Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรม #saveบางกลอย ยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรฯ โดนหมายเรียกชุมชมสาธารณะโดยผิดกฎหมาย - นักสิทธิฯ อัดรัฐทำลายความเป็นคนกะเหรี่ยงบางกลอย แนะ ‘รมว.ทรัพยากรฯ’ อย่าเอาอนาคตการเมืองมาเสี่ยงเพราะอคติของพนักงานเจ้าหน้าที่

รายงานจากทวิเตอร์ศูนย์ทนายความฯ

11 ก.พ.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านทวิตเตอร์ @TLHR2014 ว่า จำนง หนูพันธ์ ประธาน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) และ ชาติชาย แกดำ ได้รับหมายเรียกจากสน.บางซื่อ ให้ไปรับทราบข้อหา “ร่วมกันจัดการชุมชมในที่สาธารณะโดยผิดกฎหมายฯ” คาดเนื่องจากกรณีทำกิจกรรมยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทวงความเป็นธรรมให้กะเหรี่ยงบางกลอย #saveบางกลอย เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ประยงค์ ดอกลําไย ที่ปรึกษา P-move โพสต์หมายเรียกดังกล่าวเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊ก 'Prayong Doklamyai' โดยเขาระบุว่า ประธาน P-move และ ภาคี #saveบางกลอย รวม 10 คน ถูกออกหมายเรียกในข้อหา “จัดชุมนุมสาธารณะโดยผิดกฎหมาย”สืบเนื่องจากการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี วราวุธ ศิลปอาชา กรณีปัญหาบางกลอย ที่กระทรวงทรัพฯ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้รับหมายเรียกแล้ว 4 คน

นักสิทธิฯ อัดรัฐทำลายความเป็นคนกะเหรี่ยงบางกลอย แนะ ‘วราวุธ’ อย่าเอาอนาคตการเมืองมาเสี่ยงเพราะอคติของพนักงานเจ้าหน้าที่

ขณะที่วันเดียวกัน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานสถานการณ์ความคืบหน้ากรณีกะเหรี่ยงบางกลอย ว่า วันนี้ (11 ก.พ. 64) เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) โพสต์ข้อความถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังแถลงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ระบุว่ากระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อน มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและการถอยคนละก้าว อีกทั้งยังระบุว่าตนรู้สึกสะท้อนใจกับจดหมายที่ภาคประชาชนเขียนถึง ว่าให้คืนความเป็นคนให้กลุ่มชาติพันธุ์ ชี้ว่าผู้เขียนกำลังทำลายความเป็นคน พยายามเสี้ยมให้เกิดความแตกแยก

เพิ่มศักดิ์ระบุว่า สิ่งเหล่านี้หรือที่บอกว่าทำให้ความเป็นคนเท่ากันหมด ขึ้นบ้านชาวบ้าน ขอให้เขาหาข้าวหาไก่ให้กิน กินแล้วมีแรงก็เผาบ้าน เผายุ้งข้าวเขา ห้ามอยู่อาศัยทำกิน ไล่ออกจากถ่านที่อยู่ จับกุมขังคุก จนมีคนป่วยต้องพิการเพราะขาดการรักษา ยึดอุปกรณ์ทำไร่ บังคับให้อยู่อาศัยทำกินในที่จำกัด ไม่พอยังชีพ ส่งเสริมอาชีพที่เขาไม่มีทางเลือก ไม่มีส่วนร่วมในการคิด และเอาเปรียบค่าจ้างแรงงานเขา ห้ามเก็บหาของป่า ทั้งไม้ไผ่ซ่อมแซมบ้าน ฟืนหุงข้าว มักห้ามในช่วงต้องการกดดันชาวบ้านให้ทำสิ่งที่ต้องการ กลั่นแกล้งเล่นงานชาวบ้านที่พูดคุยให้ข้อมูลความจริงกับคนภายนอกที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นปรปักษ์

เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่ครูป๊อด (ทัศน์กมล โอบอ้อม) ผู้ช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้รับความเป็นธรรม และบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) ผู้นำชาวบ้านเสียชีวิต พนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขวางทางรถยนต์ชูป้ายประณามทีมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ลงพื้นที่บางกลอย สำรวจถือครงอที่ดินตามกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการยืนยันสิทธิถือครอง เสนอผืนป่าเป็นมรดกโลกโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมในการจัดการของเขา

เพิ่มศักดิ์ ยังระบุว่า ในสายตาของประชาชนที่รับรู้ความจริงที่ชาวบ้านถูกกระทำเห็นว่า การกระทำดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ คือการทำลายความเป็นคนอย่างไร้มนุษยธรรมทั้งสิ้น ถ้าคุณและครอบครัวถูกกระทำอย่างนี้ จะรู้สึกอย่างไร ไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนบางกลอยสิ้นไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ไม่เหลือสภาพความเป็นคนไปด้วย

จึงขอได้โปรดทบทวนเรื่องราวบางกลอยให้ดีๆ เข้าถึงความจริง เพื่อจะได้ช่วยดูแลศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาให้ได้จริงตามเจตนา อย่าเอาอนาคตทางการเมืองมาเสี่ยงกับการรับรู้มายาคติที่เกิดจากอคติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แข่งกันสร้างผลงานเพื่อตนเองเลย ไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นน่ะดีมากครับ ขอบคุณแทนคนบางกลอยด้วย แต่อย่าปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขกันเอง เพราะยิ่งจะเละเทะ

เพิ่มศักดิ์ เสนอแนะว่า การคลี่คลายปัญหาบางกลอยให้เป็นไปอย่างสันติอย่างที่ต้องการก็จะต้องเริ่มที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปรับวิธีคิดวิธีปฏิบัติของเขาให้ไปในทางบวกและสร้างสรรค์ คือให้รู้จักฟัง รู้จักเจรจาต่อรองหาจุดร่วม ไม่ใช่ใช้แต่ความรุนแรงด้วยอำนาจ พูดให้เขาฟังสั่งให้เขาทำอย่างที่คุ้นเคย

คนทำงานในพื้นที่เปลี่ยนไม่ยาก ทำงานให้ใกล้ชิดกับชุมชน ก็จะปรับเข้าหากันเอง แต่พวกผู้บริหารระดับสูงส่วนกลางนี่เปลี่ยนยาก แต่ไม่น่ายากเกินความสามารถ อย่างนี้แล้วจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ดีเพราะมีหัวใจธรรมาภิบาล

‘วราวุธ’ ชี้ชาวโป่งลึก-บางกลอยแค่ 6% ที่ ไม่พอใจการจัดสรร-ต้องการกลับใจแผ่นดิน วอนถอยคนละก้าว

10 ก.พ. 2564 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดแถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวสะสมมานับสิบปี ซึ่งมีการโยกย้ายจากใจแผ่นดินลงมาสู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย จากเดิมที่มีประชากรประมาณ 30-40 คน จนวันนี้ขยายตัวเพิ่มเป็น 140-180 ครอบครัว หรือมีประมาณ 1,300 คน จากการรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่า มีชาวบ้านประมาณ 40 ครอบครัว หรือประมาณ 80 คน ที่ยังไม่ลงตัวจากการเยียวยาจากภาครัฐ และต้องการกลับไปอยู่ยังใจแผ่นดิน

วราวุธ กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการโดยมีรองปลัด ทส. เป็นประธาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ทหาร ภาคประชาชน ร่วมกันหาวิธีเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ยังคับแค้นใจไม่มีที่ทำกิน ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเปราะบางด้านความมั่นคง จึงเห็นสาเหตุที่ชาวบ้านต้องย้ายลงมา โดยภาครัฐได้จัดสรรพื้นที่ 1,300 กว่าไร่ มีหน่วยงานราชการ มูลนิธิต่างๆ เข้าช่วยเหลือ จนขณะนี้มีสาธารณูปโภคต่างๆ ทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร มีโรงเรียน การพัฒนาอาชีพ ปลูกข้าว ปลูกกล้วย ทุเรียนได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางครอบครัวมีรายได้เกือบแสนบาทต่อเดือน

วราวุธ กล่าวต่อว่า ทส. ตั้งใจในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ในขณะเดียวกันต้องดูแลสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า พันธุ์พืชต่างๆ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ก็หารือกันตลอด ในขณะนี้มีชาวบ้านเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 80 คน ที่ยังไม่พอใจ ส่วนชาวบ้านอีกประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่พอใจแล้ว ในการแก้ปัญหานี้ก็เกิดดราม่ามากมาย มีกลุ่มคนที่เหมือนมีวัตถุประสงค์พยายามไม่ให้ปัญหานี้จบลง มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งตนไม่เข้าใจคนกลุ่มนี้ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งยืนยันว่าตนต้องการมาแก้ปัญหา ไม่ได้ต้องการสร้างปัญหา

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีชาวบ้านบางส่วนได้ขึ้นไปยังใจแผ่นดินแล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไร วราวุธ กล่าวว่า พื้นที่ใจแผ่นดินไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ ชาวบ้านที่ขึ้นไปมีทั้งผู้หญิงและเด็กเล็ก ไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย แต่สิ่งที่รัฐจัดสรรให้เป็นพื้นที่ที่พร้อมจะอยู่อาศัย นับตั้งแต่ที่ตนมาเป็นรัฐมนตรีในปี 2562 เราตั้งใจมาแก้ปัญหาต่างๆ ให้ และการดำเนินคดีไม่ได้อยู่ในความคิดของพวกเรา ที่ใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ร่วมกันในการแก้ปัญหา ดังนั้นต้องขอความเห็นใจ เพราะพื้นที่ของประเทศไทยมีเพียง 323 ล้านไร่ แต่ประชากรเพิ่มขึ้น ต้องการพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น แต่บทบาทของกระทรวงทรัพย์เราต้องอนุรักษ์พื้นที่ป่าเอาไว้ เราไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เราแสดงให้เห็นแล้วว่าเรามีความตั้งใจแก้ปัญหาอย่างไร ชาวบ้านอาจจะขอมา 100 แต่เราอาจให้ได้ 70-80 ก็ต้องยอมถ้อยทีถ้อยอาศัยกันบ้าง

เมื่อถามต่อว่าขณะนี้ชาวบ้านยืนยันว่าต้องการจะอยู่อาศัยในใจแผ่นดิน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวตามที่ภาครัฐจัดสรรให้ วราวุธ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องยอมถอยคนละก้าว เพราะรัฐจัดหาที่ดินทำกิน 1,300 ไร่ไว้แล้ว สามารถทำการเกษตรได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ชาวบ้านที่ขอยืนกรานว่าจะอยู่ใจแผ่นดิน ตนก็ต้องขอความกรุณาว่าช่วยกันถอยคนละก้าว

รัฐมนตรี ทส. กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมี 323 ล้านไร่ ไม่งอกไม่ลดไปกว่านี้ แต่สวนทางกับประชากรที่เพิ่มขึ้น หากชาวบ้านขอที่ดินทำกินจนไม่เหลือป่าแล้ว ในวันนั้นชาวบ้านจะทำอย่างไรต่อ ดังนั้นวันนี้ทุกคนต้องปรับตัว เราต้องปรับให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ใช่ให้ธรรมชาติปรับตัวเข้าหามนุษย์ เมื่อวันนี้เรามีพื้นที่จำกัด เราต้องคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าในพื้นที่อย่างไร ทำมาหากินอย่างไร

“ผมไม่เคยใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์เลย เพราะผมถือว่าทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย คือ คนไทย และทุกคนต้องได้รับสิทธิ สิ่งความอำนวยสะดวกไม่แพ้กัน เรามีคุณค่าความเป็นคนเหมือนกันหมด มีจดหมายบางฉบับส่งมาถึงว่าจะทำอย่างไรที่จะคืนความเป็นคนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ผมอ่านแล้วสะท้อนใจถึงคนที่เขียนจดหมายฉบับนี้ ว่าเขาเป็นคนที่กำลังทำลายความเป็นคน พยายามเสี้ยมให้เกิดความแตกแยก ผมขอย้ำว่าไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะอยู่พื้นที่ไหนของประเทศไทย ทุกคนมีความสำคัญเหมือนกันหมด และเราไม่ได้เฉยเมยต่อปัญหาชาวโป่งลึก-บางกลอย แต่นี่คือหนึ่งปัญหาที่เรากำลังดำเนินการ และยังมีปัญหาภัยแล้ง พี่น้องชาวเล การเผาป่า ฝุ่นพีเอ็ม2.5 เราแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจแน่นอน” วราวุธกล่าว

รัฐมนตรี ทส. กล่าวอีกว่า การที่ชาวบ้านจะมาคุยกับตน ตนก็ให้คำตอบไม่ได้ในทันที เพราะหากรับปากว่าจะให้พื้นที่ป่า ตนจะติดคุกทันทีเพราะมันผิดกฎหมาย แต่เราต้องมาพบคนละครึ่งทาง ระหว่างความต้องการของประชาชน และข้อจำกัดของภาครัฐ มาถามรัฐมนตรีตอนนี้ก็ยังไม่จบเพราะรัฐมนตรีต้องทำตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่าปัญหาดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกไม่พิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกหรือไม่ รมว.ทส. กล่าวว่า ตนคงตอบแทนคณะกรรมการฯไม่ได้ แต่เราแสดงให้เห็นแล้วว่ามีการบริหารจัดการอย่างไร คณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกกรรมการมรดกโลกได้ลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมทั้งที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการส่งเสริมสาธารณูปโภค การพัฒนาอาชีพ และวันนี้มีชาวบ้าน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่มีความพอใจแล้ว แต่เหลืออีก 6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 คน ที่ยังไม่พอใจ ซึ่งเราจะหาทางออกให้เป็นที่พึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net