Skip to main content
sharethis

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หนุนมหาวิทยาลัย สร้างระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนรายบุคคลในระดับพื้นที่ ต่อยอดสู่การส่งต่อและความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและเเม่นยำ

 

11 ก.พ.2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) แถลงผลงานวิจัย โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภายใต้ แพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อตอบคำถาม “คนจนคือใคร-อยู่ที่ไหน-จนเพราะอะไร-จะพ้นความจนได้อย่างไร” เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง  โดยมี .เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่การกระทรวง อว. เข้าร่วมในเวทีแถลงผลงานดังกล่าว

กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. กล่าวว่า จุดเด่นของโครงการนี้คือ การใช้พลังของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ไปสร้างความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย โดยทางปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่เริ่มโครงการ และใช้ภาคประชาสังคมกับองค์กรชุมชนเข้ามาช่วยหนุนกระบวนการ ใช้ base ของ TPMAP มาเป็นตัวข้อมูลพื้นฐานในการค้นหาและสอบทาน

“แผนงานวิจัย นวัตกรรมครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการทำวิจัยในประเทศไทย  ด้วยการระดมสรรพกำลังทั้งหมดของกระทรวง โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ใช้คนกว่า 2 พันคน พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงคนจนทุกที่อยู่ในฐานข้อมูล โดยใช้กระบวนการชุมชนเข้าไปค้นหาร่วมกันแบบมีส่วนร่วม   ตอนนี้เกิดนวัตกรรมเรียกว่า “ระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนรายครัวเรือน” และ “ข้อมูล Dashboard ของคนจนรายครัวเรือนและคนจนรายคนใน 10 จังหวัดยากจน”  (ประกอบด้วยกาฬสินธุ์, ชัยนาท, ปัตตานี, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์ และอำนาจเจริญ)

แมน ปุโรทกานนท์ ผู้จัดการหน่วยประสานงานกลางโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึง สิ่งที่ทีมวิจัยในแต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการ คือ การลงพื้นที่ สำรวจค้นหาคนยากจน ที่ได้จากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) และข้อมูลจากหน่วยงานระดับจังหวัด ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) รวมถึงเครื่องมือทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนสังคม ทุนธรรมชาติ และทุนการเงิน เพื่อเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม แล้วนำมาวิเคราะห์ทุนของคนจน โดยให้นิยามและจำแนก “ความจน” ในบริบทของจังหวัดตนเองออกมา  เพื่อหาวิธีเข้าถึงคนจนที่  “แม่นยำ” รวมถึงการกำหนดพื้นที่ Pilot Project ในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน เพื่อศึกษาถึงกลไก หรือแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนจนในพื้นที่เป้าหมายอย่าง “เบ็ดเสร็จ” ตามเป้าหมายโครงการ

มาลี ศรีพรหม หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น “กลไกสำคัญ” ของหน่วยงานวิชาการต่อการเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนซึ่งมีหลายมิติ เพื่อประสานความร่วมมือการช่วยเหลือตั้งแต่ระดับครัวเรือน จังหวัดและประเทศ ตามปณิธานการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง

“เมื่อลงพื้นที่ค้นหาคนจนและปัญหาที่แท้จริงในกลุ่มคนยากจนเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือทุน 5 ด้านร่วมกับ Village profile เราค้นพบว่า จริง ๆ แล้วความยากจนไม่ได้ดูที่รายได้ครัวเรือนเพียงอย่างเดียว ความยากจนมีหลายมิติ แบ่งได้หลายระดับ เช่น อยู่ยากมาก อยู่ยาก อยู่ได้ อยู่ดี ซึ่งในความหลากหลายมิติเหล่านี้ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาและในฐานะ อว.ส่วนหน้า จึงมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลที่แม่นยำ ส่งต่อข้อมูลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และเสนอแนวทางการพัฒนาจากความต้องการจริงของกลุ่มคนจนแก่หน่วยงานในพื้นที่ หากบูรณาการกลไกร่วมกับโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จะทำให้เกิดโครงการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีเป้าหมายชัดเจนตามยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เพราะเราเชื่อว่าถ้าคนเข้มแข็ง ตำบลเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน”

สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้พัฒนาระบบฐานข้อมูลในโครงการ กล่าวว่า ระบบฐานข้อมูลถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการค้นหา ติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลของครัวเรือนเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เปรียบเสมือนการเอ็กซ์เรย์รายละเอียดต่างๆ ซึ่งระบบดังกล่าวต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการติดตามช่วยเหลือและแก้ปัญหาจากโจทย์ชุมชนที่แท้จริง

“แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่มีความยากจนที่แตกต่างกัน ต้องมีการอัพเดทข้อมูลให้มากที่สุด บางพื้นที่เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว แต่บางพื้นที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากหากมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่อัพเดทจะทำให้การทำงานในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยยากขึ้น ซึ่งระบบฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเป็นการเอ็กซ์เรย์เบื้องต้นว่าทุนแต่ละด้านของแต่ละครัวเรือนเป็นอย่างไร แต่ละจังหวัดแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาเชื่อมต่อกับ provincial data center ซึ่งเป็นข้อมูลศูนย์จังหวัด เมื่อได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้วสามารถนำไปบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงการทำงานในระดับภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นฐานในการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งต่อหน่วยงาน เพื่อการช่วยเหลือแบบชี้เป้าหมายได้ชัดเจนในการช่วยเหลือต่อไป”

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของความยากจน เปรียบเทียบจากฐานข้อมูล TPMAP พบว่า จำนวนคนจนเพิ่มจาก 75,873 ครัวเรือน เป็น 89,710 ครัวเรือน แยกเป็นรายบุคคลจาก 131,040 คน เพิ่มเป็น 334,153 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564)  พร้อมกันนั้นข้อมูลที่ถูกส่งต่อข้อมูลไปหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในระดับพื้นที่ ได้ทำให้เกิดการช่วยเหลือไปแล้ว 696 คน ในระยะเวลา 8 เดือน ถือเป็นความสำเร็จของกลไกความร่วมมือในพื้นที่ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อระบบความช่วยเหลือเร่งด่วนในพื้นที่ไปแล้วแม้จะยังไม่สิ้นสุดโครงการ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่มีความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในพื้นที่ รวมถึงส่งต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัดด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 มีงบประมาณงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกระทรวง อว. ให้ความสำคัญเพื่อช่วยเหลือคนจนให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบความช่วยเหลือและส่งต่อให้ได้มากที่สุด สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับในปี 2564 กระทรวง อว. มีแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบความช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และจะขยายพื้นที่เป้าหมายจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา เพื่อให้เกิดการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net