Skip to main content
sharethis

หลู่มิน นักแสดงผู้ชักชวนให้ประชาชนต่อต้านรัฐประหารพม่าถูกจับกลางดึกวันเสาร์ ด้าน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิง NCA ประกาศหนุนขบวนการต้านรัฐประหาร และจะระงับเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่าจนกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน

แถวหน้าสุด คนที่สองจากด้านซ้าย นักแสดงและผู้กำกับชื่อดังชาวพม่า หลู่มิน
แถวหน้าสุด คนที่สองจากด้านซ้าย นักแสดงและผู้กำกับชื่อดังชาวพม่า หลู่มิน (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก Natty in Myanmar)
 

20 ก.พ. 2564 มีรายงานข่าวจาก อรรวี แตงมีแสง อดีตนักข่าวสายอาเซียนจากเพจ Natty in Myanmar ระบุว่า ดาราและผู้กำกับชื่อดัง ‘หลู่มิน’ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกลางดึก เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 โดย หลู่มิน เป็น 1 ใน 6 คนจากวงการบันเทิงกลุ่มแรกที่ถูกออกหมายจับโดยทางการ จากข้อหาละเมิดมาตรา 505 [b] มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หลังจากที่เขาออกมาร่วมประท้วงต้านรัฐประหารกองทัพพม่า และสนับสนุนการทำอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement) หรือชาวพม่าเรียกชื่อเล่นว่า CDM

มาตรา 505 [b]  ตามประมวลกฎหมายอาญา ประเทศเมียนมา กำหนดว่า ผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นข่าวลือหรือเป็นข้อมูลที่อาจจะสร้างความหวาดกลัว หรือยุยงสาธารณชนให้เกิดความแตกตื่น ถือว่ามีความผิด โดยมีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี

นอกจากนี้ มาตรา 505[b] เป็นกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการใช้คำอย่างคลุมเครือ และในอดีต กฎหมายนี้มักถูกนำมาใช้เล่นงานนักเคลื่อนไหว หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

10 กลุ่มชาติพันธุ์ประกาศระงับการเจรจาสันติภาพ จนกว่ากองทัพพม่าจะคืนอำนาจ

21 ก.พ. 2564 มีรายงานผลประชุมออนไลน์ของคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ประกอบด้วย กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) เมื่อตุลาคม 2558 โดยในจำนวนนี้มีกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA, สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU/KNLA และพรรครัฐมอญใหม่ NMSP ร่วมอยู่ด้วยนั้น 

ที่ประชุมออนไลน์ของคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) (ที่มาเพจเฟซบุ๊ก NCA-S EAO)
ที่ประชุมออนไลน์ของคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) (ที่มาเพจเฟซบุ๊ก NCA-S EAO)
 

ล่าสุด เมื่อ 20 ก.พ. ในรายงานของ ThaiPBS ระบุเจ้ายอดศึก รักษาการประธาน PPST และ ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน RCSS เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์จุดยืนของกลุ่ม PPST  5 ข้อ คือ

1. PPST จะสนับสนุนการการประท้วงแบบอารายะขัดขืนของประชาชน ทุกวิถีทาง

2. ให้ปล่อยตัวผู้ประชาชนและนักการเมือง ที่ถูกจับในช่วงกองทัพยึดอำนาจ โดยไม่มีข้อแม้

3. ห้ามใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติ 

4. ยุติการเจรจาสันติภาพตามข้อตกลงหยุดยิงทั่งประเทศ (NCA) กับกองทัพพม่า จนกว่ากองทัพจะคืนอำนาจให้กับประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

5. จะร่วมมือกับนานาชาติ ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ในขณะนี้ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว

สำหรับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิง NCA กับรัฐบาลพม่า ประกอบด้วย

1. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU)

2. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army - RCSS/SSA)

3. แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students’ Democratic Front  - ABSDF) 

4. กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army -DKBA)

5. สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC)

6. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party -ALP)

7. องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization - PNLO)

8. กองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front -CNF) 

และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 มีอีก 2 กลุ่มร่วมลงนาม คือ 

9. สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) 

10. พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP)

 

รัฐบาลทหารพม่าเล็งปราบกลุ่ม ส.ส.ต้านรัฐประหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net