Skip to main content
sharethis

พรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว. จับมือกันถ่วงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 366 ต่อ 315 เสียง ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ทั้งที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วย ก็ไม่แยแส

แหงอยู่แล้ว 3 พรรคไม่กล้าถอนตัวจากรัฐบาลหรอก แค่โชว์ฟอร์มจำอวดไร้ความหมาย

ถ่วงแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร เป็นพิษเป็นภัยอะไรนักหนากับรัฐบาล ก็เปล่าเลย รัฐธรรมนูญล็อกไว้ถ้าจะแก้ได้ต้องใช้เสียง 250 ส.ว. 1 ใน 3 แล้วนำไปลงประชามติ จากนั้นจึงเลือกตั้ง สสร. 200 คน ซึ่งน่าจะเป็นคนของรัฐบาลเกินครึ่ง ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (ยกเว้นหมวด 1,2) แล้วเอากลับมาผ่านรัฐสภาอีกครั้ง โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งปัจจุบัน 250 ส.ว.ก็เกิน 2 ใน 3 ของรัฐสภาอยู่แล้วเพราะมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในความเป็นจริงมันคือปาหี่ ซื้อเวลา กว่าจะเสร็จ 250 ส.ว.ก็อยู่ครบ 5 ปี ประยุทธ์อยู่ครบ 4 ปี เลือกตั้งใหม่ 250 ส.ว.เลือกกลับมาใหม่ แล้วค่อยใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งยังไม่รู้จะแก้อะไร เพราะผู้มีอำนาจคงไม่ยอมให้แก้ตามหลักการประชาธิปไตย เช่นไม่มีทางลดละเลิกอำนาจศาลองค์กรอิสระ

งั้นจะยื่นศาลตีความทำไม จะล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ? คงไม่มีใครสวนกระแสขนาดนั้น ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ เปิดทางให้ศาลตอกย้ำอำนาจสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตีกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นครั้งนี้ยอมให้แก้ได้นะ แต่ห้ามแตะเรื่องนั้นเรื่องนี้

มันจึงสะท้อนความกลัวเกินเหตุของผู้มีอำนาจ ทั้งที่รัฐบาล 250 ส.ว. องค์กรอิสระ คุมกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไว้แล้ว แค่อาจจะมีเสียงนกเสียงกา แค่อาจจะต้องประนีประนอมบางประเด็น ก็ยังกลัวทะลุกลางปล้อง ทะลุเพดาน ต้องดึงรั้งไว้ ต้องเสริมคานคอนกรีต ฯลฯ ทั้งที่ไม่จำเป็น ไปทำให้มีประเด็นต่อต้านเปล่าๆ

วันเดียวกัน ศาลอาญาไม่ให้ประกัน 4 แกนนำคณะราษฎร ตามที่อัยการสั่งฟ้อง 112,116 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลปล่อยตัวหรือให้ประกันตัวมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นประเด็นถกเถียง กระทั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เพิ่งเรียกร้องให้ยกเลิกทบทวน โดยบอกชัดว่า ประเทศประชาธิปไตยไม่ควรมีกฎหมายอย่างนี้

นี่เป็นการย้อนกลับไปใช้ 112 แบบขังจำเลยไว้ก่อน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าคดีถึงที่สุด แต่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล เพิ่งออกมากดดันศาล ให้คุมขังแกนนำม็อบไม่งั้นจะฟ้องผู้พิพากษา

ดูทิศทางแล้วก็เป็นไปได้ว่า แกนนำราษฎรจะทยอยถูกคุมขัง ไม่ได้ประกัน โดยผู้มีอำนาจประเมินว่า “ม็อบฝ่อ” ใครออกมาชุมนุมก็จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจับกุมคุมขังไม่สิ้นสุด แล้วเชื่อว่าปราบได้

ทั้งที่จะกลายเป็นการจุดชนวนใหม่ ไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม เพราะกระแสคนรุ่นใหม่ไม่ได้ลดลง เพียงแต่ยื่นข้อเรียกร้อง “ทะลุเพดาน” ไปแล้ว ไม่มีประเด็นให้เคลื่อนไหวอีก

ฝ่ายอนุรักษนิยมคิดว่าตัวเองทรงพลัง ระดมทั้งสลิ่ม IO แต่ความจริงก็คือ มีอำนาจรัฐราชการทหารตำรวจกระบวนการยุติธรรม และได้เปรียบที่คนส่วนใหญ่ในสังคม “ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย” ไม่ได้นิยมชมชอบอำนาจแต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ทำมาหากินดีกว่า ไม่เหมือนคนพม่าที่ออกมาล้นหลาม

ผู้มีอำนาจคิดว่าเอาชนะได้ ปราบได้ ในกระแสโควิด แจกเงิน เราชนะเรารักกัน ฯลฯ คนส่วนใหญ่หวังพึ่งยอมจำนน

แต่สิ่งที่เขาไม่รู้จักคือ ศิลปะแห่งอำนาจ มีอำนาจแล้วไม่ใช้ ใช้การสร้างบารมี ใช้การประนีประนอม Compromise อย่างที่อนุรักษนิยมในอดีตจนประสบความสำเร็จ

อำนาจวันนี้เป็นอำนาจที่ไม่ยอมผ่อนคลาย ต้องคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จทั้งการแก้รัฐธรรมนูญและการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/421740

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net