Skip to main content
sharethis

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชี้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทนายอานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุขโดยไม่ได้ใช้หลักสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนได้พิพากษาความผิดทั้ง 4 คนไปแล้ว

ภาพจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ภาพจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

16 ก.พ.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีคำประกาศถึงคนในกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 นักกิจกรรมได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยประเด็นสถาบันกษัตริย์ในที่ชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.2563

ในคำประกาศดังกล่าวได้ทวงถามถึงจรรยาบรรณของข้าราชการตุลาการในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คน เปรียบเสมือนว่าพิพากษาความผิดพวกเขาแล้ว ซึ่งผิดจาก “หลักสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”

นอกจากนั้นในคำประกาศดังกล่าวยังระบุว่าเมื่อประชาชนไม่สามารถสัมผัสได้ถึงการใช้อำนาจตุลาการโดยไม่มีอคติในการอำนวยความยุติธรรมระหว่างบุคคลกับรัฐและ/หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย สถาบันตุลาการนั้นก็จะถูกพิพากษาโดยมติของประชาชนเสียเอง

คำประกาศฉบับเต็ม

คำประกาศภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ถึง “คน” ในกระบวนการยุติธรรม

ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 1 อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ 1 ระบุว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

จากประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “อำนาจตุลาการ” จะศักดิ์สิทธิ์ มีเกียรติ และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของสังคม ไม่ใช่เพราะศาล “มีอำนาจตุลาการ” แต่เพราะศาล “ใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” ไม่ว่าคู่ความในคดีจะเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณานายพริษฐ์ หรือ เพนกวิ้น ชิวารักษ์ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ในคดีของศาลอาญา หมายเลขดำที่ อ.287/2564 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ความว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้ง คดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง” นั้น

เสมือนประหนึ่งว่า ศาลได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนแล้วว่า ผลแห่งคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจะออกมาในแนวทางใด ทั้งที่เป็นเพียงคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเท่านั้น คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่มีลักษณะของการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ย่อมขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หมวดปล่อยชั่วคราว มาตรา 108 และ 108/1 ยิ่งไปกว่านั้นยังขัดต่อ “หลักสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” โดยสิ้นเชิง

ด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลดังกล่าว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความเห็นในฐานะผู้มีวิชาชีพนักกฎหมายเช่นเดียวกับศาล มีศักดิ์และสิทธิโดยทัดเทียมกันต่อหน้ากฎหมายว่า ศาลมิได้มีหน้าที่เพียงตัดสินคดีระหว่างบุคคลกับบุคคลให้เป็นไปโดยยุติธรรมเท่านั้น แต่มีหน้าที่สำคัญคือการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีให้มีความเป็นธรรมระหว่างบุคคลกับรัฐและ/หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย หากจำเลยและประชาชนโดยทั่วไป ไม่อาจสัมผัสได้ถึงการใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติ ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมในปลายทางเสียแล้ว สถาบันตุลาการนั่นเองที่จะถูกพิพากษาโดยมติของสาธารณชน

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ประกาศ ณ 16 กุมภาพันธ์ 2564


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net