Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ทว่า สิทธิดังกล่าวกลับกลายเป็น "สิทธิที่ถูกยกเว้น" โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (คดี 112) ซึ่งเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่ให้สิทธิประกันตัว คือ "น้ำหนักของข้อหา" เพื่อทำให้เหตุผลเรื่องกลัวจำเลยหลบหนีหรือการกระทำความผิดซ้ำมีน้ำหนัก แต่ทว่า การให้เหตุผลของศาลทั้งกลัวการหลบหนีหรือกลัวการกระทำความผิดซ้ำ เป็นเหตุผลที่ขาดข้อเท็จจริงรองรับและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผูู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์
 
ทุกคนควรได้รับสิทธิประกันตัว และถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
 
สิทธิในการประกันตัว หรือหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิทธิที่มาจากหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการคุมขังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงกระทบต่อเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตและร่างกายของมนุษย์ 
 
ทั้งนี้ สิทธิในการประกันตัวและสิทธิที่ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ดังนี้


การไม่ให้ประกันตัว ทำได้หากจำเลย "จะหลบหนี-ทำลายหลักฐาน-ก่อเหตุเพิ่ม"
 
แม้ว่าสิทธิในการประกันตัวจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่สิทธิดังกล่าวก็สามารถถูกจำกัดหรือยกเว้นได้ โดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ในกฎหมาย อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 29 วรรคสาม ที่กำหนดว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี
 
หรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108/1 ได้ระบุว่า "การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว"
 
คดี 112: ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยอ้าง "คดีร้ายแรง" กลัวหลบหนีหรือทำผิดซ้ำ
 
สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จนถึง ปี 2560 จะพบว่า จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ที่ได้รับสิทธิในการประกันตัวคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งหมด แม้ว่าในปี 2561 ที่มี "แนวปฏิบัติใหม่" เกี่ยวกับคดี 112 ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการประกันตัวเพิ่มมากขึ้น แต่พอมาถึงปี 2563 ที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างกว้างขวางอีกครั้ง ก็ทำให้เกิดกรณีไม่ให้สิทธิในการประกันตัวในคดี 112 อีกครั้ง
 
โดยเหตุผลที่ศาลนิยมใช้ในการพิจารณา "ไม่ให้สิทธิประกันตัว" จะแบ่งออกได้อย่างน้อยสองกรณี ได้แก่
 
หนึ่ง ศาลให้เหตุผลว่า "กลัวจำเลยจะหลบหนี" ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (1) ยกตัวอย่างเช่น คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าที่ศาลยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า "ผู้ต้องหาร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังสื่อทั้งในเฟซบุคและเว็บไซต์เป็นวงกว้าง พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งผู้ต้องหาถูกจับตัวตามหมายจับของศาล ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนีได้"
 
หรืออย่างคดีของโอภาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คดีนี้ภรรยาของโอภาสเคยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า "หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง"
 
สอง ศาลให้เหตุผลว่า "กลัวก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ" ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3) ยกตัวอย่างเช่น คดีของจตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ที่แชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ที่ศาลสั่งเพิกถอนการประกันตัวและไม่ให้ประกันตัวอีก โดยให้เหตุผลว่า "หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่า ผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ยอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก"
 
หรือในคดีปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรหรือการชุมนุมของกลุ่ม Mobfest ศาลก็ให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิม หลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก"
 
ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุผลที่ศาลใช้พิจารณาเพื่อไม่ให้สิทธิในการประกันตัวจะแบ่งออกเป็นอย่างน้อยสองกรณี แต่เหตุผลหลักที่ศาลใช้อ้างอิงด้วยเสมอ คือ "น้ำหนักของข้อหา" โดยศาลมักอ้างว่า คดี 112 เป็นคดีร้ายแรง เป็นคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง ทำให้กลัวจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำความผิดซ้ำ ดังนั้น การถูกตั้งข้อหาหรือฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมีโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี จึงมีโอกาสไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
 
ศาลต้องไม่ "สันนิษฐานว่าจำเลยมีความผิด"
 
การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 อาจเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่การไม่ให้สิทธิประกันตัวนั้นเป็นไปอย่างไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น ในคดีการชุมนุมและปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลยโดยอ้างว่า "กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม" มีประเด็นปัญหาว่า การให้เหตุผลของศาลอาจขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยสองประเด็น ได้แก่
 
หนึ่ง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้ทำการจัดการชุมนุมและปราศรับบทเวทีการชุมนุมในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวอาจตีความได้ว่าเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตหรือตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การให้เหตุผลว่ากลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำ ไม่ว่าสิ่งที่กระทำนั้นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายจริงหรือไม่ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การก่อ "เหตุอันตราย" ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ให้จำเลยได้รับประกันตัวตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3)
 
สอง การที่ศาลให้เหตุผลเพื่อไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่จำเลยว่า "กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม" ก็เข้าข่ายผิดจากหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นการ "สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีความผิด" ทั้งที่การดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวกับการชุมนุมของจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่า มีความผิด ดังนั้น การไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

 

สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: สิทธิในกระบวนการยุติธรรมตัดให้สั้นลง สิทธิมีทนายความหายไป

 

ที่มา: https://www.ilaw.or.th/node/5819

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net