สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ส่งข้าวช่วยบางกลอย ชี้สังคมจับตารัฐแก้ปัญหา

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ส่งข้าวช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ชี้สังคมจับตาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนผืนป่าแก่งกระจาน ขอรัฐแก้ปัญหาตามแนวทาง MOU ด้านคณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอยย้ำ ต้องเยียวยาผลกระทบ 25 ปี เหตุอพยพปี 2539 ไม่รองรับคุณภาพชีวิตชุมชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ส่งข้าวช่วยบางกลอย ชี้สังคมจับตารัฐแก้ปัญหา

21 ก.พ. 2564 ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำข้าว 10 กระสอบ อาหาร น้ำ และเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ มอบให้ชุมชน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านบางกลอยล่างที่กลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และให้กำลังใจชาวบ้าน ย้ำว่าสังคมกำลังจับตามองประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างใกล้ชิด

ธีรเนตร ไชยสกุล ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตนมาเป็นกำลังให้ชาวบ้านบางกลอย เพราะรู้ว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ที่ถูกผลักดันลงมาแล้วในปี 2539 และ 2554 แล้วก็กลับขึ้นไปใหม่เมื่อต้นปีนี้ แต่ว่าความเป็นอยู่ตอนนี้เรื่องการเพาะปลูกก็ไม่ดี และมีสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาผลักดันชาวบ้านออกไปอีก ตนได้ติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดียอยู่และกำลังจับตากันอยู่ จึงย้ำว่าเมื่อมีบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นี้แล้วก็ควรปฏิบัติตามนั้น

“อย่างเจ้าหน้าที่ที่มีการพูดคุย ทำ MOU กับรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามนั้น ให้ทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาล ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอื่นใดที่นอกเหนือกว่านั้นขอให้ชะลอกันไว้ก่อน ทางเราก็ได้สังเกตการณ์อยู่ร่วมกัน คิดว่าวันนี้ต้องมาเป็นกำลังใจให้พี่น้อง เราอยู่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557-2558 เรารู้เรื่องความโหดร้ายในพื้นที่ ความเป็นจริงในพื้นที่ที่ว่าใครอยู่ก่อน อยู่หลัง เรามองแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรมกับพี่น้องเลย”ธีรเนตรกล่าว

แนวทางที่ตนเสนอในการแก้ปัญหา คือการหยุดมองข้ามความเป็นมนุษย์ด้วยการคืนพื้นที่ทำกินที่สามารถปลูกข้าวได้ให้ชาวบ้าน โดยการรังวัดกันแนวเขตพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้อยู่ แล้วมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลรักษาป่า มีพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสม เพราะว่าคนเราต้องกินข้าว ต้องมีที่ทำกินดีๆ ถ้าเกิดเรามองข้ามส่วนนี้ก็เท่ากับมองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนไป ซึ่งเราเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี

“หน่วยงานที่เข้ามาโดยเฉพาะอุทยานฯ ต้องเข้ามาดู เขาอยู่ในพื้นที่มาแล้วเป็นร้อยๆ ปี ป่าก็ยังอยู่ได้ ถ้าให้เขาอยู่ไปอีก เขาก็รักษาไปอีก ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจตรงนี้ ทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเองก็มีอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องพี่น้องกะเหรี่ยง-ชาวเลอยู่ มันก็สามารถแก้ไขปัญหาบนโต๊ะเจรจาได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ยึดหลักการเจรจาในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ยึดแต่กฎหมาย มันจะอยู่กันไม่ได้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะอยู่ลำบากนะ เพราะสังคมเขาจับตาอยู่ ทางพีมูฟเอง คณะราษฎร และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เองเขาจับตาอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงเรื่องนี้นะครับ” ธีรเนตรย้ำ

ด้าน สุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าตนรู้สึกดีใจมากที่พี่น้องเห็นความยากลำบากของตน ตนไม่เคยเห็นหน้าเขา แต่น้ำใจเขามีมากขนาดนี้ พูดอะไรไม่ออกนอกจากบอกว่าขอบคุณมากๆ ที่ผ่านมาชาวบ้านลำบากมากเรื่องการกิน เรื่องข้าว ไปทำงานข้างนอกไม่ได้

“อยู่ที่นี่งานไม่มี ปลูกข้าวก็ไม่ค่อยขึ้น ข้าวสารขาดแคลนมาก จะออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่ได้จากสถานการณ์โควิด เรารู้สึกดีใจที่พี่น้องได้กลับขึ้นไปบางกลอยบน ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้เขากลับขึ้นไปแล้วอยู่ได้ ใช้ชีวิตวิถีวัฒนธรรมแบบเดิม ส่วนใหญ่ที่เขากลับขึ้นไปเพราะที่ทำกินไม่มี สภาพข้างบนตอนนี้กำลังร้อนจัด ยังไม่มีข้าวกิน กำลังรอทำไร่อยู่ปีนี้ ถ้าทำได้ก็จะมีข้าวกิน” สุชาติกล่าว

นอกจากนั้น ตนยังมีข้อเสนอถึงหน่วยงานรัฐให้เห็นความยากลำบากของชาวบ้าน ตนอยากฝากไปที่ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่าไม่ใช่ชาวบ้านไม่เคารพกฎกติกา แต่เหตุผลคือชาวบ้านไม่มีกินจริงๆ ขอให้หามาตรการรองรับและเข้าใจกัน

“ได้โปรดให้ความสำคัญกับพวกเรา อยากขอบคุณผู้ใหญ่ที่เราไปคุยกับเขา แล้วเขามาคุยกับเรา อยากให้เห็นว่าเรามีปัญหาจริงๆ เราไม่ได้สร้างภาพ เราไม่ได้สร้างปัญหา แต่เราไม่มีกินจริงๆ ได้โปรดหาทางออกให้กับเรา ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกคน อยากให้เป็นภาพที่ดี เป็นการแก้ปัญหา หาทางออกที่ดีที่สุด อยากให้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เราเชื่อมั่นเพราะผู้ใหญ่ข้างบนลงมาแล้ว ก็คิดในใจ อยากให้เขามาแก้ปัญหาให้เราจริงๆ” ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยย้ำ

ด้าน พชร คำชำนาญ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ตั้งข้อสังเกตว่า การอพยพโยกย้ายชุมชนจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ลงมาที่บ้านบางกลลอยล่างในปี 2539 มีลักษณะเหมือนไม่มีการเตรียมความพร้อมอพยพชุมชนมาก่อน เนื่องจากข้อมูลรูปแปลงที่ดินทำกินปรากฏครั้งแรกในปี 2550 ซึ่งนับเป็นเวลาถึง 11 ปีหลังนำชาวบ้านลงมาแล้ว เป็นการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยจากการสอบถามชาวบ้าน ขณะนั้นยังไม่มีการจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภครองรับ

“พอไม่มีระบบสาธารณูปโภครองรับ ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่สามารถทำกินได้เลยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเมื่อเราได้ข้อมูลทั้งหมดมาแล้ว ต้องจัดทำข้อเสนอในการจัดหาที่ดินทำกินให้ใหม่สำหรับชาวบ้านกลุ่มนี้ รวมทั้งเยียวยาเป็นค่าเสียโอกาสให้ชาวบ้าน สนับสนุนให้เขาสามารถพัฒนาพื้นที่ได้เป็นพิเศษ เพราะความยากแค้นของชาวบ้านที่ถูกย้ายมาตั้งแต่ปี 2539 เกิดจากการที่เขาไม่มีข้าวกินเหมือนตอนอยู่ใจแผ่นดิน ถ้าอยากคืนสิทธิให้เขา นอกจากจะช่วยเหลือเรื่องปัจจุบันแล้ว ควรหันกลับไปเยียวยาผลกระทบจากความผิดพลาดของรัฐเองด้วย ส่วนชาวบ้านที่อยากกลับใจแผ่นดินก็หามาตรการรองรับต่อไป ค่อยคุยกันที่กระทรวง” พชรกล่าว

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเปิดเผยข้อมูลพื้นที่ทำกินที่สำรวจตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ชี้ว่าได้สำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่บางกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 พบว่า มีราษฎรแสดงตนเข้ารับการสำรวจทั้งสิ้น 97 ราย จำนวนที่ดิน 143 แปลง โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 628 ไร่ มีที่ดินที่สามารถทำกินได้ 85 เปอร์เซ็นต์ และทำกินไม่ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริงร่วมกับคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำข้อมูลและข้อเสนอ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท