มาม็อบทำไม? คุยกับผู้ร่วมชุมนุม 'นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน' ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง-สิทธิประกันตัว

ชวนฟังเหตุผลของคนที่มาร่วม 'นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน' อาสาสมัคร 'ในม็อบมีเด็ก' ยืนหยัดสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในที่ชุมนุม นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง ชี้เศรษฐกิจไม่ฟื้นง่ายๆ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ขณะที่บางคนมาช่วยเพราะเห็นคนน้อย มองการไม่ให้ประกันตัวเหมือนกลั่นแกล้ง เยาวชน 17 ปี อยากให้ 4 แกนนำได้ประกันตัวโดยเร็ว

14 ก.พ.2564 ในกิจกรรมกิจกรรม #ม็อบ13กุมภา กลุ่มราษฎร 'นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน' ที่จัดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเย็นวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ประชาไทจึงได้พูดคุยกับคนเหล่านั้นเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่กลุ่มอาสาสมัคร child in mob นักสิทธิแรงงาน และเยาวชนที่เข้าร่วม

'ในม็อบมีเด็ก' ยืนหยัดสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในที่ชุมนุม

อาสาสมัคร child in mob หรือในม็อบมีเด็ก เล่าว่า child in mob เป็นหนึ่งในงานหลักของกลุ่ม child in protest เราตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเพราะเด็กทุกคนที่ออกมาพูดเกี่ยวกับสิทธิของตนเองควรจะปลอดภัย ซึ่งตัวงานไม่ได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่การชุมนุม แต่รวมถึงในโรงเรียนและพื้นที่ต่างๆ ที่เด็กๆ ออกมาพูด เราจะคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ

ในม็อบมีเด็ก

ส่วนพื้นที่ชุมนุม อาสาสมัครเล่าว่า เราจะลงมาทำงานในฐานะ child in mob ดูแลความปลอดภัยผ่านการระบุตัวตนว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 มาร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่ง และเพื่อเน้นย้ำว่าเด็กควรจะปลอดภัย เมื่อมีแท็กก็จะทำให้ผู้ใหญ่ที่มาร่วม หรือกลุ่มการ์ดที่มาช่วยดูแลความปลอดภัยสามารถช่วยเหลือเด็กได้ถ้าเกิดเหตุการณ์ชุลมุน หรือจำเป็นต้องให้คนออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำให้ระบุตัวตนได้ กรณีที่มีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ เด็กจะต้องมีสิทธิได้พบผู้ปกครอง มีทนายความ หรือเข้าถึงสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงมีผู้ที่ทำงานด้านเด็กเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่คุกคามเด็กในอีกทาง

ทีม child in mob เล่าต่อว่า กิจกรรมเริ่มจากการชุมนุมในปีที่ผ่านมา ปกติอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานก็เป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุม หรือมาร่วมในทางส่วนตัว เราเริ่มเห็นการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ มีการใช้น้ำ ความพยายามสลายการชุมนุมซึ่งเป็นอันตราย แล้วคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมชุมนุมปีที่แล้วก็เป็นเยาวชน ทำให้เราคิดว่าควรจะต้องมีกลุ่มสังเกตการณ์ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ยืนยันสิทธิในการเข้าร่วมชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ และด้วยความเป็นเด็ก บางคนจิตใจเขายังไม่พร้อมที่จะเจอความรุนแรง ถ้ามีพี่ ที่ช่วยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจจะช่วยเขาในเรื่องการลดความกลัวหรือความกังวล ระหว่างที่เกิดเหตุชุลมุน

นอกจากนี้ ทีม child in mob ยังพยายามต่อกับอาสาสมัครที่อยู่ในสายจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือทนายความที่ทำเรื่องเด็กโดยเฉพาะ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้คนในสายวิชาชีพ เป็นกลุ่มหลวมๆ ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อาสาสมัครมาจากหลายองค์กร และมีอาสาสมัครรายบุคคล

ทีม child in mob,

“เราเริ่มพบว่าเด็กอายุน้อยลงๆ อายุ 12-13 ปี เริ่มมาชุมนุมเอง ถ้าเด็กกว่านั้นอาจจะมากับผู้ปกครอง มีผู้ปกครองช่วยดูแลอยู่แล้ว แต่เด็กอายุ 12-13 ปีที่เริ่มไปโรงเรียนเองเขาก็จะมาชุมนุมด้วยตนเอง แล้วมันเกิดความกังวล เป็นห่วงว่าการชุมนุมเลิกดึก บางชุมนุมก็ยืดไปถึงเช้า ก็จะเป็นห่วงเรื่องการกลับบ้าน เรื่องของเส้นทางกลับ เพราะเขาเวลาเขามาช่วงกลางวันเขาจะรู้ว่ามาอย่างไร แต่ช่วงกลางคืนบางทีไม่มีรถสาธารณะแล้ว เป็นห่วงเรื่องการดูแลความปลอดภัยส่วนตัวของเขา”  อาสาสมัครกล่าว

นอกจากนี้ ทีมอาสาสมัครเห็นว่า ยังมีความเข้าใจไม่ทั่วถึงกันเรื่องสิทธิเด็ก เช่น มีสื่อมาทำข่าวในพื้นที่และอาจละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว เราก็พยายามเผยแพร่เรื่องสิทธิเด็กในที่ชุมนุม เช่น ไม่ควรเปิดเผยหน้าเด็กโดยไม่ได้ขอความยินยอม หรือไม่ควรถ่ายรูปเด็กในลักษณะที่ระบุตัวตนได้ เพราะเด็กอาจได้รับความกดดันจากหลายทางมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งจากที่บ้าน ที่โรงเรียน และคนในสังคม รวมถึงระดับความสามารถในการรับแรงกดดันของเด็กอาจจะไม่สูงเท่าผู้ใหญ่

“หลายคนเห็นด้วยว่าควรจะดูแลเด็กในที่ชุมนุมเป็นพิเศษ ส่วนน้องๆ เองก็รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเมื่อเขามาในชุมนุมแล้วรู้สึกไม่สบายใจยังรู้ว่าจะไปหาใครได้” อาสาสมัครกล่าว

อาสาสมัคร child in mob ยังเล่าถึงอุปสรรคที่พบ คือ ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านเด็ก ที่บางครั้งมีการลงพื้นที่ชุมนุมแล้วพยายามสร้างความกังวลให้เด็ก ว่าเด็กไม่ควรออกมา เราก็พยายามทำงานเบื้องหลังเพื่อสร้างความเข้าใจว่า การดูแลปกป้องเด็กในพื้นที่ชุมนุมใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลเด็กทั่วไป เด็กเร่ร่อน หรือเด็กในกรณีอื่นไม่ได้ เพราะนี่คือสิทธิในการแสดงออกของเขา ควรทำให้ปลอดภัยมากกว่าจะไปขู่ให้เขากลัวแล้วไม่กล้าออกมา

“ทีมเราไม่ได้เข้ามาเพื่อสนับสนุนให้น้องๆ ออกมาชุมนุม แต่เรามาเพื่อทำให้เขาเห็นว่า ในทุกพื้นที่ที่เขาอยากแสดงสิทธิ แสดงเสียงของเขามันต้องปลอดภัย” อาสาสมัครกล่าว

ในมุมของผู้ปกครอง ทีมอาสาสมัครแสดงความเป็นห่วงว่า น้องๆ บางคนที่มาไม่กล้าบอกผู้ปกครอง จริงๆ ถ้าผู้ปกครองเป็นห่วงน้องๆ ในการมาร่วมกิจกรรม อยากให้ลองมากับเขา มาดูบรรยากาศ มาดูว่าเขามีความสนใจอะไร ที่เขามามาเพราะอะไร อยากให้ลองฟังเขาจริงๆ เราจะได้เข้าใจเขาด้วยว่า ความคิดเขา การเข้าถึงข้อมูลของเขาตอนนี้ไปค่อนข้างไกล ไปห้ามเขาจะทำให้เขาต้องแอบมา หรือหาทางอื่นมาโดยผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้ อยากให้การสร้างความมั่นใจในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ

“เรารู้สึกว่า ยิ่งเด็กกล้าจะบอกครอบครัวนั่นแสดงว่าเขาเห็นว่าเราปลอดภัยสำหรับเขา เราควรจะรักษาพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัวตรงนี้ไว้ ความคิดเราอาจจะไม่ตรงกัน แต่ก็ยังเป็นครอบครัวเดียวกัน ถ้าเขาบอกเราตลอด เราจะช่วยดูแลความปลอดภัยของเขา ไม่ให้เขาเป็นอะไรไป เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่กันไประยะยาว” อาสาสมัครกล่าว

นอกจะมองหาทีม child in mob ได้ในที่ชุมนุมแล้ว หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อพวกเขาได้ทาง childline โทร 1387 หรือทวิตเตอร์ @saidek1387

นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง ชี้เศรษฐกิจไม่ฟื้นง่ายๆ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร

พัชนีย์ คำหนัก นักกิจกรรมเพื่อสิทธิแรงงาน และอีกหนึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวถึงกรณีศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม. 116 จำนวน 4 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งพัชนีย์ มีความเห็นว่า จริง ๆ แล้วผู้ต้องหาทั้งสี่คนควรมีโอกาสได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี 

ขณะที่ความคิดเห็นของเธอเรื่องข้อเรียกร้อง 3 ประการ ประกอบด้วย 1) ประยุทธ์ต้องลาออก 2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อไหนสำคัญที่สุด และเพราะเหตุใด 

เธอมองว่าระยะใกล้ที่สุด คือ ประยุทธ์ต้องลาออก แต่ก็มีปัญหาอย่างอื่น คือ การจะเอาประยุทธ์ออกไปได้ มันก็พ่วงด้วยเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามมา เนื่องจากเธอมองว่าทั้งประยุทธ์และสถาบันกษัตริย์มีความเชื่อมโยงกัน แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องใช้เวลา ตรงไหนที่สามารถแก้ไขได้ ก็ต้องเรียกร้อง เช่น มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม เธออยากให้รัฐบาลประยุทธ์ออกไปไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม 

พัชนีย์ คำหนัก นักกิจกรรมเพื่อสิทธิแรงงาน

นอกจากนี้ เธอเล่าความรู้สึกที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้ว่าเป็นจังหวะที่ถูกต้อง เธอระบุ และกล่าวเพิ่มว่า พวกเขาถูกกระทำโดยศาลที่กักขังเพื่อนนักกิจกรรมการเมืองเพื่อประชาธิปไตย และการจับกุมโดยมาตรา 112 มันก็มีให้เห็นตลอดตั้งแต่เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ถึงจะมีโควิด-19 ระบาดก็ตาม ก็ต้องออกมาเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลลาออก เพื่อที่จะทำให้การเมือง และเศรษฐกิจ กลับเข้ารูปเข้ารอย และไปต่อให้ได้เร็วที่สุด 

สุดท้าย เธอเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมกัน มาร่วมรับฟังและตระหนักถึงปัญหาไปพร้อม ๆ กัน 

“อยากจะบอกว่า เศรษฐกิจบ้านเราก็จะไม่ฟื้นง่ายๆ และระบบการเมืองแย่ๆ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร มันก็ยิ่งทำให้ชีวิตของเราไม่มีอนาคต ก็เลยอยากจะให้รับสารตรงนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น และก็ร่วมมาร่วมกันต่อสู้ในทุกจังหวะที่ตนเองมีโอกาสได้ไปได้อยู่” พัชนีย์ คำหนัก ทิ้งท้าย

มาช่วยเพราะคนน้อย ชี้ไม่ให้ประกันตัวเหมือนกลั่นแกล้งทางการเมือง

ไร อายุ 27 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาร่วมชุมนุมหลังจากกิจกรรมเริ่มไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่คนมาน้อย จึงอยากมาช่วยในสิ่งที่ทำได้ 

ไร อายุ 27 ปี

ส่วนเหตุผลในเรื่องการเมือง เธอสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มราษฎร และอยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อยากให้สิทธิ เสรีภาพที่จะแสดงออก และพูดถึงสถาบันฯ ได้โดยไม่ติดคุก 

กรณีที่อานนท์ พริษฐ์ ปฏิวัติ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฝากขังระหว่างระหว่างการไต่สวนในข้อหามาตรา 112 และอื่นๆ ไรมองว่าไม่มีเหตุผล 

"พอเทียบกับผู้ต้องหาคดีดังๆ หรือคดีที่ร้ายแรงกว่านี้กลับได้รับการปล่อยตัว เหมือนกลั่นแกล้งทางการเมือง" ไรกล่าว

เยาวชน 17 ปี อยากให้ 4 แกนนำได้ประกันตัวโดยเร็ว

ปูน เยาวชนอายุ 17 ปี จาก จ.กาญจนบุรี กล่าวกรณีการไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ ว่า พวกเขาควรจะได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้ข้างนอก เพราะว่าการขังระหว่างพิจารณาคดี ผู้ต้องหาอาจถูกขังอย่างยาวนาน หรือขังลืมเลยก็ได้ ก็อยากให้มีการประกันตัวโดยเร็ว

ปูน ผู้ร่วมชุมนุม

ขณะที่การชุมนุมตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเน้นย้ำ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย หนึ่งประยุทธ์ต้องลาออก สองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และสาม ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ข้อใดสำคัญที่สุดและเพราะเหตุใด

ปูนระบุต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เร็วที่สุด ถ้าท้าวความจากที่ผ่านมา สถาบันมีส่วนช่วยรับรองการรัฐประหารครั้งที่แล้ว ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ สามารถฉีกรัฐธรรมนูญ และสามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง โดยมี ส.ว. 250 เสียง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นมาจากกษัตริย์เป็นคนเซ็นรับรองให้คณะรัฐประหาร ถ้ากษัตริย์เลือกไม่เซ็น คณะรัฐประหารก็จะเป็นกบฏทันที แต่กษัตริย์เลือกจะเซ็น รวมทั้งบทบาทที่ถูกมองว่าแทรกแซงการอำนาจตุลาการ และบริหารการเมืองไทย

ความรู้สึกในวันนี้ ปูนระบุว่า ถ้ามีโอกาส ก็จะไปอีก เพราะเราสนับสนุนสามข้อเรียกร้องหลัก และอยากจะไปสนับสนุนทั้งผู้ปราศรัย และผู้ร่วมชุมนุม เพื่อให้รัฐบาลและสถาบันฯ ตระหนักว่า ประชาชนต้องการอะไรในเวลานี้ และไม่ควรทำอะไรเพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับพวกของตัวเอง

สำหรับกิจกรรม 'นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน' นี้เป็นกิจกรรมรอบใหม่ของกลุ่มราษฎร ซึ่งจัดต่อเนื่องหลังศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และม. 116 จำนวน 4 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ นสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากการปราศรัย 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และวันที่ 20 ก.ย.2563 และการชุมนุม 14 พฤศจิกายน (Mobfest) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 โดยที่กลุ่มเหล่านี้มีข้อเรียกร้องนอกจากให้ปล่อยตัวทั้ง 4 คนแล้ว ยังเรียกร้อง 1. ประยุทธ์และองคาพยพต้องออกไป 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

โดยการไม่ให้สิทธิประกันตัวดังกล่าว นักวิชาการ นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ออกมาเรียกร้องให้สถาบันตุลาการยืนยันหนักแน่นว่าสิทธิในการได้รับการประกันตัวของประชาชนเป็นหลักการสำคัญยิ่งที่สถาบันตุลาการอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนจะต้องยืนหยัดและยึดมั่น แม้ว่าสถาบันตุลาการจะถูกแวดล้อมด้วยแรงกดดันทางสังคมและการเมืองมากเพียงใดก็ตาม และความร้ายแรงของโทษในคดี 112 ที่แกนนำราษฎรทั้ง 4 คนถูกกล่าวหาเป็นเหตุอันสมควรอย่างยิ่งที่พวกเขาจะต้องมีโอกาสในการต่อสู้คดี การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมาตรการที่มีขึ้นเพื่อรับประกันว่าประชาชนคนไทยจะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกให้ร้ายในกระบวนการยุติธรรม

“หวังว่าต่อจากนี้จะมีการตอบสนองในเชิงที่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย และบรรทัดฐานทางกฎหมายเกิดขึ้น เราคิดว่าถ้ามีการตอบสนองในแง่ดีก็คงจะทำให้สังคมกลับมาสู่จุดที่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงกันด้วยหลักการได้ แต่ถ้าเกิดไม่มีการตอบสนองในด้านที่ให้มีการใช้เหตุผลได้ เราเป็นกังวลว่าสังคมโดยรวมจะเดินไปสู่ทางที่ไม่สู้จะมีทางออกมากนัก หนทางข้างหน้าจะยิ่งตีบตันมากขึ้น และถ้าเป็นแบบนั้นเราเป็นกังวลว่ามันจะทำให้ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ แม้ว่าเราจะไม่ปรารถนาก็ตาม” ความตอนหนึ่งที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตัวแทนผู้อ่านแถลงการณ์ของ 126 คณาจารย์นิติศาสตร์ เครือข่ายนักกฎหมาย โต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร กล่าว วานนี้ (12 ก.พ.64)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท