Skip to main content
sharethis

ชาวบางกลอยโดนสกัดระหว่างทางขึ้นขอให้เขียนประวัติก่อน ล่าสุด 20.45 น. ถึงชุมชนบ้านบางกลอยล่างโดยสวัสดิภาพแล้ว หลังกลับจากทำเนียบฯ รมว.ทรัพยากรฯ ปลัด และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงนาม MOU แก้ไขปัญหา ขณะที่ 203 นักวิชาการออกแถลงการณ์ 7 ข้อเท็จจริง หวังแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

17 ก.พ.2564 ความคืบหน้ากรณีหลังมีบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคี #SAVEบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยวานนี้ (16 ก.พ.64) นั้น

วันนี้ (17 ก.พ.64) The Reporters รายงานว่า เวลา 09.00น. ภาคี #SAVEบางกลอย สรุปข้อตกลงในหนังสือลงนามที่มีข้อเสนอ 6 ข้ออีกครั้ง และขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือชาวบ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ สน. นางเลิ้งที่ให้การดูแลพื้นที่โดยรอบ ก่อนเดินทางกลับ บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 

จนท.สกัดระหว่างทางขึ้นเขียนประวัติก่อน หวั่นความปลอดภัยเหตุใกล้มืดแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา เพจ 'ภาคีนิรนาม - Anonymous Party' รายงานว่า กลุ่มที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ถูกสกัดไม่ให้ขึ้นใจแผ่นดิน สกัดระหว่างทางขึ้นแม่มะเร็ว ให้พวกเขาเขียนประวัติก่อน ไม่เช่นนั้นไม่ขึ้น ตอนนี้ทุกคนกังวลมากเพราะจะมืดแล้ว ไปใจแผ่นดินต้องเดิน 3 ชั่วโมง และไม่มีสัญญาณ

"ซึ่งเวลานี้ ชาวบางกลอยติดอยู่ที่ด่านสกัด นี้เหรอ ที่ รมต. ประเทศนี้ให้สัญญาลงนาม แต่กลับมาเล่นเกมแบบนี้" เพจ ภาคีนิรนามฯ ระบุ 

ภาพจากภาคีนิรนาม

ภาพจากเพจ เพจ 'ภาคีนิรนาม - Anonymous Party'

ต่อมา 18.00 น. ภาคีนิรนามฯ รายงานว่า ตอนนี้ปล่อยตัวแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป อีก 3 ชั่วโมง ระหว่างเส้นทางกลับบางกลอย

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ล่าสุดเวลา 20.45 น. กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมชุมนุมถาคี #Saveบางกลอย เดินทางถึงชุมชนบ้านบางกลอยล่างโดยสวัสดิภาพแล้ว

รมว.ทรัพยากรฯ ปลัด และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงนาม MOU แก้ไขปัญหา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า วานนี้ (16 ก.พ.64) 19.45 น. ภายหลัง ภาคี #SAVEบางกลอย ส่งหนังสือบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้าวานนี้ (16 ก.พ.64) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำส่งหนังสือบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน พร้อมเซ็นรับรองคืนสู่ชาวบางกลอยที่มาชุมนุมปักหลัก ณ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2564

บันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาฉบับนี้ จัดทำขึ้นหลังจากภาคี #SAVEบางกลอย ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ภายหลังบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดินเมื่อต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20ปี หลังถูกอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมแต่รัฐจัดสรรพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยให้ไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และไม่สามารถทำการเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียนวิถีธรรมชาติได้

มีรายงานว่านับแต่ที่กว่า 30 ครอบครัวตัดสินใจเดินเท้าขึ้นไปบนพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานข่มขู่คุกคามว่า จะดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ลักลอบขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางเข้าออกไม่ให้คนจากพื้นที่ภายนอกนำข้าว อาหารและปัจจัยยังชีพเข้าไปยังพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้

โดยเนื้อหาของบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ประกอบไปด้วย ข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ 1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด 2. หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง รวมถึงจุดสกัดเดิม และจุดสกัดเพิ่มเติมทั้งหมด และ 3. ยุติคดีของสมาชิก ภาคี #SAVEบางกลอย ทั้งหมด 10 คดี กรณียื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564

และข้อเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการทำงานร่วมกับ สถาบันวิชาการเครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทนพี่น้องกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูล และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่

1.      ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิ

2.      ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

3.      ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย

4.      ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน

5.      ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง

6.      รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตั้งจุดสกัดกั้น เดินลาดตระเวน และตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาขิกชุมชนบางกลอยทุกคน

203 นักวิชาการออกแถลงการณ์ 7 ข้อเท็จจริง หวังแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

เพจ 'ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.' เผยแพร่ แถลงการณ์ต่อกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยคืนถิ่นใจแผ่นดิน โดย เครือข่ายนักวิชาการซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อ 203 รายชื่อ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

จากกรณีการตัดสินใจกลับไปยังบริเวณหมู่บ้านใจแผ่นดินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม อาทิ กระแสชวนติดตามเรื่องดังกล่าวในโซเชียลมีเดียผ่าน #saveบางกลอย และเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่ห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวและพยายามนำเสนอข้อมูลสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการระดมข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหลายภาคส่วน แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังปรากฏข่าวปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่มีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน คือหนึ่งในภาพสะท้อนปัญหาใหญ่ของประเทศที่ฝังรากลึก กลายเป็นปัญหาที่กดทับสร้างผลกระทบให้กับสังคมไทยมายาวนาน โดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่จำนวนมากคือกลุ่มชนชาติพันธุ์อันหลากหลายที่เคลื่อนย้ายและอยู่อาศัยเป็นชุมชนเก่าแก่หรือชุมชนดั้งเดิม เช่นเดียวกับกรณีชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินแห่งผืนป่าแก่งกระจานที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลายมิติ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ปัญหากฎหมายและนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ การจัดการพื้นที่ความมั่นคงชายแดน ปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น อคติทางชาติพันธุ์หรือแม้กระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหรือกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่สามารถมองเพียงมิติใดหนึ่งหรือเลือกที่จะมองอย่างตัดตอนได้ โดยเฉพาะบริบททางประวัติศาสตร์ กรณีนี้จึงเป็นมากกว่าแค่เรื่องเฉพาะของชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน แต่คือประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิมนุษยชน อำนาจรัฐและความเป็นธรรมในสังคมไทยที่ต้องร่วมกันติดตาม

ข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ได้แก่

1) ชุมชนกะเหรี่ยงใจแผนดินคือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2455 ตามข้อมูลของกรมแผนที่ทหารและถูกแนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศทับพื้นที่ชุมชนเมื่อ พ.ศ.2524

2) พ.ศ.2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าอพยพชาวบ้านกว่า 57 ครอบครัว มาอยู่ที่หมู่บ้านจัดตั้งใหม่หรือบริเวณบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ในพื้นที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกข้าวและพืชอาหารตามระบบไร่หมุนเวียนเช่นเดิมได้ บางส่วนจึงจำเป็นต้องย้ายกลับขึ้นไปยังบ้านใจแผ่นดิน รวมถึงครอบครัวของ “ปู่คออี้” ผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณของชุมชน ที่ตัดสินใจกลับคืนสู่ถิ่นเดิมที่บ้านใจแผ่นดิน

3) พ.ศ.2553-2554 หน่วยงานรัฐภายใต้ “ยุทธการตะนาวศรี” ได้เข้าปฏิบัติการจนเกิดภาพความรุนแรงปรากฎสู่สาธารณะจนเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเข้มข้นในสังคม โดยเฉพาะภาพของการเผาทำลายบ้านและยุ้งฉางข้าว การจับกุมดำเนินคดี

4) พ.ศ.2557 เหตุการณ์การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งเป็นหลานชายของปู่คออี้ ที่ต่อมาพบหลักฐานชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันที่ถูกถ่วงทิ้งอยู่ในแม่น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีผลการตรวจสอบ DNA เบื้องต้นนั้นตรงกับมารดาของบิลลี่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการในทางคดี

5) พ.ศ.2559 ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ปู่โคอิหรือคออี้ มีมิและชาวบ้านรวม 6 คน กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติเข้าดำเนินการรื้อถอนเผาททำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย

6) การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือแนวทางจัดสรรที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยใหม่ไม่สามารถตอบสนองต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลที่ถูกสื่อสารจากกลุ่มชาวบ้านที่ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังที่ตั้งชุมชนเดิมบริเวณบ้านใจแผ่นดิน สะท้อนว่าการดำรงชีวิตภายหลังถูกบังคับให้อพยพลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่สามารถทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียนเช่นเดิมได้ ต้องทนฝืนเลี้ยงชีพด้วยความลำบาก ต้องพึ่งพาการหารายได้จากงานรับจ้างซึ่งไม่เพียงพอต่อการยังชีพ โครงการพัฒนาอื่นจากหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถสร้างความมั่นคงในคุณภาพชีวิตที่ดีได้เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนเดิมในใจแผ่นดิน ประกอบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาการออกไปรับจ้างหารายได้นอกชุมชนไม่สามารถทำได้

7) วิถีจารีตและความเชื่อของคนกะเหรี่ยง กรณีการเสียชีวิตของผู้อาวุโสที่เป็นดั่งผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนอย่างปู่คออี้ มีความจำเป็นที่จะต้องทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณด้วยข้าวจากถิ่นใจแผ่นดินที่ต้องปลูกโดยลูกหลานเพื่อส่งดวงวิญญาณไปสู่สุคติ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องสร้างความเข้าใจและความตระหนักร่วมกันในการปกป้องเพื่อนมนุษย์และรักษาหลักการในการอยู่ร่วมกันภายใต้ความเป็นนิติรัฐที่เป็นธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล โดยในระยะเร่งด่วน หน่วยงานภาครัฐต้องยุติปฏิบัติการหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมาย หยุดขยายช่องว่างความไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างประชาชนด้วยกันเองและหลีกเลี่ยงการแสดงท่าทีที่อาจกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งซ้ำเติมปัญหา ควรเร่งใช้กลไกการทำงานร่วมจากหลายภาคส่วนที่มีอยู่ให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติอารยะ

“ไม่ว่าจะเป็นชนชาติพันธุ์ใดในสังคมไทย ย่อมต้องถูกคุ้มครองปกป้องไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคน ดำรงไว้ซึ่งมนุษยธรรมและสิทธิในการอยู่อาศัย ดำรงวิถีชีวิตได้อย่างเสมอภาค”

เครือข่ายนักวิชาการ
17 กุมภาพันธ์ 2564

หมายเหตุ : 23.00 น. วันที่ 22 ก.พ.64 ประชาไทปรับแก้พาดหัว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net