ภาคภูมิ แสงกนกกุล: รัฐธรรมนูญ ความฝัน ความยุติธรรม และรัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการจุดติดแล้วในกระแสการเมือง แต่การได้มาต่างหากที่ยากยิ่งกว่า ยากทั้งในแง่เจตจำนงทางการเมืองรัฐบาล และการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันของทั้งสังคมถึงรูปแบบ วิธีการ เครื่องมือที่จะใช้ รวมถึงการติดตามผลเพื่อตอบสนองต่อพลวัตที่รวดเร็วของสังคม

  • รัฐธรรมนูญควรเป็นหลักการในการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสังคม การลงรายละเอียดมากจะทำให้ขาดความยืดหยุ่น ไม่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องรัฐสวัสดิการ
  • รัฐสวัสดิการคือกระบวนการในการหาข้อตกลงร่วมของทุกฝ่าย เนื่องจากความต้องการ ความฝัน และความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
  • สวัสดิการถ้วนหน้ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย อีกทั้งการให้เงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมได้ แต่ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กฎหมาย ความเป็นธรรมในการแข่งขัน บริการสาธารณะ เป็นต้น

 

การชุมนุมตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงขณะนี้ สร้างความตื่นตัวทางการเมืองแผ่กว้างในหลากหลายประเด็น รัฐสวัสดิการเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีเสียงตอบรับสูง ผู้คนเห็นความสำคัญว่าต้องมีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ บวกกับมีองค์กรภาคประชาชนและเอ็นจีโอที่ผลักดันรัฐสวัสดิการอย่างแข็งขันจึงเป็นแรงเสริมที่น่าจับตา

‘ประชาไท’ พูดคุยกับภาคภูมิ แสงกนกกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2561 ด้วยคำถามพื้นฐานว่าจริงๆ แล้วรัฐสวัสดิการคืออะไร เป็นบริบทที่สังคมไทยยังไม่เห็นฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญปี 2560 และกระแสรัฐสวัสดิการยังไม่เข้มข้น ซึ่งก็เกิดวิวาทะและการอภิปรายตามมาพอสมควร

เรากลับมาสนทนากับภาคภูมิอีกครั้งในบริบทที่ต่างไปจากเดิม รัฐสวัสดิการไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่ละคำตอบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สวัสดิการแบบถ้วนหน้าอาจไม่ทำงานถ้ากลไกตลาดพิการ และอื่นๆ

ปัญหารัฐสวัสดิการในรัฐธรรมนูญ 2560

เราเริ่มต้นการพูดคุยโดยมุ่งตรงไปที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีปัญหาหลายประการโดยเฉพาะในทางการเมือง แต่ภาคภูมิชี้ให้เห็นว่าในมาตรา 55 ที่ว่าด้วยสวัสดิการการรักษาพยาบาลในเชิงหลักการก็มีปัญหาเช่นกัน เขาอธิบายว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคมที่มาจากข้อตกลงร่วมกันของทุกคนในสังคมว่าจะอยู่ในรัฐรูปแบบไหน กฎ กติกาเป็นอย่างไร เป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคนในรุ่นปัจจุบัน แต่ต้องรับใช้คนทั้งสังคมในรุ่นต่อๆ ไปด้วย

วิธีการร่างและล้มรัฐธรรมนูญจึงต้องออกแบบให้แก้ไขได้ แต่ล้มไม่ได้ เนื้อหาที่เขียนในรัฐธรรมนูญจึงเป็นหลักทั่วไปที่คนในสังคมเห็นว่าควรจะเป็นแบบไหน ขณะที่รายละเอียดต่างๆ จะไม่นำมาเขียนในรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการผูกพันระยะยาว เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ที่ว่ามีพลวัตสูง เช่น หากระบุว่าต้องเป็นระบบสวัสดิการแบบไหนก็ยิ่งเป็นข้อผูกมัดมากขึ้นเท่านั้น จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ต้องใช้เครื่องมือรัฐสวัสดิการแบบนี้ ซึ่งเครื่องมือรัฐสวัสดิการไม่ใช่หลักทั่วไปแต่เป็นเรื่องรายละเอียดเชิงเทคนิค

“สมมติเลือกว่าอยากได้รัฐสวัสดิการแบบนี้ แต่เทคนิคการกระจายสวัสดิการสามารถมีได้หลายเทคนิค มีหลายเครื่องมือ หลายนโยบาย ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพราะมีพลวัตสูง เช่นจะรู้ได้อย่างไรว่าอยู่ดีๆ จะมีโควิด ถ้าเขียนล็อกในรัฐธรรมนูญว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เวลาจะออกนโยบายรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมกับสถานการณ์โควิดก็ทำไม่ได้ คุณก็ต้องล้มรัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นข้อผูกมัดของฝ่ายบริหารมากเกินไป ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเขียนแต่หลักทั่วไป ไม่ได้เขียนรายละเอียดว่ารัฐสวัสดิการต้องเป็นแบบถ้วนหน้าเท่านั้นหรือต้องไม่เอาสังคมสงเคราะห์ มันคือการเอากฎหมายที่เป็นเทคนิคไปผูกมัดกับกฎหมายที่เป็นหลักการ”

ภาคภูมิเสริมว่าต้องแยกให้ออกระหว่างรัฐสวัสดิการกับสวัสดิการ รัฐสวัสดิการในโลกมีหลายประเภทและคนทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นตรงกันว่าต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง ดังนั้น รายละเอียดด้านเทคนิคจึงควรในกฎหมายลูก

“และเมื่อดูประเทศไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่ตรงข้ามกับประชาคมโลก อย่างแรกถ้าคุณไม่สนใจหลักกฎหมายมหาชน ดูแต่ตัวเลขสถิติอย่างเดียว รัฐธรรมนูญไทยถูกฉีกไปแล้วสิบกว่าครั้ง แต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่เคยถูกฉีกสักครั้ง ถ้าอย่างนั้นคนที่รณรงค์เรื่องนี้ก็เขียนกฎหมายลูกที่มีโอกาสฉีกน้อยที่สุดสิ

“โดยเฉพาะปัจจุบันที่องค์กรอิสระถูกครอบงำด้วยการเมืองและไม่มีความอิสระก็สามารถนำเรื่องพวกนี้ไปเล่นได้ทางการเมือง ถ้าคุณเขียนเรื่องสิทธิในสุขภาพเป็นหลักกว้างๆ แต่ลงรายละเอียดย่อยๆ เช่น เขียนล็อกว่าทุกคนต้องมีสิทธิสุขภาพและต้องได้รับการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูงสุด แล้วปรากฏว่าฝ่ายบริหารเข้ามาทำนโยบายสุขภาพแล้วไม่สามารถทำตามนั้นได้ก็มีโอกาสที่จะถูกการเมืองเล่นงานว่าคุณไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าคุณภาพสูงสุดหมายความว่าอย่างไร นิยามได้หลายอย่าง”

เป็นข้อสังเกตประการหนึ่งที่ภาคภูมิเห็นว่าควรปรับเปลี่ยน

รัฐสวัสดิการคือการหาข้อตกลงร่วม ไม่ใช่ความฝันของคนใดคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภาคภูมิบอกว่าประเด็นนี้มีความเห็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้เขียนอย่างรายละเอียด อีกฝ่ายเห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องเขียนเฉพาะหลักการทั่วไปแล้วเขียนรายละเอียดในกฎหมายลูก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่สนับสนุนให้เขียนในรัฐธรรมนูญมักเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะไม่ทำตามและล้มเลิก เนื่องจากรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาอาจให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากกว่า แต่ประเทศที่รายได้สูงแล้วมีโครงสร้างสถาบันที่แข็งแกร่งจึงสามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้อยู่ในรูปหลักการทั่วไปได้

“แต่มันไม่มีหลักประกันเลยว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่ลงรายละเอียดเต็มที่ในเรื่องสิทธิสุขภาพ แล้วประชาชนจะได้แบบนั้นจริงๆ ตราบใดที่ไม่มีทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพียงพอแล้วจะทำได้อย่างไร”

ภาคภูมิย้ำอีกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคม การผลักดันรัฐสวัสดิการจึงต้องเป็นการเจรจาพูดคุยหาข้อตกลงร่วม เพราะไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเห็นด้วย และจะมีทางออกอย่างไรสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย

“ที่เห็นชัดคือมีกระแสแล้วว่าคนต้องการสวัสดิการของรัฐ แต่คำว่าสวัสดิการของรัฐ ผมก็ต้องพูดอีกครั้งว่ามันไม่ใช่รัฐสวัสดิการ สวัสดิการของรัฐคือคนทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นทุกคน ทุกคนอยากได้สวัสดิการที่ดีขึ้น เป็นเรื่องปกติ ข้อที่ 2 ทุกคนมีสิทธิเรียกร้องสวัสดิการได้ทั้งนั้นเพราะมันเป็นสิทธิ แต่รัฐสวัสดิการไม่เหมือนกันเพราะมันคือรูปแบบรัฐอย่างหนึ่งที่คุณต้องเอาคนทุกคนมาตกลงกันว่าจะเอารูปแบบไหน ทุกคนมีความฝันได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณไม่มีแนวทางหรือแนวนโยบายที่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร สุดท้ายแล้วความฝันนั้นก็เป็นความฝัน ไม่เกิดเป็นความจริง”

รัฐสวัสดิการ

ความยุติธรรม 3 แนวคิด

มี 2 คำถามที่ภาคภูมิยกขึ้นมา หนึ่งคือกระบวนการที่ยากที่สุดของนโยบายสาธารณะอยู่ที่การนำไปปฏิบัติเพราะระหว่างทางจะพบข้อจำกัดและแรงเสียดทานตลอดทาง สอง-หากใครสักคนมีความฝันแบบหนึ่ง แล้วคนอื่นต้องมีความฝันแบบเดียวกันหรือไม่ ยุติธรรมหรือไม่ถ้าจะบังคับให้คนอื่นฝันเหมือนคุณ

เราแทรกขึ้นว่าแต่การมีสวัสดิการพื้นฐานก็น่าจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมเพิ่มขึ้นในสังคมมิใช่หรือ

“สำหรับผมที่ได้ความคิดฝ่ายซ้ายมาจากสมานฉันท์นิยมในฝรั่งเศส ผมอยากได้สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่คำว่าความยุติธรรมคืออะไร ความยุติธรรมกับรัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่ต้องคู่กันเสมอ รัฐสวัสดิการมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง บางรัฐให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากกว่า เช่นประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในยุโรปก็ให้ความสำคัญด้านความยุติธรรมด้วยจึงมีรัฐสวัสดิการเข้ามาเสริม ขณะเดียวกันเขาก็ต้องการรัฐสวัสดิการเพื่อรักษาระบบทุนนิยมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพียงแต่เขาให้ความสำคัญด้านความยุติธรรมมากกว่า มันก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงความยุติธรรมกับรัฐสวัสดิการไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องแยกออกมา นอกเสียจากว่าโมเดลรัฐสวัสดิการของคุณให้ความสำคัญด้านนี้มากกว่า”

ภาคภูมิกล่าวว่าความยุติธรรมเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบที่สมบูรณ์ไม่ได้ ทั้งยังมีพลวัตสูง เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและสังคม คำถามนี้จึงซับซ้อนและยาก เมื่อนำรัฐสวัสดิการกับความยุติธรรมมาผูกกันจึงเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

ในปัจจุบันทฤษฎีที่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมแบ่งใหญ่ๆ เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า libertarianism ที่มองว่าความยุติธรรมคือการที่ทุกคนต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจ รวมถึงคุณภาพชีวิต สวัสดิการ มีสินทรัพย์เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว การกระจายที่ยุติธรรมคือสินค้าต่างๆ ถูกกระจายอย่างอิสระผ่านกลไกตลาด ไม่มีอำนาจรัฐเข้าไปบังคับ

กลุ่มที่ 2 เรียกว่า egalitarianism ที่เห็นว่าความยุติธรรมคือทุกคนได้เท่ากัน เหมือนกัน และไม่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน การให้เสรีภาพมีเงื่อนไข ถ้ามีการกระจายทรัพยากรโดยกลไกตลาดแล้วเกิดความไม่ยุติธรรม รัฐมีอำนาจจัดการได้

กลุ่มที่ 3 utilitarianism มองว่าการกระจายสินค้าไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพเต็มที่ รัฐเข้าแทรกแซงได้ เพียงแต่จุดประสงค์ต่างจากกลุ่มที่ 2 คือแทรกแซงเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดทั้งของปัจเจกชนและสังคมโดยรวม

“อรรถประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นได้โดยแต่ละคนมีความชอบ มีความจำเป็นในการใช้ไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าคนหนึ่งมีความฝันอยากเป็นนักกีตาร์ สิ่งที่เขาต้องการคือกีตาร์ แต่รัฐบาลบอกว่าจะให้ปืนทุกคน มันจะมีประโยชน์อะไรกับเขา กลุ่มนี้จึงคิดว่าต้องให้ตามความจำเป็นและความต้องการของแต่ละคนและดูภาพสังคมโดยรวมด้วยว่าให้กับใครแล้วจะได้ประโยชน์สูงสุด กลุ่มนี้มองว่าไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเท่ากัน แต่ให้แล้วเกิดผลประโยชน์สูงสุด จะเห็นได้ในรัฐสวัสดิการที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักคือเฉือนงบประมาณไปให้กลุ่มคนที่เขาคิดว่ามีประโยชน์มากที่สุด อย่างเช่นของไทยก็ให้ข้าราชการ สวัสดิการข้าราชการจึงดีกว่าคนอื่นเพราะข้าราชการเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้รัฐเดินหน้าไปได้”

ข้อดี-ข้อเสียของสวัสดิการถ้วนหน้า

“ต้องนิยามก่อนว่า ถ้วนหน้าคืออะไร หมายความว่าทุกคนมีสิทธิได้รับสวัสดิการใช่ไหม แต่การขยายสวัสดิการออกไปไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคนี้อย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบคล้าย 30 บาทรักษาทุกโรคคือใช้เงินส่วนกลางจากภาษีแล้วกระจายให้ทุกคนได้รับสิทธิเหมือนกันในฐานะพลเมืองไทย ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ แต่มันเป็นเรื่องเทคนิคที่จะเลือกใช้ บางประเทศใช้วิธีขยายถ้วนหน้าทีละสิทธิประโยชน์ จำเพาะเจาะจงไปทีละกลุ่ม จนทุกกลุ่มได้รับหมด

“พอขยายสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างให้กับเฉพาะกลุ่ม เขากำหนดเลยว่าแหล่งเงินมาจากไหน บางกลุ่มมาจากประกันสังคม บางกลุ่มใช้ภาษี บางกลุ่มใช้กรมธรรม์เอกชน แต่ผลสรุปแล้วคือทุกคนมีสิทธิครอบคลุมหมด แต่เทคนิคการขยายให้ครอบคลุมขึ้นอยู่กับคุณจะใช้เทคนิคไหนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้น”

ประเด็นที่ภาคภูมิย้ำคือการจะใช้เครื่องมือใดต้องรู้ลักษณะ ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดของเครื่องมือนั้น เช่น ข้อดีของการขยายทีละกลุ่มคือใช้เงินน้อยกว่า สามารถจัดหาสิ่งที่ปัจเจกอยากได้จริงๆ ได้มากกว่า แต่ข้อเสียคือต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก ขณะที่การให้แบบถ้วนหน้า ข้อดีคืออาจจะมีการตกหล่นน้อยกว่า แต่ข้อเสียคือมีความยืดหยุ่นน้อย สิ่งที่ให้อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ปัจเจกต้องการ และยิ่งขยายการให้เป็นวงกว้างเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติ โควิด-19 ระบาดเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดเดียว ส่งผลกระทบในวงแคบ ประชาชนกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้สวัสดิการแก่คนทั้งประเทศ แต่ให้เฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็จะเหลือเงินมากขึ้นไปทำนโยบายสวัสดิการเรื่องอื่นๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงโควิด-19 ส่งผลกระทบคนทั้งประเทศและเป็นเหตุการณ์ที่คนไม่คาดคิดเตรียมตัวไม่ทันก็ต้องให้สวัสดิการวงกว้างให้มากที่สุด

“ผมเห็นด้วยกับสวัสดิการถ้วนหน้า แต่เทคนิคในการให้ไม่จำเป็นต้องให้แบบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มันมีหลายเทคนิค เวลาจะใช้เทคนิคไหนต้องรู้ข้อดี ข้อเสีย และเลือกใช้ตามสภาพที่เหมาะสม ไม่ใช่ตั้งธงว่าต้องให้ถ้วนหน้าแบบวิธีนี้วิธีเดียวถึงจะดีที่สุด”

รัฐสวัสดิการคือกระบวนการ

ภาคภูมิกล่าวว่าเงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ผู้ที่เชื่อแนวทางการให้เงินอย่างเดียวแบบถ้วนหน้าแล้วสังคมจะยุติธรรมหรือสวัสดิการจะดีมากขึ้น ต้องเชื่อมั่นในระบบทุนนิยมและกลไกตลาดมาก เขายกตัวอย่างว่าถ้าทุกคนได้รับเงินถ้วนหน้าจากรัฐบาลเดือนละสองสามหมื่นบาท อาศัยอยู่ที่อมก๋อย แต่ไม่มีรถเวลาไปโรงพยาบาลในตัวเมือง ถ้ารัฐให้สวัสดิการในรูปของขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพจะดีกว่าหรือไม่ เพราะเงินแทบจะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้ใช้

แต่ข้อดีของการให้เงินคือสะดวกสบายที่สุด รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นคนผลิตสินค้าและบริการเอง เอกชนเป็นผู้ผลิต กลไกตลาดทำงาน ช่วยให้แต่ละคนสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ตนเองอยากได้ แต่ข้อจำกัดคือถ้ากลไกตลาดไม่ทำงาน เงินจะไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมได้

“เงินเพียงอย่างเดียวก็มีข้อจำกัด ตราบใดที่กลไกตลาดยังเป็นแบบนี้ คือกลไกตลาดของไทยยังมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สุดท้ายแล้วเงินที่คุณได้มามันก็ไปรวมที่เจ้าสัวอยู่ดีเพราะคุณต้องซื้อของอุปโภคบริโภคจากไม่กี่เจ้า”

ถึงจะกล่าวแบบนี้ แต่ภาคภูมิก็เห็นด้วยกับบำนาญแห่งชาติที่เสนอโดยภาคประชาชน (ซึ่งถูกตีตกไปแล้วโดยนายกรัฐมนตรี) เพราะความแก่ชราเป็นความเสี่ยงของปัจเจกและของสังคม ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน การไม่มีบำนาญจะเป็นเรื่องน่ากังวลมากขึ้นในอนาคตเพราะเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มทำให้สถานะการจ้างงานเปลี่ยนไปและไม่รู้ว่าเป็นการจ้างงานหรือจ้างทำของซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองไม่เหมือนกัน

“แต่สวัสดิการที่มีจุดประสงค์เพื่อให้สังคมเท่าเทียมกัน เมื่อให้ไปแล้วต้องติดตามด้วยว่าส่งผลอย่างไรถ้าเราอยากจะลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความยุติธรรมจริงๆ ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีความซับซ้อนสูง คุณไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ด้วยการให้เงินอย่างเดียว คุณต้องปรับหลายๆ อย่าง”

รัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่แค่การเรียกร้อง ผลักดันให้เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว หากเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

“เรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก ยิ่งถ้าดูประวัติศาสตร์อย่างในยุโรปกว่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ต้องค่อยๆ ผลักดันเป็นร้อยสองร้อยปีกว่าจะเป็นได้เหมือนทุกวันนี้ แล้วเมื่อสวัสดิการเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ ต้องมีการปฏิรูปสม่ำเสมอเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงของสังคม ถ้าคุณเรียกร้องรัฐสวัสดิการแบบให้เงิน คุณจะไม่มีทางตามทันเลยว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไปเยอะมาก คุณจะตอบโจทย์ความเสี่ยงสังคมได้อย่างไรถ้าคุณให้เงินอย่างเดียว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อาทิ  ด้านกฎหมาย ด้านความเป็นธรรมในการแข่งขัน ด้านบริการสาธารณะ ในเมื่ออนาคตคุณต้องเจอความท้าทายจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีใหม่ๆ โรบอทกับเอไอก็เป็นความเสี่ยงต่อการตกงาน หรือคุณจะจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร”

รัฐสวัสดิการคือกระบวนการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท