'กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ' แถลงต้านรัฐประหารเมียนมา พร้อมประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ แถลงจุดยืนต้านรัฐประหารเมียนมา พร้อมหนุนผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ทางการหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ และขอให้ประชาคมโลกและอาเซียนไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจครั้งนี้ 

10 ก.พ. 2564 กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ หรือ เอฟเอดี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ต้านรัฐประหารพม่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารโดยกองทัพพม่า ชี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ริดรอนเสรีภาพประชาชน ตลอดจนทำลายอนาคตของคนรุ่นใหม่ พร้อมหนุนผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยชาวเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ  และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกทางการพม่าควบคุมตัวไปทั้งหมด 

นอกจากนี้ กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการเรียกร้องให้กองทัพพม่า ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เคารพเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เคารพหลักนิติธรรม ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึก และการประกาศเคอร์ฟิว และนำประเทศกลับเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตย ใช้กระบวนการระบบรัฐสภาและกฎหมายปกติในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ ประณามกองทัพทหารต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้กำลังกดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา กะเหรี่ยง คะฉิ่น และชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงเรียกร้องให้นานาชาติ และอาเซียน ประณามและไม่ยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ 

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มของกลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ   

แถลงการณ์

ไม่ยอมรับการรัฐประหาร และผลพวงของการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา

ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

“กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ” (Friends Against Dictatorship: FAD) เป็นกลุ่มประชาสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรม นักพัฒนาสังคม สื่อมวลชน ทนายความ และนักวิชาการ เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหารเพราะเป็นวิธีการที่ล้าหลังและไม่สามารถยอมรับได้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการกินดีอยู่ดีของประชาชน อีกทั้งเป็นการขโมย รวมถึงทำลายอนาคตของคนรุ่นใหม่

หนึ่งทศวรรษ (2553 - ปัจจุบัน) บนเส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยของเมียนมา ประชาชนทั้งที่อยู่ในประเทศและที่ทำงานอยู่ต่างประเทศสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในการเลือกตั้งรัฐบาล เริ่มสามารถใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นเสถียรภาพทางเมืองภายใต้การพัฒนาประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริโภค ทำให้คนหนุ่มสาวเริ่มมีโอกาสทางการศึกษา ประชาชนในประเทศเข้าถึงการจ้างงาน  รวมทั้งประชาชนที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถเข้าถึงการพิสูจน์สัญชาติและการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย  ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งระบบขนส่งมวลชน น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

ที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาแทบไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว  กองทัพเมียนมายังกระทำการกดขี่และทำร้ายชนกลุ่มน้อย เช่น คะฉิ่น กะเหรี่ยง และชาติพันธ์อื่นๆอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แทบไม่มีความก้าวหน้า

การรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพที่นำโดย พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ที่อ้างเรื่อง "การทุจริตเลือกตั้ง" การประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี จับกุมและควบคุมตัวผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และนักกิจกรรมทางการเมือง การจำกัดการสื่อสาร การประกาศกฎอัยการศึก การประกาศเคอร์ฟิวครอบคลุมหลายพื้นที่ของประเทศ และปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและอาวุธปืน อันเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตย จำกัดสิทธิเสรีภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานอย่างร้ายแรง การรัฐประหารครั้งนี้ยังอาจนำเมียนมาถอยกลับสู่ยุคมืดที่ปิดกั้นโอกาสการมีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อนานาชาติเริ่มประกาศจะตอบโต้กองทัพด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

“กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ” (Friends Against Dictatorship: FAD) ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหารและผลพวงของการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ขอเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวและถูกจับกุมทันที รวมทั้งกองทัพต้องเคารพเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เคารพหลักนิติธรรม ยอมรับผลการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2563 ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึก และการประกาศเคอร์ฟิว นำประเทศกลับเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตย ใช้กระบวนการระบบรัฐสภาและกฎหมายปกติในการแก้ปัญหา

และขอเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนและประชาคมโลกร่วมประณามเผด็จการทหารโดยกองทัพเมียนมา โดยต้องไม่รับรองและไม่ยอมรับการรัฐประหาร และการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องภายในประเทศ แต่สั่นคลอนความมั่นคงตลอดจนเสถียรภาพของประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกด้วย

#สู้ไปด้วยกัน #พอกันทีกับการรัฐประหาร #พอกันทีกับการใช้อำนาจนอกระบบ

#สนับสนุนประชาชนเมียนมาบนเส้นทางประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท