#ตั๋วช้าง ทะลุล้านทวีตขึ้นอันดับ 1 เทรนด์โลก หลัง 'โรม' อภิปรายแฉขบวนการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ

แฮชแท็ก #ตั๋วช้าง ทะลุล้านทวีตขึ้นอันดับ 1 เทรนด์โลก หลัง 'โรม' อภิปรายในและนอกสภาแฉขบวนการซื้อขายตำแหน่งตำรวจผ่านโครงการ ‘จิตอาสา’ อัด ‘ประวิตร - ประยุทธ์’ มีเอี่ยว ตั๋วเปิดทางยกพระมหากรุณาธิคุณบังหน้าเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ

 

19 ก.พ.2564 ภายหลังการอภิปรายทั้งในและนอกสภาของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เเละ รมว.กระทรวงกลาโหม เเละพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายในวงการตำรวจที่เรียกว่า ‘ตั๋วช้าง’ สะท้อนการเอื้อพวกพ้องในการเเต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในลักษณะพิเศษ ที่ส่งผลกระทบต่อข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย รวมถึงประเด็นการยกพระมหากรุณาธิคุณบังหน้าเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพนั้น

คำว่า "ตั๋วช้าง" ถูกค้นและถูกใช้เป็นแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียทั้งการเสนอข้อมูลและการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ #ตั๋วช้าง ติดเทรนด์โลก เว็บ getdaytrends.com รายงานว่า 1.3M ทวีต และเมื่อเวลา 20.10 น. มียอดไปกว่า 1.73M ทวีต แล้ว
สืบค้นวันที่ 19 ก.พ.2564 เวลา 20.10 น. 

ต่อมาคำว่า "ตั๋วช้าง" ถูกค้นและถูกใช้เป็นแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียทั้งการเสนอข้อมูลและการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ #ตั๋วช้าง ติดเทรนด์โลก เว็บ getdaytrends.com รายงานว่า 1.3M ทวีต และเมื่อเวลา 20.10 น. มียอดไปกว่า 1.73M ทวีต แล้ว

'โรม' อภิปรายนอกสภาแฉขบวนการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ห้อง 603 อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจากกรณีที่ รังสิมันต์ถูกห้ามอภิปรายในสภาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคล โดยประธานสภาได้อ้างว่ามีการกล่าวพาดพิงบุคคลภายนอกและไม่ควรอภิปรายเกี่ยวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการอภิปรายดังกล่าวเป็นการอภิปรายต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เเละพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในประเด็นเอื้อพวกพ้องในการเเต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในลักษณะพิเศษ ที่ส่งผลกระทบต่อข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย จนทำให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ประท้วงตลอดเวลาจนทำให้การอภิปรายเป็นไปอย่างยากลำบาก

ชัยธวัช กล่าวว่า กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหน้าที่เเละเป็นสิทธิของ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล แต่จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ในวันนี้และตลอดหลายวันที่ผ่านมามีการประท้วงแบบไม่เป็นเหตุ เป็นผลมาโดยตลอด เป็นการทำให้เสียเวลาต่อการอภิปรายเพื่อที่ชี้เเจงข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของการที่พรรคก้าวไกลต้องออกมาอภิปรายนอกห้องประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ด้วยเจตนาที่จะต้องทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรอย่างสมศักดิ์ศรี และเป็นปากเป็นเสียงเเทนพี่น้องประชาชน

จากนั้น รังสิมันต์ จึงเริ่มต้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาอีกครั้ง โดยระบุว่า ภายใต้การบริหารงานตำรวจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่สมัย คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบตำรวจ ได้ปล่อยปละละเลยให้ผู้ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาบงการการแต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนตำแหน่ง ละเลยกฎเกณฑ์อันพึงมี จนก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์และการใช้เส้นสายในวงการตำรวจ ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาดูแลตำรวจด้วยตัวเอง ก็ยังปล่อยให้ผู้ที่กระทำการเหล่านั้นลอยนวล มีหน้ามีตา มียศมีตำแหน่งอยู่ในวงการต่อไปได้ จึงเป็นคำถามว่านี่หรือเปล่าที่ทำให้ภาพรวมตำรวจไทยเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นตำรวจที่เพิกเฉยต่ออาชญากรรรม แต่กระทำกับผู้บริสุทธิ์ เปิดบ่อนไม่ว่า ค้ายาไม่สอบ เจอเจ้าพ่อแล้วน้อมนอบ แต่ถ้าเจอม็อบแล้วสู้ตาย จากที่ควรจะเป็น ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ ก็กลับกลายเป็น ‘ผู้พิฆาตประชาชน’

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ’ หรือ ก.ตร. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของตำรวจ ทั้งการออกกฎ, ระเบียบ, ข้อบังคับ, ข้อกำหนด, ประกาศ หรือมีมติต่างๆ โดย ก.ตร. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, ผบ.ตร. เป็นรองประธาน และกรรมการอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ แต่เอกสารที่นำมาแสดงต่อสภาฉบับนี้ เป็นหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2562 ส่งถึง ผบ.ตร. มีเนื้อหาขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้งนายตำรวจ 3 นาย ให้ได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามที่ระบุไว้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะนายตำรวจดังกล่าวได้ผ่านการอบรม ‘หลักสูตรจิตอาสา’ ได้ปฏิบัติภารกิจที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสามอบหมายแล้ว จึงสมควรได้รับสนับสนุนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ขอมา

โดยประเด็นแรกของเอกสารฉบับนี้อยู่ที่หน่วยงานคือ กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ท้ายหนังสือมีผู้ลงลายมือชื่อกำกับ คือ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กฯ ในขณะนั้น จึงมีคำถามว่า แล้ว พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ในฐานะผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กฯ มีหน้าที่ในการทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ การเขียนหนังสือขอสนับสนุนแบบนี้อาศัยกฎหมายอะไรให้อำนาจ ถ้าไม่มีสถานะของหนังสือฉบับนี้คืออะไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 54 กำหนดให้การแต่งตั้งนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ ลงมา ต้องเริ่มต้นโดยให้แต่ละกองบังคับการตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาแต่งตั้งเฉพาะภายในหน่วยงานของตัวเอง แล้วจึงเสนอต่อไปตามลำดับ จากระดับกองบังคับการ สู่ระดับกองบัญชาการ และสู่ระดับ ผบ.ตร. ให้สั่งแต่งตั้งอีกที หรือเป็นแบบไม่ไปก้าวก่ายกองอื่น ถ้าจะมีการข้ามกองกัน ให้เป็นเรื่องของหน่วยงานระดับที่สูงกว่าเป็นผู้ดำเนินการกันไป

แต่จากรายชื่อตำรวจ 3 นาย ที่ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ขอสนับสนุน ล้วนแต่เป็นคนละหน่วยงานกับกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กฯ ของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ทั้งสิ้น ตามกฎหมาย สิ่งที่ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ มีอำนาจทำได้ก็คือตั้งคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจเฉพาะภายในกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กฯ ของตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำกลับเป็นการเอาชื่อนายตำรวจที่ไม่ได้อยู่ในกองบังคับการของตัวเอง ไปทำหนังสือขอสนับสนุนถึง ผบ.ตร. โดยตรง เพื่อให้สั่งแต่งตั้งไปยังกองบังคับการที่ไม่ใช่ของตัวเอง

“การแต่งตั้งข้ามกองบัญชาการแบบนี้ ต่อให้เป็นเป็นผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ยังทำไม่ได้เลย แล้วคนที่เป็นแค่ระดับผู้บังคับการในเวลานั้นอย่าง พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ มามีอำนาจยุ่งเกี่ยว มาขอสนับสนุนให้กับนายตำรวจที่อยู่นอกหน่วยงานที่ตัวเองรับผิดชอบได้อย่างไร หนังสือขอสนับสนุนแบบนี้ ที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ ขอให้แต่งตั้งนายตำรวจนอกหน่วยตัวเอง มันก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ตั๋ว’ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วเหตุใด บุคคลที่คุมตำรวจในช่วงที่มีหนังสือฉบับนี้ออกมา คือ พล.อ.ประวิตร จึงปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้ แล้วคนที่มอบหมายงานให้ พล.อ.ประวิตร มาอีกทีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ รู้เรื่องนี้ด้วยหรือไม่ หรือว่ารู้ แต่ก็มิได้นำพา ช่วยปกปิด เพื่อไม่ให้สาวความผิดมาถึงพวกพ้องของตัวเอง” รังสิมันต์ กล่าว

โรม

เปิดเส้นทาง ‘ยกเว้นหลักเกณฑ์’ อุ้ม ‘ต่อศักดิ์ - จิรภพ’ พุ่งทะยานวงการตำรวจ ทำรายชื่อผู้เหมาะสม ‘ตามหลักเกณฑ์’ ได้แต่มองตาปริบๆ

รังสิมันต์ กล่าวว่า จากกรณีที่กล่าวมาไม่ใช่แค่ตัวเอกสารเท่านั้น ที่เป็นประเด็น แต่ตัวผู้ออกเอกสารอย่าง พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ก็เคยได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร โดย  ชีวิตราชการของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ความจริงแล้วถือว่ามาสายพอสมควร เพราะเพิ่งเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตรเมื่อปี 2541 หรืตอนอายุถึง 33 ปี ซึ่งปกติคนที่เข้ามาตอนอายุขนาดนี้ก็คงคาดหวังการเป็นใหญ่เป็นโตได้ไม่มากนัก แต่แล้ว ต้นปี 2561 พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ก็ได้รับการ ‘ยกเว้นหลักเกณฑ์’ ให้เลื่อนขั้นจากผู้กำกับการ ไปเป็น รองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.) ถัดมาอีกเพียง 6 เดือน ก็ได้ยกเว้นหลักเกณฑ์ครั้งที่สอง ให้เลื่อนขั้นจาก รองผู้บังคับการ ไปเป็นผู้บังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ถปภ.) และอีก 1 ปีให้หลัง พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ก็ได้รับยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นครั้งที่ 3 ให้เลื่อนขั้นจาก ผู้บังคับการ ไปเป็น รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.)ปัจจุบัน มียศเป็น พล.ต.ท. ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.)

“จากรองสารวัตรผู้มาสายสู่ผู้บัญชาการอนาคตรุ่งโรจน์ ได้ด้วยผลจากการยกเว้นหลักเกณฑ์ 3 ครั้งติดต่อกัน ก็ไม่รู้ว่าเขาผู้นี้เป็นยอดมนุษย์มาจากไหน ถึงได้รับการอวยยศอวยตำแหน่งกันถึงขนาดนี้ การยกเว้นหลักเกณฑ์ ที่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ได้รับ มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตรโดยตรง ส่งผลต่อระบบคุณธรรม ส่งผลต่อความเป็นธรรมในการเลื่อนขั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพราะหลักเกณฑ์ ปัจจุบันมีอยู่ในกฎหมาย 2 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2561 และ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ประกาศใช้เมื่อกลางปี 2561”

รังสิมันต์ อธิบายต่อว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวคือการกำหนดคุณสมบัติ ได้แก่ ระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งก่อนหน้าตำแหน่งที่จะเลื่อนขั้นขึ้นไป หลักเกณฑ์ที่ว่าแม้ว่าอาจถกเถียงกันได้ถึงข้อดีข้อเสีย แต่อย่างน้อยที่สุดก็คือการ ‘กำหนดเวลา’ กับนายตำรวจทุกคนในการพิสูจน์ตัวเองอย่างเท่าเทียมกัน เช่นเมื่อรับราชการเข้ามาเป็นรองสารวัตร ไม่ว่าจะเป็นลูกท่านหลานใคร ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ เป็นเวลาขั้นต่ำ 7 ปีเท่ากันหมดทุกคน ก่อนที่จะมีโอกาสได้เลื่อนขั้นเป็นสารวัตร เมื่อต้องอยู่ในระยะเวลาที่เท่าเทียมกับคนอื่น ไม่มีการอนุญาตให้ใช้ทางลัด ตำรวจแต่ละนายก็จะต้องมุ่งสร้างผลงาน ใครที่มีฝีมือ มีคุณภาพ มีวินัย มีจริยธรรม ขยันขันแข็ง เสมอต้นเสมอปลาย ไม่สามวันดีสี่วันร้าย ไม่ประพฤติปฏิบัติให้เสียหายแก่องค์กร ก็สมควรได้รับการเลื่อนขั้น ในแง่หนึ่งหลักเกณฑ์แบบนี้จึงช่วยสร้างความรู้สึกเป็นธรรมแก่พี่น้องนายตำรวจ เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น และเมื่อตำรวจมุ่งเน้นการทำผลงาน รักษาวินัย ประพฤติตนโดยชอบแล้ว ผลประโยชน์จากผลงานที่ตำรวจทำก็จะตกแก่ประชาชน ประชาชนก็จะสามารถพึ่งพาตำรวจได้ทุกนายในประเทศนี้ ในทางกลับกัน หากไม่มีหลักเกณฑ์ แต่สามารถร่นเวลาเพื่อเลื่อนขั้นเร็วๆ ได้ ตำรวจก็จะพากันสนใจแต่การวิ่งเต้นเพื่อยกฐานะของตัวเอง พวกที่เส้นใหญ่ก็ได้ดิบได้ดีโดยไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องรักษาวินัย ส่วนอีกพวกหนึ่งที่ไร้เส้นสายก็ไม่คิดจะทำอะไรเพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็นค่า แล้วแบบนี้สุดท้ายจะมีตำรวจคนไหนสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีก

“แต่แทนที่จะเป็นผู้รักษากฎ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร กลับหาทางยกเว้นทั้งคู่ ตอนนั่งประชุม ก.ตร. ก็ยกเว้นกฎ ก.ตร. พอมาประชุม ครม. ก็ยกเว้นประกาศสำนักนายกฯ ทำให้หลักเกณฑ์ที่เขียนมาเสียดิบดี สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงเศษกระดาษ การจะยกเว้นหลักเกณฑ์ที่มีกฎหมายเขียนไว้ถึง 2 ฉบับ บังคับใช้โดย 2 องค์กรที่ต่างกัน เอาเข้าจริงแล้วไม่ง่ายเลย แต่คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตรก็ทำมันสำเร็จ นี่คงเป็นความสามารถพิเศษของคนจาก คสช. ในการใช้เทคนิคทางกฎหมาย หาข้อยกเว้นให้กับการกระทำของตัวเอง โดยไม่สนว่ามันได้ทำให้คนทำงานต้องเสียกำลังใจ คนที่หวังเติบโตก็หันไปวิ่งเต้น ส่วนคนที่ไม่ฝากตัวรับใช้นายก็ไม่มีที่ยืน ไม่สนว่ามันได้ทำลายระบบคุณธรรมของข้าราชการตำรวจไปมากขนาดไหน” 

เปิดเอกสาร รอง ผบ.ตร. เรียก ผบ.ตร.ภาค 6 ตรวจสอบผู้ต้องหาขนไอซ์พาดพิงต่อศักดิ์

นอกจากนี้ รังสิมันต์ ยังกล่าวว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยังถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการขนย้ายยาเสพติด เป็นยาไอซ์น้ำหนัก 1,500 กิโลกรัม ซึ่งไม่ทราบว่าทำจริงหรือไม่และต้องให้ความเป็นธรรมกับ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ แต่การที่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ถูกสงสัย และยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ คำถามก็คือเหตุใดจึงได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์แบบนี้ การที่ ก.ตร. และ ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร นั่งอยู่ยกเว้นหลักเกณฑ์ให้ เป็นเพราะเขาคือนายตำรวจที่ถึงพร้อมทั้งในความสามารถและระเบียบวินัย ไม่เคยประพฤติเสื่อมเสีย ควรค่าแก่การยกเว้นให้จริงๆ หรือที่แท้แล้วเป็นเพราะก่อนหน้านั้นก็เคยมีใครบางคน เขียนขอสนับสนุนส่งมาให้ยกเว้นหลักเกณฑ์ สรุปแล้วกติกาจะยังเป็นกติกาอยู่หรือไม่หรือว่าตัวบุคคลได้กลายเป็นกติกาไปเสียแล้ว

“ย้อนกลับไป ต้นเดือนสิงหาคม 2562 ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งเข้ามาคุมตำรวจเองใหม่ๆ ท่านยังพูดเองแท้ๆ ว่าจะไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งตำรวจต้องเป็นไปโดยสุจริต ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบอกเป็นนัยยะว่าตอนที่ พล.อ.ประวิตร คุมตำรวจอยู่ที่ไม่สุจริตหรือเปล่า แต่พอผ่านมาแค่ถึงปลายเดือน พล.อ.ประยุทธ์ ก็มายกเว้นหลักเกณฑ์ให้ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ เสียแล้ว ขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าในครั้งนั้นกล้ายืนยันหรือไม่ว่า นั่นคือ การแต่งตั้งตำรวจที่สุจริต ซื่อสัตย์ ยุติธรรม อย่างที่ปากท่านอ้าง อย่าลืมว่าวันที่อนุมัตินั้น เกิดขึ้นหลังจากที่มีหนังสือที่ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ เขียนขอสนับสนุนให้ตำรวจนอกหน่วยปรากฏขึ้นมาแล้ว แต่ท่านยังกล้ายกเว้นหลักเกณฑ์ให้กับคนที่กระทำการแบบนี้ได้อีก ทำแบบนี้แล้วท่านต่างจาก พล.อ.ประวิตรตรงไหน”

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้นกับ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ เท่านั้น แต่ในรายงาน ก.ตร. ยังมีชื่อนายตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ที่พ่วงท้ายหมายเหตุขอยกเว้นหลักเกณฑ์เหมือนๆ กัน และได้รับอนุมัติกันไปเรียบร้อย เช่นปี 2561 มีชื่อของ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช และ พ.ต.อ.สำราญ นวลมา ส่วนในปี 2562 มีชื่อของ พ.ต.อ.สันติ ชัยนิรามัย และ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ทั้งหมดนี้ได้ยกเว้นหลักเกณฑ์ให้เลื่อนจาก รองผู้บังคับการ เป็น ผู้บังคับการ กันโดยถ้วนหน้า

รังสิมันต์ ยังกล่าวต่อไปว่า จากหนังสือประกาศที่รวบรวมรายชื่อตำรวจ ‘ผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น’ ในวาระประจำปี 2563 จัดเรียงรายชื่อตามลำดับอาวุโสในแต่ละระดับ จะเห็นว่าในรายชื่อนี้ มีชื่อของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.ต.จิรภพ โดยตอนนั้นทั้งสองคนมีอาวุโสเป็นระดับสุดท้ายในระดับตำแหน่งของตัวเอง เหมือนๆ กัน แต่สาเหตุที่ทำให้ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.ต.จิรภพ กลายมาเป็น ‘ผู้เหมาะสม’ ก็เพราะไม่ได้เกิดมาจากการทำตามหลักเกณฑ์มาตลอด แต่เป็นผลจากการยกเว้นหลักเกณฑ์ให้เลื่อนขั้นแบบติดจรวด ซึ่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ที่ดันให้ตำรวจทั้ง 2 นายนี้สามารถเบียดตัวเองเข้ามาอยู่ในท้ายตารางของผู้เหมาะสมได้ไม่ต่างจากการ ‘ย้อมแมว’ นายตำรวจที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ ให้กลายเป็น ‘ผู้เหมาะสม’ กลายเป็นแคนดิเดตที่จะได้เข้าชิงสำคัญๆ ในวงการตำรวจได้ สามารถก้าวกระโดดไปเลื่อนขั้นแซงหน้านายตำรวจอีกหลายคนที่อยู่ในรายชื่อผู้เหมาะสม ซึ่งบางคนกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้แบบที่ไม่เคยต้องยกเว้นหลักเกณฑ์ต้องรอตามเวลากว่าจะได้เลื่อนขั้นเป็น แต่สุดท้าย พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ได้เลื่อนขั้นเป็น ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ขณะที่รองผู้บัญชาการอีก 4 คนก็ต้องจมอยู่กับตำแหน่งระดับเท่าเดิม เช่นเดียวกัน กรณีของ พล.ต.ต.จิรภพ ได้เลื่อนขั้นไปเป็น รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ในปี 2563 ซึ่งยังมีผู้บังคับการ ที่อยู่ใต้สังกัด กองบัญชาการสอบสวนกลาง ด้วยกันที่อาวุโสสูงกว่า แต่กลับต้องย่ำอยู่กับตำแหน่งระดับเดิมอีกถึง 5 คน

“ประเด็นคือนายตำรวจที่ผมว่ามานี้ เขาไม่สมควรจะเข้ามามีชื่ออยู่ในบัญชีผู้เหมาะสมตั้งแต่แรก แต่ที่เข้ามาได้ก็เพราะ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร และคณะ ยกเว้นหลักเกณฑ์ให้ แล้วพอเข้ามาได้ ก็ผ่านฉลุยเลื่อนขั้นต่อไป โดยที่คนที่เป็นผู้เหมาะสมอยู่ก่อนหน้านี้ได้แต่มองตาปริบๆ ถ้าจะทำกันแบบนี้แล้ว แล้วบัญชีผู้เหมาะสมที่จัดขึ้นมา มันจะมีความหมายอะไร ในเมื่อสามารถใส่ชื่อผู้ที่ไม่เหมาะสมเข้ามาตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ หากไม่มีการยกเว้นหลักเกณฑ์ตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ก็จะยังคงเป็น ผู้กำกับการ อยู่ เพราะตามหลักเกณฑ์คือต้องเป็น ผู้กำกับการ ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2564 เช่นเดียวกัน หากไม่มีการยกเว้นหลักเกณฑ์ ทุกวันนี้ พล.ต.ต.จิรภพ ก็จะยังคงเป็น รองผู้บังคับการ อยู่ เพราะตามหลักเกณฑ์คือต้องเป็นไปจนถึงปี 2565 และตำแหน่ง รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ก็อาจเป็นของตำรวจนายอื่นที่เลื่อนขั้นตามหลักเกณฑ์แทน การยกเว้นหลักเกณฑ์จึงสร้างความเสียหายต่อโอกาสในหน้าที่การงานของตำรวจคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามครรลอง ในการที่จะได้เติบโตไปยังตำแหน่งที่พวกเขาควรได้ ในขณะที่นายตำรวจส่วนใหญ่ต้องอยู่พิสูจน์ตัวเองในตำแหน่งรองผู้บังคับการเป็นเวลานานถึง 5 ปี ในช่วงเวลานี้ก็ต้องคอยทำผลงานให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ต้องครองตนให้อยู่ในกฎในระเบียบ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง หากเกิดผิดพลาดหรือทำเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นมาสักครั้งเดียวก็อาจ-อดเลื่อนขั้นได้ แต่นายตำรวจอย่าง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กลับได้สิทธิพิเศษให้ต้องรั้งตำแหน่งนี้เพียงแค่ 6 เดือน ส่วน พล.ต.ต.จิรภพ ก็แค่ 1 ปี แล้วจะให้ตำรวจนายอื่นๆ เขามีขวัญกำลังใจ อยากทำงานอย่างซื่อตรง อยากยึดถือหลักเกณฑ์ได้อย่างไร” รังสิมันต์ กล่าว

โรม

กังขาใช้ไม่ใช้กฎ ก.ตร. แต่งตั้งโยกย้าย แต่ปล่อยให้ใช้คำว่า ‘จิตอาสา’ ในการแทรกแซงการบริหารราชการตำรวจ

รังสิมันต์ ได้กล่าวถึงปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายในประเด็นต่อไปว่า จากหนังสือขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง ที่ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ส่งถึง ผบ.ตร. นอกจากเรื่องการกระทำแบบไม่มีอำนาจหน้าที่ การขอนอกหน่วยตัวเหตุผลในการขอสนับสนุนก็ชวนให้ตั้งคำถาม เพราะได้อ้างว่านายตำรวจที่ระบุชื่อไว้ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 หลักสูตรประจำ และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา 904 ได้มอบหมายภารกิจแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นประโยชน์และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา 904 จึงขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง

“เพราะอะไร ทำไมการอบรมหลักสูตรจิตอาสา การปฏิบัติตามภารกิจของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา จึงกลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นายตำรวจคนใดคนหนึ่ง สมควรได้รับการแต่งตั้งได้ ในเมื่อตำรวจเองก็มีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามกฎ ก.ตร. อยู่แล้ว แล้วเพราะเหตุใดกัน ทำไมงานในการแจ้งรายชื่อผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา และปฏิบัติตามภารกิจของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา ไปยัง ผบ.ตร. จึงต้องเป็นบทบาทของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กฯ ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกระทำการเช่นนี้ได้”

รังสิมันต์ อธิบายต่อไปว่า  จากโครงสร้างของ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา และหลักสูตรจิตอาสา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.”   โครงการนี้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการของโครงการขึ้นมาเป็นผู้กำหนดนโยบายและภารกิจ โดยประธานกรรมการอำนวยการนั้น ชื่อของเขาคือ ‘พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล’ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง, ราชเลขานุการในพระองค์, ประธานกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และรองประธานกรรมการ หนึ่งในนั้นมีชื่อของ พล.อ.จักรภพ ภูริเดช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และ ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรรมการอำนวยการ หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ พล.อ.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ อดีตผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

“พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ก็คือพี่ชายแท้ๆ ของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ส่วน พล.อ.จักรภพ ก็คือพี่ชายแท้ๆ ของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช และ พล.อ.ฐิติราช คือพี่เขยที่แต่งงานกับพี่สาวของ พล.ต.ต.จิรภพ นั่นเอง ซึ่งแต่ละคนนี่ก็ล้วนเป็นคนที่มีชื่อ มีชั้น มีบารมี และได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ มาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว และหากไล่ดูไทม์ไลน์ของคู่พี่น้องจะเห็นจุดที่น่าสนใจด้วยว่า ปี 2560 ผู้เป็นพี่อย่าง พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ, ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประธานข้าราชบริพาร จากนั้นถัดมาอีกปีเดียว คือในปี 2561 ผู้เป็นน้องอย่าง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ก็ได้เริ่มต้นมหากาพย์การยกเว้นหลักเกณฑ์แบบแฮททริก 3 ครั้งติดต่อกัน จนเลื่อนขั้นไปถึง รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง อีกคู่ก็เช่นกัน ปี 2560 พล.อ.จักรภพ ได้รับแต่งตั้งเป็นรอง ผบ. หน่วยถวายความปลอดภัย และ ผบ. ทหารมหาดเล็กฯ ถัดมาปีเดียว พล.ต.ต.จิรภพ ก็ได้ยกเว้นหลักเกณฑ์เกือบ 4 ปี เลื่อนขั้นไปเป็น ผู้บังคับการปราบปราม เรียกได้ว่าพอพี่โตแล้ว ต่อมาเพียงปีเดียวน้องก็โตตามมาติดๆ ความพอเหมาะพอดีของจังหวะเวลาแบบนี้ จึงทำให้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตรไปยกเว้นหลักเกณฑ์ให้กับ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.ต.จิรภพ เป็นเพราะเห็นถึงความเหมาะสมอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดไม่มีเหตุผลที่จะไม่ยกเว้นให้ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงเพราะเห็น ‘นามสกุล’ ของทั้งสองคนนี้ ก็หมดคำถามค้างคาใจ ยกเว้นให้ในทันที เป็นอย่างไหนกันแน่ ”

ทั้งนี้ เมื่อลงไปดูรายละเอียด ‘โรงเรียนจิตอาสา’ ชื่อของผู้บัญชาการโรงเรียนจิตอาสา ก็คือ พล.อ.จักรภพ ภูริเดช สรุปแล้วกระบวนการแต่งตั้งตำรวจ ทำงานกันแบบนี้หรือ โรงเรียนที่คุมโดยพี่ชายของ พล.ต.ต.จิรภพ เปิดให้นายตำรวจเข้าไป ‘อบรม’ หลักสูตรจิตอาสา พอนายตำรวจคนไหน ‘ผ่าน’ แล้ว ก็ส่งชื่อให้ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ เดินเรื่องทำหนังสือขอสนับสนุนไปยัง ผบ.ตร. ให้แต่งตั้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ไปกองบัญชาการนั้น ไปกองบังคับการนี้ ที่อาจไม่ได้เป็นต้นสังกัดอะไรกับตัว พล.ต.ท.ต่อศักดิ์เลย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดของโรงเรียนจิตอาสานี้ อยู่ภายใต้การกำหนดนโยบายและภารกิจของคณะกรรมการ ที่มีพี่ชายของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ เป็นประธาน มีพี่ชายและพี่เขยของ พล.ต.ต.จิรภพ เป็นรองประธานและเป็นกรรมการ กระบวนการแบบนี่ ถูกต้อง ชอบธรรม เหมาะสม คู่ควรแล้วหรือ

“ถ้านี่คือเหตุผลอันสมควรแล้วที่จะสนับสนุนนายตำรวจให้ได้รับแต่งตั้ง หมายความว่าต่อจากนี้ไป ถ้าตำรวจคนไหนอยากได้เลื่อนขั้น หรืออยากได้โยกย้ายไปอยู่ในสังกัดที่ต้องการ สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การไปปราบปรามโจรผู้ร้าย ไม่ต้องไปคุ้มครองชาวบ้านให้พ้นภยันตราย ไม่ต้องไปสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม ไม่ต้องไปควบคุมดูแลการจราจรให้เรียบร้อยปราศจากอุบัติเหตุ ไม่ต้องไปสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์กันเป็นเดือนเป็นปี แต่ให้ไปฝึกอบรมจิตอาสา แค่ 6 สัปดาห์ พอจบหลักสูตรกลับมาเดี๋ยวจะมีคนเดินตั๋วให้ อย่างนั้นใช่หรือไม่  ถ้าอย่างนั้นแล้วตำรวจที่ทำงานที่เป็นหน้าที่ของตัวเองจริงๆ แบบเต็มเวลา คอยช่วยเหลือประชาชนแทบเป็นแทบตาย มีความดีความชอบสู้ตำรวจที่ไปเข้าฝึกจิตอาสาไม่ได้ อย่างนั้นหรือ”

“การเอาหลักสูตรจิตอาสาฯ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ มาเป็นปัจจัยในการได้การสนับสนุนแต่งตั้ง เท่ากับเป็นการบอกว่า การแสดงความจงรักภักดีคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ได้รับสิทธิพิเศษใช่หรือไม่และหากตำรวจที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้คือตำรวจผู้จงรักภักดี แล้วกับตำรวจนายอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วม หรือไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วม หมายความว่าตำรวจเหล่านั้นไม่ได้จงรักภักดีมากพอหรือ ในอนาคต ตำรวจที่อยากเลื่อนขั้นไว อยากย้ายไปอยู่ในที่ที่ตัวเองฝัน จะต้องแสดงความจงรักภักดีด้วยการวิ่งทุกทางเพื่อให้ได้เข้าฝึกอบรมใช่หรือไม่ นี่คือมาตรฐานใหม่ของการแต่งตั้งนายตำรวจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมีส่วนร่วมสร้าง ใช่หรือไม่”

ตั๋วพี่ต่อ สู่โรงเรียนจิตอาสา ปูทางระบบอุปถัมป์ สร้างเครือข่ายหากินบนความจงรักภักดี

รังสิมันต์ ได้ให้รายละเอียดต่อไปว่า จากข้อมูลจะเห็นเลยว่าหนังสือขอสนับสนุนที่มีการระบุชื่อ ‘พี่ต่อ’ หรือ ‘ตั๋วพี่ต่อ’ ฝากฝังนายตำรวจกันไปทั้งสิ้นถึง 161 คน กระจายไปยังหน่วยงานตำรวจต่างๆ ถึง 16 แห่ง ซึ่งไม่ใช่น้อย เมื่อกิจกรรมแบบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตัวละครเหล่านี้ก็จะสร้างบารมีให้นายตำรวจทั้งหลายที่หวังใหญ่ใฝ่สูงต่างพากันเข้ามาหา ‘โรงเรียนจิตอาสา’ จะกลายเป็นพื้นที่ให้คนกลุ่มหนึ่งอ้างความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้หากินบนความจงรักภักดีกันต่อไป พฤติกรรมเช่นนี้คงต้องเรียกว่าเป็น ‘เอเย่นต์’ ขายตั๋วในวงการตำรวจ ที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการ เป็นล่ำเป็นสัน พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่กลับปล่อยให้มีขบวนการที่นำโดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นตำรวจ เอาโครงการในพระราชดำริที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งนายตำรวจ มาใช้เป็นเงื่อนไขในการสนับสนุนให้ตำรวจคนใดคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้ง ยังเรียกตัวเองว่าเป็นผู้จงรักภักดีได้อีกหรือ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ยังปล่อยให้คนกลุ่มเดียวกันมีอำนาจสั่งการ ผบ.ตร.ให้โอนย้ายตำรวจจำนวนมากไปอยู่ในหน่วยงานนอกสังกัดตร. อีกด้วย  โดยในปี 2562 มีหนังสือจากสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ ลงนามโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ส่งถึง ผบ.ตร. ความว่า “ด้วยกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จะดำเนินการคัดเลือกนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มาบรรจุลงใน กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” จึงขอให้ สตช. ดำเนินการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ ซึ่ง พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ เป็นบุคคลที่อยู่นอก สตช. แต่กองบัญชาการทหารมหาดเล็กฯ กลับจะมาดำเนินการคัดเลือกนายตำรวจ เพื่อเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งมีผู้บัญชาการคือ พล.อ.จักรภพ ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่อยู่ใน สตช. ขณะที่กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เป็นหน่วยงานที่อยู่ใน สตช. สังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง ผู้บังคับการในขณะนั้นก็คือ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ที่ทำหนังสือขึ้นมา

คำถามคือเหตุใด การคัดเลือกตำรวจไปบรรจุในหน่วยงานของ สตช.เองก็น่าจะเป็นเรื่องที่ ผบ.ตร. หรือ ก.ตร. ต้องพิจารณากันเอง แต่กลับเป็นเรื่องที่หน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินการคัดเลือกให้ได้ ทำราวกับว่านี่คือพี่น้องเล่นขายของกัน แต่เรื่องแบบนี้ แทนที่ สตช. จะคัดค้านว่าไม่ใช่หน้าที่ของคนสั่ง ก็ยังไปรับลูกต่อ โดย พล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ขณะนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยตรวจสอบกำลังพล แล้วส่งตัวไปคัดเลือก กำหนดคุณสมบัติว่าต้องมีบุคลิกภาพดี สูง 170 - 180 ซม. ขาไม่โก่ง ไม่ผอมกะหร่อง ไหล่ไม่เอียง ไม่สวมแว่นตา ไม่มีภาระทางครอบครัว ไม่มีภาระหนี้สิน โดยที่ก็ไม่ได้ชี้แจงเลยว่าจะคัดเลือกไปทำอะไร บอกแค่สั้นๆ ว่า “สำหรับปฏิบัติภารกิจที่ ตร.จะมอบหมาย”

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งจาก พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. สั่งว่าตำรวจคนไหนไม่เข้ารับการคัดเลือก ก็ให้ตรวจสอบหาสาเหตุ พร้อมรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องชัดเจน จึงน่าแปลกว่า ถ้าตำรวจบางคนเขาจะสละสิทธิ เหตุใดต้องไปทำประวัติเขาด้วย หลังคัดเลือกเสร็จ ก็มีหนังสือภายใน สตช. รายงาน ผบ.ตร. ว่าจะส่งตำรวจที่ผ่านทั้งหมด 1,319 นายไปฝึกต่อที่ศูนย์ฝึกตำรวจศาลายา โดยระบุว่าจะให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็น ‘ข้าราชบริพาร’ จากที่ยังเป็นตำรวจใน สตช. อยู่ๆ ก็จะกลายไปเป็นข้าราชการประเภทอื่น ขณะที่ นายตำรวจที่ติดปัญหาส่วนตัวไม่สามารถไปได้ 66 นาย ถูกกรรมการตรวจสอบชี้ว่า ขาดภาวะผู้นำ เป็นแบบอย่างที่ดีไม่ได้ เลยให้ส่งไป ‘ปรับทัศนคติ’ โดยมี ผบ.ตร. ลงนามสั่ง ทั้งนี้ ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีคนที่ไม่ใช่ตำรวจมาสั่งให้ สตช. เอาคนของตัวเองไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ วันก่อนสั่งอย่าง อีกวันหลังเปลี่ยนใจไปสั่งอีกอย่าง กระทั่งจะจับไปอยู่นอกวงการตำรวจกันหน้าตาเฉย โดยระดับบนๆของ สตช. ก็รับลูกตามทุกอย่าง สร้างความสับสนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชานับพันนาย

เรื่องแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ที่คุมตำรวจอยู่ตลอดช่วงเวลาที่กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น ตามหน้าที่จะต้องลงมาดูตั้งแต่แรกว่ามันเกิดความสับสนอลหม่านแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร แต่ผลปรากฏว่าหายหัวไปไหนก็ไม่รู้ทั้งสองคน ความคลุมเครือและสับสนที่เกิดขึ้น ทำให้มีตำรวจอีก 100 นายไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการฝึกตำรวจราบในพระองค์ เพื่อปรับโอนย้ายไปอยู่ในหน่วยงานที่พวกเขาไม่รู้จัก เพราะผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นหากมีการย้ายสังกัด คือพวกเขาจะต้องหลุดออกจากเส้นทางการเติบโตในอาชีพตำรวจตามโครงสร้างปกติ จากที่ยังพอคาดหมายได้ว่าอนาคตจะได้เลื่อนขั้นไปเป็นตำแหน่งอะไรได้ในเวลากี่ปีๆ ผ่านการดูกฎ ก.ตร. ฉบับต่างๆ สามารถวางเป้าหมายในชีวิตได้ กลายเป็นต้องเข้าไปสู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก และเรื่องควรจะจบลงที่ตรงที่เมื่อทั้ง 100 คนไม่ขอรับตำแหน่ง ก็ควรได้กลับไปทำงานที่เดิม  แต่ไม่จบเพราะปรากฏว่า สตช. มีคำสั่ง ลงนามโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการฝึกอบรม ‘ธำรงวินัยตำรวจ’ นานถึง 9 เดือน ซึ่งโครงการนี้ยังตั้งวงเงินรวมกว่า 12 ล้านบาท เป็นภาษีประชาชนที่จ่ายไปเพียงเพื่อลงโทษตำรวจที่ไม่สมัครใจร่วมโครงการงงๆ ที่สั่งมาจากคนนอก สตช.

“พอคำสั่งธำรงวินัยออกมา มีตำรวจ 3 นาย ลาออกทันทีเพราะรับไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาต้องประสบพบเจอส่วนอีก 97 นายถูกส่งไปธำรงวินัย เท่าที่ทราบจากตำรวจที่ถูกลงโทษ ปรากฏว่า เดือนที่ 1 พวกเขาถูกส่งตัวไปที่ จ.ยะลา สัปดาห์แรกต้องเข้าป่า ห้ามอาบน้ำ บางวันห้ามกินข้าว สัปดาห์ต่อๆ มา ก็เป็นการฝึกท่ามือเปล่า ท่าพระราชทานกลางแดดร้อน ฝึกราวกับพวกเขาเป็นคนไร้ระเบียบวินัย ทั้งๆ ที่พวกเขาก็อยู่ใน 873 คนที่ผ่านการฝึกมา การันตีแล้วว่ามีวินัยสูง อีก 8 เดือนที่เหลือก็ถูกส่งตัวมาฝึกต่อที่ศูนย์ฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจกลาง หนองสาหร่าย จ.นครราชสีมา  รวมระยะเวลา 9 เดือน ที่ตำรวจ 97 นาย หายไปจาก สน. หายไปจากท้องที่ หายไปจากงานที่ตัวเองเคยรับผิดชอบ ต้องห่างพ่อห่างแม่ ไกลจากลูกเมีย ส่งผลกระทบเกิดเป็นความเสียหายทั้งต่อราชการ และต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวนายตำรวจเหล่านี้ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร ก็ยังหายหัวไปไหนก็ไม่รู้

“และไม่ใช่ว่าธำรงวินัยเสร็จสิ้นครบ 9 เดือนแล้วเรื่องมันจะจบ เพราะภายหลังจากที่ตำรวจทั้ง 97 นายได้กลับมาจากการฝึก แทนที่จะให้พวกเขากลับมาทำงานตามปรกติ ได้เติบโตกันไปตามหลักเกณฑ์ในกฎ ก.ตร. ตามลำดับอาวุโสของแต่ละคน พวกเขากลับถูกดองไม่ให้โต ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้รับการมอบหมายงานที่จะได้แสดงความสามารถ ได้ทำแต่งานอำนวยการ งานธุรการ”

“นี่คือจดหมายที่เขียนขึ้นโดยตำรวจ 97 คน ส่งถึง ผบ.ตร. หัวเรื่องคือ “ขอความเมตตา” โดยเนื้อหาในจดหมายเล่าว่าจากการที่พวกเขาต้องเข้ารับการธำรงวินัย ผ่านการฝึกสารพัดรายการดังที่ได้ระบุไว้นั้น บัดนี้พวกเขามีความพร้อมที่จะพิทักษ์รับใช้ประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แล้ว ขอเพียงความเมตตาจาก ผบ.ตร. ให้พวกเขาได้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎเกณฑ์ที่มี ให้โอกาสพวกเขานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ตามแต่จะมอบหมาย อย่าได้ดองพวกเขาอีกต่อไปเลย”

“สิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดสำหรับตำรวจกลุ่มนี้ เขียนไว้ในจดหมายฉบับนี้คือประโยคที่ว่า พวกกระผมมีความรักในอาชีพตำรวจอย่างแท้จริง แม้จะถูกลงโทษให้เข้ารับการธำรงวินัยนานถึง 9 เดือน ก็ยอมรับแต่โดยดี ไม่ปริปาก เพียงแค่หวังว่าผู้บังคับบัญชาจะเห็นใจและให้โอกาส พวกกระผมมีความจงรักภักดีต่อสถาบันจากใจจริง เพียงแต่ความจำเป็นทางครอบครัวที่ทำให้ไม่พร้อมที่จะโอนย้ายไปยังหน่วยงานดังกล่าว….”

 “......ความจงรักภักดีนั้นสามารถแสดงออกได้หลายวิธี การทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด การดูแลประชาชนซึ่งเปรียบเหมือนลูกหลานของพระองค์ท่าน คือการแสดงความจงรักภักดีของพวกกระผม แม้วันหนึ่งอาจต้องเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็จะไม่เสียใจเลย ที่ได้เกิดเป็นตำรวจและได้ทำงานในหน้าที่ที่พวกผมรัก”

เปิดตั๋วตำรวจหลากชนิด ตั๋ว ผบ.ตร. - ตั๋ว สร.1- ตั๋วนายป้อม

รังสิมันต์ ยังกล่าวต่อไปว่า ตั๋วตำรวจยังมีอีกหลายประเภทนอกเหนือจากกรณีที่กล่าวไปแล้ว หนึ่งในนั้นอาจเรียกว่า ‘ตั๋ว ผบ.ตร.’ เพราะมันคือบัญชีแต่งตั้งของ ผบ.ตร. รวมรายชื่อตำรวจ 1,642 นาย น่าแปลกที่ ตำรวจมีนับแสนนาย แต่บัญชีแต่งตั้งของ ผบ.ตร กลับมีไม่ถึง 2 พันชื่อ มีการเขียนโน้ต ‘ผบ.ตร.’ กำกับไว้ข้างท้าย ซึ่งที่ขอๆ กันมาไปเช็คดูแล้ว ได้ตามที่ขอกันหมดทุกคน

อย่างไรก็ตาม ตั๋ว ผบ.ตร. พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร อาจไม่รู้ พอไปดูอีกบัญชีรายชื่อและประวัตินายตำรวจจะพบข้อความกำกับ เขียนว่า ‘สร.1’ ซึ่งก็คือรหัสวิทยุที่หมายถึงนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเช่นเดียวกันกับของ ผบ.ตร. รายการตำรวจของ สร.1 ที่ขอสนับสนุนแต่งตั้งมีอยู่นับร้อยคน เช็คดูแล้ว ก็ได้รับแต่งตั้งกันถ้วนหน้าเช่นกัน นอกจากนี้ ในเอกสาร สร.1 ยังมีเรื่องน่าสนใจอยู่อีก เพราะมี พ.ต.ท. คนหนึ่ง ตำแหน่งรองผู้กำกับการ จะขอย้ายสังกัด แต่มีตัวอักษรเขียนด้วยลายมือว่า “นายป้อมให้เข้า ฝอ.” พอไปตรวจสอบก็พบว่า พ.ต.ท. คนนี้ สุดท้ายก็ได้จริงๆ  ตามที่ “นายป้อม” ให้ คือไปเป็นรองผู้กำกับฝ่ายอำนวยการที่ภูธรภาค 1 ก็ไม่รู้ว่า ‘ป้อม’ ไหน

เบิกเนตร ‘ตั๋วช้าง’ อภิมหาตั๋ว เปิดทางได้ทุกกรณี

นอกจากตั๋วที่ว่ามา รังสิมันต์ ระบุว่า ยังมีอีกตั๋วอีกชนิด ที่เมื่อช่วงต้นปี 2562 มีการเขียนขอสนับสนุนแต่งตั้งให้นายตำรวจจำนวน 20 นาย ให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามที่ขอ ซึ่งจากชื่อ 20 คนนี้ จะพบกับนายตำรวจจากหลากหลายสังกัด แต่ได้ยินนามสกุลจะต้องมีร้องอ๋อ เช่น พ.ต.อ.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้มีศักดิ์เป็นหลายชายของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. หรือ ร.ต.อ.ชานันท์ ชัยจินดา บุตรชายแท้ๆ ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ซึ่งเป็น ผบ.ตร. ณ เวลาที่มีการขอสนับสนุน ซึ่งก็ได้ไปอยู่ที่ชอบๆ กันถ้วนหน้า โดย พ.ต.อ.ภูมินทร์ และ พ.ต.อ.สมบูรณ์ ต่างดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ ไม่ครบ 5 ปี แต่ ก.ตร. ก็มีมติยกเว้นหลักเกณฑ์ให้กับทั้งคู่ ได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเป็น รองผู้บังคับการ โดยมีเอกสารอีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ทำถึง ครม. เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ขอให้มีมติยกเว้นหลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเลื่อนขั้น ร.ต.อ. ชานันท์ ชัยจินดา จาก รองสารวัตร เป็น สารวัตร ซึ่งต่อมา ครม. ก็มีมติอนุมัติตามที่ ผบ.ตร. เสนอ ส่งผลให้ ร.ต.อ.ชานันท์ได้เลื่อนขั้นไปเป็น สารวัตร ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  เป็นอีกหลักฐานที่ยืนยันว่าหลังจากมีตั๋วนี้ออกมาแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่ช่วยให้นายตำรวจในตั๋วได้เลื่อนขั้นตามที่ขอก็เกิดขึ้นจริง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี มีส่วนในการอนุมัติด้วย

“ที่ผมสนใจบรรดาตั๋วที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพราะทำให้ผมนึกถึงข่าวที่ผมเคยอ่านเจอ เป็นสกู๊ปหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่กล่าวถึง ตั๋ว หรือจดหมายฝากตำแหน่งที่ดีที่สุดและไม่เคยได้รับการปฏิเสธไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไร ตั๋วที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการตำรวจเท่านั้น”

จากนั้น รังสิมันต์ จึงได้นำตั๋วช้างนำมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว โดยเอกสารดังกล่าว เป็นหนังสือจากสำนักราชเลขานุการในพระองค์ 904 ลงวันที่ 23 มกราคม 2562 เรื่อง ขอรับพระมหากรุณาธิคุณ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เนื้อความระบุว่า ผบ.ตร. ได้มีหนังสือส่งมายังหน่วยงานที่ออกเอกสารฉบับนี้ ขอให้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า สตช. จะมีคำสั่งแต่งตั้งปรับย้ายข้าราชการตำรวจในสังกัดประจำปี 2561 จึงใคร่ขอรับพระมหากรุณาธิคุณในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจำนวน 16 นาย และแต่งตั้งดำรงตำแหน่งใหม่จำนวน 4 นาย โดยอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ข้าราชการตำรวจที่มีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ และขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ ท้ายหนังสือฉบับนี้ลงลายมือชื่อกำกับโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ในตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ และลงลายมือชื่อให้ความเห็นชอบห้อยท้ายอยู่ข้างล่างโดยอีก 2 คนที่ขอไม่เอ่ยนามในที่นี้ บอกได้เพียงว่าคนหนึ่งเป็นผู้หญิง อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชาย

“คงไม่ต้องสาธยายกันอีกแล้วว่า พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์เป็นราชเลขานุการ ทำงานอยู่ที่สำนักพระราชวัง ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรอยู่ใน ก.ตร. เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะมาเป็นผู้รับเรื่องจาก ผบ.ตร. เพื่อไปเสนอขอให้เลื่อนตำแหน่งให้ตำรวจได้ หรือตัว ผบ.ตร. เอง ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรที่จะไปส่งชื่อให้คนที่อยู่นอก สตช. นอก ก.ตร. ให้ไปเสนอขอให้เลื่อนตำแหน่งให้ตำรวจคนนั้นคนนี้ได้ นี่ยังไม่นับว่า ผบ.ตร. อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนส่งชื่อลูกตัวเองด้วย และสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน ก.ตร. และรัฐบาลนั้น แค่เรื่องการปล่อยให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการตำรวจ ก็ถือเป็นความผิดมากพอที่จะทำให้ท่านไม่คู่ควรแก่การเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วแต่ที่ร้ายแรงที่สุด ที่ ผบ.ตร. ส่งเรื่องให้ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ แล้ว พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ก็รับเรื่องไป “เสนอขอ” ให้เลื่อนตำแหน่งให้นายตำรวจนั้น ถามว่าไปขอกับใคร?  คำตอบอยู่ในหัวเรื่องของหนังสือแล้วครับ ว่ามันคือการ “ขอรับพระมหากรุณาธิคุณ””

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร กล้าดีอย่างไร จึงได้บังอาจปล่อยให้ ผบ.ตร. ที่เป็นคนใต้บังคับบัญชา ไปติดต่อกับคนของส่วนราชการในพระองค์ที่ไม่ได้มีธุระกงการอะไรกับงานตำรวจเลย แล้วไปดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีส่วนในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการโยกย้ายนายตำรวจใน สตช. ที่เป็นข้าราชการซึ่งไม่ได้อยู่ใต้สังกัดของส่วนราชการในพระองค์ด้วยซ้ำ ซึ่งตนไม่เชื่อเด็ดขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะไม่รู้ว่ามีเรื่องใหญ่หลวงขนาดนี้วนเวียนอยู่ในวงการตำรวจภายใต้การดูแล  และขนาดว่ามีหลักฐานตำตาเป็นหนังสือชัดขนาดนี้ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จึงไม่เคยดำเนินการอะไรกับบุคคลที่ทำหนังสือฉบับนี้ และบุคคลที่เอาหนังสือฉบับนี้ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเลย เหตุไฉนจึงยังปล่อยให้คนที่เอาพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างในเรื่องที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ให้สามารถลอยนวลอยู่ต่อไปได้

การมีอยู่ของหนังสือฉบับนี้ การมีอยู่ของตั๋วประเภทนี้ ทำให้ในปัจจุบันวงการตำรวจเกิดคำเรียกบรรดาตำรวจที่ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้แล้วว่าเป็น ‘ตำรวจพระราชา’ ซึ่งไม่ได้เป็นการเชิดชูพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่เคารพเทิดทูนแต่อย่างใด เรื่องแบบนี้ แค่คิดก็ผิดแล้ว ยิ่งกระทำออกมา ยิ่งสมยอมให้มีผู้กระทำ ยิ่งผิด หากข้าราชการตำรวจคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งข้าราชการประเภทอื่นๆ ได้รู้ได้เห็นว่ามีข้าราชการบางคนได้มายึดเอา ‘พระมหากรุณาธิคุณ’ เป็นเครื่องสร้างความก้าวหน้าในอาชีพตัวเอง แล้วจะให้พวกเขารู้สึกกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร จะให้พวกเขาเคารพเทิดทูนอย่างสนิทใจได้อย่างไร  พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะรับผิดชอบอย่างไรกับผลกระทบทางความรู้สึกของบรรดาข้าราชการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดจากการออกตั๋วแบบนี้ออกมา 

ทั้งนี้ ตั๋วประเภทต่างๆไม่ได้ให้กันฟรีๆ เท่าที่ทราบ ถ้าเป็นตั๋วทั่วไป ก็อาจตรงไปตรงมา จ่ายเป็นเงินก้อนเดียวจบ ราคาของตำแหน่งต่างๆ มีตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท ในตำแหน่งสารวัตร ไปจนถึง 50 ล้านในตำแหน่งผู้บัญชาการ จริงเท็จอย่างไรเชื่อว่าพี่น้องตำรวจคงรู้กันดี แต่ถ้าเป็นตั๋วที่พิเศษขึ้นมา สิ่งที่ต้องจ่ายบางทีอาจไม่ได้เป็นเงินเสมอไปก็ได้ บางทีอาจมาในรูปของบุญคุณ ในรูปของความภักดี ในรูปของการรับใช้ต่อเนื่องยาวนานเสมือนข้าทาสบริวาร ซึ่งเมื่อคิดถึงราคาตั๋ว ต้องไปเบียดเบียนเอาจากเงินเดือนนายตำรวจแต่ละคนก็ผิดมากแล้ว แต่ถ้ายิ่งคิดไปว่าราคาตั๋วมากขนาดนั้น ตำรวจจะไปจ่ายอย่างไรไหวถ้าไม่หา ‘ลำไพ่พิเศษ’ หรือถ้าราคาตั๋วมันคือการต้องไปคอยช่วยรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับคนที่ออกตั๋วแล้ว เท่ากับว่าสุดท้ายตำรวจก็ต้องไปลงเอยกับการเก็บกินจากบ่อน จากพ่อค้ายา จากขบวนการค้ามนุษย์ จากธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ แทนที่จะกำจัดให้สิ้นซาก ก็กลายเป็นมาหล่อเลี้ยงให้มันดำรงอยู่ต่อไป

การเข้ามาทำหน้าที่ของ พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร หลักฐานที่มีพูดได้เต็มปากว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ควรทำก็ปล่อยปละละเลย สิ่งที่ไม่ควรทำก็ส่งเสริม สร้างปัญหาให้ประเทศและประชาชน ทำเสมือนตำรวจเป็นของเล่นไม่มีหัวจิตหัวใจ ใช้เขาไปสลายการชุมนุม ให้เป็นศัตรูต่อประชาชน ปล่อยให้ตำรวจมีเส้นสายเติบโต เว้นหลักเกณฑ์ให้ด้วยอำนาจตัวเอง ลามไปจนถึงให้คนที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่เข้ามาแทรกแซง แอบอ้างสถาบันหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ในขณะที่ตัวเองก็ลอยหน้าลอยตาแอบอ้างว่าจงรักภักดี แต่ปล่อยให้มีคนเอาสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่ต่อหน้าต่อตา เฉพาะเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลหลายต่อหลายท่าน ที่ออกปากยืนยันว่าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกนำมาอยู่ในการเมือง นี่เป็นโอกาสของพวกท่านที่จะได้ปกป้องสถาบันฯจาก พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร ที่ปล่อยให้คนที่แอบอ้างสถาบันมาหาผลประโยชน์ เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาทำมาหากินในการเมืองและวงการตำรวจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ให้พ้นจากการเมืองสมกับที่อ้างกันไว้เสมอ ช่วยกันเอาบุคคลสองคนนี้ออกไปจากที่ที่พวกเขาไม่คู่ควรตั้งแต่แรก อย่าให้วงการตำรวจต้องแปดเปื้อนอีกต่อไป

“เราต่างทราบกันดีว่าเป็นสิ่งที่อันตรายที่ผมพูด เเต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเเละวงการตำรวจไทย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย เราปล่อยให้ความไม่เป็นธรรมนี้ มันกัดกินสังคมไทยของเราอย่างช้านาน การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ เป็นครั้งที่อันตรายที่สุด ผมไม่รู้ว่าหลังจากวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวผม หลังจากนี้ 3 เดือน ผมจะมีโอกาสเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชนอีกหรือไม่ เเน่นอนไม่ว่าอะไรจะเกิด ผมก็ถือว่าผมได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรของประชาชน สมกับที่ประชาชนเลือกผมเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงอย่างแท้จริง

“ผมยืนยันว่าผมไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพยายามแกะให้เห็นวงจรอุบาทที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการหากิน และหวังว่าพี่น้องตำรวจจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเร็วที่สุด”  รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ผบช.ก.ส่งตัวแทนแจ้งความกองปราบ เอาผิดเพจ 'สนับสนุนปฏิรูปตำรวจ' ใส่ร้ายพัวพันแก๊งขนไอซ์ 1.5 ตันที่ จ.ตาก

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. มอบหมายให้ พ.ต.ท.เอกศิษฏ์ โตอดิเทพย์ รองผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.ปทส. ในฐานะคณะทำงานป้องกันยุทธการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ต.พุฒินันท์ นาสุวรรณ สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ป.เพื่อดำเนินคดีเพจข่าว “สนับสนุนปฏิรูปตำรวจ” ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลังเผยแพร่ข่าวและภาพพร้อมข้อความอันเป็นเท็จ โดยมีการนำเอกสารหลักฐานมามอบให้กับพนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.เอกศิษฏ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเพจดังกล่าวโพสต์หนังสือราชการเป็นคำสั่งให้รายงานชี้เเจงกรณีการจับผู้ต้องหาคดียาเสพติด พร้อมไอซ์ 1,500 กิโลกรัม ในพื้นที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 โดยหนังสือดังกล่าวมีการระบุว่าผู้ต้องหาให้การซัดทอดไปถึงนายทหารและนายตำรวจว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดรายนี้ด้วย พร้อมระบุว่ากรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนไม่ขยายผล เเต่เร่งสรุปสำนวนคดีให้อัยการสั่งฟ้อง ขณะที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เองกลับไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับพนักงานสอบสวนรายนี้ จากกรณีที่เกิดขึ้น พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มีรายชื่อถูกพาดพิงถึงตามคำสั่งนี้ เเละเพจนี้ยังนำหนังสือคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นความลับทางราชการมาเผยเเพร่ อีกทั้งนำภาพของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มาประกอบ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จนทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง 

รอง ผกก.2 บก.ปทส. กล่าวต่อว่า ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มอบอำนาจให้มาแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กับผู้โพสต์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กชื่อสนับสนุนปฏิรูปตำรวจ ที่นำภาพ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มาเผยแพร่คู่กับข้อความและหนังสือราชการที่มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง เนื่องจากกรณีนี้ บช.ภ.6 มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวไปแล้วบางส่วน ซึ่ง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาแต่อย่างใด จึงถือเป็นการกระทำเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง

หนังสือราชการที่ถูกเผยแพร่นั้นเป็นของจริงหรือไม่ ในส่วนนี้ผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า หนังสือราชการเป็นของจริง แต่ทั้งนี้ต้องการจะให้ตรวจสอบว่าหนังสือดังกล่าวมีที่มาอย่างไร มีการนำมาเผยแพร่ได้อย่างไร เนื่องจากหนังสือราชการเป็นเอกสารลับไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ เบื้องต้นได้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความเอาผิดเพจนี้เพียงเพจเดียว รวมทั้งให้กองบังคับการปราบปรามดำเนินการสืบสวนหาที่มาว่าเอกสารดังกล่าวมีการเผยแพร่ได้อย่างไร และมีผู้ใดเกี่ยวข้อง และเป็นผู้โพสต์ แต่หากพบมีการหมิ่นประมาทในลักษณะเช่นนี้อีก อาจจะต้องมีการดำเนินคดีเพิ่มเติม

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ พร้อมกับรับเรื่องไว้ตรวจสอบ โดยขั้นตอนจากนี้จะเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบสวน พร้อมกันนี้จะดำเนินการสืบสวนถึงการได้มาของหนังสือราชการจากเพจดังกล่าวว่า มีใครเป็นเจ้าของและใครเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเพจข่าวดังกล่าวได้มีการโพสต์ภาพและข้อความ จำนวน 2 โพสต์ โดยโพสต์แรก ได้มีการนำรูปภาพของทาง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ และพ.ต.อ.เอกราษฎร์ อินต๊ะสืบ พร้อมข้อความระบุว่าสองตำรวจระดับสูง เกี่ยวข้องคดีขนยาไอซ์ 1,500 กิโลกรัม ภูธรภาค 6 เสนอรายชื่อ กฎหมายและคดีความ (กมค.) เพื่อเสนอแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน แต่สำนวนการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการไม่มีการสอบสวนใดๆ และอีกโพสต์ได้มีการนำหนังสือราชการมาเผยแพร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท