Skip to main content
sharethis

หลังจากเมื่อวานนี้(10 ก.พ.64) พรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับที่ทางพรรคยื่นยันว่าเป็นการแก้ไขเพื่อส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเข้าพิจารณาในสภา แต่ก็ถูกตั้งคำถามมากทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ไปเลยเพราะเห็นปัญหาของโทษที่สูงและถูกใช้ไปกับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานะของสถาบันกษัตริย์ ไปจนถึงฝ่ายยังอยากให้คงไว้เหมือนเดิมและไม่เห็นว่ากฎหมายเดิมจะมีปัญหาอะไร

แต่ทั้งหัวหน้าพรรคทั้งเลขาธิการพรรคต่างก็แถลงยืนยันว่าไปแล้วว่าการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้เป็นการยกเลิกการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี เเละองค์รัชทายาท เพียงแต่ปรับลดลงมาให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นการเสอนที่พอรับได้จากทุกฝ่ายเพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเมือง

'ก้าวไกล' ชงแก้ 5 กฎหมายสิทธิเสรีภาพรวมม.112 ด้าน 'วรงค์' ยื่นค้านด้วย 1 แสนรายชื่อ

ประชาไทสัมภาษณ์ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เพื่อขออธิบายเพิ่มถึงการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ว่าทำไมถึงยังเสนอให้คงโทษจำคุกไว้ รวมถึงจะเป็นอย่างไรเมื่อการแก้ไขนี้ทำให้ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพิสูจน์ว่าเส้นแบ่งของประโยชน์สาธารณะและเรื่องส่วนพระองค์อยู่ที่ใด

ชัยธวัช ตุลาธน แฟ้มภาพ

ชัยธวัช ตุลาธน แฟ้มภาพ

ประชาไท : ที่ผ่านมาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยม.112 นอกจากฝ่ายที่ยกเลิกเลยก็ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเรื่องการคงโทษจำคุกไว้ ทำไมพรรคก้าวไกลถึงยังเสนอให้คงโทษจำคุกไว้ เพราะที่ผ่านมาหลายคดีที่โทษจำคุกสูงไม่ใช่เพียงแค่เกิดจากการมีโทษขั้นต่ำ แต่ก็เกิดจากการกระทำหลายกรรมแยกกัน หรืออย่างกรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้หลายคนก็มีคดีที่เกิดต่างกรรมต่างวาระแยกเป็นหลายคดีการที่คงโทษจำคุกไว้ก็น่าจะยังเป็นปัญหา

ชัยธวัช : ต้องยอมรับว่ามีการเสนอแก้ไขในลักษณะนี้ก็คงมีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วย ในแง่ที่เห็นว่าไม่ควรจะแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แล้วก็ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่าแก้ให้ดีกว่านี้ได้เช่น ยกเลิกโทษจำคุกไปเลย ก็เป็นข้อถกเถียงกันภายในพรรค ในพรรคก็มี ส.ส.ที่เห็นว่าไม่ควรมีโทษจำคุกอยู่เลยแล้วก็เคยมีร่างเวอร์ชั่นนี้อยู่

แต่สุดท้าย เราก็เลือกเสนอร่างที่คิดว่าพอจะยอมรับกันได้ที่สุดจากแต่ละฝ่ายเพื่อให้ใช้เวทีสภาเพื่อจะให้แต่ละฝ่ายซึ่งมีจุดยืนความเห็นในรายละเอียดไม่เหมือนกันมาคุยกันได้อันนี้เป็นข้อเสนอต่ำสุดที่เราคิดว่ามันพอจะรับกันได้พอจะอยู่กันได้ แน่นอนว่าไม่ถูกใจฝ่ายที่ขวาสุด ซ้ายสุดได้แน่นอน แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกในการเปิดพื้นที่คุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในการเสนอร่างกฎหมายเข้าไปในสภา ผมคิดว่าความสำคัญมันอยู่ตรงการชวนคนหลายๆ ฝ่ายมาคุยกันได้

แต่เดิมการใช้ม.112มักจะตัดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงออก ซึ่งในร่างนี้ก็เปิดช่องให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพิสูจน์ด้วยว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสาธารณะ

ใช่ ก็ให้มีบทยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษคือการไม่ผิดตามข้อหานี้ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง และต่อให้ผิดถ้าพิสูจน์ได้ก็ไม่ต้องรับโทษ

ถ้ายกตัวอย่างกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เสด็จประพาสและประทับอยู่ในประเทศเยอรมันเป็นระยะเวลาหนึ่งจนมีการตั้งกระทู้ในรัฐสภาเยอรมันถึงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในขณะที่บนแผ่นดินเยอรมัน แต่รัฐบาลไทยก็บอกว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ สำหรับกรณีแบบนี้เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้วสำหรับเรื่องเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

ถึงจะเป็นเรื่องส่วนพระองค์แต่ถ้ามันเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะมันก็ได้รับการคุ้มครอง แต่ประเด็นสำคัญในตัวอย่างที่ยกขึ้นมา ผมคิดว่าการที่เรามีบทยกเว้นโทษยกเว้นความผิดคือการไม่มีเลยมันเป็นส่วนที่ทำให้ฝืนต่อความเป็นจริง เพราะว่าบุคคลสาธารณะเนี่ยรวมทั้งประมุขของรัฐในสังคมสมัยใหม่มันย่อมมีคนพูดถึงแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว แล้วโลกข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันมันไปไกลมาก อย่างตัวอย่างข่าวที่เกิดขึ้นในเยอรมัน มันก็เป็นเรื่องที่ฝืนความจริงไม่ได้ที่มันจะมีคนเสพข่าวรับรู้หรืออยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไรและตั้งคำถามต่อเรื่องนั้น

ดังนั้นการบังคับใช้มาตรา 112 เดิมมันเหมือนจะทำให้เรื่องอย่างนี้มันผิดกฎหมายไป จริงๆ ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดมันก็ไม่ควรจะผิดต่อให้ยังเป็นมาตรา 112 แบบเดิม แต่การมีบทยกเว้นโทษและความผิดเหล่านี้ มันเปิดช่องให้มันสามารถพูดได้อย่างสุจริตนะถ้าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ผมว่ามันก็ดีกว่ามาตรา 112 แบบเดิม ที่ว่าไม่มีข้อยกเว้นเหล่านี้ไว้เลย ส่วนเรื่องความคลุมเครือระหว่างเรื่องส่วนพระองค์หรือเป็นเรื่องในฐานประมุขของรัฐ บนเส้นแบ่งนี้มันคลุมเครือก็แน่นอนว่าต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่ว่าเรื่องส่วนพระองค์จริงๆ ที่ไม่เป็นเรื่องสาธารณะอันนี้ก็ไม่ได้รับการยกเว้น (ก็คือรอไปพิสูจน์กันในศาล?) ใช่ๆ อย่างน้อยมันก็มีช่องให้ต่อสู้

เรื่องพวกนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเขาก็ตีความไปแล้วว่าบุคคลสาธารณะเนี่ยมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว

ที่ผ่านมาในช่วงที่ไม่มีการใช้ 112 ก็เคยมีการใช้มาตรา 116 แทนเช่นในกรณีมีการชุมนุมประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพราะรัฐก็ยังคงมองเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงของรัฐอยู่ดี จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

มาตรา 116 ก้าวไกลได้เสนอไปแล้วตอนนี้ก็ไปต่อแถวพิจารณาในสภา คือแก้ไขถ้อยคำไม่ให้มันถูกตีความกว้างขวางคลุมเครือ แล้วให้ถูกใช้เฉพาะมีการกระทำในลักษณะที่มีการกระทำยั่วยุหรือชักจูงให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน แต่ว่ามันจะไปตีความอย่างกว้างเช่นการไปชุมนุมเฉยๆ มันก็ไม่เข้า

แต่ว่าอย่างในกรณีแบบนี้เราก็เสนออีกฉบับหนึ่งที่เป็นประมวลกฎหมายอาญาที่เพิ่มมาตรา 200/1 ที่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่บิดเบือนกฎหมายด้วย อันนี้ก็เราก็เสนอไปด้วยอีกฉบับหนึ่งซึ่งก็จะเอามาใช้ในกรณีแบบนี้แหละ ก็คือไปชุมนุมปกติโดยสงบ แล้วก็ไปยัดข้อหารุนแรงอย่างมาตรา 116 เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเจตจำนงค์ที่ยื่นกฎหมายฉบับนี้ด้วย ที่ผ่านมามันไม่มีการกำหนดเป็นลักษณะความผิดเฉพาะเรื่องนี้ขึ้นมาก็เลยเสนอเพิ่มเข้าไป

แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะยังถูกฟ้องโดยที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอยู่ดี พูดง่ายๆ ว่าเกิดการยัดข้อหาที่รุนแรงไว้ก่อน ซึ่งมันไม่ได้เกิดเฉพาะกับการออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง มันก็เป็นปัญหาที่ชาวบ้านปกติก็เจอ เช่น บางทีเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าเป็นตำรวจหรืออัยการ ก็ไปยัดข้อหาแรงไว้ก่อนได้ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ก็เลยเสนอร่างสุดท้ายที่เพิ่มมาตรา 200/1 ในหมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมให้เอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน อัยการ หรือผู้ว่าคดี หากมีการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ทำให้มีช่องทางมากขึ้นในการคานการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่

แต่การเพิ่มฐานความผิดเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้ยาก หรือการดำเนินคดีกลับเจ้าหน้าที่ก็มักเป็นภาระของประชาชนเสียมากกว่า การแก้ไขส่วนฐานความผิดเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือไม่

ใช่ คือมันเป็นแค่ไปเพิ่มฐานความผิดที่มันเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในกรณีที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมบิดเบือนกฎหมาย แต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้ประชาชนได้รับการปกป้องมากยิ่งขึ้นในการเป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้ก็คงจะต้องไปแก้ไขในส่วนอื่นๆ

ชุดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมันยังไม่ออกมาแบบเรียบร้อยดี ก็มีความคิดอยู่ ตอนนี้ก็มีเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมฯ รอยื่นอยู่เหมือนกัน คือในพรรคก็มีคนที่รับผิดชอบในแต่ละประเด็นที่เฉพาะกันไป แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเร็วๆ นี้คงยังไม่มี

แต่อันนี้ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบการทำงานของศาล?

การตรวจสอบศาลก็ต้องแยกออกไปเป็นอีกอันหนึ่ง โดยหลักแล้วการแก้แค่นี้ก็ใช่ว่าจะจบ แต่โอเคก็เปิดช่องให้มีฐานความผิดไปเลยในกรณี(เจ้าพนักงาน)มีการบิดเบือนกฎหมาย แต่มันไม่ได้ไปเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างหรือกระบวนการ ก็ต้องไปว่ากันอีกอันหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net