เวที 'คนไทยไร้จน' เสนอ 'รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า' ป้องกันไม่ให้คนต้องจนจากวิกฤติ

เมื่อวันอาทิตย์ กลุ่มแคร์(C.A.R.E.) นำเสนอแนวนโยบายแก้จนที่เรียกว่า "รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" ที่เป็นสวัสดิการให้เงินเป็นรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนช่วยยกสภาพคนยากจนให้หลุดพ้นจากสภาพความยากจน และป้องกันไม่ให้คนต้องตกไปเป็นคนยากจนจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ

14 ก.พ.2564 ที่ลิโด้ คอนเนคท์ กลุ่มแคร์ (C.A.R.E.) จัดเวทีนำเสนอแนวคิดทางนโยบายเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า(Universal basic income – UBI) ที่เป็นนโยบายสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนได้รัฐสนับสนุนทางการเงินให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย สภาวะความยากจนและรองรับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้คนสูญเสียรายได้ เช่น การระบาดของโรคติดต่อ หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจ

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพรรคไทยรักไทย เริ่มต้นกล่าวถึงความพยายามทำให้คนไทยได้มีสวัสดิการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่โดยเขาเปรียบเทียบนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้านี้กับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ที่ทำให้ประชาชนได้หลุดจากสภาวะล้มละลายและต้องสูญเสียเงินเก็บจากการต้องเสียค่ารักษาพยาบาล จนนโยบายนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ

สุรพงษ์กล่าวว่า วัฏจักร “โง่ จน เจ็บ” นี้ไม่ใช่คนโง่แล้วจน แต่ความจนทำให้คนโง่โดยเขายกงานวิจัยเกษตรกรในอินเดียที่มีการทดสอบไอคิวก่อนและหลังขายผลผลิตได้ก็พบว่าหลังจากที่ได้เงินจากการขายผลผลิตแล้วไอคิวของเกษตรก็เพิ่มขึ้น การที่เกษตรกรมีรายได้แล้วก็ได้ปลดเปลื้องความทุกข์ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ และเขากล่าวว่าความจนไม่ได้ทำให้เจ็บแม้ความจนจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพได้ไม่ดี แต่ความเจ็บทำให้จนจากการใช้เงินมากมายมารักษา การที่คนคนหนึ่งจะก้าวพ้นจากวัฏจักรนี้เป็นไปไม่ได้เลยคนที่อยากถีบตัวเองขึ้นมามีปัญญาแต่การจะทำให้พ้นจากความจนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่กดทับทำให้คนต้องอยู่ในวัฏจักรนี้

การพยายามทำ 30 บาทรักษาทุกโรคก็เพื่อให้คนสามารถพ้นจากการเจ็บได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยไร้จนเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และปัญหานี้ไม่ได้มีแต่กับคนไทยเท่านั้นแต่เป็นโจทย์ที่พูดถึงกันมานานมากตั้งแต่ 500 ปีก่อนในหนังสือชื่อยูโทเปียของโทมัส มอร์ ที่เคยกล่าวถึงรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ต่อมาก็ยังมีมาร์ติน ลูเธอร์คิง ปรีดี พนมยงค์ แม้กระทั่งอีลอน มัสก์ก็เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ซึ่งกล่าวถึงอนาคตที่คนอาจจะตกงานจากการถูกเทคโนโลยีดิสรัปท์เกิดชนชั้นไร้ประโยชน์(Useless class) การมีตัวกันกระแทกสำหรับคนที่ปรับตัวตามไม่ทันจึงสำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เกิดขึ้นนอกจากมีเพียงงานศึกษา

สุรพงษ์เห็นว่ารายได้พื้นฐานถ้วนหน้านี้ก็คล้ายกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือการพูดเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิที่ไม่ใช่การร้องขอไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็เข้าถึงการรักษาที่มีมาตราฐานเดียวกันได้ เช่นเดียวกันเรื่องคนไทยไร้จนก็เช่นเดียวกันคือเป็นสิทธิที่ไม่ต้องร้องขอ ทุกคนได้สิทธิรับเงินรายได้ที่เกินเส้นความยากจนที่ขณะนี้ของไทยอยู่ที่ 2,763 บาทอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยที่เคยร่ำรวยแต่วันนี้ต่างก็ตกงานแล้วมีรายได้น้อยลงมากบางคนก็ถึงกับจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นการให้ทุกคนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจึงเป็นหลักประกันของคนในสังคมนั้นๆ

สุรพงษ์กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก คนไทยไร้จนก็อาจจะยากยิ่งกว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก็มีวิธีการ ถ้ายกตัวอย่างจากกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค คือ เราก้าวทีละขั้นๆ โดยเริ่มจากการรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อย มาขั้นที่สองคือการให้ประกันสุขภาพกับคนในระบบประกันสังคมในปี 2535 แล้ว 2544 ก็มีการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ช่วงแรกการจะรักษาทุกโรคก็อาจจะมีปัญหาทางงบประมาณก็อาจจะมีการยกเว้นโรคบางโรค แต่วันหนึ่งก็มีการพัฒนาเพิ่มการรักษาโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นจนวันนี้ก็รวมถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วย

สุรพงษ์กล่าวว่าถ้าเราจะเริ่มต้นมีนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าก็มีข้อเสนอต่างๆ เช่น การมีภาษีย้อนกลับ (Negative Income Tax - NIT) โดยให้มีการยื่นแบบภาษีแล้วระบบก็จะตรวจพบได้ว่าเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนก็มีการจ่ายเงินย้อนกลับไปให้เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้วก็จะยังมีภาษีของคนอื่นๆ ที่ช่วยจ่ายย้อนกลับไปให้คนที่อยู่ใต้เส้นยากจนคนนั้นได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีได้ด้วย และต่อไปเราอาจจะมีบำนาญถ้วนหน้า ตอนนี้เรามีเบี้ยผู้สูงอายุ 600-1000 บาท แต่ถ้าเราอยากให้ผู้สูงอายุอยู่เห็นือเส้นความยากจน เราจะให้ 2,763 บาท ถ้าเราให้ผู้สูงอายุทุกคน 11ล้านคนอาจจะต้องใช้งบประมาณถึง 340,000ล้านบาท ส่วนเรื่องเด็กที่เป็นอนาคตที่มีครอบครัวยากจนเข้าถึงโภชนาการและการศึกษาได้ต่ำ ประเทศไทยเรามีเด็กทั้งหมด 14 ล้านคนก็อาจต้องใช้ถึง 470,000 ล้านบาท หากต้องการให้คนไทยทุกคน 66.5 ล้านคนได้รับเงินรายได้ขั้นต่ำ 2,763 บาททุกเดือนจะต้องใช้เงินปีละ2.2 ล้านล้านบาท เป็น 2ใน 3ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้แม้จะดูเหมือนเรื่องเพ้อฝันแต่ตอนที่ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ก็เป็นเพียงแค่ความฝันมาก่อน แต่หาดูผลลัพธ์ที่ได้กลับมาในวันนี้จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ปีแรกๆ ใช้ 70,000 ล้านบาทและทุกวันนี้ก็ใช้ 190,000 ล้านบาท ผลลัพธืที่กลับมาไม่ใช่แค่คน 44 ล้านคนพ้นจากการล้มละลายแต่ทำให้คนมีโอกาสทำมาหากินต่อไป คนที่เคยต้องสะสมเงินเป็นหลักประกันเพื่อใช้รักษาตัวก็ถูกปลดเปลื้องจากความกังวล เขาใช้เงินสะสมไปลงทุนหาโอกาสสร้างรายได้ต่อไป การฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ได้เร็วเพราะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยหนึ่ง

เช่นเดียวกับเรื่องคนไทยไร้จนหรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ถ้าเราทำให้ทุกคนมีรายได้พื้นฐานที่มั่นใจได้ว่าถ้าตกงานเขาหาโอกาสใหม่ให้กับชีวิตหรือพยายามเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพเขายังเงินก้อนหนึ่งในการหากินและดำรงชีวิตต่อไปได้ในสภาวะที่อาจจะเกิดชนชั้นไร้ประโยชน์จากการถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนและต้องมีการฝึกทักษะใหม่กันครั้งใหญ่ และในตอนนี้มีคน 2.2 ล้านคนที่ทำงานภายใต้ระบบที่เรียกว่า GIG Economy หรือทำงานฟรีแลนซ์คือคนที่ทำงานโดยไม่มีความแน่นอนของรายได้ ถ้ามีรายรับที่เป็นรายได้ถ้วนหน้าเขาก็สามารถมั่นใจได้ว่าสามารถค้นคว้าหาตัวเองให้เจอแล้วสร้างรายได้ต่อไปในอนาคตได้

“ไม่มีใครคำนวนได้ว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าหากเราสามารถให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าแล้วทำให้คนสามารถจะเปล่งประกายศักยภาพของเขา เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรตัวเขาเองจะเป็นอย่างไร เราอาจเห็นการทะลุเพดานของคนที่ศักยภาพเคยถูกกดทับไว้จะเปร่งประกายศักยภาพนี้มากขึ้น”

ผมสรุปได้ว่าวันนี้เรื่องของความจนเราอาจจะมีวิธีคิดหลายแบบไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของรัฐให้กับคนจน เงินเยียวยาสามเดือน แต่หลังจากสามเดือนแล้วจะเป็นอย่างไร บางครั้งความฝันอาจจะอยู่ตรงที่ว่าอยู่ที่ไม่ต้องคิดอ้อมๆ คิดอะไรให้ตรงๆ คนเจ็บป่วยไม่มีหลักประกันก็ให้หลักประกันสุขภาพ มีปัญหาความยากจนก็ให้เงินที่พ้นความยากจน ตรงที่สุด

สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากจะไปถึงขั้นสุดท้ายที่เราจะไปถึงรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เราก็อาจจะต้องก้าวไปทีละก้าวๆ จนถึงจุดหมายเราเคยฝันตรงฝันไกลเรื่องความเจ้บป่วยแล้วเราก็มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนถึงจุดหมายในวันนี้ เราอาจจะต้องฝันตรงฝันไกลในการเอาชนะความจนแล้วจะถึงจุดหมายอย่างไร เราฝันว่าจะชนะความโง่สามารถสร้างปัญญาในสังคมได้โดยก้าวไปทีละก้าว และเช่นเดียวกันเราอาจเคยฝันว่าเราจะชนะเผด็จการเราจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจะก้าวไปที่ละก้าวให้ถึงจุดหมายได้อย่างไร วันนี้จึงต้องปัดฝุ่นรื้อลิ้นชักของความทรงจำลองดูว่าความฝันที่เคยมีอยู่ในวัยเยาว์ยังมีอยู่หรือไม่ ตั้งคำถามกับตัวเองว่าชีวิตนี้ยังมีความฝันอะไรที่ยังไม่ได้ทำ

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

สำหรับประเด็นเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ปราชญ์ ปัญจคุณาธร อธิบายถึงความหมายของรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าว่าสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้ในรูปแบบเงินไม่ใช่สินค้าและให้อย่างถ้วนหน้าไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม และไม่ตั้งเงื่อนไขในการรับและใช้จ่ายเงิน อีกทั้งยังเป็นการแจกเงินให้กับปัจเจคบุคคลไม่ใช่ให้กับครัวเรือน และแจกให้ประจำอย่างสม่ำเสมอเป็นงวดไม่ใช่ครั้งเดียวจบ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นแนวคิดที่มีการนำเสนอมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แต่ไม่ได้รับความสนใจนักจนกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในหมู่นักปรัชญา เศรษฐศาสตร์และนักนโยบาย และยังเห็นผู้สมัครเป็นส.ส.ของพรรคเดโมแครต ที่เสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายเป็นข้อเสนอหลักและมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กก็เสนอเรื่องนี้แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ยูเอ็นระดับสูงก็เรียกร้องหลายประเทศให้ใช้นโยบายนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำและความจน

ปราชญ์กล่าวว่าสาเหตุที่เรื่องนี้ถูกนำกลับมาเพราะกระแสที่กำลังมา 3 เทรนด์ คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปชั่นทำให้คนที่ไม่มีเบาะรองรับได้มีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

กระแสที่สอง ความไม่พอใจในทุนนิยมทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ซ้ายไม่พอใจความเหลื่อมล้ำและเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติรัฐก็เข้าไปอุ้มแต่นายทุน ส่วนฝ่ายขวาที่หนุนทรัมป์ ฝรั่งเศสที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาก็ไม่พอใจต่อตลาดเสรีระหว่างประเทศและทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ความไม่พอใจในระบบทุนนิยมทำให้คนพยายามหาทางออกมาบรรเทาผลกระทบ

กระแสที่สาม นักวิชาการนักพัฒนาและเอนจีโอก็เห็นกันมากขึ้นว่าสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพในการแก้จนคือการให้เงินแก่คนจนไม่ใช่การให้สินค้าทำให้เอ็นจีโอเห็นความสำคัญของรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามากขึ้น

ปราชญ์ กล่าวว่าแนวคิดนี้เชื่อมโยงอยู่กับ Anti-Paternalism แนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนตัดสินใจในการใช้เงินเองได้ และแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกันและสวัสดิการจะสะท้อนความจริงและไม่ใช่เงินสงเคราะห์และไม่ใช่เงินรางวัลข้อนี้ เขาสรุปแนวคิดนี้คือการ “ไม่เชื่อว่ามีคุณพ่อ(รัฐ)รู้ดี” และการไม่สร้างตราบาป ให้คนที่รับสวัสดิการไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นภาระทางภาษี รายได้พื้นฐานถ้วนหน้านี้ไม่ต้องได้จากภาษีเท่านั้น แต่มาจากกองทุนบริหารทรัพยากรอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน ในกรณีที่อลาสก้าก็ใช้กองทุนน้ำมันมาจัดสวัสดิการส่วนนี้และโครงการที่อลาสก้านี้ยังเป็นโครงการถาวรรวมถึงมีการเปิดผลศึกษาผลจาก

ปราชญ์กล่าวว่านอกจากนี้แนวคิดนี้เป็นการจ่ายให้กับปัจเจคบุคคลไม่ใช่ให้ทั้งครอบครัว เพราะเชื่อว่าการจ่ายแบบนี้อาจเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศได้ เนื่องจากการจ่ายให้กับรายครอบครัวอาจกลายเป็นเพิ่มอำนาจให้กับเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้กับคนหนุ่มสาว และการให้อย่างถ้วนหน้านี้จะมีประสิทธิภาพในบริหารจัดการเพราะแทบไม่มีค่าจัดการและไม่ต้องพึ่งระบบราชการ

นอกจากนั้นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้านี้ยังเป็นระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) คือการประกันความเสี่ยงให้กับความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดคิดจากวิกฤติต่างๆ ทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังอาจทำให้คนกล้าทำงานสร้างสรรค์มากขึ้นเพราะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

ปราชญ์กล่าวว่าแนวคิดนี้มีทั้งส่วนที่ประเมินทางเศรษฐกิจว่าเป็นทั้งผลบวก เช่นการมีคนมีรายได้มากขึ้นมีการจ้างงานมากขึ้นเศรษฐกิจดีขึ้น ลดอาชญากรรม เพิ่มระดับการศึกษา แต่ก็มีการพูดถึงว่าอาจเกิดผลทางลบ เช่น อาจจะทำให้ขาดแรงจูงใจการทำงาน เกิดเงินเฟ้อ บริโภคอบายมุขมากขึ้น เกิดการย้ายถิ่นฐาน

ปราชญ์บรรยายถึงผลลัพธ์จากการศึกษาการใช้นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ ทั้งประเด็นทางเศรษฐกิจและทางปรัชญา

ประเด็นแรกจากการศึกษาพบว่านโยบายนี้ไม่ได้ทำให้คนบริโภคอบายมุขมากขึ้น ทั้งจากการศึกษาจำนวน 30 ชิ้นในอเมริกา แคนาดา แอฟริกา เอเชียในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยพบเพียงสองแห่งเท่านั้นที่การบริโภคเพิ่มขึ้นแต่เล็กน้อยมาก ซึ่งคนที่ได้รับจะใช้ไปกับอะไรขึ้นอยู่กับจ่ายในปริมาณเท่าไหร่ ถ้าให้น้อยและถี่คนจะนำไปซื้ออาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าให้ก้อนใหญ่แต่ให้ไม่บ่อยจะเป็นสินค้าใหญ่คงทน เช่น สังกะสีทำหลังคา แต่ถ้าจ่ายในจำนวนที่ไม่แน่นอน คนก็จะออมเงินมากขึ้น

ส่วนข้อถกเถียงเรื่อง การให้เงินจะทำให้แรงจูงใจในการทำงานน้อยลง ผลิตภาพน้อยลง และทำให้ขาดแรงงานจนราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จากการศึกษาข้อมูลจากใน 4 เมืองในสหรัฐฯ และแคนาดา แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังหาข้อสรุปเรื่องนี้ไม่ได้ว่ามีผลออกมาอย่างไร เพราะผลการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษามีอุดมการณ์ทางการเมืองว่าเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาอย่างไร โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่าแรงงานมีการหดตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่อีกขั้วก็ระบุว่าไม่มีนัยยะซึ่งเป็นผลการศึกษาเก่า แต่ภายหลังจากนั้นมีการศึกษาซ้ำอีกครั้งก็พบไม่มีผลต่อแรงงานในงานศึกษา 165 ชิ้น ใน 30 ประเทศ และ 56 โปรแกรมพบว่าไม่มีผลและมีผลเชิงบวกต่ออุปทานแรงงาน

นอกจากนั้นประเด็นเรื่องจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อหรือไม่ ปราชญ์กล่าวว่าจากงานศึกษาก็แทบไม่พบหลักฐานเลยว่ารายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากโครงการวิจัยและการศึกษาเรื่องการให้เงินในประเทศเคนยาที่จ่ายให้กับประชาชน 1,000 ดอลลาร์เพียงครั้งเดียว ก็ไม่พบว่าเงินจำนวนนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งประ

ปราชญ์กล่าวว่านอกจากเรื่องข้อกังวลทางเศรษฐกิจที่เป็นข้อกังวลต่างๆ ไม่ปรากฏอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ยังมีข้อกังวลในทางปรัชญาอยู่อีก ทั้งจากสายเสรีนิยม(Libertarian) ที่คิดว่าการให้สวัสดิการในลักษณะนี้จะทำให้อันนี้มาแทนสวัสดิการดั้งเดิมทั้งหมดเลยหรือไม่ แต่เขายังเห็นว่าสวัสดิการบางอย่างไม่สามารถใช้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามาทดแทนได้เพราะมีสินค้าบางชนิด ที่รัฐมีพันธะต้องจัดหาให้ประชาชน ซึ่งสินค้าเหล่านี้เปลี่ยนเป็นเงินไม่ได้ เช่น สิทธิเลือกตั้งและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการศึกษาที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนของตน รวมถึงการรักษาพยาบาลเพราะจะไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่จะทำให้ประชาชนยังสามารถตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆ ได้ เป็นต้น ซึ่งข้อถกเถียงในทางปรัชญายังเป็นประเด็นที่ยังต้องศึกษาเพิ่ม

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ กล่าวถึงสภาพัฒน์มีงานศึกษาว่าโควิด-19เป็นวิกฤติคนจนและเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากกว่าในอดีตทำให้ครัวเรือนเสี่ยงตกเป็นคนจนได้และที่สำคัญจะต้องเพิ่มมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้วิกฤติอย่างยั่งยื่น ซึ่งก่อนวิกฤติโควิดก็มีการศึกษาพบว่ามีคนยากจนในไทยมีถึง 4.3 ล้านคนในปี 2562 คือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,763 บาท แต่เมื่อเกิดโควิดมาแล้วคนกลุ่มที่มีปัญหาความยากจนก็มีปัญหาอีกแน่ๆ แล้วคนอื่นที่เดิมยังไม่มีปัญหาความยากจนจากการศึกษา 2,700 กว่าตัวอย่างก็พบว่ามีทั้งปัญรายได้ลดลงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมีหนี้เพิ่มขึ้นและยังมีปัญหาอีกมหาศาลแล้วก็ยังมีการระบาดของโควิดระลอกสองอีก

ศุภวุฒิกล่าวว่ายังมีคนที่เสี่ยงที่จะตกเป็นคนยากจนอีก 5.4 ล้านคนจากความเสี่ยงของวิกฤติต่างๆ ซึ่งเป็นตัวเลขทางการ สรุปแล้วทั้งจากคนที่เป็นกลุ่มคนยากจนอยู่แล้วและตกมาเป็นคนยากจนอีกรวมแล้วเกือบสิบล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ก็สามารถดูได้จากคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งที่มี 15 ล้านคน

ศุภวุฒิได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนโดยให้ใช้นโยบาย “ภาษีเงินได้ติดลบ” (Negative Income Tax – NIT) คือการที่คนไหนมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์คือมารับเงินจากรัฐบาลหรือภาษีคืนซึ่งถ้ารัฐบาลต้องการขจัดความยากจนมีรายได้ต่ำกว่าสามพันบาทต่อคนต่อเดือนได้เงิน 3,000 บาททุกเดือนในกรณีที่ไม่มีรายได้เลย แต่ถ้ามีงานทำได้เดือนละ 1,000 บาทต่อเดือนอันนี้ก้จะมีเงื่อนไขว่าเอา 1,000 บาทไปลบออกจาก 6,000 บาทแล้วหารสองก็จะได้คนละ 2,500 บาทจากเดิมคนที่เคยตกงานแล้วมีงานทำก็จะยิ่งทำให้เขาอยากมีงานทำเพราะสุดท้ายแล้วเขาจะได้เงินรวมแล้ว 3,500 บาทแต่ไม่ใช่ไม่เก็บภาษีเขา การทำแบบนี้จะทำให้คนได้รับการเกื้อกูลอย่างอัตโนมัติเลย การทำแบบนี้จะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเฉลี่ยต่อคนคนละ 2,000บาทต่อเดือนหรือปีละ 24,000 บาทแล้วมีคนยากจน 10-15 ล้านคนรัฐบาลใช้งบประมาณเพียง252,000 – 360,000ล้านบาทต่อปีถือว่าไม่เยอะถ้าจะทำให้แก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ แต่ก็ยอมรับว่าอันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องการแบ่งเค้กกันอย่างไรเท่านั้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงเค้กกก้อนนี้ได้จากวิกฤติโควิดแต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเท่าไหร่เลยและกลัวว่าจะมีวัคซีนมาก็อาจจะต้องเผชิญปัญหานี้ในปีนี้ไปอีกทั้งปี

ศุภวุฒิยกตัวอย่างของการใช้ Earned Income Tax (EIT) ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1975 เป็นการเติมเงินเข้าไปให้สำหรับบุคคลที่มีรายได้ในระดับหนึ่งให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือคนโสดที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ดอลล่าร์ต่อปีก็จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 2,400 เหรียญต่อปีต่อคนครอบครัวก็จะได้มากกว่านั้นเป็น 2,600 เหรียญต่อปี รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เงินตรงนี้ 62,000 ล้านเหรียญต่อปีหรือ 1.86 ล้านล้านบาทซึ่งไม่ได้เยอะสำหรับสหรัฐฯ แต่ได้จุนเจือ 22 ล้านครัวเรือนเทียบกับหลักประกันสุขภพถ้วนหน้าให้คน 50-60 ล้านคนนั้นยากกว่า NIT เยอะ

ศุภวุฒิกล่าวย้ำว่า NIT เป็นสิทธิป้องกันคนไทยจากความยากจน ในเมื่อมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ทำไมจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจไม่ได้ เขาเห็นว่าการทำ NIT เป็นสิ่งควรทำเพราะว่าจะขจัดความยากจนอย่างถาวร และทำอย่างทันท่วงทีเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยส่งเรื่องจาก ศบค.ชุดเล็กไปชุดใหญ่ ไปต่อที่ ครม. จ่าย 500 บาท

นอกจากนั้นการทำ NIT ยังเป็นประโยชน์กับธุรกิจรายย่อยที่ตอนนี้ต้องขอลดเงินเดือนพนักงานครึ่งหนึ่งทำให้คนงานต้องลำบากแล้วภาคธุรกิจก็ลำบากในภาวะวิกฤติ การมี NIT จึงช่วยทั้งคนงานและธุรกิจรายย่อยรวมถึงป้องกันเมื่อเกิดวิกฤติที่จะตามมาอีกครั้ง ดังนั้น NIT น่าจะเป็นการรวมศูนย์ประกันสุขภาพทางเศรษฐกิจเข้ามา คือการรวมศูนย์สวัสดิการและลดขั้นตอนต่างๆ ลงได้ แล้วก็ลดความซ้ำซ้อนในการจุนเจือประชาชนได้ แม้สวัสดิการบางอย่างจะยังต้องมีอยู่

การพิสูจน์รายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญและก็อาจจะเกิดโอกาสทุจริตได้แต่ต้องบอกว่าถ้าเป็นประโยชน์กับทั้งผู้จ้างและผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายก็จะเข้าหารัฐบาลแล้วจะพยายามให้ข้อมูล แล้วรัฐบาลก็สามารถเอามาใช้ได้ เพราะทุกวันนี้มีธุรกิจรรายย่อยจำนวนมากที่ไม่เข้าระบบเพราะมันไม่มีประโยชน์กับเขา แต่ถ้าทำ NIT ให้ดีธุรกิจรายย่อยก็อยากเข้ามาร่วมเพราะว่าเป็นการพวกเขาในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วย

ศุภวุฒิกล่าวว่าบางคนอาจจะคิดว่าน้อยเกินไปหรือเปล่า เงินช่วยเหลือนี้ก็ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่บางคนก็อาจจะบอกว่าเยอะเกินไปหรือไม่ ในกรณีหลังนี้เขาได้อธิบายว่าเมื่อคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือนี้เมื่อเขาได้เงินไปแล้วเขาก็ต้องรีบใช้ออกไปใช้เร็วและใช้หมด และใช้ในที่ใกล้เคียงชุมชนทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้เร็วและไม่รั่วไหลออกไปถ้าวิธีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือการให้เงินกับผู้ที่ต้องรีบใช้เงิน ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้และดีกวาซื้อเรือดำน้ำแน่นอน

ศุภวุฒิกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายว่าที่มีคนบอกว่าการให้เงนแบบนี้จะทำให้คนชี้เกียจแล้วก็ไม่ทำอะไรไม่เห็นจะมีประโยชน์เลย แต่งานวิจัยก็บอกว่าประเด็นเรื่องความอดอยากว่าคนจนที่เครียดจากการต้องแก้ปัญหาทางการเงินทำให้ความสามารถในการตัดสินใจและไอคิวลดลงไปถึง 13 จุดเทียบเท่ากับคนไม่ได้นอนหนึ่งคืนฉะนั้นเวลาที่คนมีความเครียดตัดสินใจไม่ดีเราถึงต้องช่วยเพื่อไม่ให้เขาไปสู่วิกฤติตรงนั้น โดยงานวิจัยดังกล่าวไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยในอินเดียก็จะได้เงินจากเก็บเกี่ยวอ้อยหนึ่งครั้งต่อปีปรากฏว่าเมื่อทำการทดสอบช่าวไร่อ้อยนี้ก็พบว่าไอคิวสูงขึ้นตอนที่ได้เงินและไอคิวตกลงในตอนที่จนทั้งที่เป็นขชาวนาคนเดียวกัน

นอกจากนั้นบังมีงานวิจัยพบว่าชาวอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกีที่เปิดบ่อนคาสิโนในพื้นที่ที่เขาอยู่ แล้วปรากฏว่ารายได้เฉลี่ยของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น 4,000 เหรียญ ความยากจนลดลงและเด็กที่เกเรก็ลดลงไป 40% ก็เป้นตัวเลขของการก่อคดีต่างๆ ของเยาวชนลดลงไป 20% ปัญหาเรื่องยาเสพติดแอลกอฮอล์ก็ลดลงไปและคะแนนการเรียนของเด็กๆ เหล่านี้ก็ดีขึ้นด้วย

ศุภวุฒิกล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่ช่วยตัวของเราเองก็ขอให้ช่วยเด็กๆ ของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท