Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายฯ รายงาน ตำรวจ 3 สภ. จากเชียงใหม่ แจ้ง 112 เพนกวิน-ทนายอานนท์ ถึงเรือนจำปมปราศรัยทรัพย์สินกษัตริย์ ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ย้ำเป็นการใช้สิทธิ ขณะที่ 'นักนิติศาสตร์สากล' ร้องสภาทนายความยกเลิกสอบมารยาททนายอานนท์

18 ก.พ.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (18 ก.พ. 64) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวนจาก 3 สถานีตำรวจภูธรในจังหวัดเชียงใหม่เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา จำนวนคนละ 2 คดี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 สำหรับพริษฐ์

คดีแรก เหตุจากโพสต์เฟซบุ๊กของพริษฐ์เกี่ยวกับการซื้อขายพระแก้วมรกต โดยพนักงานสอบสวนสภ.สันทรายแจ้งข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ แก่พริษฐ์ โดยผู้กล่าวหา คือ เจษฎา ทันแก้ว

คดีต่อมา คือ คดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 ซึ่งอานนท์เคยถูกจับกุมตามหมายจับในคดีนี้ ตามข้อหามาตรา 116 ก่อนที่ นายอภิวัฒน์ ขันทองจะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับอานนท์ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินกษัตริย์

คดีสุดท้าย คือ คดีจากกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 โดยทั้งอานนท์และพริษฐ์ได้ขึ้นปราศรัยกล่าวถึงประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ และงบประมาณสถาบันกษัตริย์ ก่อนจะถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จากพนักงานสอบสวนสภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์

ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ย้ำเป็นการใช้สิทธิ พร้อมให้การเพิ่มเติม ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม เลขาธิการพระราชวัง นายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตประเทศเยอรมนี, ผู้ประสานงานพรรคกรีน เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และขอให้สอบสวนบริษัทไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ ถึงหุ้นของกษัตริย์รัชกาลที่ 10

'นักนิติศาสตร์สากล' ร้องสภาทนายความยกเลิกสอบมารยาททนายอานนท์

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่าว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ซึ่งส่งถึง ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กรณีการตั้งเรื่องสอบมารยาททนายความของ อานนท์ นำภา เหตุจาการปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้สภาทนายความทำการยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์

จดหมายฉบับดังกล่าวลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามโดย Sophie de Graaf ผู้อำนวยการบริหารของ Lawyers for Lawyers ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระ และ Ian Seiderman ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นการรวมตัวของนักกฎหมายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

จดหมายระบุถึงกรณีการดำเนินคดีมรรยาททนายความ กับนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความ ทั้งสององค์กรเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวจะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของนายอานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย

ทั้งสององค์กรนานาชาติเห็นว่า ตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศแล้ว ทนายความก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทรงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆ ได้ไม่ว่าจะในฐานะทนายความเองก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ตาม การระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการใช้สิทธิของทนายความผู้นั้นเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงสิทธิของลูกความในการมีทนายความที่ตนเลือกมาว่าความในคดีให้

จดหมายยังระบุถึงว่าเมื่อปี 2557 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และทนายความ ยังได้แสดงความกังวลต่อ “กรณีที่ทนายความถูกลงโทษเนื่องจากกิจกรรมทางการเมือง งานรณรงค์ การสับสนระหว่างเหตุที่เกิดจากทนายความและเหตุที่เกิดจากลูกความ และการเข้าว่าความให้ลูกความคดีอ่อนไหวต่างๆ” ด้วยเหตุนี้ ผู้รายงานพิเศษฯ จึงได้เรียกร้องให้รัฐดำเนินการต่างๆ รวมถึงงดเว้นไม่ทำการลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความ เพียงเพื่อต้องการยุติและป้องกันไม่ให้ทนายความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะ

นอกจากนี้ตามรายงานล่าสุดของเนติบัณฑิตและสมาคมวิชาชีพทนายความอื่นๆ ผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กระบวนการสอบสวนทางวินัยต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม และตั้งอยู่บนมาตรฐานของมรรยาททนายความที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจน โดยเหนือสิ่งอื่นใด ยังได้ระบุไว้ว่า “การดำเนินกระบวนการทางวินัยอาจเป็นอาวุธที่ทรงพลังในมือของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงการประกอบกิจกรรมตามวิชาชีพของทนายความ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ฟ้องร้องรัฐ หรือทำการว่าความในคดี หรือให้ลูกความที่ไม่เป็นที่พึงใจของระบอบการปกครองในขณะนั้น”

องค์กรระหว่างประเทศทั้งสองจึงเรียกร้องให้สภาทนายความพิจารณา และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของบทบาทของทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการพื้นฐานสหประชาชาติ ว่าด้วยบทบาทของทนายความ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้สภาทนายความ ในฐานะที่เป็นสถาบันทางกฎหมายที่เป็นอิสระ ทำการยกคำกล่าวหาต่อทนายความอานนท์ นำภา เพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของเขา และที่สำคัญยิ่งคือสิทธิของลูกความของเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net