ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ‘ลัทธิป่าปลอดคน’ อำนาจนิยมที่ผลักคน 2 ล้านให้เป็นศัตรูของชาติ

#saveบางกลอย มีรากเหง้าของปัญหาที่ใหญ่โต ปิ่นแก้วเรียกว่า ลัทธิป่าปลอดคน มรดกเผด็จการทหารในอุทยานแห่งชาติไทย ที่ทำให้การอนุรักษ์ป่าแปรเป็นการกดขี่ทางชนชั้น ทั้งต่อคนและธรรมชาติ เปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่สงคราม และเปลี่ยนผู้คนที่อยู่กับป่าให้กลายเป็นศัตรูของชาติ

กรณีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยที่กำลังเผชิญการถูกขับไล่ออกจาก ‘ใจแผ่นดิน’ ที่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน จุดประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรโดยรัฐที่มีลักษณะอำนาจนิยมขึ้นมาอีกครั้ง

ทางภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้จัดโครงการบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘จากบางกลอย...ยอดดอยภูทับเบิก...สู่ชายแดนใต้ ชาติพันธุ์และความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร’ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

ปิ่นแก้ว

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยหนึ่งในวิทยากรคือปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อธิบายรากเหง้าปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดกรณีแบบบางกลอยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและอาจยาวไกลถึงอนาคต หากวิธีคิดการจัดการป่าของรัฐไทยยังล้าหลังเช่นนี้

ลัทธิป่าปลอดคน

หัวข้อวันนี้ชื่อว่าลัทธิป่าปลอดคน มรดกเผด็จการทหารในอุทยานแห่งชาติไทย สไลด์อันแรกเป็นข่าว 2 ชิ้น ชิ้นแรกก็อปมาจากยูทูบของกรมอุทยาน ซึ่งคลิปนั้นทางกรมอุทยานแห่งชาติจั่วหัวว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของป่าอนุรักษ์ไทยคือชุมชนในเขตป่าและมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีชุมชนในเขตป่าอยู่ 4,000 ชุมชน ประมาณ 2 ล้านคน

ข่าวที่ 2 เป็นข่าวปี 2563 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เตรียมสร้างอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข่าวบอกว่ามีการดูพื้นที่ว่าอนุสาวรีย์จะตั้งขึ้นใกล้อ่างเก็บน้ำ นักท่องเที่ยวที่มาจะสามารถเห็นรูปปั้นนี้ตั้งตระหง่านอยู่

สองข่าวนี้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติของไทยได้อย่างชัดเจน หมดจด ประการแรก มันบอกว่าการดำรงอยู่ของป่าอุทยานภายใต้ลัทธิป่าปลอดคน ปลอดจากการแตะต้องของมนุษย์ มีแต่ ‘ธรรมชาติ’ ล้วน ซึ่งธรรมชาติในที่นี้ไม่นับมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย การดำรงอยู่ของอุทยานภายใต้ลัทธิป่าปลอดคนดำรงอยู่ได้ด้วยการที่คนท้องถิ่น ชาวบ้าน ชนพื้นเมืองเป็นศัตรูของป่าเท่านั้น เราจึงมักเจอประโยคที่ว่าปัญหาการจัดการป่าอนุรักษ์ของไทยเพราะมีชุมชนอยู่ในเขตป่า ประหนึ่งว่าสองสิ่งนี้โดยธรรมชาติของมันอยู่ตรงข้ามกัน

ดิฉันขอย้ำตรงนี้ว่าคนท้องถิ่น ชาวบ้าน ชนพื้นเมือง ไม่เคยมองตัวเองเป็นศัตรูกับป่ามาก่อนหรือกระทั่งสังคมไทยเองก็ไม่เคยมองว่าชาวบ้านเป็นศัตรูกับป่ามาก่อนที่ประดิษฐกรรมป่าอุทยานจะถือกำเนิดขึ้นในไทย ปัญหาของการนำสองสิ่งนี้มาวางเป็นคู่ตรงข้ามกัน มันเป็นฐานคิดที่ทำให้การจัดการป่าอนุรักษ์ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

มันมีประดิษฐกรรมของรัฐที่เจริญแล้วอะไรบ้างในโลกนี้ที่ทำให้ประชาชนนับล้านกลายเป็นศัตรูของชาติ จะมีก็แต่รัฐนาซีกับรัฐเผด็จการเท่านั้น ด้วยฐานคิดชนิดนี้โดยอัตโนมัติทำให้ป่าเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรงและผลักให้การบริหารจัดการป่าในตัวของมันเองต้องเรียกใช้กองกำลังที่ใช้ความรุนแรง เปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่สงคราม

เราจะเห็นว่าตั้งแต่ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 ตัว พ.ร.บ.มีปี 2504 ปัจจุบันมัน 60 ปีเข้าไปแล้ว ฐานคิดที่ผลักให้ชุมชนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับป่าอนุรักษ์ไม่เคยเปลี่ยน มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้นำหรือผู้บริหารของกรมอุทยานออกมาพูดว่าปัญหาของป่าอุทยานคือการมีชุมชนอยู่ในเขตป่า ดิฉันถามคำถามเดียว่าการมองชาวบ้านนับล้านเป็นศัตรูจะแก้ปัญหายังไง เพราะคุณตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรกแล้ว จะแก้ปัญหาได้อย่างเดียวคือให้ทหารเข้ามายึดพื้นที่ของประชาชนซึ่งสวนทางกับการจัดการป่าอุทยานทั่วโลก

ส่วนข่าวที่ 2 มันสะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอุดมการณ์ป่าปลอดคนกับเผด็จการนิยมเป็นอย่างดี สิ่งที่น่าสนใจคืออุทยานแห่งชาติของไทยเลือกที่จะอ้างอิงอัตลักษณ์ของตนกับเผด็จการทหารอย่างสฤษดิ์อย่างไม่ละอายใจ การเชิดชูเผด็จการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะมันสะท้อนคุณลักษณะของอุทยานแห่งชาติไทยที่มีอำนาจนิยมเป็นอุดมการณ์ใหญ่ของการจัดการป่า

ป่า กระเหรี่ยง

ป่าของชนชั้นนำไทย

ดิฉันเรียกป่าอุทยานว่าเป็นป่าของชนชั้นนำไทย กำเนิดของป่าชนิดนี้คือจุดจบของวิถีชีวิตของคนในป่า ป่าอุทยานไม่ได้เป็นสิ่งที่มีในสังคมไทยมาก่อน มันมีอายุแค่ 60 ปี เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่นำเข้าของรัฐบาลเผด็จการในยุคสงครามเย็น เป็นสิ่งที่ไทยเอาโมเดลการพัฒนามาจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเขื่อนและเทคโนโลยีในการพัฒนาอื่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติให้ทันสมัยในยุคสฤษดิ์

แต่การสร้างอนุสาวรีย์สฤษดิ์ในป่าเขาใหญ่เป็นเรื่องตลกเพราะสฤษดิ์ไม่ได้คิดเรื่องนี้ขึ้นมาเอง กลุ่มคนที่ผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเป็นกลุ่มชนชั้นนำไทย เป็นชนชั้นกลาง เป็นพวกนิยมไพร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ล่าสัตว์เป็นกีฬา ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นกลุ่มอนุรักษ์แล้วก็ร่วมมือกับไอยูซีเอ็นซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ระดับนานาชาติ ไอยูซีเอ็น ชนชั้นนำ และรัฐบาลทหารของสฤษดิ์ สามประสานนี้ผลักให้อุทยานแห่งชาติในไทยถือกำเนิดขึ้นตามอย่างอุทยานแห่งชาติเยลโล่ สโตนในอเมริกา

มันมีความต่างไหมระหว่างอุทยานแห่งชาติในอเมริกากับในไทย ต่างแน่นอนคือขนาดก็ไปด้วยกันไม่ได้แล้ว อุทยานในสหรัฐฯ เกิดจากการ romanticize ภูมิทัศน์ธรรมชาติของชนชั้นกลาง นักคิด นักเขียนทั้งหลายที่ต้องการแสวงหาพื้นที่นอกอุตสาหกรรม นอกความเป็นเมือง เพื่อผ่อนคลายจากการถูกบีบรัดให้เป็นอณูหนึ่งของจักรกลทั้งหลาย ต่อมาก็กลายเป็นจริยศาสตร์แบบป่าบริสุทธิ์ซึ่งตัดแยกมนุษย์ออกจากภววิทยาของความเป็นป่าและทำให้มนุษย์เป็นภัยคุกคามความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ฐานคิดนี้เป็นฐานคิดสำคัญของขบวนการสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันตก เช่น พวกนิเวศวิทยาแนวลึกซึ่งครองอำนาจมากในทศวรรษ 1970 ถึง 1990

แนวคิดที่ว่ามนุษย์เป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติโดนวิจารณ์หนักมากเพราะว่าเป็นมรดกของพวกคนผิวขาวที่ร่ำรวยเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์คิดอะไรทำนองนี้ได้ เป็นแนวคิดที่กดขี่ทางชนชั้นอย่างมาก มีแต่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่จะสามารถครอบครองธรรมชาติประเภทนี้ไว้ดู ไว้ชื่นชมทางสุนทรียะ ไว้วาดภาพ ไว้ศึกษาในห้องทดลอง ชาวบ้านที่พึ่งพาธรรมชาติเพื่อการยังชีพไม่มีความสำคัญกับธรรมชาติแบบภาพวาดแบบนี้ แนวคิดป่าบริสุทธิ์จึงเป็นแนวคิดของชนชั้นปกครองเท่านั้น

ในกรณีของไทยที่เราเอาอุทยานแห่งชาติแบบนี้มา ป่าปลอดมนุษย์ทำงานในอีกลักษณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าป่าสำหรับชนชั้นสูงเป็นป่าเพื่อความบันเทิงไม่ใช่เพื่อการยังชีพมาแต่ไหนแต่ไร การสวมแนวคิดป่าบริสุทธิ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชาติ ไทยทำโดยมีมิติของการพยายามผันตัวเองให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเพื่อยืนยันกับโลกว่าตนศิวิไลซ์ที่ไม่ใช่แต่ล่านก ล่าหมูป่า แต่รู้จักสุนทรียะด้วย ป่าอุทยานสำหรับประเทศโลกที่ 3 แบบไทยจึงเป็นสิ่งที่เอาไว้แสดงต่อประชาคมโลก เป็นหน้าเป็นตา เป็นเครื่องหมายว่าไทยไม่ได้ล้าหลัง

คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ซึ่งเป็นเลขาของสมาคมนักนิยมไพร พูดไว้ว่า ต่อไปนี้ป่าไม่ใช่อาหารเพื่อปากท้อง แต่เป็นอาหารสมอง อาหารของตา เป็นสุนทรียะ เป็นเปลี่ยนวิธีคิดในการมองพื้นที่ธรรมชาติที่มีมิติทางชนชั้นที่ชนชั้นกลางหันมามองป่าในมิติที่ต่างไปจากชาวบ้าน

เราจะเห็นว่าฐานคิดการมีป่าไว้อวดชาวโลกยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของการพยายามผลักดันให้อุทยานเป็นมรดกโลกให้ได้ อย่างกรณีบางกลอยให้ดิฉันฟันธง ไม่ใช่อะไรอื่น ความพยายามของชนชั้นนำในไทยโดยมีกรมอุทยานฯ เป็นหัวหอกสำคัญต้องการโชว์ชาวโลกว่าตนเองมีป่าที่ประเทศศิวิไลซ์ก็มีเหมือนกัน เป็นมรดกของโลก

ป่าปลอดมนุษย์: กดขี่ กีดกัน ปล้นสิทธิ์ และเต็มไปด้วยความรุนแรง

ทีนี้นักวนศาสตร์อาจจะถามว่ามีปัญหาตรงไหน ถ้าเราจะมีป่าอุทยานไว้เป็นเครื่องแสดงความศิวิไลซ์ คำตอบก็คือมันจะไม่มีปัญหาถ้าเครื่องแสดงความศิวิไลซ์นี้จะไม่กระทำบนต้นทุนชีวิตของผู้อื่นและหากตัวแบบจะไม่ใช่ป่าปลอดมนุษย์ที่เป็นโมเดลที่กดขี่ทางชนชั้น กีดกันชาวบ้าน ปล้นสิทธิ์ และเต็มไปด้วยความรุนแรง

นับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติถูกจัดตั้งขึ้น คุณหมอบุญส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับสฤษดิ์เพื่อดูพื้นที่ป่าดงพญาเย็นแล้วเห็นชาวบ้านทำไร่อยู่ก่อนจะประกาศตั้งเขตอุทยาน แต่คำที่ใช้คือชาวบ้านบุกรุกป่า มันจะเป็นการบุกรุกได้อย่างไรในเมื่อที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นที่ของรัฐมาตั้งแต่แรก แต่เราจะพบศัพท์แสงแบบนี้ถ้าอ่านประวัติของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประวัติศาสตร์ทางการก็จะอ้างคำพูดทำนองนี้เหมือนกันว่าเมื่อไปตรวจก็พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติอยู่ ซึ่งเป็นคำที่ไม่ถูกต้องในเมื่ออุทยานยังไม่ได้ประกาศจัดตั้งขึ้น แต่มันเป็นคำที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการแย่งยึดพื้นที่มาจากชาวบ้าน

โมเดลแบบนี้มีแต่จะหนักหน่วงและสร้างปัญหาที่แผ่ขยายมากขึ้นออกไปเรื่อยๆ ประเทศไทยปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติจำนวน 133 แห่ง รอประกาศอีก 22 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวมกันเกือบ 32 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ที่น่ากลัวคือมีแผนจะเพิ่มให้ได้ถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ถ้าทำจริงหายนะจะมาถึงชุมชนในชนบทแน่นอน

คำถามคือทำไมต้อง 55 เปอร์เซ็นต์ ในยุคที่ไทยยังมีการเปิดให้ตัดไม้อยู่ ป่ามีจำนวนประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลงานของรัฐบาลที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงขนาดนั้น ตัวเลข 55 เปอร์เซ็นต์นี้น่าตกใจเพราะถ้าเราคิดถึงตัวเลขคนที่ไร้ที่ดินทำกินในประเทศไทยมีนับล้าน ถ้าคุณเพิ่มพื้นที่ป่าออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลักให้คนออกจากที่ดินทำกิน นั่นหมายถึงตัวเลขคนที่ไม่มีที่ดินทำกินจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้น โมเดลแบบนี้ระยะยาวแล้วไปไม่รอด มันจะผลักให้ชาวบ้านและชุมชนไม่ว่าจะอยู่ในเขตป่ามาก่อนหรืออาศัยอยู่กับป่าโดยรอบแล้วต่อมารัฐขยายพื้นที่เป็นอุทยานเดือดร้อนแน่นอน

แบ่งชนชั้นให้ธรรมชาติ-สร้างภูมิทัศน์เพื่อการบริโภค

ประเด็นต่อมาคือเรื่องชนชั้นของป่าปลอดมนุษย์ คนทั่วไปมักเชื่อว่าป่าอุทยานเป็นโมเดลที่จะช่วยรักษาป่า แต่ความจริงแล้วความเชื่อนี้ผิด ป่าปลอดมนุษย์เป็นการสร้างชนชั้นให้กับธรรมชาติกล่าวคือมีธรรมชาติบางประเภทที่ถูกคัดสรรและให้คุณค่า ในขณะที่ธรรมชาติชนิดอื่นถูกคัดทิ้งไป อุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าวางอยู่บนหลักการสำคัญแค่ 2 อย่าง หนึ่งคือพื้นที่ต้องใหญ่และกว้าง สอง-ต้องมีสัตว์ใหญ่ สิ่งนี้เรียกว่าลัทธินิยมความมหึมา เป็นฐานคิดของพวกบูชาอนุสาวรีย์ ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ก็เชื่อว่ายิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น

ป่าธรรมชาติภายใต้โมเดลนี้สร้างสิ่งที่เรียกว่า ภูมิทัศน์เพื่อการบริโภคขึ้นเพื่อรับใช้จริตของชนชั้นกลางในเมืองที่โหยหาสุนทรียภาพของความสวยงาม ตรรกะประเภทนี้มีความสำคัญมากกว่าระบบนิเวศอีก ข้อวิพากษ์ของดิฉันอันนี้อาจจะฟังดู radical แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นโมเดลที่ป่าอุทยานในสหรัฐฯ ก็ถูกวิจารณ์มานมนาน ผลของการสร้างชนชั้นให้กับธรรมชาติประเภทนี้ทำให้ป่าจำนวนมากที่หน้าตาน่าเกลียด ดูแล้วไม่ตราตรึงใจชนชั้นกลาง เช่น ป่าชายเลนแคบๆ เล็กๆ ป่าพรุผืนเล็กๆ แต่มีระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจึงไม่ได้รับเกียรติให้เข้าประกวดเป็นป่าที่ต้องอนุรักษ์ไว้

คำถามต่อป่าที่นิยมความมหึมาคือธรรมชาติที่เกิดจากป่าประเภทนี้ที่ต้องเป็นผืนใหญ่ต้องใช้ต้นทุนทางสังคมมากเท่าไหร่ ต้นทุนที่เกิดจากการขีดเส้นล้อมป่า กันคนออกไป เป็นธรรมชาติเพื่อใคร นี่ไม่ใช่คำถามใหม่ การวิจารณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในวงการสิ่งแวดล้อมศึกษามานานแล้ว ธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นในโลกตะวันตกเป็นทิศทางที่นำไปสู่ธรรมชาติที่ผิด ไม่สามารถชื่นชมระบบนิเวศที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ แต่ไม่มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ได้

ยกตัวอย่างระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ไร่หมุนเวียนซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากในพื้นที่การเพาะปลูกเพราะไม่ได้มีข้าวอย่างเดียว ไม่สามารถถูกนับรวมเป็นระบบเดียวกับระบบนิเวศธรรมชาติ เพราะว่ามันไม่มีคุณค่าทางสุนทรียะ

ภาพชาวกระเหรี่ยง รณรงค์สิทธิในที่

แฟ้มภาพประชาไท

ป่าที่ใช้กระบอกปืนในการอนุรักษ์

ประเด็นต่อมาลัทธิป่าปลอดมนุษย์กับลัทธิเผด็จการมันไปด้วยกัน การขยายตัวของลัทธิป่าปลอดมนุษย์ไม่สามารถดำเนินไปได้หากไม่พึ่งพาลัทธิอำนาจนิยมของเผด็จการ เพราะตัวมันเองบรรจุไปด้วยความรุนแรงและด้วยความรุนแรงเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงให้ลัทธิป่าปลอดมนุษย์เติบโต สามารถขยายอาณาบริเวณได้

เราจะพบว่าในยุคสมัยที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย การขยายอำนาจในการสร้างพื้นที่ป่าปลอดมนุษย์จะถูกคัดค้านและต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ แต่ในยุครัฐบาลเผด็จการลัทธิป่าปลอดมนุษย์จะเติบโตและรุกคืบได้อย่างรวดเร็ว จับมือกับทหารในการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่สงคราม ธรรมชาติกลายเป็นพื้นที่สีเขียวภายใต้กระบวนการทางการทหาร

ศัพท์แสงและวาทกรรมทางการทหารจะถูกนำมาใช้และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น การทวงคืนผืนป่า ยุทธการตะนาวศรี เป็นต้น วาทกรรมพวกนี้เป็นวาทกรรมทางการทหาร นั่นแปลว่าป่าถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ทางการทหารไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่ประชาชนถูกกำหนดให้เป็นศัตรูของชาติ

คำถามคือมีประเทศใดในโลกบ้างที่ใช้กระบอกปืนเป็นเครื่องมือในการเก็บป่าปลอดมนุษย์เอาไว้ ต้นทุนคืออะไรบ้าง แล้วก็ใช้ทหารที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาเลย แต่เสนอหน้ามาใช้ความรุนแรงแย่งยึดป่าไปจากชาวบ้าน อันนี้เป็นคำถามที่ดิฉันมีต่อนักอุทยานแห่งชาติ นักวนศาสตร์ และต่อนักนิเวศวิทยาที่จนบัดนี้ยังคงเงียบกริบ ปล่อยให้มาเฟียสีเขียวใช้อำนาจความรุนแรงตามอำเภอใจ สิ่งนี้เป็นนิเวศวิทยาแบบที่สังคมไทยต้องการหรือ

ปลดแอกจากฐานคิดป่าปลอดมนุษย์

ประเด็นสุดท้ายคือทางออกจากปัญหาชาติพันธ์ุกับป่าธรรมชาติ เราต้องปลดแอกป่าอนุรักษ์ ป่าอุทยาน ภายใต้โมเดลป่าปลอดคน ดิฉันไม่ทราบว่ากรมอุทยานฯ ทราบหรือไม่ว่าโมเดลป่าปลอดคนเป็นโมเดลของศตวรรษที่แล้ว มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้นที่ยังคงโมเดลทำนองนี้ไว้ ไม่มีประเทศไหนที่เจริญแล้วใช้แนวทางขับไล่คนออกจากป่าเป็นโมเดลในการจัดการป่าอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่

ดิฉันไม่แน่ใจว่าไทยได้เคยไปร่วมประชุมอุทยานโลกที่จัดโดยไอยูซีเอ็นกับเขาบ้างหรือเปล่า เพราะถ้าไปย่อมรู้ดีว่าแนวทางการจัดการป่าอนุรักษ์ในปัจจุบันที่ทั่วโลกทำกันเป็นแนวทางที่วางอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่ของป่าอนุรักษ์ที่คำนึงถึงสิทธิของผู้คน ดิฉันแปลกใจที่ไม่มีนักอุทยานในไทยพูดถึง Indigenous Peoples & Community Conserved Areas หรือ ICCAs ซึ่งเป็นคำที่ไอยูซีเอ็นใช้และเป็นคำที่ออกมาจากการประชุมอุทยานโลกครั้งที่ 5 ที่จัดเมื่อปี 2003 ในเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ จนก่อให้เกิดคำประกาศเดอร์บันออกมาว่า ป่าอนุรักษ์ที่มีชุมชนพื้นเมืองและชุมชนอาศัยอยู่ รัฐต้องรับรองไม่เพียงแค่สิทธิ์ตามประเพณีหรือความรู้เท่านั้น แต่จะต้องจัดการให้เป้าหมายของป่าอนุรักษ์นั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นด้วย

ดิฉันสงสัยว่าทำไมคำๆ นี้หรือแนวคิดนี้ไม่ถูกพูดถึงเลยในโมเดลการจัดการป่าอนุรักษ์ในไทย แนวทางทำนองนี้เป็นแนวทางการกระจายอำนาจซึ่งในประเทศที่ต้องการเปลี่ยนโมเดลการขับไล่คนออกจากป่า ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ใช้กันมานานมากแล้ว ในประเทศเพื่อนบ้านของเราเช่นอินโดนีเซียก็มีความพยายามนำโมเดลทำนองนี้ไปใช้ ถ้าจะมีก็แต่ไทยที่ยังคงใช้กฎหมายที่ล้าหลังถึงแม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรให้อยู่ในมือของรัฐราชการ

โมเดลป่าปลอดมนุษย์ยังคงเป็นโมเดลหลักในการจัดการป่าอุทยาน ดังนั้น ในทัศนะของดิฉันการไม่ปลดแอกสิ่งนี้ออกไป มันไม่ช่วย แน่นอน เราควรจะเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองให้ได้รับการยอมรับ แต่สิทธิที่สำคัญอย่างยิ่งคือสิทธิในการจัดการป่าของตัวเองและสิทธินั้นควรเป็นสิทธิที่อุทยานยอมรับ มันควรจะมีอุทยานแห่งชาติหลายโมเดล โมเดลที่ชาวบ้านจัดการกับโมเดลที่รัฐจัดการไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท