นิธิ เอียวศรีวงศ์: นกหวีดอเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมเป็นต้นมา ผมก็เฝ้ารอการวิเคราะห์เหตุจลาจลที่รัฐสภาอเมริกันว่า เมื่อไรจะมีผู้เชี่ยวชาญมาพูดอะไรตรงตามการวิเคราะห์ของผมเองบ้าง แต่ก็ยังไม่มีสักที ผมจึงตัดสินใจแสดงการวิเคราะห์ของผมด้วยตนเอง ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียที ทั้งๆ ที่ความรู้ของผมด้านอเมริกันศึกษาและรัฐศาสตร์นั้นมีอยู่แค่หางอึ่งก็ตาม

พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม มีตำรวจ, ทหาร และกองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติรักษาความสงบอยู่เต็มเมืองหลวง ทั้งเมืองหลวงของสหพันธรัฐและของแต่ละมลรัฐ เกือบไม่ต่างอะไรกับการประกาศตนเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการรัฐประหารของนายพลเลย ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนอเมริกันมาอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์แท้ๆ

ซ้ำใครๆ ก็เห็นได้ว่า แม้ตัวทรัมป์อาจไม่สามารถก่อการคุกคามใดๆ ได้อีกแล้ว แต่ลัทธิทรัมป์ยังคงอยู่เหมือนเดิมหรืออาจงอกงามยิ่งกว่าเดิม จนคุกคามระบอบประชาธิปไตยอเมริกันได้ด้วยซ้ำ ไม่แต่เพียงตัวประธานาธิบดี

นี่มันอะไรกันครับ

ปัญหามันมากกว่าคำเท็จและการปลุกปั่นของโดนัลด์ ทรัมป์ และบริวาร ว่าถูกโกงเลือกตั้ง ไม่มีคำเท็จหรือการปลุกปั่นใดๆ จะได้ผล หากไม่มีปัจจัยทางสังคมบางอย่างหนุนช่วย ก็ยากจะปลุกเร้าให้คนพากันละเมิดกฎหมายแบบนี้

ทั้งเป็นการละเมิดโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า นัดแนะกันตามคำชวนของทรัมป์ให้มารวมตัวแสดงความไม่พอใจที่รัฐสภา จำนวนไม่น้อยเตรียมการมาอย่างดี นอกจากอาวุธร้ายแรงที่พกพามาแล้ว ยังมีอุปกรณ์ป้องกันตนเองพร้อมด้วย

คนเหล่านี้ไม่ใช่คนจนที่ก่อจลาจลด้วยความหิวโหยหรืออับจน แต่คือคนขาวชั้นกลางซึ่งมีความคิดทางการเมืองเอียงไปทางขวา มีสำนึกชาตินิยมอย่างแรงกล้า จำนวนหนึ่งเป็นผู้มีฐานะเศรษฐกิจเหนือคนชั้นกลางทั่วไปด้วยซ้ำ เช่น เจ้าของธุรกิจบ้านจัดสรรนั่งเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัวจากเท็กซัสมาร่วมประท้วง เป็นต้น

เป็นนกหวีดอเมริกันขนานแท้ จะต่างกันก็แต่เพียงว่า ในที่สุดประชาธิปไตย (อเมริกัน) ก็ “ทรงพลังเหนือหรือ prevail กว่า” ความเปราะบางและการคุกคาม ในขณะที่นกหวีดไทยนำมาสู่การพังสลายของประชาธิปไตย (ไทย)

และแม้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในสหรัฐจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย แต่ทุกคนก็รู้ว่านกหวีดยังอยู่ ซ้ำยังอาจร่วมกันเป่าประท้วงในรูปอื่นๆ ได้อีกในอนาคต ประชาธิปไตย (อเมริกัน) มีพลังที่เหนือกว่าในครั้งนี้ แต่ความเปราะบางในตัวเองและภัยคุกคามก็ยังดำรงอยู่ จนทำให้คาดเดาได้ยากว่า อนาคตของประชาธิปไตย (อเมริกัน) จะเป็นอย่างไร

จำนวนประชาชนอเมริกันอีกไม่น้อยที่ยังเป็นสาวกของลัทธิทรัมป์อย่างเหนียวแน่น ทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาล่างกว่าร้อยคนก็ยังออกเสียงว่าการเลือกตั้งในบางรัฐไม่ชอบธรรม เพราะไม่อาจทิ้งฐานเสียงของตนเองได้

ซ้ำยังมีรายงานในสื่ออเมริกันด้วยว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งหวาดกลัวว่า หากไม่ลงคะแนนเสียงเช่นนั้น ชีวิตของตนและครอบครัวจะไม่ปลอดภัย

หากนกหวีดมีอำนาจกำหนดการตัดสินใจของนักการเมืองได้เช่นนี้ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจะมีความหมายอะไร

แต่หลายคนคงเถียงว่า ถึงไม่มีนกหวีด เงินมหาศาลของนายทุนก็กำหนดการตัดสินใจของนักการเมืองอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ซึ่งก็เป็นความจริง และทำให้เราควรหันมาดูความเปราะบางและภัยคุกคามที่แฝงฝังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มากกว่าการปลุกปั่นของ “สุเทพ-ประชาธิปัตย์” (หรือทรัมป์-รีพับลิกัน) ระบอบเสรีประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของแต่ละสังคม เช่นการขยายตัวของทุนนิยม, สำนึกถึงความเท่าเทียมในหมู่ประชาชนจำนวนมาก, ความเสื่อมโทรมของระบอบเก่าซึ่งไม่ตอบปัญหาของผู้คนอีกแล้ว ฯลฯ

ประชาธิปไตยสร้างกลไกต่างๆ ขึ้น (นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ, ระบบตุลาการ, รัฐสภา, พรรคการเมือง, สื่อเสรี, การศึกษามวลชน ฯลฯ) เพื่อทำให้คนทุกกลุ่มในสังคมมีโอกาสต่อรองอำนาจและผลประโยชน์กันได้อย่างสงบ แต่กลไกเหล่านี้ทำงานตามจุดมุ่งหมายได้น้อยลงในโลกปัจจุบัน ด้วยเหตุหลายอย่าง

นับวันพรรคการเมืองต่างถูกครอบงำด้วยทุนมากขึ้นทุกที การเมืองมวลชนภายใต้ระบบเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองต้องการงบฯ สำหรับดำเนินการสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้พรรคการเมืองดำเนินการในลักษณะธุรกิจมากขึ้น เช่น ชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงโอกาสที่จะผลักดันนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสัญญาณว่าตนได้กุมส่วนแบ่งตลาดไว้ได้มากสุด จะรักษาส่วนแบ่งนี้ไว้สืบไปได้อย่างไร มีความสำคัญในการตัดสินใจของพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่น้อยไปกว่า (หรือบ่อยครั้งมากกว่า) ประสิทธิภาพของนโยบาย

อย่างที่หนังสือลือชื่อเรื่อง How Democracies Die กล่าวถึงการแข่งขันทางการเมืองของพรรคการเมือง มุ่งเอาแพ้เอาชนะกันอย่างหนัก จนข้ามมาตรฐานความชอบธรรมซึ่งมีมาตามประเพณีของประชาธิปไตย ยังไม่พูดถึงการดำเนินการทางการเมืองนอกกฎหมาย เช่น เป่านกหวีด ซึ่งทำทั้งนักการเมืองไทยและสหรัฐ

การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายและความจำเป็นที่ต้องใช้ทุนจำนวนมากในการดำเนินการ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจเป็นตัวแทน “เสียง” ของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มแนวคิดนอกกรอบได้ นั่นหมายความว่าประชาชนจำนวนหนึ่งสูญเสียอำนาจต่อรองในการเมืองในระบบ

และเมื่อแนวคิดนอกกรอบไม่มีเสียงในระบบ ก็หมายความว่าการเมืองในระบบย่อมเป็นอนุรักษนิยม (ในอีกความหมายหนึ่ง) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมดความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเวลานี้

ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นคืออุบัติการณ์โลกาภิวัตน์ซึ่งเข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โลกาภิวัตน์ทำให้กลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งเคยได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นแกนกลางของประชาธิปไตย สูญเสีย “เสียง” ของตนในระบบการเมือง ถึงไม่สูญเสียโดยสิ้นเชิง ก็สูญเสียน้ำหนักความสำคัญลงไปอย่างมาก (ส่วนหนึ่งก็เพราะความไม่สอดคล้องกันของผลประโยชน์และโลกทัศน์ของคนชั้นกลางเองด้วย…จนกระทั่งคำว่า “คนชั้นกลาง” เองก็ไร้ความหมายไปแล้ว)

โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการ “เสียกระบวน” (disruption – ตามคำแปลของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ) อย่างใหญ่แก่สังคมโดยรวม แต่ที่ “เสียกระบวน” อย่างมากที่สุดคือกลุ่มคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง (เช่น นักแสดงที่เคยได้ชื่อเสียงและโภคทรัพย์มหาศาลจาก “สื่อ” แบบเก่า ที่กำลังจะหมดพลังลง เช่น ทีวี, ภาพยนตร์, สิ่งพิมพ์ ฯลฯ) และท่ามกลางความสับสนงุนงงอันเกิดจากการเสียกระบวนเช่นนี้ คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย หันไปสมาทานลัทธิชาตินิยม, กษัตริย์นิยม, ศาสนานิยม, เชื้อชาตินิยม, อนุรักษนิยม ฯลฯ ในสำนวนที่ไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย

เมื่อสี่ปีที่แล้ว แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง แต่ก็ได้เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ผู้นำ กปปส.อ้างว่า มวลชนที่เข้าร่วมการประท้วงด้วยความรุนแรงของพวกเขาเป็น “มวลมหาประชาชน” คือมากกว่าการชุมนุมทุกครั้งที่เคยผ่านมาในประเทศไทย แม้ข้ออ้างนี้อาจไม่จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนเข้าร่วมเป่านกหวีดจำนวนมากทีเดียว อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศไทย

เช่นเดียวกับคะแนนเสียงที่ผู้นำฝ่ายขวาเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการอื่นๆ ทั่วโลกได้รับจากการเลือกตั้ง แม้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตโปร่งใสทุกกรณี แต่นับเฉพาะคะแนนที่ผู้ลงคะแนนมอบให้แก่เขาโดยสมัครใจจริงๆ ก็มีจำนวนมากเหมือนกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะในยุโรปตะวันออก, เอเชียตะวันออกใกล้, เอเชียกลาง, แอฟริกา หรือละตินอเมริกา

นี่คือความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน ในยุคสมัยที่มิติต่างๆ ของโลกาภิวัตน์นำมาซึ่งอาการ “เสียกระบวน” อย่างไพศาลแก่ชีวิตของผู้คน ประชาธิปไตยกลับไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คุณค่าหลักของระบอบปกครองที่ประกันเสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพไม่เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน จะพูดถึงความเสมอภาคทำไม ในเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในทุกด้านอยู่ตำตา

ถ้าเสมอภาคเป็นเพียงคำกล่าวหรูๆ ที่ไร้ความจริง เสรีภาพที่มีอยู่คือเสรีภาพของใคร ภราดรภาพของใคร

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถูกสงครามโลกทั้งสองครั้งทำลายลงในทัศนะของ Thomas Piketty แต่โลกที่สามารถระงับความขัดแย้งขั้นล้างผลาญอย่างใหญ่สืบเนื่องมาได้ถึง ๗๖ ปี ได้นำเอาความเหลื่อมล้ำอย่างสูงกลับมาใหม่ แม้แต่ในประเทศสังคมนิยม เช่น จีน, เวียดนาม หรือสแกนดิเนเวีย ในจีนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มพูนขึ้น จนคนยากไร้จำนวนมหึมามีชีวิตที่น่าเวทนาอย่างน่าเกลียด แม้แต่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ การดำเนินการทางศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กลับทำให้รายได้จริงของคนชั้นกลางจำนวนมากลดลงอย่างรวดเร็ว

Piketty ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ระบบทุนในทุกวันนี้ คนมีเงินมากจะสะสมทุนได้เร็วกว่าคนมีเงินน้อย เงินเหลือเก็บของคนชั้นกลางจะมีความหมายอะไร แม้นำไปลงทุนในหุ้นประเภทบลูชิพเพื่อความปลอดภัย ก็ยังได้เงินปันผลไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อ อนาคตของพวกเขาไม่เพียงแต่จะมองไม่เห็นความรุ่งโรจน์ข้างหน้าเท่านั้น ยังดูจะหม่นหมองยิ่งขึ้นจนมืดสนิทไปอย่างแน่นอน

ชีวิตของผู้คนในเขตเมือง ซึ่งกำลังกลายเป็นถิ่นที่อยู่ของคนส่วนใหญ่ในโลก ทำให้แต่ละคนถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์เดิมที่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ, เพื่อนเก่า, วัดที่เคยบวชเรียน ฯลฯ Hannah Arendt เรียกว่า atomized หรือคนถูกซอยย่อยลงจนเหลือเพียงอณู ที่ขาดความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้คนหาความหมายในชีวิตไม่เจอ

นกหวีดอเมริกันคนหนึ่งคือนักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก เขาเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมาก่อนว่า หลังชัยชนะจากการแข่งขันทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ แต่สถานะอันเลิศลอยนี้มีอายุอยู่เพียงไม่กี่เดือน แล้วเขาก็ถูกกลืนหายไปในฝูงชนที่ไร้หน้าตาและอัตลักษณ์ของสังคมอเมริกัน ชีวิตที่เคยเสียสละให้แก่การฝึกซ้อมอย่างหนัก ทำให้เขาไม่เคยเรียนรู้ที่จะ “เผชิญ” (“cope”) กับปัญหาใดๆ ในชีวิต ซึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ทางสังคม อันเป็นปัญหาปรกติในชีวิตของคนทั่วไป พูดง่ายๆ ก็คือ เขาไม่มีตัวตนของเขาที่จะมีชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ แต่งงานแล้วก็หย่าพร้อมทั้งลูกอีกสามคนที่ต้องรับผิดชอบ

ความไร้ตัวตนเช่นนี้มาสิ้นสุดลงเมื่อเขาได้รู้จักและเข้าร่วมกับกลุ่มขวาจัด ซึ่งทำให้ชีวิตของเขากลับมีความหมายขึ้นมาใหม่ จะแปลกอะไรหรือที่คนอย่างเขานี่แหละที่เข้าร่วมกับขบวนการนกหวีดที่บุกเข้ายึดรัฐสภาอเมริกัน

คนที่กลายเป็นอณูสังคมอย่างนี้แหละ คือพลเมืองจำนวนมากของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยอเมริกันเพียงอย่างเดียว แต่ประชาธิปไตยของโลกทั้งใบ

ประชาธิปไตยมีความเปราะบางในตัวมันเอง และยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไพศาลที่เกิดในโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้น ก็ยิ่งเปราะบางมากลงไปอีก

ประชาธิปไตยต้องปรับตัวอย่างไร จึงจะรักษาคุณสมบัติของ “ระบอบปกครองที่ดีที่สุด” เอาไว้ได้ต่อไป เป็นเรื่องที่เกินสติปัญญาและพื้นที่ซึ่งผมมี แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมต้องตอกย้ำไว้ด้วยก็คือ การปรับตัวที่ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย เช่น ชัตดาวน์กรุงเทพฯ, รัฐประหาร, การคืนพระราชอำนาจสมบูรณ์, การงดการเลือกตั้ง, การงดใช้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล, การรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจแสดงออกได้หลายวิธี, การยกอำนาจให้แก่ “ผู้รู้” ไปอย่างเด็ดขาด ฯลฯ ไม่ใช่คำตอบ

วิธีการนอกประชาธิปไตยเพื่อปรับปรุงประชาธิปไตย ไม่มีในความเป็นจริงที่อยู่เหนือความกะล่อน

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_396738

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท