แสนยากลำบากได้อย่างไร

กลุ่มผู้ขายคราฟต์เบียร์ เทเบียร์ทิ้งหน้ากระทรวงสาธารณสุข ร้องรัฐมีมาตรการผ่อนปรนการขาย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

กลุ่มผู้ขายคราฟท์เบียร์ เทเบียร์ทิ้งหน้ากระทรวงสาธารณสุข ร้องรัฐมีมาตรการผ่อนปรนการขาย
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

ประตูบานที่สองที่ถูกปิดลง คือ การบังคับใช้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 ส่งผลผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ไม่สามารถขายสินค้าของตัวเองบนช่องทางออนไลน์ได้ โดยเหตุผลหลักที่ภาครัฐอ้างคือป้องกันกลุ่มเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายจนเกินไป

ประตูสองบานที่ถูกปิดสนิทนี้ ทำให้ช่วงโควิด-19 ระลอกสองที่กำลังดำเนินอยู่ ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์แทบจะไม่มีช่องทางขายคราฟท์เบียร์เลย ความเดือดร้อนทำให้พวกเขาเลือกออกมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องมาแล้วสามหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งที่ สธ. กลุ่มผู้เรียกร้องมายื่นหนังสือ พร้อมกับเทเบียร์เสื่อมสภาพทิ้งหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสะท้อนความเสียหายทางเศรษฐกิจของพวกเขาจากการคงมาตรการของรัฐ 

พวกเขาอยากให้ภาครัฐทบทวนมาตรการผ่อนปรนการขายอีกครั้ง ทั้งการซื้อเพื่อดื่มในร้าน และการขายออนไลน์เฉพาะช่วงนี้ ซึ่งอาจเป็นการผ่อนปรนโดยมีเงื่อนไข เช่น ออกกฎหมายห้ามแชร์แก้วเบียร์ดื่ม การเว้นระยะห่างของโต๊ะ-ที่นั่ง การจำกัดคนเข้า และอื่น ๆ ซึ่งพวกเขายินดีจะทำตาม  

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ได้แค่รอฟังมาตรการผ่อนปรนจากภาครัฐอีกรอบว่าจะมีการผ่อนปรนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เร็ว ๆ นี้หรือไม่ อย่างไร 

มีการคาดการณ์จากสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทยว่า หากรัฐยังคงมาตรการคุมเข้มการขายเบียร์ต่อไป บีบให้พวกเขาไม่มีช่องทางขายเบียร์ อาจส่งผลกระทบทำให้วงการคราฟท์เบียร์ได้แต่ “รอวันตาย” หรือตายสนิทเท่านั้น 

ความตายในที่นี้ เราไม่ได้พูดถึงแค่ร้านอาหารที่เน้นขายคราฟท์เบียร์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงทั้งวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของธุรกิจ ผู้นำเข้า พนักงาน ลอจิสติกส์ และอื่น ๆ 

คุยกับสามเจ้าของบาร์ ในวันที่ภาครัฐไร้ความช่วยเหลือ-เยียวยา 

ประชาไทร่วมคุยกับสามเจ้าของบาร์ ประกอบด้วย สิทธิพันธ์ ปลื้มธีระธรรม นรา โยธาประเสริฐ จากร้าน Give Me Some Ale และ เฉลิมเกียรติ วงศ์วลัยมาศ จากร้าน Save Our Soul ซึ่งพวกเขาถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากมาตรการของรัฐ 

ทั้งสามคนประสานเสียงชัดเจน มาตรการของภาครัฐที่กะทันหัน และบังคับใช้กว่าหนึ่งเดือน ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างรุนแรง ทำให้เบียร์สดที่สั่งมาล่วงหน้าไม่สามารถขายได้ และเสี่ยงที่จะต้องเทเบียร์ทิ้งทั้งหมดถ้าหมดอายุก่อนที่จะได้ขาย 

คราฟท์เบียร์สดเหล่านี้เป็นสินค้ามีอายุการเก็บรักษาน้อย ประมาณ 2-3 เดือน 

นอกจากนี้ สิทธิพันธ์ วิจารณ์การขยายเวลาเปิดร้านอาหารถึง 23.00 น. จะไม่ได้ช่วยผู้ค้าเบียร์เท่าใดนัก เพราะลูกค้าที่มาร้านของเขาต้องการนั่งทานคราฟท์เบียร์สดในร้าน แต่ตราบใดที่ยังไม่อนุญาตขายเบียร์เพื่อบริโภคในร้านได้ คาดว่าจะดึงลูกค้ากลับมายาก 

ความเห็นนี้สอดคล้องไปในทางเดียวกับร้าน Give Some Ale ของนรา ซึ่งประสบปัญหายอดขายหายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จากการห้ามซื้อเบียร์ดื่มในร้าน  

“รายได้หลักของเรา ซึ่งมาจากเครื่องดื่มแอลกฮอล์ หายไปเกือบ 80% แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม สินค้าค้างสต็อกบ้าง หมดอายุบ้าง ปกติแล้ว สินค้าหลักของเราจะเป็นเบียร์สด การที่นั่งดื่มในร้านไม่ได้นั้น ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ตอนนี้คือต้องรอมาตรการผ่อนปรนอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้” นรา กล่าว

ขณะที่ช่องทางการขายออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขายที่มีต้นทุนน้อย และเข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายที่สุดนั้น ก็ถูกรัฐบีบไปแล้ว บาร์หลายแห่งจึงถูกเปลี่ยนเป็นร้านอาหารอย่างจำใจ อย่างน้อยเพื่อประคองตัวเองช่วงที่ไร้การผ่อนปรนจากรัฐ นรา กล่าวว่า “ถ้ารัฐยังคงมาตรการนี้ต่อไป อาจทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์แทน” 

สิทธิพันธ์ ในฐานะที่บาร์ของเขาเองกถูกเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร เขามองว่า การปรับเปลี่ยนนี้เป็นการเพิ่มต้นทุนและภาระให้ผู้ประกอบการ มากกว่าช่วยพวกเขาในยามวิกฤต 

“ในส่วนของการปรับมาเป็นร้านอาหาร กลับทำให้บาร์มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการต้องสต็อก วัตถุดิบสดที่เป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัวสด ซึ่งเราเป็นบาร์ก็จำหน่ายสู้ร้านอาหารไม่ได้อยู่แล้ว คนที่จะทานอาหาร เขาก็คงจะนึกถึงร้านอาหารก่อน”

“อันนี้ถ้าคุณจะให้เราปรับเป็นร้านอาหาร แล้วเราไม่ได้พร้อม เราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อมีครัว หรือตั้งใจออกแบบเป็นร้านอาหารโดยตรง ไหนจะพนักงานที่เราต้องจ้าง แม่ครัวที่เราต้องจ้างเพิ่มอีก มันยากครับ เหมือนถ้าคุณจะให้ร้านอาหาร อยู่ดี ๆ สั่งเขาพรุ่งนี้ปรับเป็นบาร์เลยนะ เขาก็ทำสู้เราไม่ได้” สิทธิพันธ์ กล่าว

รูปจากวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่มผู้จำหน่ายและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นคำขอผ่อนปรนการขายที่ สธ.

รูปจากวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่มผู้จำหน่ายและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นคำขอผ่อนปรนการขายที่ สธ.

ขณะที่ข้อเรียกร้องถึงภาครัฐของพวกเขานั้น จาก Save Our Soul ของเฉลิมเกียรติ ซึ่งเขามองว่า การผ่อนปรนให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพื่อที่ผู้ค้าจะได้มีช่องระบายสินค้าก่อนที่จะหมดอายุ และต้องขาดทุนทั้งที่ยังไม่ได้ขาย 

นอกจากนี้ เขามองว่าการผ่อนปรนจะทำให้ตัวเขาไม่ต้องเป็นภาระใคร รวมถึงได้นำเงินมาช่วยเหลือทั้งตัวเอง และคนข้างหลัง พยุงสถานะทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตนี้ 

“เราอยากทำงาน อยากดูแลตัวเอง รับผิดชอบทีมงาน และที่สำคัญไม่อยากสร้างหนี้สิน” เฉลิมเกียรติ ระบุ

ขณะที่ทางสิทธิพันธ์ มองว่า รัฐควรมีมาตรการผ่อนปรนเรื่องการขายออนไลน์เพื่อช่วยเหลือพวกยามวิกฤต โดยเขาเสนอว่า แอปพลิเคชันสมัยนี้มีระบบคัดกรองอายุ เช็กบัตรประชาชน รวมถึงการกำหนดเวลาซื้อ-ขาย ซึ่งตอบโจทย์ความมุ่งหมายภาครัฐที่ไม่อยากให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายเกินไป นอกจากนี้ การขายออนไลน์สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะคนไม่ต้องขับรถออกมาหาที่นั่งดื่ม พบปะสังสรรค์ดื่ม ซึ่งการดื่มที่บ้านลดปัญหาได้หลายอย่าง 

อีกข้อที่สิทธิพันธ์ มองว่า รัฐควรมีการผ่อนคลาย คือ การขายเพื่อดื่มในร้าน โดยปรับเปลี่ยนให้ขายแบบมีเงื่อนไขแทน เช่น ภายในร้านมีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ-ที่นั่ง ห้ามแชร์แก้วเบียร์ดื่ม และมาตรการสาธารณสุขอื่น ๆ ให้ร้านทำตาม เพื่อให้พวกเขาพยุงเศรษฐกิจของตัวเองต่อไปได้ในช่วงนี้ ไม่อยากให้รัฐ “สั่งปิดโดยไม่คำนึงถึงเรื่องธุรกิจ” เลย 

สิ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐ สิทธิพันธ์ ระบุว่า อยากให้ภาครัฐรับฟังปัญหาสมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย เพราะวงการคราฟท์เบียร์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐมากที่สุด และอยากให้รัฐเข้าใจในธุรกิจและเรื่องของสินค้าที่มันมีความอ่อนไหว เพราะเบียร์เหล่านี้ไม่ใช่เบียร์ตลาด หรือเบียร์ทั่วไปที่มีอายุการเก็บรักษายาวนานเป็นปี การสั่งห้ามขายก็มีแต่ทำให้ผู้ค้าทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอวันเททิ้งเท่านั้น  

ทางด้าน Give me some ale อยากให้รัฐมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนว่าจะห้ามขายถึงเมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าสามารถวางแผนดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาวต่อไปได้  

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการตอนนี้คงทำได้แต่รอฟังคำตอบจากภาครัฐว่าจะมีประกาศผ่อนปรนเมื่อไหร่ แต่ขณะที่พวกเขารอ ค่าใช้จ่ายของพวกเขากลับไม่ได้รอตาม ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้ภาครัฐรอจนนานเกินไป เมื่อไม่มีการเยียวยา ก็ควรคำนึงถึงพวกเขาในฐานะผู้ประกอบการถูกกฎหมาย ที่จ่ายเงินภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้ภาครัฐนำไปใช้บำรุงและบริหารประเทศ    

คำนิยามของ “คราฟท์เบียร์” คือเบียร์ที่ถูกผลิตโดยผู้ประกอบการรายย่อย บางคนเรียกว่า “เบียร์โฮมเมด” โดยการผลิตแต่ละครั้ง ผู้ผลิตสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนสูตรและวัตถุดิบการทำเบียร์ได้อย่างอิสระ เพื่อให้เกิดรสชาติที่แปลกใหม่ จนนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาวงการต้มเบียร์

หมายเหตุ : ประชาไทได้มีการปรับพาดหัวและเนื้อหามาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 เวลา 03.33 น.  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท