Skip to main content
sharethis

นักรัฐศาสตร์จากศูนย์เพื่อการวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิเคราะห์ท่าทีต่างประเทศต่อกรณีรัฐประหารในพม่ารอบล่าสุด โดยที่ตั้งข้อสังเกตทั้งท่าทีของจีนและการส่งอิทธิพลของจีนต่อสหประชาชาติที่ทำให้มีเพียงประณามการจับกุมนักการเมืองแต่ก็ไม่ได้ประณามการรัฐประหารอย่างเต็มปาก ขณะเดียวกันก็ชวนจับตามองท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ที่ชูเรื่องคุณค่าประชาธิปไตยว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกรณีของพม่า

เนห์กินเปา คิปเกน

เนห์กินเปา คิปเกน ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อการวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า วิเคราะห์ท่าทีของต่างประเทศที่พูดถึงการรัฐประหารในพม่ารอบล่าสุด คิปเกนบอกว่าการรัฐประหารในครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับประชาคมนานาชาติพร้อมทั้งสร้างความน่าปวดหัวให้กับประเทศต่างๆ ที่พยายามชั่งน้ำหนักว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรดีในเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง

คิปเกนชี้ให้เห็นปฏิกิริยาจากสหประชาชาติในครั้งนี้ออกมาสองวันผ่านไปหลังเกิดรัฐประหารเพราะในช่วงที่มีการประชุมหารือฉุกเฉินนั้นมีการลังเลในเรื่องการประณามรัฐประหาร และเมื่อหลังจากที่แถลงการณ์ออกมาในวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุแสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อสถานการณ์และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอองซานซูจี และประธานาธิบดี วิน มินต์ โดยไม่มีการพาดพิงถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยตรง

ซึ่งคิปเกนมองว่าท่าทีเช่นนี่เป็นผลพวงมาจากการประนีประนอมได้ถูกผลักดันจากจีนและหนุนหลังโดยรัสเซีย ซึ่งปฏิเสธร่างแถลงการณ์เดิมของอังกฤษที่มีเนื้อหาประณามรัฐประหารในพม่าหนักกว่านี้ คิปเกนประเมินว่าท่าทีแบบนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่ายังคงอยู่ในอำนาจ

มีการประเมินท่าทีของจีนต่อเรื่องในพม่าจากแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน หวังอี้ ออกมาเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งระบุเตือนให้ประชาคมโลกต้องเน้นเรื่องเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองของพม่ามาเป็นอันดับแรกและหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้งหรือทำให้สถานการณ์แทรกซ้อน ทั้งนี้สื่อของจีนอย่างซินหัวก็ลดความสำคัญของสถานการณ์การรัฐประหารลงโดยใช้คำว่า "การปรับเปลี่ยนคณะรัฐบาลครั้งใหญ่" แทนที่จะใช้คำว่า "รัฐประหารโดยตรง"

อย่างไรก็ตามถึงจะดูเหมือนว่าจีนพยายามปกป้องการรัฐประหารในพม่าเช่นเดียวกับพฤติกรรมของจีนก่อนหน้านี้ที่พวกเขาเคยเข้าข้างรัฐบาลจีนเสมอมาเช่น กรณีที่จีนโหวตคัดค้านมติของยูเอ็นในการประณามการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารด้วยความรุนแรงในปี 2550 ซึ่งในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีนในสายตาชาวโลกจนส่งผลต่อกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในสมัยนั้น

แต่ก็มีข้อสังเกตว่าสำหรับจีนแล้วไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะขึ้นเป็นรัฐบาลก็ไม่แตกต่างกัน เพราะในยุคสมัยรัฐบาลเอ็นแอลดีก่อนหน้านี้อองซานซูจีก็หันไปจับมือกับจีนมากขึ้นแทนที่จะเป็นประเทศตะวันตก เช่นการลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับพม่าภายใต้กรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางจากจีน อองซานซูจียังเคยไปเยือนจีนในปี 2558 ก่อนหน้าการเลือกตั้งในสมัยนั้น รวมถึงมีการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนในช่วงที่รัฐบาลเอ็นแอลดีถูกประณามจากนานาชาติเรื่องการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

นั่นทำให้ท่าทีของจีนกับพม่ายังคงเดิม คือการที่จีนอาศัยจุดยืนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าถือเป็น "เรื่องภายใน" และอ้างว่าการขยายการคว่ำบาตรมากเกินไปจะเป็นการกดดันในระดับที่ล่วงล้ำกิจการภายในมากเกินไป เรื่องนี้คิปเกนมองว่ามาจากการที่จีนตักตวงผลประโยชน์จากจีนโดยอาศัยเสถียรภาพทางการเมืองในพม่ามายาวนานแล้วในฐานะผู้ลงทุนในพม่ารายใหญ่ที่สุดและมีพรมแดนติดกัน

แล้วสหรัฐฯ มีท่าทีอย่างไร?

การรัฐประหารของพม่าล่าสุดถือเป็นโชคร้ายสำหรับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ เพราะมันจะหลายเป็นบทพิสูจน์ท้าทายนโยบายต่อประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐบาล โจ ไบเดน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง โดยที่สหรัฐฯ แสดงออกถึงจุดยืนในฐานะผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ในการประณามรัฐบาลพม่าและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงเรียกร้องให้พม่ากลับสู่ประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้ไบเดนเคยประกาศชัดเจนว่าจะยืนหยัดเคียงข้างค่านิยมประชาธิปไตยเมื่อใดก็ตามที่ประชาธิปไตยถูกโจมตี รวมถึงมีแถลงการณ์จะคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าหนักขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากการรัฐประหารล่าสุดนี้ คิปเกนประเมินว่าการประกาศจุดยืนเกี่ยวกับพม่าในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลไบเดนมีข้อริเริ่มนโยบาย 100 วันแรก ซึ่งมีความทะเยอทะยานและเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ เป็นเรื่องที่ส่งผลดีกับการเมืองภายในด้วยเพราะเป็นจุดยืนที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคใหญ่ในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นอุปสรรคคือสหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ให้ส่งผลได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจากเดิมพวกเขาก็มีการคว่ำยาตรนายพลระดับสูงของพม่าไปบ้างแล้วในกรณีการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นการคว่ำบาตรเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการลดระดับความช่วยเหลือพม่าจากสหรัฐฯ มาตั้งแต่ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ และที่สำคัญคือรัฐบาลไบเดนจะชั่งน้ำหนักอย่างไรในนี้เพื่อไม่ให้พม่าและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกแปลกแยกจนหันไปหาจีน

สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพันธมิตรอาจจะมองว่าการคว่ำบาตรรอบใหม่ก็มีลักษณะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน มีเป้าหมายเพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีและสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าโดยที่ไม่ได้มองว่าการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับไปสู่สภาพเดิมก่อนหน้าการรัฐประหารได้ แต่ทว่ากลุ่มประเทศในเอเชียอื่นๆ จะมองแบบเดียวกันหรือไม่ จากที่ทูตกลุ่มประเทศอาเซียนบางส่วนมองว่าสหรัฐฯ ดูจะเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้น้อยลงจากจุดยืนประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และดูเหมือนว่าจีนจะเข้าใจในจุดนี้และยึดเอาหลักไม่แทรกแซงเพื่อเอาใจรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศอาเซียน

ทว่ามีสองประเทศอาเซียนที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการแบบไม่แทรกแซงกิจการภายใน คือมาเลเซียและอินโดนีเซีย พวกเขาอาจจะเรียกประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเพื่อประชุมหารือเฉพาะกิจเกี่ยวกับประเด็นพม่า แต่ประเทศอื่นๆ ก็ไม่แน่ใจว่าการหารือนี้จะส่งถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่

ประเทศอื่นๆ ที่เคยดูมีจุดยืนประชาธิปไตยและเป็นคู่แข่งกับจีนอย่างญี่ปุ่นและอินเดียก็ไม่ได้ออกตัวมากนักในเรื่องนี้ ญี่ปุ่นเสนอให้มีการเจรจากับกองทัพพม่าแต่ก็ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวไปมากกว่านี้อีกทั้งญี่ปุ่นยังแข่งขันกับจีนในเรื่องการลงทุนในพม่าด้วย ส่วนอินเดียที่เคยวิพากษ์วิจารณ์พม่าเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างออกหน้าเมื่อราว 30-40 ปีก่อนหน้านี้ก็สงวนท่าทีเพราะมองว่าพม่าเป็นคู่ขาทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง

การขาดปฏิบัติการโต้ตอบร่วมกันจากนานาชาติเหล่านี้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ให้ความได้เปรียบแก่กองทัพพม่า แต่สิ่งที่จะส่งผลมากกว่านี้คือเรื่องของภูมิศาสตร์การเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้โลกหันไปจับตามองความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ที่ถึงแม้จะมีการประณามอย่างหนักด้วยวาจาแต่ก็ยังไม่มีปฏิบัติการใดๆ กับกองทัพพม่า และในช่วงที่มีการจับตามองสองขั้วอำนาจ สหรัฐฯ-จีน ว่าจะทำอะไรเช่นนี้พวกเขาจะคิดอย่างไรถ้าหากพบว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ กับพม่าเลย


เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net