Skip to main content
sharethis

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบต่อตลาดแรงงานโลกจากวิกฤต COVID-19 โดย ILO พบมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในปี 2564 ช้า ไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน COVID-19 ว่าจะรวดเร็วและได้ผลแค่ไหน แนะนำรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการฟื้นฟูโดยเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในปี 2563 เนื่องจากวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 ชั่วโมงการทำงานทั้วโลกหายไปร้อยละ 8.8 เทียบเท่างานเต็มเวลา 255 ล้านตำแหน่ง
ตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในปี 2563 เนื่องจากวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 ชั่วโมงการทำงานทั้วโลกหายไปร้อยละ 8.8 เทียบเท่างานเต็มเวลา 255 ล้านตำแหน่ง | ที่มาภาพ: ILO Asia-Pacific

8 ก.พ. 2564 จากรายงาน seventh edition of the ILO Monitor: COVID-19 and the world of work ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เป็นการประมาณการใหม่ประจำปี 2564 ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเบื้องต้นของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานทั่วโลก หลังจากหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในปี 2563 เนื่องจากวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 ที่ทำให้ชั่วโมงการทำงานทั้วโลกหายไปร้อยละ 8.8 (เทียบกับไตรมาส 4/2562) เทียบเท่างานเต็มเวลา 255 ล้านตำแหน่ง ซึ่งการสูญเสียนี้สูงกว่าในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2552 ประมาณ 4 เท่า

ชั่วโมงการทำงานที่หายไปเหล่านี้คิดจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลงสำหรับผู้ที่มีงานทำหรือการสูญเสียการจ้างงานในระดับ 'ไม่เคยปรากฏมาก่อน' ซึ่งมีจำนวนถึง 114 ล้านคน ที่สำคัญร้อยละ 71 ของการสูญเสียการจ้างงานเหล่านี้ (ประมาณ 81 ล้านคน) อยู่ในรูปแบบของ 'การไม่มีงานแทนที่' ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องออกจากตลาดแรงงานไปเลย

ความสูญเสียจำนวนมากเหล่านี้ ส่งผลให้รายได้ของแรงงานทั่วโลกลดลงร้อยละ 8.3 (คำนวนก่อนรวมมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลทั่วโลก) คิดเป็น 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 4.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลก 

ผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ

วิกฤต COVID-19 ผู้หญิงได้รับผลกระทบในตลาดแรงงานมากกว่าผู้ชาย เมื่อพิจารณาในระดับโลกอัตราสูญเสียการจ้างงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 5 และของผู้ชายคือร้อยละ 3.9
วิกฤต COVID-19 ผู้หญิงได้รับผลกระทบในตลาดแรงงานมากกว่าผู้ชาย เมื่อพิจารณาในระดับโลกอัตราสูญเสียการจ้างงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 5 และของผู้ชายคือร้อยละ 3.9 | ที่มาภาพ: Fahad Abdullah Kaizer/UN Women (อ้างใน ILO)

ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เมื่อพิจารณาในระดับโลก อัตราสูญเสียการจ้างงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 5 และของผู้ชายคือร้อยละ 3.9 และผู้หญิงที่สูญเสียงานก็มีแนวโน้มที่จะออกจากตลาดแรงงานด้วย

ส่วนกลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี อัตราสูญเสียการจ้างงานของคนในกลุ่มอายุนี้คือร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป พบว่าอัตราในกลุ่มหลังคือร้อยละ 3.7 ซึ่งนอกเหนือจากการสูญเสียงานแล้ว กลุ่มคนหนุ่มสาวยังถูกชะลอการเข้าทำงานด้วย

ภาคบริการที่พักอาศัยและอาหารเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด การจ้างงานลดลงมากกว่าร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยในภาคนี้ ตามด้วยการค้าปลีกและการผลิต ในทางตรงกันข้ามการจ้างงานภาคไอทีและการสื่อสาร การเงินและการประกันภัยเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2563 และยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยยังในภาคเหมืองแร่และภาคสาธารณูปโภค 

มองไปข้างหน้า

การฉีดวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก คือตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูตลาดแรงงานทั่วโลก
การฉีดวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก คือตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูตลาดแรงงานทั่วโลก | ภาพประกอบ: Province of British Columbia (CC BY-NC-ND 2.0)

ในขณะที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง ILO คาดการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2564 ถ้าหากแผนการฉีดวัคซีน COVID-19 รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกบังเกิดผล แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ILO คาดการณ์ว่าจะเกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกร้อยละ 3 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 (ซึ่งเทียบเท่ากับงานเต็มเวลา 90 ล้านตำแหน่ง)

ILO คาดการณ์หากสถานการณ์ไปในแง่ร้าย คือถ้าหากการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าช้า ชั่วโมงการทำงานจะลดลงร้อยละ 4.6 แต่หากสถานการณ์ไปในแง่ดี ILO คาดการณ์ว่าชั่วโมงการทำงานจะลดลงเพียงร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

ในทุกความน่าจะเป็นที่ ILO คาดการณ์ สถานการณ์ตลาดแรงงานในอเมริกา ยุโรป และเอเชียกลาง จะประสบกับการสูญเสียชั่วโมงการทำงานมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ถึง 2 เท่า

ในรายงานของ ILO มีชุดคำแนะนำนโยบายสำหรับการกู้คืนตลาดแรงงานดังเช่น รัฐบาลแต่ละประเทศควรมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อสนับด้านสนุนรายได้แก่ประชาชนในประเทศและส่งเสริมการลงทุน ควรมีการกำหนดเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิง คนหนุ่มสาว แรงงานที่มีทักษะต่ำ และผู้ได้รับค่าตอบแทนต่ำ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เน้นการสนับสนุนในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวมถึงการสร้างงานใหม่ ๆ และควรมีการเจรจาทางสังคมในการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้นี้นานาชาติควรให้การสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งมีทรัพยากรทางการเงินน้อยกว่าในการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 รวมถึงส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศเหล่านี้

"สัญญาณของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานที่เราเห็นเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่มันยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เราต้องเข้าใจด้วยว่าไม่มีประเทศหรือกลุ่มประเทศใดสามารถฟื้นตัวได้โดยลำพัง" กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการ ILO กล่าว "เราอยู่ตรงทางแยก เส้นทางหนึ่งนำไปสู่การฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ยั่งยืน และยังคงมีความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตมากขึ้นอีกในอนาคต ส่วนอีกทางหนึ่งมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างตลาดแรงงานให้ดีขึ้น โดยจัดลำดับความสำคัญของการจ้างงาน รายได้ และการคุ้มครองทางสังคม สิทธิของแรงงานและการเจรจาทางสังคม หากเราต้องการการฟื้นตัวที่ยั่งยืน และครอบคลุมนี่คือเส้นทางที่ผู้กำหนดนโยบายต้องมุ่งไป" 

ที่มาเรียบเรียงจาก
ILO: Uncertain and uneven recovery expected following unprecedented labour market crisis (ILO, 25 January 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net