สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 ก.พ. 2564

ก.แรงงาน เปิด "DISDA" ยกระดับแรงงานดิจิทัล ป้อนภาคอุตสาหกรรม

18 ก.พ. 2564 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน Building Thailand Digital Workforce ซึ่งภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ การเปิดตัวสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Skill Development Academy: DISDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน การเปิดตัว DSD App ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมการให้บริการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ในที่เดียว และเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจ พร้อมมอบโอวาทให้แก่ผู้เข้ารับการสัมมนาจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน

โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้หน่วยงานรัฐดำเนินงานภายใต้การบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐ และมุ่งเน้นพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 โดยได้กำหนดทิศทางให้กำลังคนในประเทศต้องมีความรอบรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงานในทุกด้าน ทั้งการทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและอุปกรณ์อัจฉริยะ การทำงานรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงรองรับทักษะและอาชีพในอนาคต เพื่อให้แรงงานไทยสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์การทำงานในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และเชื่อมโยงความร่วมมือพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ให้รองรับความต้องการของภาคเอกชนในการปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล จัดให้บริการทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบ online และ offline ด้วย DSD Application ซึ่งเป็นช่องทางการเข้าถึงที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา

ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ระดับโลก พร้อมจะร่วมช่วยสร้างโอกาสการเรียนรู้ และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Re Skill) และการยกระดับทักษะเดิมที่ดียิ่งขึ้น (Up Skill) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และในวันนี้ยังได้ส่งวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวของ 5G, ไอโอที, Cloud กับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมด้านต่างๆด้วย และเปิดโอกาสให้ผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้นำเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบกิจการได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงาน และให้สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในฐานะผู้ให้บริการ มีข้อมูลในการวางแผนพัฒนากำลังคนต่อไป

"ขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีส่วนรวมในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเป็นทักษะที่แฝงอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรม มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต" ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/2/2564

ราชกิจจานุเบกษาประกาศจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพผู้ประกันตนร้อยละ 2.75 - 3.11 ต่อปี

17 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพและวิธีการในการคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (2) ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 สำนักงานประกันสังคมจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 เงินสมทบสุทธิ หมายถึง เงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

ข้อ 3 การคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้มีสิทธิให้คำนวณจ่ายถึงวันที่มีสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550

ข้อ 4 ผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละสองจุดเจ็ดห้าต่อปี ของเงินสมทบสุทธิและผลประโยชน์ตอบแทนสะสมรวมกัน

ข้อ 5 อัตราผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 4 ให้ใช้ในการคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ จนกว่าสำนักงานประกันสังคมจะออกประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 2 ก.พ. พ.ศ. 2564

ที่มา: คมชัดลึก, 18/2/2564

รมว.แรงงาน ลงนามประกาศ การจัดที่พักสวัสดิการให้ลูกจ้าง ลดเสี่ยงโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับลูกจ้าง เพื่อช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การจัดสวัสดิการเกี่ยวกับอาคารที่พักอาศัย ถือเป็นสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายกำหนดที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง หากอาคารที่พักอาศัยมีสภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกสุขลักษณะ และมีลูกจ้างพักอาศัยจำนวนมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง

ดังนั้น จึงได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสวัสดิการสำหรับสถานประกอบกิจการที่จัดที่พักอาศัยให้กับลูกจ้าง ในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับนายจ้างที่จัดสวัสดิการที่พักอาศัยให้กับลูกจ้าง ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เพื่อให้การพักอาศัยของลูกจ้างเป็นไปโดยถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 93 (1) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับนโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านสวัสดิการแรงงาน

โดยมีสาระสำคัญของลักษณะห้องพักอาศัย อาทิ ขนาดห้องพักอาศัยควรมีขนาดพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร พื้นที่พักอาศัย ไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตรต่อ 1 คน มีการจัดระยะห่างของเตียงนอน หลีกเลี่ยงการนอนเตียงเดียวกัน และบริเวณห้องพักในที่พักอาศัยต้องมีประตู หน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ และจัดให้มีที่ล้างมือ พร้อมสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลสำหรับทำความสะอาดมือไว้บริการผู้พักอาศัยในบริเวณต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ลูกจ้างต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยยึดหลัก D-M-H-T-T ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/2/2564

พนง.กรุงไทยวอนขอความเห็นใจหลังเปิดจุดลงทะเบียน "เราชนะ" ทำคนล้นจนเกิดดราม่าบริการไม่ดี

16 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าจากกรณีธนาคารกรุงไทยแจ้งว่า จะอำนวยความสะดวกให้ผู้มีความประสงค์ที่จะลงทะเบียนโครงการ "เราชนะ" แต่ไม่มี Smartphone โดยเปิดจุดบริการพิเศษ ระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านธนาคารกรุงไทย และจุดบริการรวม 871 จุด สำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน หรือ ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถลงทะเบียนได้ โดยในหลายจังหวัดได้มีประชาชนแห่ไปใช้บริการจำนวนมาก โดยมีประชาชนที่ไปเข้าคิวรอตั้งแต่ธนาคารยังไม่เปิด ทำให้พื้นที่ให้บริการไม่พอจนล้นออกมาหน้าธนาคารและบริเวณถนน อีกทั้งยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริการของพนักงานที่ไม่สุภาพ ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุด แฟนเพจชื่อดังอย่าง "drama-addict" ได้ออกมาเผยแพร่เรื่องราวของเจ้าหน้าที่กรุงไทยรายหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อความพร้อมทั้งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า "เราในฐานะที่เป็นพนักงาน กรุงไทยค่ะ เราแค่อยากเล่าให้แอดฟังนะคะ" ธนาคารกรุงไทยก็เป็นแค่หน่วยงานนึงที่รับนโยบายมาจากรัฐ พวกเราเป็นเพียงพนักงานที่ต้องทำตามคำสั่งค่ะแต่เราอยากให้มองอีกมุมนึง ตั้งแต่มีนโยบายที่ออกมามากมาย ตั้งแต่ "โครงการชิมช้อปใช้" พวกเราพนักงาน ต้องออกตลาดเพื่อเชิญชวนร้านค้ามาเข้าร่วมโครงการ และตอนนั้นร้านค้าต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งพวกเราก็ต้องเชิญชวนร้านค้าให้ครบตามเป้าหมายของรัฐโครงการ เราไม่ทิ้งกัน พนง.ธ.กรุงไทย ต้องลงพื้นที่ไปทบทวนสิทธิให้แก่ประชาชน ซึ่งตอนนั้นโควิดกำลังระบาดหนัก พวกเรากลัวโควิดกันมาก แต่ก็ต้องลงพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์เพื่อทบทวนสิทธิให้กับชาวบ้าน

ทั้งการต้องลงพื้นที่หาร้านคำเข้าร่วมโครงการ ทั้งการยืนยันตัวตนให้กับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว ในสถานะการณ์ที่โควิดระบาด ในช่วงที่หน่วยงานอื่นๆ เค้า work from home แต่พวกเราต้องออกมาทำหน้าที่ทุกวัน "จนมาถึงโครงการเราชนะในวันนี้ แอดรู้มั้ยคะว่า สาขานึง จะมี พนง.อยู่แค่ประมาณ 10 คนเองค่ะ บางส่วนต้องถูกแบ่งไปช่วยในจุดบริการที่ตั้งอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และพวกเราก็ยังต้องทำงานประจำวันด้วย" การที่ พนง.แค่ 10 คน จะรับมือกับประชาชนเป็นร้อยเป็นพัน มันต้องมีข้อผิดพลาดกันบ้างค่ะ เราเข้าใจค่ะว่า อาจจะมี พนง.บางคนที่อาจจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้จนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกไปบ้าง ทุกวันนี้พวกเราก็กลัวโควิดเหมือนกับคนอื่นๆ นะคะ

"จากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่เป็นผู้พิทักษ์ทบทวนสิทธิให้ประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เมื่อเราได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือ เรารู้สึกมีความสุขมากค่ะ. ซึ่งก็หวังว่าในครั้งนี้ ทุกคนจะได้บความช่วยเหลืออีกครั้งค่ะ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้มในครั้งนี้อีกครั้งค่ะ"

ที่มา: สยามรัฐ, 16/2/2564

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศผ่อนผันต่างด้าว 3 สัญชาติ ทำงานในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีเฉพาะ

16 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564

ประกาศดังกล่าว มีใจความว่า อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถทำงานอยู่ในราชอาณาจักรไปพลางก่อนได้ จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2564 โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า นายจ้างจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2564

นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวจะต้องตรวจโรคโควิด-19 และโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงก่อนรับอนุญาตทำงาน

ทั้งนี้ การบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้มีผลบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศดังกล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/2/2564

ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ

คณะรัฐมนตรีมีติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ รง. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีนายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานหรือดำเนินการอย่างอื่นแทนการรับคนพิการเข้าทำงานปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ โดยขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจาก ภายในสี่สิบห้าวัน เป็น ภายในเก้าสิบวัน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติได้เห็นชอบด้วยแล้ว

ทั้งนี้ รง. เสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน มาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมาตรา 35 บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตราดังกล่าว นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงานหรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้

2. ต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ซึ่งข้อ 3 ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุกหนึ่งร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคน และข้อ 6 กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการผู้ใดได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนดในข้อ 3 หรือได้ดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 33 หรือมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามจำนวนวันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เว้นแต่ได้มีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

3. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อ สภาวะเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานหรือดำเนินการอย่างอื่นแทนการรับคนพิการเข้าทำงาน แต่ปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เว้นแต่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดภายในสี่สิบห้าวันตามข้อ 2. ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้มีระยะเวลาในการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด รง. จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงในข้อ 2. ในส่วนที่เป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับระยะเวลาที่นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการต้องดำเนินการ จาก ภายในสี่สิบห้าวัน เป็น ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

4. ในคราวประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 เห็นชอบตามหลักการในร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี), 15/2/2564

กระทรวงแรงงาน เผยยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งสิ้น 654,864 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง และมีการหลบหนีเนื่องจากเกรงกลัวความผิด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในกลุ่มคนไทยและคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

จึงเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบ คัดกรองโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุม ยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างสถานประกอบการสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นคงของระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย (Big Data) ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด ทำงานอยู่กับใคร ประเภทกิจการอะไร และอยู่ที่ไหนบ้าง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 เห็นชอบ ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ นั้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนโดยผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. -13 ก.พ. ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีคนต่างด้าว 3 สัญชาติ

กลุ่มแรกคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 133,910 ราย เป็นคนต่างด้าว 596,502 คน แยกเป็น กัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน

กลุ่มสองคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง 58,362 คน แยกเป็น กัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน รวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 654,864 คน แยกเป็น กัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.64 เวลา 23.59 น.)

จังหวัดที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 120,163 คน ชลบุรี 47,326 คน ปทุมธานี 38,994 คน สมุทรปราการ 37,621 คน และสมุทรสาคร 28,953 คน ประเภทกิจการที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง คน 148,332 คน เกษตรและปศุสัตว์ 117,430 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 49,702 คน การให้บริการต่างๆ 45,118 คน และกิจการต่อเนื่องการเกษตร 39,025 คน

สำหรับขั้นตอนต่อไปดำเนินการ ดังนี้ กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้างเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 จากนั้น สธ. ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กกจ.ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป นายจ้างชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย

และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th แนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงานเพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค. 2564

กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ

กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าคำขอใบอนุญาตฯ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th

โดยแนบใบรับรองแพทย์ หลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 13 ก.ย. 2564 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ.2565 กรณีคนต่างด้าวทำงานประมงทะเลไปทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด

ทั้งนี้ ภายหลังจากวันนี้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังกับคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง และลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต่อไป

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 16/2/2564

กระทรวงแรงงาน ไม่ชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานกาตาร์แล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานไทยไปยังรัฐกาตาร์ และจากการประเมินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ของรัฐกาตาร์ที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่ดีขึ้น รวมทั้งเอื้อประโยชน์แก่แรงงานต่างชาติ ตลอดจนขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานในรัฐกาตาร์มีความต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือ สำหรับโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อเร่งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

“กระทรวงแรงงาน ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและคนหางานที่มีความต้องการเดินทางไปทำงานในรัฐกาตาร์ทราบทั่วกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศตามนโยบายส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศของรัฐบาล โดยการนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และความต้องการของตลาดแรงงานในรัฐกาตาร์ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กรมการจัดหางานกำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีภารกิจในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีค่าตอบแทนที่ดีและได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมีตามกฎหมาย โดยยึดหลักความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ ซึ่งกรมการจัดหางานได้กำหนดมาตรการการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยกำหนดให้คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทุกประเทศและทุกวิธีการเดินทางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ลงนามในหนังสือรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) และจัดทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“กรมการจัดหางานมีการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่กลุ่มประเทศอาหรับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐกาตาร์ จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การจ้างงานภาคก่อสร้างชะลอตัว และความต้องการแรงงานต่างชาติลดลง รวมทั้งปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดมาตรการระงับการเข้าประเทศชั่วคราวสำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ซึ่งล่าสุดจากการประชุมสุดยอดอ่าวอาหรับ (GCC-Summit) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ณ เมืองอัล – อูลา (AL-Ula) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผลการประชุมมีมติให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐกาตาร์ รวมทั้งมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำแรงงานไทยไปยังรัฐกาตาร์ตามมาตรการผ่อนคลายการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ทำให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานพิจารณาให้ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป” “ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/2/2564

จ้างงานคนพิการไม่ถึงเป้า เอกชนร้องปรับสูตรส่งเงินเข้ากองทุน

สื่อประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าภาคแรงงานยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ประกอบการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ในประเด็นการ “ขาดแคลน” แรงงานคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 คือ “ต้องจ้าง” จำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายกำหนดที่ 1 : 100 นั้น แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือคนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 39,878 คน คิดเป็น 45.79% ของจำนวนแรงงานคนพิการที่ต้องถูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศที่ 86,757 คน

ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ส่วนการจ้างงานตามมาตรา 34 คิดเป็นจำนวนคนพิการ 13,103 คน คิดเป็น 15.10% และการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นจำนวนคนพิการ 13,951 คน คิดเป็น 16.08% เท่ากับว่ายังมีจำนวนคนพิการเหลืออีกราว 19,825 คน คิดเป็น 22.85% ที่ควรจะต้องมีการจ้างแรงงานต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าภายใต้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้มีการปรับสูตรการคำนวณจำนวนคนพิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ว่าหากนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุน โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานตามมาตรา 33

อีกทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการได้นั้น ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่มีคนพิการ” ที่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องรับภาระส่งเงินเข้ากองทุน “เพิ่มขึ้นกว่าต้นทุนจริง” ถึง 16.61% จากการนำจำนวนเต็มปีที่ 365 วัน มาคำนวณแทน 313 วัน ที่เป็นวันที่แรงงานคนพิการได้ทำงานจริงนั้นเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ และไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“สถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนที่ยังพอเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องการแบกภาระเพิ่มขึ้นในเชิงธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาบังคับใช้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกรณีของ ส.อ.ท.ถือว่าสะท้อนภาพปัญหาที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหา ก.แรงงานคงต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยระบุว่า เห็นด้วยในการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ของ ส.อ.ท. ขณะที่สภาหอการค้าไทยบอกว่า เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสมาคมธนาคารเพื่อให้ได้มุมมองภาคเอกชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เสนอให้พิจารณากลับไปเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมฯ ตามมาตรา 34 ที่ 365 วันเช่นเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสรรหาคนพิการมาทำงาน ทั้งนี้ สมาคมยังระบุอีกว่า ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีการขาดแคลนแรงงานคนพิการแต่อย่างใด ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กล่าวถึงมาตรา 34 ว่า เป็นมาตรการเชิงลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ ทั้งนี้ตามที่หลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อีกทั้งจะต้องเพิ่มความเห็นจากนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะด้วย

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างร่างแผนปฏิบัติการคนพิการด้านแรงงาน (Action Plan) สำหรับปีงบประมาณ 2564 ในรายละเอียดระบุว่า ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) รวม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งรวม 18 โครงการ วางเป้าหมายว่าจะมีคนพิการเข้าร่วม 19,340 คน ใช้งบประมาณอยู่ที่ 110 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง รวม 50 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 79,407 คน งบประมาณรวม 678 ล้านบาท ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการจำนวน 13 โครงการ คาดว่าคนพิการเข้าร่วม 21,870 คน งบประมาณรวม 78 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมการบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 4 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 350 คน งบประมาณรวม 11 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน 7 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 2,845 คน งบประมาณรวม 10 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2564 นี้ มีแผนงานโครงการรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 123,812 คน งบประมาณรวม 890 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ)

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาได้มีการนำเสนอกระทรวงแรงงานให้ปรับลดสัดส่วน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่ 2% โดยลูกจ้างที่ 100 คน ให้จ้างคนพิการ 2 คน (100 : 2) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือส่งไปถามความเห็นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว ปรากฏว่าเห็นด้วยอยู่ที่ 44% และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 56% ภายหลังจากการถามความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำเข้าหารือเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานคือมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่คงการจ้างงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

โดยหักรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้ 3 เท่า มาตรการขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ แบ่งเป็นลดอัตราภาษีเงินได้ระยะที่ 1 จาก 3% ปรับลดเหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จาก 3% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคืนภาษีให้รวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเร่งคืนภาษีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 0.5% ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขยายเวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคมของทุกปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/2/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท