Skip to main content
sharethis

ชาว ต.หนองไข่น้ำ จ.สระบุรี ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ยกเลิกคำสั่ง อบต. เรื่องข้อกำหนดการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่ไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของคนในชุมชน พร้อมร้องนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบฯ ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2559 ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

วันนี้ (17 ก.พ.64) เวลาประมาณ 10.30 น. สมาชิกเครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี จำนวน 52 คน เดินทางไปยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ชุมชนโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้น ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ โดยยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ และนายอำเภอหนองแค ซึ่ง อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ศาลรับเรื่องเพื่อพิจารณาเอกสารประกอบการฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

17 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17 ก.พ.64) เวลาประมาณ 10.30 น. สมาชิกเครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี จำนวน 52 คน เดินทางไปยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ชุมชนโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้น ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ โดยยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ และนายอำเภอหนองแค ซึ่ง อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ศาลรับเรื่องเพื่อพิจารณาเอกสารประกอบการฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าขยะชุมชนและคำสั่ง หัวหน้า คสช. 4/2559 พร้อมจัดกิจกรรมปราศรัยบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

ต่อมา เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าขยะชุมชนและคำสั่ง หัวหน้า คสช. 4/2559 พร้อมจัดกิจกรรมปราศรัยบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า การมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อให้นายกฯ ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน และยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เพราะเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นผลสืบเนื่องจากคำสั่งของ คสช. ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน โดยสุภาภรณ์ กล่าวว่า “กระบวนใช้สิทธิของพี่น้อง คือยื่นหน่วยงานทุกหน่วยงานแล้ว เมื่อเช้าจึงไปใช้สิทธิยื่นฟ้องที่ศาลปกครอง มีผู้ยื่นฟ้องทั้งหมด 52 คน และที่พี่น้องมายื่นหนังสือที่นี่เพราะว่าอยากให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เนื่องจากว่าการมีโรงไฟฟ้าขยะในชุมชนเป็นการกระจายความเสี่ยงไปแต่ละชุมชนต่างๆ ทั้งยังอยู่ใจกลางชุมชน และอีกหนึ่งอย่างที่ขอให้ยกเลิก คือ คำสั่งที่ 4/2559 เพราะเราคิดว่ากระบวนสำคัญคือการแบ่งโซนพื้นที่อุตสาหกรรม ชุมชน ที่พักอาศัย มันคือผังเมืองที่กำหนดโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น แต่การใช้อำนาจ คสช. ในการออกคำสั่งนี้ และยกเว้นให้กิจการขยะไม่ต้องดูเรื่องผังเมือง หมายความว่ายกเว้นกรณีการบังคับใช้ผังเมืองไปเลย สร้างความไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดผลกระทบทั้งที่ ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค รวมถึงพื้นที่อื่นในประเทศไทยที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่”

“หนังสือที่ชาวบ้านมายื่น อ้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 ซึ่งระบุว่า กิจการหรือโครงการใดของรัฐ ก่อนที่จะดำเนินการหรืออนุมัติ หากมีผลกระทบกับชุมชน สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต จะต้องมีการประเมินผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการ แต่ปรากฏว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในปัจจุบันที่พิจารณาไปแล้ว 11 โครงการ ไม่มีกระบวนการนี้ตามที่เราได้ตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่ามันขัดต่อมาตรา 58 แน่นอน และอีกส่วนหนึ่ง คือ มาตรา 43 (2) ระบุว่า ประชาชนควรจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อันนี้ก็ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการเดินหน้าขยะชุมชนในพื้นที่นี้ และพื้นที่อื่นๆ เพราะว่าไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องนั้น” สุภาภรณ์ กล่าว

ภายหลังเสร็จกิจกรรมกรรมปราศรัย สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกฯ ออกมารับหนังสือจากเครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ และยืนยันกับประชาชนที่มาในวันนี้ว่าจะส่งเรื่องให้นายกฯ รับทราบอย่างแน่นอน แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่

ประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า จ.สระบุรีมีโรงไฟฟ้าจากขยะกำลังผลิตขนาด 60 เมกะวัตต์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่เหตุใดจึงต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนซึ่งมีกำลังผลิตแค่ 9.5 เมกะวัตต์อีก จึงเกิดคำถามตามมาว่าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ ต.หนองไข่น้ำ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียวในชุมชนหรือเปล่า

ชาว ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

ตัวแทนประชาชนจากหมู่ 4 ต.หนองไข่น้ำ เล่าว่า “ชาวบ้านทุกคนไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาในหมู่บ้าน เรามารู้อีกทีตอนที่โครงการทุกอย่างเริ่มขึ้นแล้ว เรางไปร้องเรียนกับทางจังหวัด ถามว่าเรื่องราวไปถึงไหนแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ จนถึงวันนี้ เริ่มตอกเสาเข็มแล้ว”

“โรงงานไฟฟ้าจากขยะ ทุกคนก็รู้ใช่ไหมว่ามีมลพิษจากทางอากาศ ทางน้ำ ทางกลิ่น ส่งผลอีกอย่างคือการจราจร เพราะมันอยู่ใจกลางหมู่บ้าน รอบๆ พื้นที่ก่อสร้างคือหอพัก เป็นบ้านของชาวบ้าน เป็นแหล่งเพาะปลูก ทำนา ทุกคนเคยอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่มีอากาศที่เป็นมลพิษมารบกวนเรา เราก็เลยคัดค้าน แต่ก็ไม่มีใครฟังเรา เพราะว่าหน่วยงานที่เราเชื่อมั่น ก็คือ อบต. ของเราให้การสนับสนุนโครงการนี้ เราเลยพร้อมใจเดินทางมาเพื่อขอคัดค้าน ฝากถึงบุคคลที่อยู่ชั้นสูง เราไม่รู้จะร้องอย่างไร ลงไปดูพื้นที่บ้าง มันอยู่ใจกลางอยู่บ้านเลย ลงพื้นที่ไปดูเถอะ เราไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้าจากขยะในหมู่บ้านเรา”

ด้านตัวแทนประชาชนจากหมู่ 2 กล่าวว่า “บ้านของดิฉันอยู่หน้า อบต. และพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ไม่เกิน 300 เมตร วันที่ทราบคือวันที่เขาเรียกผู้นำชุมชนไปทำประชาพิจารณ์ที่ อบต. แล้วมีพี่คนนึงโพสต์[ในอินเทอร์เน็ต] เราเห็นคือคิดได้อย่างไรที่จะสร้างโรงไฟฟ้าตรงนี้ ซึ่งรอบๆ เป็นหอพัก มีไม่รู้กี่ร้อยห้อง ซึ่งดิฉันก็เป็นเจ้าของหอเหมือนกัน นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แล้วใครอยากจะไปอยู่หอพักที่ใกล้โรงไฟฟ้า ไหนจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน ใครจะรับผิดชอบ จริงๆ พื้นที่ที่เราอยู่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเราอยู่ติดนิคมอุตสาหกรรมหนองแค แล้วคุณยังมาสร้างโรงไฟฟ้าตรงนี้อีก ทำไมไม่ไปสร้างในนิคม นี่คือคำถามจากชาวบ้าน”

“ผู้นำไม่ว่าจะระดับไหน คิดว่าน่าจะมีอุดมการณ์ที่จะดูแลสุขทุกข์ของประชาชน จะบอกเลยว่าเราต่อสู้กันมาหลายเดือน ผู้นำชุมชน 99.99% ไม่ได้อยู่ข้างเรา ชาวบ้านสู้กันเอง แต่ยังดีที่มีแกนนำ มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือพวกเรา ทำให้รู้ว่าต้องไปยื่นเรื่องร้องเรียนตรงไหนได้บ้าง คำสั่งอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ ต้องลงไปดูด้วยว่าสิ่งที่คุณสั่งมันเหมาะสมกับชาวบ้านหรือไม่”

ส่วนตัวแทนประชาชนจากหมู่ 2 อีกหนึ่งคน กล่าวว่า “จากเวทีประชาพิจารณ์ ภาครัฐทำได้ถูกต้องมากๆ คือใช้เวลา 15 วัน ทั้ง 2 ครั้ง แต่ไม่เคยถูกใจประชาชนเลย เพราะคุณส่งข่าวมา 2-3 วัน แล้วเอาเอกสารที่พวกผมยังเคลือบแคลงใจกันอยู่ เอาไปใช้ในการขอใบประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ผมอยากจะบอกว่าเอกสารที่ได้ไปจากการทำประชาพิจารณ์ยังมีคำถามของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับคำตอบ คุณไม่ควรนำเอกสารชุดนี้ไปขอใบประกอบ ตอนนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้าน ม.2 เริ่มต้นแล้ว แต่คุณเพิ่งได้ใบ อ.1 ซึ่งยังก่อสร้างไม่ได้จนกว่าคุณจะได้รับใบ รม.4 พวกผมอยากให้โครงการนี้ถอนออกจากหมู่บ้านของพวกผมไป และในพื้นที่จะไม่มีกิจการไฟฟ้าจากขยะอีกต่อไป”

รุ่งศักดิ์ สุจริต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

รุ่งศักดิ์ สุจริต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

รุ่งศักดิ์ สุจริต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งร่วมเดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องกับประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า ต.หนองไข่น้ำ มีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน แต่พื้นที่หมู่ 1, 2 และ 4 เป็นพื้นที่ที่ติดกับโรงไฟฟ้าขยะ มีประชากรทั้งหมดหลายร้อยครัวเรือนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ผู้บริหารท้องถิ่นในระดับที่สูงกว่าตน ซึ่งมีอำนาจและไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบต่างพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนในหมู่อื่นๆ เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงมีเพียงประชาชนจาก 3 หมู่บ้านนี้ที่ออกมาเรียกร้อง

“หมู่บ้านของเราเป็นชุมชนพื้นที่สีเขียว ฝั่งหนึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว คือ นิคมอุตสาหกรรมหนองแค อีกฝั่งหนึ่งทำไร่ทำนา และประชาชนโดยทั่วไปก็ปลูกห้องเช่า เฉพาะหมู่ 2 มีร่วม 300 ห้อง มีประชากร 120 ครัวเรือน หมู่ 3 มี 80 ครัวเรือน และมีห้องเช่ากว่า 100 ห้อง คนพวกนี้เขาจะทำอย่างไรถ้ามีโรงงานไฟฟ้า เริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ผมได้ต่อต้านไปแล้ว พูดคุยแล้ว เขาไม่ฟังเลย เขาจะสร้างอย่างเดียว เขาบอกว่าจะเก็บภาษีเพื่อเป็นการพัฒนาชุมชน เราได้ภาษีเพิ่มมา ลูกหลานจะได้มีงานทำ แต่โรงไฟฟ้าใช้แรงงานไม่ถึง 20 คนหรอกครับ เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มีแต่มลพิษล้วนๆ เราเลยต่อสู้กันมา และได้ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มาช่วยหาหนทางว่าเราจะเดินกันอย่างไร และมีพี่น้องอีก 2-3 หมู่บ้าน มีอยู่แค่นี้จริงๆ ไม่มีใครเหลียวแลเราเลย ไม่ได้ดูแลเราเลย เราไปร้องทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ทุกวันนี้ โรงงานเริ่มตอกเสาเข็มแล้วครับ เราไปไหนไม่ได้แล้ว เราเลยต้องเข้ามาที่กรุงเทพฯ มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้ช่วยเรา หรือผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจ ลองเข้าไปในพื้นที่ เข้าไปดูว่ามันเหมาะสมหรือไม่”

“เราคิดว่าหลักการ นโยบาย และกฎหมายที่มาจากการใช้อำนาจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งยังคงอยู่และควรถูกยกเลิกเพิกถอนไป แล้วกลับไปใช้กระบวนการทางกฎหมายแบบปกติที่มาตรการเชิงปกป้องและคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม”

เกิดอะไรขึ้นที่ ต.หนองไข่น้ำ

ใน พ.ศ.2559 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่ตั้งโครงการไว้ข้อหนึ่งว่า “สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 20 ม.ค. พ.ศ.2559” ต่อมาคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 11 โครงการ โดยมีบริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทฯ) เป็นหนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการโดยมีพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ณ ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

 ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี

ที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีประชากรพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นพื้นที่ทำการประกอบอาชีพและทำการเกษตร ซึ่งกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ประมาณ 3,400 ครัวเรือน นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ต.หนองไข่น้ำ อาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวอีกด้วย

เครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองไข่น้ำ กังวลว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การดำเนินวิถีชีวิตชุมชน สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เพราะพื้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและที่อยู่อาศัยของประชาชนอีกทั้งยัง ขัดต่อกฎกระทรวงให้ใช้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีที่ระบุห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net