Skip to main content
sharethis

คณะราษฎรมูเตลูกจัดกิจกรรมทำบุญเพื่อระลึกถึงวีรชนคนเดือนตุลาฯ ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมเชิญตัวแทนวีรชนเดือนตุลาฯ กล่าวปาฐกถารำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงจากรัฐที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2516 และ 2519 ย้ำสังคมต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนที่คิดต่าง

บรรยากาศช่วงทำบุญแด่วีรชนคนเดือนตุลา

14 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 14.55 น. ประชาชนเริ่มทยอยเข้าพื้นที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เพื่อร่วมกิจกรรม ‘ทำบุญแด่บรรดาวีรชนเดือนตุลา ในงานรฤกคุณคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2’ จัดโดยราษฎรมูเตลู ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มราษฎร

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมในวันนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. และสิ้นสุดเวลา 16.30 น. มีการประกอบศาสนพิธี ตั้งแต่การนิมนต์พระสงฆ์มาอาราธนาศีลห้า สวดพระปริตร มีการกรวดน้ำรับพร อธิษฐานจิตถึงวีรชนเดือนตุลาคม และมีการถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมต่อพระสงห์ นำโดยสุเทพ สุริยะมงคล ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ช่วง 6 ตุลา เป็นตัวแทนถวาย   

นอกจากนี้ มีกิจกรรมปราศรัยจากตัวแทนคนเดือนตุลาในประเด็น 'ความโหดร้ายใต้รัฐเผด็จการ' และตัวแทนคนรุ่นใหม่เรื่อง 'รัฐสวัสดิการที่หายไป ภายใต้รัฐเผด็จการ คสช.'

ทั้งนี้ พิธีกรแจ้งถึงการเปลี่ยนกำหนดการการทำกิจกรรม ตามกำหนดการเบื้องต้นที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ราษฎรมูเตลู’ จะมีการเดินขบวนผ้าแดงไปยังบรมบรรพต วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) และห่มเจดีย์ด้วยผ้าแดง เพื่อระลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชน พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอื่น ๆ แต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการแจ้งจากวัดสระเกศว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่สามารถให้ราษฎรมูเตลูจัดกิจกรรมภายในวัดได้ และทางวัดจะมีการปิดวัด เพื่อทำความสะอาดใหญ่ (Big Cleaning) ทำให้ราษฎรมูเตลูมีการเปลี่ยนกำหนดการ โดยเน้นจัดกิจกรรมปักหลักที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และยกเลิกการแห่ผ้าแดงไปที่วัดสระเกศ

พิธีกรงานจัดกิจกรรม ชี้แจงถึงรูปแบบกิจกรรมคราวนี้ ว่าทำไมถึงไปห่มผ้าแดงวัดสระเกศ ซึ่งการห่มผ้าแดงวัดสระเกศเดิมทีไม่ได้เริ่มจากราษฎรมูเตลูแต่อย่างใด แต่เป็นประเพณีประจำปีที่มีมานานแล้ว และผ้าสีแดงตรงนี้มีการใช้มาตั้งแต่โบราณ นอกจากเรื่องการทำบุญ การห่มผ้าแดงก็อาจเป็นกุศโลบาย เรื่องของการบ่งบอกเขตแดนพระนคร ผู้ที่มาจากนอกเมืองเดินทางเข้าเมืองจะได้ทราบว่าตอนนี้เข้าเขตพระนครแล้วเวลาเห็นสีแดงมาแต่ไกล

ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานก็ได้ตั้งคำถามถึงการปิดวัดเพื่อทำความสะอาดใหญ่ว่า เป็นเพราะพวกเขารึเปล่า เนื่องจากเมื่อทางราษฎรมูเตลูประกาศจัดกิจกรรม ก็มีการปิดวัดทันที แต่พวกเขาตั้งใจอยากขึ้นไปทำบุญ ห่มผ้า เพื่อสร้างกุศล ให้ทุกคนมาทำบุญร่วมกัน

บรรยากาศถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งานรฤกคุณคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2’ จัดโดยราษฎรมูเตลู

ตัวแทนวีรชนคนเดือนตุลาฯ ย้ำ สังคมต้องมีที่ยืนให้คนเห็นต่าง

15.45 น. สุเทพ สุริยะมงคล ตัวแทนคนเดือนตุลา กล่าวปาฐกถา ชี้ชนชั้นนำไทยทำร้ายคนเห็นต่างด้วยความรุนแรงตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทวงถาม เมื่อไหร่สังคมจะมีที่ยืนให้คนคิดต่าง และคุยด้วยเหตุผล

สุเทพ สุริยะมงคล ตัวแทนวีรชนเดือนตุลา และอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์

“มิตรสหายที่รักประชาธิปไตยทุกท่าน ทุกท่านมีความรักต่อประเทศชาติ มีความรักต่อประชาชน เห็นปัญหาของประเทศชาติ จึงมาร่วมกันช่วยแก้ปัญหา เสนอความคิด แต่บังเอิญความคิดของเรา เป็นความคิดต่างที่ชนชั้นนำรับไม่ได้ เหตุการณ์เช่นนี้มันมีมาตั้งนานแล้ว สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ที่ธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2516 เกิดเรื่อง 14 ตุลา ปี พ.ศ. 2519 เกิดเรื่อง 6 ตุลา คนที่คิดต่างถูกชนชั้นนำกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย กักขัง คุมขัง ทำทุกอย่างแม้กระทั่งทำในสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถทำได้ เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลานั้น มีการแขวนคอ มีการทุบทำร้ายร่างศพที่โดนแขวนที่ต้นมะขามสนามหลวง มีการเผาคนทั้งเป็น โดยเหตุนี้ทำให้คณะกรรมการที่ตามเรื่องว่า จำนวนคนที่ตายทั้งหมดมีกี่คน เราสืบพบได้ว่ามี 40 คน ใน 40 ศพเราไม่รู้ว่าศพเขาเป็นใคร เพราะศพนั้นถูกทำร้ายจนไม่สามารถมองได้ว่าเขาเป็นใครกันแน่ นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางสนามหลวง ต่อหน้าวัดพระแก้ว ต่อหน้าศาล”

สุเทพ กล่าวต่อว่า คนปัจจุบันหลายคนแทบไม่รู้เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บางคนหาว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้น หรือเป็นนิยาย แต่ความรับรู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เพิ่มขึ้น ทำให้คนรุ่นเก่ามีกำลังใจว่า เจตนารมณ์ของพวกเขาได้ส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ และคาดหวังว่าจะได้เห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่าย พร้อมกันนี้ สุเทพ ยังได้ทวงถามถึงสังคมไทยว่า เมื่อไหร่สังคมจะมีที่ยืนให้คนคิดต่าง และพูดคุยกันด้วยเหตุผล

“เหตุการณ์ 6 ตุลาคม บริบทของคนคิดต่างและถูกทำร้ายยังไม่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไหร่สังคมเราจะให้คนคิดต่างได้มีที่ยืน และคุยกันด้วยเหตุผล แต่สิ่งที่น้อง ๆ (ผู้สื่อข่าว - นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่) ได้ทำนั้น ทำให้คนรุ่นผมได้มีกำลังใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เราทำในสมัยเมื่อ 4-5 ปีก่อน เดี๋ยวนี้สังคมคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของสังคมนั้นน่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แน่นอนการต่อสู้นั้นไม่ได้จบลงง่าย อาจจะต้องมีผู้สูญเสียอิสรภาพ แม้กระทั่งชีวิต แต่นั่นคือสิ่งที่ชนชั้นนำยื่นให้ เราไม่ต้องการความรุนแรง เราต้องการที่ยืนของคนคิดต่าง และคุยกันด้วยเหตุด้วยผล”

หลังจากกล่าว ปาฐกถาเสร็จสิ้น สุเทพชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนไว้อาลัยให้ผู้ที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นเวลา 1 นาที ต่อมา สุเทพตะโกนว่า “เจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม จงเจริญ” ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ตะโกนต่อว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ”

คนรุ่นใหม่อยากเห็นรัฐสวัสดิการที่คุ้มค่ากับภาษีประชาชน

พลอย จากคณะราษฎรมูเตลู เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ร่วมกล่าวปราศรัยเรื่องรัฐสวัสดิการที่ยังคงเหมือนเดิมไม่ต่างกับยุคคนเดือนตุลาฯ โดยระบุว่า สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่เก็บไปในแต่ละปี ความเจริญกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ โครงสร้างพื้นฐานต่างไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น เด็ก คนชรา หรือคนพิการ เป็นต้น

พลอย คณะราษฎรมูเตลู ตัวแทนคนรุ่นใหม่

“หนูกล้าพูดเลยว่าไม่มีอันไหนเลยที่มันดีพอกับเงินที่เราเสียไปในส่วนนั้น รถไฟฟ้าทั้ง ๆ ที่มันควรมี ไม่ใช่แค่ไหนกรุงเทพฯ มันควรทั่วถึง เหมือนดั่งเช่นการที่เขาเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาใช้ แต่เงินภาษีของคนทั้งประเทศกลับอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้กระจายไปตามจุดอื่นเหมือนที่เขาเก็บมา รถเมล์ที่เราเห็นกันอยู่ พ่อแม่พี่น้องขึ้นเพื่อมาร่วมกับเราแต่ละครั้งกลับต้องขึ้นรถเมล์แบบเดียวกับสมัยคนเดือนตุลาฯ ด้วยซ้ำ ต่อให้เขากลับมาเห็นอีกกี่รอบ ปู่ย่าตายายใช้มาอย่างไร หนูก็ใช้มาอย่างนั้น มันควรปรับเปลี่ยนได้แล้ว”

“การที่รัฐเผด็จการไม่ได้แยแสเลยว่าคนชรา เด็ก และผู้พิการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนในประเทศนี้ จะเดินทางสัญจรอย่างไร เงินที่ให้ทุกวันนี้ กับคนแก่ คนพิการ ก็ไม่ได้ให้มากพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละวันด้วยซ้ำ เบี้ยคนแก่ 600 ในแต่ละเดือน เงินคนพิการในแต่ละเดือน แค่เขากินไม่กี่วันก็หมดแล้ว”

พลอย กล่าวว่า รัฐเผด็จการไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชาชน สวัสดิการที่รัฐเผด็จการมอบให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เช่น เบี้ยคนชราเดือนละ 600 บาท ใช้เพียงไม่กี่วันก็หมด การที่รัฐบอกว่าให้ประชาชนดูแลตัวเองเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ช่วยเหลือใด ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น

“การเป็นเผด็จการมันไม่ได้ดีกับใครเลย เพราะการเป็นเผด็จการคือการที่เขาไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าเป็นรัฐบาล คุณควรเข้าใจประชาชนและมองว่าประชาชนเป็นใหญ่ ดังเช่นคำว่าประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

พลอย ยังเน้นย้ำถึงปัญหาสวัสดิการที่ขาดหาย เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่เคยใส่ใจคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น การรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ ต้องรอคิวนาน และให้สิทธิแก่ประชาชนไม่ทั่วถึง การศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานและเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน หรือมาตรการการป้องกันโควิด-19 ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนเพียงอย่างเดียว รวมถึงสวัสดิการเยียวยาโควิด-19 แบบเสี่ยงโชคที่มอบให้ประชาชนบางส่วน แต่ยังบังคับเก็บภาษีกับทุกคนเหมือนเดิม

“ถ้าจะบอกว่ารัฐเผด็จการมันแย่อย่างไร ผิดอย่างไร เขาผิดตั้งแต่เขาฉีกรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้ว เขาคือกบฎ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง และตัวหนูเองก็ไม่เคยมองเขาว่าเป็นนายกฯ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

หลังจากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่ภายในบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีคนนำป้ายข้อความ 'ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง' ขึ้นไปแขวน เพื่อรณรงค์การปฏิรูปสถาบันฯ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังตัวแทนจากทุกกลุ่มกล่าวปราศรัยเสร็จสิ้น พรหมสร วีระธรรมจาร หรือ ฟ้า แกนนำคณะราษฎรมูเตลู ผู้นำจัดกิจกรรมจึงขึ้นกล่าวปราศรัยทิ้งท้าย โดยเน้นย้ำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของประชาชน รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนประกาศยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 16.30 น. โดย ฟ้า กล่าวว่า กลุ่มราษฎรมูเตลูจะจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกอย่างแน่นอน ขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก ‘ราษฎรมูเตลู’ ซึ่งนอกจากจะประกาศนัดหมายกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ด้านศาสนา ความเชื่อในสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

พรหมสร วีระธรรมจาร หรือ ฟ้า แกนนำคณะราษฎรมูเตลู

‘เราแค่รักประชาธิปไตย’ เสียงสะท้อนจากประชาชนในงาน

โจ้ คณะราษฎร์ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เดินทางมาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคณะราษฎรมูเตลูในวันนี้ เผยว่า ตนตั้งใจเดินทางมาจากบ้านย่านมีนบุรี เพื่อร่วมทำบุญระลึกถึงวีรชนทุกคนที่สละชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการร่วมแสดงจุดยืนกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ผมมาวันนี้เพราะอยากมาทำบุญให้เพื่อน ๆ ที่เสียชีวิตจากเหตุ 14 ตุลา และอยากมาแสดงจุดยืนร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่รักประชาธิปไตย”

“ผมเป็นช่างซ่อมมือถือ ผมคิดว่าทุกวันนี้มือถือมันเหมือนหนังสือ อยากรู้อะไรค้นได้หมด ฉะนั้นคุณจะไปบังคับให้น้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่เขาคิดเหมือนคุณไม่ได้ ประชาชนต้องการคนที่มีจุดยืน ต้องการผู้นำที่มีจุดยืนชัดเจน และต้องเป็นคนที่ประชาชนยอมรับด้วย วันนี้ผมจึงมาร่วมแสดงจุดยืนร่วมกับน้อง ๆ”

ด้านประชาชนอีกคนหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ บอกว่า ตนพักอยู่แถวเทเวศร์ ไม่ไกลจากสถานที่จัดกิจกรรมในวันนี้ และเป็นวันหยุดพอดี จึงเดินทางมาให้กำลังใจทุกคน

“ผมเป็น รปภ. วันนี้หยุดงานก็เลยมา แต่ผมไปทุกที่เลยนะ ผมชอบประชาธิปไตย คนเราถ้าถูกกดขี่บังคับมันก็ไม่ดีเท่าไร ผมชอบประชาธิปไตย ผมอยากฝากสิ่งดี ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับคนรุ่นใหม่ อะไรที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ทำไปเลย บ้านเมืองเราต้องเป็นไปตามระบบ”

ส่วน ประชาชนที่เดินทางมาจาก จ.นนทบุรี บอกว่า ตนตั้งใจมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพราะรักประชาธิปไตย และขอเป็นให้กำลังใจคนรุ่นใหม่เดินหน้าสู้ต่อเพื่อประชาธิปไตย ส่วนตัวของทั้งคู่นั้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว

ประชาชนจากนนทบุรี ผู้เข้าร่วมกิจกรรม รฤกคุณคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2

“ยายมาตั้งแต่ 16 ตุลาฯ ตอนที่กองสลากโดนเผา ก็เอาลูกสาวคนเล็กขึ้นขี่คอมานี่เลย พอพาลูกกลับเข้าบ้านก็ออกมาม็อบต่อ แต่ตำรวจที่ สน.นางเลิ้ง บอกว่าอย่าไปนะ นักเรียน ประชาชนที่ข้ามไปฝั่งสวนจิตรลดา โดนยิงตาย พอสมัยเสื้อแดงปี 53 ยายก็มา ม็อบราษฎร ถ้าว่างก็มา ยายชอบประชาธิปไตย”

ทัังนี้ กิจกรรมวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ทำบุญแด่บรรดาวีรชนเดือนตุลาฯ ในงานรฤกคุณคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2 แต่พิธีกรแจ้งถึงการเปลี่ยนกำหนดการการทำกิจกรรม จากกำหนดการเบื้องต้นที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'ราษฎรมูเตลู' จะมีการเดินขบวนผ้าแดงไปยังบรมบรรพต วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) และห่มเจดีย์ด้วยผ้าแดง เพื่อระลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชน พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอื่น ๆ

แต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการแจ้งจากวัดสระเกศผ่านเฟซบุ๊ก ‘วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร’ ใจความว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่สามารถให้ราษฎรมูเตลูจัดกิจกรรมภายในวัดได้ และทางวัดจะมีการปิดวัด เพื่อทำความสะอาดใหญ่ (Big Cleaning) ทำให้ราษฎรมูเตลูมีการเปลี่ยนกำหนดการ โดยเน้นจัดกิจกรรมปักหลักที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และยกเลิกการแห่ผ้าแดงไปที่วัดสระเกศ

 ป้ายรณรงค์ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และคณะราษฎร ซึ่งมีการเน้นย้ำข้อเรียกร้องนี้มาตั้งแต่การชุมนุมวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา

ข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ประยุทธ์ต้องลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net