Skip to main content
sharethis

เปิดตัวหนังสือบันทึกประเทศไทยปี 2563 รีวิวหนึ่งปีที่ผ่าน โรคระบาดสั่นสะเทือนไทย-โลก ต้องรับมือด้วยความรู้และวิทยาศาสตร์ การเมืองท้องถนนเปลี่ยน รัฐบาลต้องจริงใจแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจไทยไม่กลับไปเหมือนเดิม เรียนออนไลน์จะเป็นปัญหา

ซ้ายไปขวา: ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นำชัย ชีววิวรรธน์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ที่มาภาพ: อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์)

11 ก.พ.  2564 สำนักพิมพ์มติชนจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "บันทึกประเทศไทย ปี 2563" จัดทำโดยสำนักพิมพ์มติชน โดยมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส. จ.แพร่ นำชัย ชีวิวิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช. ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์และสื่อมวลชนเป็นผู้ดำเนินรายการ

โรคระบาดสั่นสะเทือนไทย-โลก ต้องรับมือด้วยความรู้และวิทยาศาสตร์

นำชัยกล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายต่อมนุษยชาติในไทยและทั่วโลกจากโรคระบาดใหญ่ครั้งแรกในรอบหนึ่งศตวรรษ ทุกที่ที่มนุษย์ไปถึง โรคนี้ก็ไปถึง ระหว่างที่เรากำลังรับมือกันอยู่ ก็ใช้องค์ความรู้เมื่อร้อยปีที่แล้วเป็นหลักก็คือมาตรการที่ใช้ในโรคระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (H1N1) ซึ่งเมื่อย้อนดูจะพบว่า แม้มีวัคซีนแล้ว แต่โรคก็ยังไม่หายไป ยังคงกลายเป็นเชื้อไวรัสอื่นๆ ต่อมาอีก ในอนาคตคงต้องคำนึงถึงโคโรน่าไวรัสในแบบนั้นเช่นกันว่ามันจะยังคงอยู่กับเรา ในขณะที่ความท้าทายในวงการวิทยาศาสตร์ก็ดำเนินต่อไป โรคระบาดอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เช่น เราไม่รู้ว่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งต้านทานสารพัดยาปฏิชีวนะจะมาอีกเมื่อไหร่ ถ้ามาก่อนที่เราจะมีวิธีใหม่ก็ถือว่าโชคร้าย

ปัญหาใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ แม้มาตรการควบคุมโรคหลายอย่างจะดีแล้ว แต่ก็มีเรื่องเล็กน้อยที่ใช้ความรู้ ความจริง มารับมือเหตุการณ์น้อย เช่น เมื่อเกิดการระบาด รัฐและเอกชนเบิกเงินมาทำความสะอาดพื้นผิวภายนอก ในทางวิทยาศาสตร์เป็นการกระทำที่มีประโยชน์น้อยมากเมื่อเทียบกับการทำความสะอาดพื้นผิวภายใน เชื้อโคโรน่าไวรัสเมื่อออกจากร่างกายมาโดนแดด อยู่ไม่ถึงชั่วโมงก็ตายหมด แถมพอไปฉีด แทนที่เชื้อโรคจะอยู่ที่พื้นก็ฟุ้งกระจาย การเบิกเงินไปซื้อสารเคมีไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็ทำไปด้วยความกลัว อุโมงค์ฆ่าเชื้อนั้นขอให้เลิก เพราะเชื้อจะตายก็ต่อเมื่อโดนสารเคมีในระยะเวลาหนึ่ง แต่ระยะเวลานั้นก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้คนแพ้สารเคมี สิ่งที่ควรทำเยอะคือการสุ่มตรวจเพื่อให้รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะคนร้อยละ 80 ติดแล้วไม่มีอาการ จึงทำให้เราเกิด Super spreader เป็นระยะๆ

นำชัยกล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่เราจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าวัคซีนมีความสำคัญ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อควรฉีด และประโยชน์ที่ได้นั้นมากกว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง เดิมทีคนที่ฉีดวัคซีนตัวอื่นๆ ก็มีคนที่ได้รับความเสี่ยงผลข้างเคียง แต่คำตอบที่ควรหาคือใครเสี่ยงบ้าง ข้อมูลจากรัฐควรมาเป็นระยะเพื่อให้คนมีความมั่นใจ ไม่ควรพูดติดตลกในระดับประเทศว่าได้วัคซีนช้าไม่เป็นไร ให้คนอื่นฉีดไปก่อน 

เรากำลังใช้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์รับมือกับโควิด-19 วัคซีนเริ่มฉีดกันในประเทศต่างๆ มากแล้ว ไทยนั้นจะช้าหรือเร็วก็จะได้รับการฉีดแน่นอน เมื่อคนมีภูมิต้านทานมากขึ้นก็จะส่งผลให้การขยับตัวเพื่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น เงินก็จะหมุน แต่ที่สงสัยก็คืองบราว 45,000 ล้านที่ใช้ควบคุมโรค มีการเบิกจ่ายไปเพียง 2 พันล้านในส่วนของการผลิตวัคซีน เทียบกับเงินแจกจ่ายหลักแสนล้านในนโยบายช่วยเหลือประชาชน ก็ทำให้สงสัยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ อย่างโครงการผลิตวัคซีนใบยาของจุฬาฯ ที่ออกมาบริจาค เห็นข่าวแล้วก็ขมในลำคอ ทั้งที่ถ้าเราแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น แล้วเกิดอะไรขึ้นกับการรับมือกับปัญหาหลักแบบนี้ เวลานี้เป็นนาทีทองที่จะต้องใช้เงินเพื่อลงทุนสร้างวัคซีน ฉีดวัคซีน สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่ออนาคต แต่ทำไมถึงยังช้า ไทยคงจะดีขึ้นอย่างช้าๆ ไปตามภาวะโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้งที่เราควรดีขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างมากผ่านการลงมือทำ

อัครพงษ์กล่าวว่า การมาของโควิด-19 แม้ทำให้คนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ร้ายแรงหนักถึงขั้นทำให้คนฆ่าตัวตาย สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ ‘เงินเดือนให้เปล่า’ หรือ Universal Basic Income ถ้ารัฐบาลไม่อยากทำให้วิกฤตอื่นๆ ที่จะมาในอนาคตส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็อาจต้องคุยถึงเรื่องความมั่นคงของคน อย่างเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคหรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นเรื่องของความรู้สึกมั่นใจในการใช้ชีวิตมากกว่า แน่นอนว่า 30 บาท ได้ยาพาราฯ ไม่ใช่ประเด็น แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีที่ว่าเมื่อป่วยก็สามารถเดินไปหาหมอได้ เป็นคนละเรื่องกับบัตรคนจนซึ่งเป็นการกดขี่และดูถูก

การเมืองท้องถนนเปลี่ยน รัฐบาลต้องจริงใจแก้ไขปัญหา

ทศพรกล่าวว่า เรื่องการเมืองในปี 2563 คือจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 40-50 ปี เรื่องที่ประชาชนซุบซิบภายในบ้านหรือในครอบครัวก็ถูกพูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง ในการชุมนุมที่ มธ. เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ก็อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ให้คนกล้าออกมาพูด จากนั้นก็มีการพูดผ่านในทางวาจาและป้าย ประชาชนก็ออกมาเรียกร้องเป็นครั้งแรกหลังหายเงียบไปเป็นสิบปี และออกมาไม่ได้มานอนเพื่อรอการปราบ แต่มาแล้วกลับ แล้วออกมาใหม่

ด้านรัฐบาลเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ แต่พอเปลี่ยน รมว.กระทรวงการคลังไม่นานก็ได้ขอลาออก เมื่อก่อนคนไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมาครองอำนาจ ใครจะรัฐประหาร แต่ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่าถ้าให้คนไม่ฉลาดมาเปลี่ยนแปลงประเทศ เราก็จะทุกข์ทรมานต่อไป คนที่มีอำนาจต้องมาเจรจากับประชาชน ผู้มีอำนาจต้องหยุดสร้างเงื่อนไขให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น แต่ที่เห็นตอนนี้กลับยังมีการให้อัยการส่งตัว 4 นักกิจกรรมขึ้นศาล แล้วศาลก็ไม่ให้ประกันตัว จึงเป็นเงื่อนไขให้คนออกมาเรียกร้องอีก ผู้มีอำนาจควรหาทางออกร่วมกับประชาชนเพื่อให้สถานการณ์จบลงได้ 

ทศพรกล่าวว่า ความจริงใจของผู้มีอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่ ม.ค. 2563 จะเห็นกระบวนการทำงานของผู้มีอำนาจในประเทศไทยเป็นลำดับว่าไม่มีความจริงใจ เมื่อเริ่มปี 2563 ก็มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ พอนักศึกษา ประชาชนออกมาแฟลชม็อบมากขึ้น รัฐบาลก็มีท่าทีอ่อนลง ยอมให้มีการตั้ง กมธ. ศึกษาแก้ไข รัฐธรรมนูญ ช่วงนั้นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ พอโควิด-19 เข้ามาก็ทำให้การชุมนุมซาไป รัฐบาลก็ดึงเกมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดพอโควิด-19 เริ่มซาลง การชุมนุมก็กลับมามากขึ้น ประชาชนแสดงความเข้มแข็งมากขึ้น ก็มีการเอาร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภา แต่พอโหวตจริงก็ไม่มีความจริงใจ ส.ว. กับพรรครัฐบาลขอตั้ง กมธ. ศึกษาญัติแก้รัฐธรรมนูญไปอีก ดึงเกมแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ พอประชาชนเข้มแข็ง รัฐบาลก็มีท่าทีอ่อน พอประชาชนเริ่มเบาลง เขาก็เบี้ยวอีก

ทศพรมองว่าถ้าคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนก็เชื่อว่าประชาชนจะออกมาแสดงพลังมากขึ้น เพราะการระบาดของโรคถือเป็นเรื่องความเป็นความตายของคนทั้งประเทศทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่ออกมาชุมนุม แต่ในทางโซเชียลมีเดียก็ยังมีการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ หากรัฐบาลจุดชนวนอีกครั้ง เช่น จับคนด้วยความผิด ม.112 แล้วไม่ให้ประกันอีกเป็นจำนวนมาก คิดว่าประชาชนจะทนไม่ได้ ถึงวัคซีนจะมาไม่ครบ ประชาชนก็คงจะไม่รอ คงจะออกมาชุมนุมสู้กับรัฐบาล

อัครพงษ์มองว่านักศึกษาหลายกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวก็คงไม่ประนีประนอมกับรัฐบาลหากรัฐบาลไม่จริงใจ ทั้งนี้ ความแรงของนักศึกษามีอย่างเดียวคือแรงวาจา เพราะพวกเขากล้าขึ้น ไม่รู้สึกว่าต้องอยู่ใต้ร่มเงาของใคร อาจารย์ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตพวกเขา นักศึกษาไม่ประนีประนอมเรื่องวาจาแน่นอน ผู้ใหญ่ต้องรับให้ได้ และประเด็นของเขาไม่ได้ทำให้เราแค่บาดหู แต่มันสะเทือนโครงสร้างของอำนาจ อย่างการพูดเรื่องเครื่องแต่งกายหรือทรงผม ก็สะเทือนถึงโครงสร้างอำนาจครูที่สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจมานาน การที่รัฐบาลใช้กฎหมาย ม.112 ระลอกนี้เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง ถ้านักศึกษาออกมาอีก การใช้กำลังคงจะลดลง ถ้ากลุ่มนักศึกษาอ่อนไปเลย รัฐบาลก็ต้องเดินหน้า แต่ถ้าไปดูในโซเชียลจะพบว่าการต่อต้านไม่ได้ลดลง นักศึกษาไม่ได้คิดถึงแค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว

เศรษฐกิจไทยไม่กลับไปเหมือนเดิม เรียนออนไลน์จะเป็นปัญหา

อัครพงษ์กล่าวว่าหลังจากปี 2563 ไทยคงไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม กระแสการปั่นป่วน (disruption) จากเทคโนโลยีเห็นว่าธุรกิจไหนที่เข้าสู่ดิจิทัลไม่ได้ก็จะล้มหายตายจาก และการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐมีอำนาจมากขึ้นด้วยเหตุการควบคุมโรคผ่าน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หรือการสร้างเครือข่ายกับท้องถิ่นผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มอาชีพที่ไม่เคยคิดว่าตกงานก็ได้ตกงาน เช่น ธุรกิจในสายการบิน กิจการที่เคยคิดว่าจะตายอย่างไปรษณีย์ไทยก็กลับได้รับความนิยมจนมีกำไรมากขึ้น 

คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์กล่าวต่อไปว่า อุปสงค์รวมในระดับชาติในตอนนี้ หากวัดตามตัวแปร 4 อย่าง ได้แก่การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการนำเข้าส่งออก ถือว่าการใช้จ่ายภาครัฐแข็งแรงมาก สะท้อนผ่านการกระชับอำนาจผ่านการถือครองเงิน เศรษฐกิจไทยคงจะยังไปได้เรื่อยๆ เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศยังมีไม่น้อย มีโครงสร้างเศรษฐกิจภาคดั้งเดิม (traditional) ที่ค่อนข้างใช้ได้ 

ตราบใดที่รัฐเก็บภาษีได้ การใช้จ่ายของรัฐก็ยังหมุนไปได้ แต่ก็มองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมองการเตรียมการต่อการกลับมาของเศรษฐกิจอย่างไร เศรษฐกิจไทยเดินได้ด้วยเงินสด คนอยากได้เงินสดไม่ใช่เครดิตไปซื้อของ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้แย่มากๆ รัฐบาลก็มัวแต่ไปดูว่าจะชดเชยอย่างไรจนลืมการสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งให้กับคน เช่น ทำให้ไกด์ได้ภาษามากขึ้นไหม ทำให้แหล่งท่องเที่ยวได้รับการปรับปรุงหรือไม่ จะจัดการตลาดกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาอย่างไร 

อัครพงษ์มองว่า สิ่งที่จะจบไปในรุ่นนี้คือคุณภาพการศึกษา ในช่วงการระบาดของโรคที่ทำให้คนไปเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ที่ดีได้ คนได้ผลประโยชน์จะไปไกลมากๆ ส่วนคนกลางๆ ล่างๆ จะมีปัญหามากจากระบบการเรียนออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net