ศาลฎีกายกฟ้องชายชุดดำอีกคดี พยานโจทก์ปากสำคัญไม่น่าเชื่อถือให้การสองคดีไม่ตรงกัน

ศาลฎีกายกฟ้องจำเลย “อ้วน สุ่มศรี” คดีชายชุดดำ เหตุพยานทหารปากสำคัญเบิกความในศาล 2 คดีไม่ตรงกัน คดีหนึ่งบอกจำหน้าชายชุดดำได้อีกคดีบอกว่าจำหน้าไม่ได้และไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยัน ทนายแจงจำเลยยังเหลืออีก 3 คดี กำลังจะพิจารณามีนาคมนี้ ตอนนี้เห็นมีแต่คดีที่ประชาชนโดนฟ้อง แต่ยังไม่มีคดีทหารสักคดี

Photo from M Today

ภาพการแถลงข่าวการจับกุมชายชุดดำ ภาพโดย M Today

16 ก.พ.2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีชายชุดดำในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ที่มีกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี เป็นจำเลยในคดีกับพวกอีก 4 คน ผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ที่ให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยในคดีนี้ว่า วันนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานปากสำคัญที่สุดในคดีคือพยานทหารที่อ้างว่าพลขับรถฮัมวี่ที่จอดอยู่ในเหตุการณ์แล้วมีรถตู้ที่ขับส่วนผ่านเขาซึ่งเขาจำหน้าผู้ก่อเหตุได้และศาลชั้นต้นก็รับฟังพยานปากนี้เพราะเห็นว่าเป็นพยานที่น่าเชื่อถือเพราะเห็นว่าเป็นทหารน่าจะมีความสามารถในการจดจำใบหน้าได้ แต่ก็เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เพราะทั้งความมืดและเหตุก็ไม่สมเหตุสมผลที่พยานอ้างว่ามองเห็นอาวุธปืนบนพื้นรถตู้ แค่รถสวนกันจะมองเห็นได้ขนาดนั้นได้อย่างไร

วิญญัติกล่าวต่อว่าทางทนายความก็ได้นำคำให้การของพยานปากนี้ที่เคยเบิกความไว้ในการไต่สวนการตายของช่างภาพชาวญี่ปุ่นคือ ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งการไต่สวนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 16 ก.ค.2556 ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีชายชุดดำนี้ โดยพยานทหารปากนี้ให้การไว้ว่าจำหน้าคนในรถตู้ไม่ได้เลยและก็เห็นหน้าไม่ชัดด้วย แต่พอมาเบิกความในคดีนี้ก็บอกว่าจำหน้าได้ซึ่งเป็นการเบิกความที่ไม่ตรงกัน ทั้งที่ตอนสู้คดีในศาลชั้นต้นก็เอาหลักฐานจากการไต่สวนแสดงต่อศาลแล้วเหมือนกัน แต่ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลย

ส่วนศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานนี้รับฟังได้ เพราะว่าไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกจากทหารนายนี้มายืนยัน ศาลก็มองว่าพยานเบิกความขัดกันแบบนี้แล้วมันห่างมาหลายปีแล้วก็ไม่น่าเชื่อถือ ศาลฎีกาจึงยกฟ้อง

ส่วนปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย จำเลยที่ 2 นั้นถูกขังมานานแล้วโดยที่ไม่ได้ประกันตัวและเขาถูกดำเนินคดีเพียงข้อหาครอบครองอาวุธข้อหาเดียวเท่านั้นจึงเลือกที่จะไม่ฎีกาเพื่อสู้คดีต่อเพื่อให้คดีมันจบแล้วถ้ายังฎีกาก็ไม่รู้ว่าคดีจะมีคำพิพากษาเมื่อไหร่ก็เลยแจ้งกับทนายความว่าไม่ประสงค์จะฎีกาแล้วยอมรับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้น ส่วนตอนนี้ก็พ้นโทษไปแล้ว แต่ยังมีคดีอื่นที่ถูกกล่าวหาใหม่อีกสามคดี

ส่วนของกิตติศักดิ์ก็ยังเหลืออีกสามคดีที่ศาลกำลังจะเริ่มพิจารณาคดีในเดือนมีนาคม 2564 นี้

“เท่าที่เราได้เปิดสำนวนเบื้องต้นแล้วก็ดูชุดของพยานหลักฐานก็เข้าใจว่าเป็นชุดเดียวกันที่นำมาสืบก่อนหน้านี้ ก็เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่อ่อนมาก ในมุมของทนายความที่สู้คดีเหล่านี้มามองว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรนำมาฟ้องตั้งแต่แรก แต่การมาฟ้องเนี่ยเพื่อสนองทางการเมืองหรือเพื่อให้เห็นว่ามีการก่อเหตุหรือมีผู้ดำเนินการแค่นั้นเอง” วิญญัติกล่าวถึงคดีที่เหลือของพวกเขา และเขาเห็นว่าที่ผ่านมาก็มีแต่เสื้อแดงกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีแต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีทหารถูกดำเนินคดีเลยจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

คดีชายชุดดำยกฟ้องอีกคดี

สำหรับคดีนี้เริ่มต้นมีจำเลยทั้งหมด 5 คนได้แก่ กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน อาชีพเดิมขับรถตู้, ปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย, รณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ, ชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็ก และปุณิกา ชูศรี หรืออร ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์เคยพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3-5 ในคดีนี้ไปก่อนแล้วโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ทั้งสองศาลพิพากษาลงโทษกิตติศักดิ์และปรีชาเนื่องจากเห็นว่ากระทำความผิดจริงจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องกิตติศักดิ์ในวันนี้

ทั้งนี้พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนที่คดีนี้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า รู้สึกดีใจที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 1-2 เพราะทำให้สังคมเห็นว่าชายชุดดำมีจริง พนักงานสอบสวนทำงานเหนื่อย มีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร คดีนี้จะทำให้คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีน้ำหนักในการพิพากษาต่อไป

แต่ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 5 ก่อนที่ถูกจะดำเนินคดีพวกเขาถูกทหารเข้าจับกุมและทำการสอบสวนในค่ายทหารหลัง คสช.ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ซึ่งพวกเขาเคยให้การว่าถูกบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพในการสักถามของทหารและถูกนำคำให้การมาใช้ในการดำเนินคดีกับพวกเขา

คดี ‘ชายชุดดำ ปี 53’ ศาลสั่งจำคุก 10 ปี 2 จำเลย อีก 3 ยกฟ้องแต่สั่งขังระหว่างอุทธรณ์

ส่วนกิตติศักดิ์เองนอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุคาร์บอมบ์ที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง ย่านถนนรามอินทรา และเป็นคดีที่ศาลก็พิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกัน โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อ 6 ก.ย.2560 ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นเนื่องจากเห็นว่าพยานพยานหลักฐานโจทก์ที่ยื่นฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดี 'ชายชุดดำ' คดีซุกคาร์บอมบ์ปี 53

นอกจากคดีนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่ผ่านมาศาลชั้นต้นพึ่งมีคำพิพากษายกฟ้องคดีชายชุดดำอีกคดีที่มีจำเลย 3 คน คือ สุขเสก หรือเสก พลตื้อ, พรกมล บัวฉัตรขาว หรือกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการทีวีสถานีประชาชน ช่องเอเชียอัพเดต และสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ โดยในคำพิพากษาระบุว่าไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันได้ว่าจำเลยในคดีอยู่ในที่เกิดเหตุและประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นจำเลยก่อเหตุก็ไม่น่าเชื่อถือว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริงและยังมีการจูงใจจากผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน

ศาลยกฟ้อง 3 เสื้อแดงคดีปาระเบิดฆ่าร่มเกล้า 10 เมษาฯ เหตุประจักษ์พยานถูกจูงใจไม่น่าเชื่อถือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท