Skip to main content
sharethis

กลุ่มเกษตรกรจากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาติดตามความคืบหน้าการชดเชยผลกระทบจากการสูญเสียที่ดินทำกินเพราะถูกรัฐประกาศโครงการทับที่หลังมาเรียกร้องกันแล้วหลายครั้งแต่ไม่มีความคืบหน้า สำนักนายกรัฐมนตรีรับในสัปดาห์นี้จะประสานกระทรวงต่างๆ ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ ให้มีการประชุมการชดเชย

8 ก.พ.2564 ที่ศูนย์ดำรงธรรม คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สมัชชาเกษตรกรภาคอีสานเดินทางมาติดตามความคืบหน้าการชดเชยเยียวยาผลกระทบจากโครงการเขื่อนและการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์จนสูญเสียที่ดินทำกิน หลังจากปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ชาวบ้านจากหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐ

ชาวบ้านจากหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐ

พันธ์ศักดิ์ คงแสง ผู้ประสานงานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรจากหลายจังหวัดในภาคอีสานเดินทางมายื่นหนังสือแก่นายกฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 โดยผู้รับเรื่อง คือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบอีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี แต่รอจนถึงปัจจุบัน ข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่มีอะไรคืบหน้า จึงเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้แกนนำและชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการติดตามความคืบหน้า โดยระบุว่าหลังจากนี้จะทำหนังสือถึงกระทรวงและกรมต่างๆ เพื่อให้มีการเรียกประชุมและทำรายงานเกี่ยวกับประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งต่อไป แต่ถ้าหากยังมีไม่มีความคืบหน้าจากแต่ละกระทรวงตนก็จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีคำสั่งต่อไป

ศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน

ศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน

ทั้งนี้ศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าที่ผ่านมาชาวบ้านมาเรียกร้องกันหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีกทั้งในบางปัญหาก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จ่ายเงินชดเชยแล้วอย่างเช่น กรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ แต่เงินก็ถูกดึงกลับคืนไปทั้งที่ยังไม่มีการจ่ายชดเชย อีกทั้งในแต่ละกระทรวงก็มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามแต่ละปัญหาของชาวบ้าน แต่ก็พบว่าไม่มีการประชุมแก้ไขปัญหา ดังนั้นต้องการความชัดเจนว่าหลังจากนี้ทางรัฐบาลจะมีกำหนดระยะเวลาแต่ละขั้นตอนในการจัดการปัญหาอย่างไรด้วย

ศักดากล่าวหลังการประชุมว่าประเด็นที่มาติดตามวันนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เรื่องจะแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ตามข้อเรียกร้อง ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐแต่มีการตรวจพิสูจน์สิทธิจากทางจังหวัดแล้ว กลุ่มนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็จะมีการประชุมหลังวันที่ 10 ก.พ.2564 หลังจากนี้ก็จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปก็ต้องรอดูว่า ครม.จะมีความเห็นอย่างไร

ประเด็นที่สอง สำหรับเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรฯ เช่นเรื่องสวนป่าที่ประกาศทับที่ทำกินชาวบ้านทาง สปน.ก็จะมีการส่งเรื่องต่อไปที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แล้วก็จะส่งเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยให้ออกโฉนดตามกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ก็จะมีการเรียกเจ้าหน้าที่กรมที่ดินฯ มาคุยกันวันพุธนี้เพื่อจะได้รับเรื่องไป แล้วออกมาเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) เช่นกรณีที่ดินในสุรินทร์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำบันทึกไว้ก็ไม่สามารถติดตามความคืบหน้าได้

ศักดากล่าว่าในส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร ก็จะมีการคุยนอกรอบกันที่กระทรวงพลังงานวันพรุ่งนี้บ่าย(9 ก.พ.2564) ก็ถือว่าชัดเจนแล้วส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ รับกรณีเขื่อนราษีไศลก็จะมีการเรียนถึงรัฐมนตรีฯ เพื่อขอทราบวันประชุม ส่วนในกรณีอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องรอความคืบหน้าในวันที่ 10 ก.พ.อีกครั้งหนึ่งว่าผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรก่อนที่ประชาชนที่เดินทางมาชุมนุมจะเดินทางกลับ

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมามีการมาชุมนุมเรียกร้องหลายครั้งแล้ว บางประเด็นก็มีกฎหมายหรือมติ ครม.รองรับแต่เหตุใดที่ผ่านมาถึงยังไม่มีความคืบหน้าในการชดเชย

ศักดาตอบว่าปัญหาที่ผ่านมาอยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐานที่จะตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนเดือดร้อนในกรณีมีการสร้างเขื่อนทับที่ทำกิน วันที่ประกาศให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีการทำรังวัดโดยช่างของกรมที่ดินก็จะติดปัญหาเรื่องงบประมาณเรื่องระยะเวลาทำให้เวลาล่วงเลยมา หลังจากประชุมเสร็จแล้วก็จะมีการประชุมกำหนดราคา ประชุมตรวจสอบ เรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลาพอสมควร

ศักดาบอกว่าพวกเขาก็พยายามเร่งรัดอยู่จนขณะนี้ที่มีการตรวจสอบมาทั้งหมดวันนี้ก็ชัดเจนแล้ว และในการมาเรียกร้องในครั้งแรกๆ ยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนเมื่อมาเรียกร้องแล้วกลับไปก็ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ต่อมาเมื่อมาเรียกร้องพร้อมกับหาวิธีการแก้ปัญหามาเสนอก็ไปทำขึ้นมา

ชาวบ้านที่มาติดตามความคืบหน้าการชดเชยจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งบางโครงการเช่นกรณีเขื่อนลำปะทาว ที่มีมติ ครม.ให้ชดเชยแล้วแต่ยังไม่มีการจ่ายเงิยชดเชยให้

ชาวบ้านที่มาติดตามความคืบหน้าการชดเชยจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งบางโครงการเช่นกรณีเขื่อนลำปะทาว ที่มีมติ ครม.ให้ชดเชยแล้วแต่ยังไม่มีการชดเชยให้

สำหรับประชาชนที่เดินทางมาวันนี้มีประชาชนจากจังหวัดสุรินทร์ที่ได้รับผลกระทบจากหลายโครงการของรัฐที่ผลกระทบสืบเนื่องมาเป็นกว่าสิบปีโดยไม่มีการชดเชยเยียวยา เช่น

กรณีของชาญชาติ ทองประสบ ที่เดินทางมาพร้อมกับประชาชนที่ที่ดินทำกินถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งที่มีเอกสารแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) เขาเล่าว่าพวกเขาถูกย้ายออกมาจากที่ดินตั้งแต่สมัยที่รัฐเคลื่อนย้ายคนออกจากพื้นที่ที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์แต่ไม่ให้กลับไปต่อมารัฐยังประกาศที่อนุรักษ์ทับที่ทำกินของพวกเขา ซึ่งข้อเรียกร้องของพวกเขาคือต้องการที่ดินทำกินคืน โดยที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีความคืบหน้าอะไรจากหน่วยงานรัฐมีเพียงรับปากว่าจะออกหนังสือรับรองให้แต่ก็ยังไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ สำหรับตัวเขาเองเสียที่ดินเป็นร้อยไร่จากการประกาศดังกล่าวของรัฐ

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ จังหวัดสุรินทร์ ที่ถูกปล่อยน้ำท่วมที่ดินทำกินโดยไม่มีการชดเชย ทิ บุญแต่งเล่าว่าสูญเสียไร่นามาแปดปีแล้วโดยไม่มีการชดเชย มาชุมนุมที่กรุงเทพก็ 4-5ครั้งแต่ละครั้งก็เดือดร้อนเพราะหลังจากเสียที่ดินไปก็ต้องมาทำงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งครั้งนี้มาก็ไม่รู้ว่าจะได้ชดเชยอะไรหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net