แอปพลิเคชัน Clubhouse คืออะไร ทำไมรัฐบาลจีนถึงแบน?

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลจีนสั่งแบนแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Clubhouse ซึ่งเป็นโปรแกรมพูดคุยส่งข้อความผ่านเสียงที่เปิดตัวไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากถูกนำมาใช้พูดคุยสื่อสารเรื่องต้องห้ามภายในประเทศจีน เช่น ประเด็นเรื่องค่ายกักกันอูยกูร์ 

11 ก.พ. 2564 Clubhouse แอปพลิเคชันที่รองรับเฉพาะไอโฟน อนุญาตให้ผู้ใช้งานเริ่มต้นการสนทนาหรือรับฟังการสนทนาได้ ในเนื้อหาหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี, กีฬา, การเลี้ยงดูลูก, วรรณกรรมคนดำ และเรื่องราวอื่นๆ โดยไม่มีการโพสต์ข้อความ ไม่มีรูปภาพ ไม่มีวิดีโอใดๆ มีเพียงรูปภาพโปรไฟล์ของผู้ใช้งานและเสียงของพวกเขาเท่านั้น

Clubhouse ระบุว่า เป็นแอปที่ไม่เก็บบันทึกเสียงของผู้ใช้งาน แต่ผู้เข้าร่วมรับฟังอาจจะอัดเสียงผ่านอุปกรณ์ของตนเองได้ วงสนทนาห้องหนึ่งเปิดให้มีผู้เข้าร่วมรับฟังได้มากที่สุด 5,000 ราย

ขณะที่ประเทศจีนเป็นที่รู้จักดีว่าปิดกั้นอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด รัฐบาลบล็อกเว็บไซต์หลายเว็บ ตัดขาดชาวจีนจากโลก และคอยสอดส่องตรวจตราเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อกำหนดว่าจะอนุญาตให้ประชาชนของตนเองเข้าถึงเว็บใดได้บ้าง แต่ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ Clubhouse สามารถทลายกำแพงดิจิทัลสำเร็จอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อมีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ใช้พื้นที่ของแอปนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนจัดการบล็อกแอปนี้ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา

ลักษณะการพูดคุยใน clubhouse คล้ายการโทรศัพท์แบบที่มีผู้รับฟังเป็นกลุ่มและบางครั้งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ขนาดหลายพันคน เปรียบได้กับการประชุมหรือให้สัมภาษณ์บนเวที คริสเตียนไซเอนซ์มอนิเตอร์ระบุลักษณะของ Clubhouse ว่า "ส่วนหนึ่งคือพอดคาสต์ ส่วนหนึ่งเป็นการประชุมออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นโซเชียลมีเดีย"

ปัจจุบัน Clubhouse ยังคงเป็นแอปที่เปิดให้ใช้งานฟรี ไม่มีโฆษณา และอยู่ในช่วงทดลองใช้แบบ "เบต้า" การจะเข้าถึงแอปต้องมีคนชวนเข้าร่วมซึ่งในช่วงแรกยังมีน้อยมากแต่ก็ดูเหมือนจะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ลักษณะของแอปนี้แทบจะเหมือนสมาคมเฉพาะกลุ่ม สมาชิกยุคแรกๆ ของแอปเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่าง เดรก นักร้องเพลงแร็ป จาเร็ด เลโต และทิฟฟานี แฮดดิช นักแสดง รวมถึงมาร์ค แอนดรีสเซน นักลงทุน และแจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอทวิตเตอร์

Clubhouse สร้างโดยผู้ประกอบการไอทีแห่งซิลิคอนวัลเลย์ พอล ดาวิดสัน ผู้ริเริ่ม Highlight โซเชียลมีเดียที่เน้นการระบุตำแหน่งซึ่งถูกซื้อโดย Pinterest เมื่อปี 2559 ร่วมกับโรฮันเซธ อดีตวิศวกรกูเกิล และเริ่มได้รับความสนใจเพราะอีลอน มัสก์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้มีชื่อเสียงด้านไอทีระดับโลก มาปรากฏตัวที่ Clubhouse สร้างมูลค่าให้แอปราว 280,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งสองคนนี้เริ่มปรากฏตัวพูดคุยใน clubhouse ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. และต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

นอกจากกลุ่มไอทีเหล่านี้แล้ว ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้ใช้งานชาวจีนหลายพันรายก็เริ่มเข้ามารวมตัวกันที่ Clubhouse เพราะมองว่าพวกเขาสามารถพูดคุยหารือกับผู้คนในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกห้ามในจีน เช่น เรื่องประชาธิปไตย ประเด็นไต้หวัน และเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ พื้นที่ของ Clubhouse ยังกลายเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งที่ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่สามารถสื่อสารกับชาวฮ่องกงและชาวไต้หวัน รวมถึงชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ที่พลัดถิ่นได้

ทว่าทางการจีนก็ถอดแอปพลิเคชันนี้ออกจากแอปเปิลสโตร์ตั้งแต่ 16 ธ.ค. 2563 ผู้ที่ต้องการใช้งานจะต้องดาวน์โหลดผ่านแอปเปิลสโตร์ประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนเท่านั้น ทำให้ชาวจีนบางส่วนยังสามารถลัดเลาะหาเส้นทางเข้าถึงแอปนี้ได้

กระทั่งในวันที่ 8 ก.พ. 2564 รัฐบาลจีนสั่งบล็อกแอปนี้โดยสิ้นเชิง รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ อีกหลายพันเว็บไซต์และแอปโซเชียลมีเดียอีกหลายแห่ง ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนอาจจะต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ เช่น VPN ในการเข้าถึง Clubhouse อีกครั้ง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงก่อนที่รัฐบาลจีนจะแบนแอปนี้ โกลบอลไทม์ สื่อฟากรัฐบาลจีนเป็นผู้นำแอปนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ในบทความ "ไม่มีแดนสวรรค์ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" โดยระบุว่าแอปนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็น "ต่อต้านจีน"

แม้ Clubhouse จะถูกแบนไปแล้ว แต่ชนกลุ่มน้อยดาอูร์จากมณฑลซินเจียงก็รู้สึกยินดี ที่อย่างน้อยก็มีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนแบบเขาได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเอง ขณะที่ชาวจีนพลัดถิ่นคนหนึ่งกล่าวว่านี่นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 ปี(ที่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมิน) ที่เขาได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในจีน

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท