บรรษัทพลังงานตะวันตกรายใหญ่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจก๊าซเผด็จการทหารพม่า

นักกิจกรรมในพม่าระบุเน้นเรื่องที่บรรษัทชาติตะวันตกบางแห่งยังคงมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจพลังงานในพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเผด็จการทหาร เรียกร้องให้ต่างชาติถอนทุนเพื่อช่วยกดดันเผด็จการทหาร แต่การคว่ำบาตรด้วยวิธีนี้ ก็มีการประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปด้วยหรือไม่ หรือควรหาวิธีตัดช่องทางธุรกิจของนายพลระดับสูงโดยตรง


ที่มาภาพประกอบ: EarthRights International

นับตั้งแต่กองทัพพม่าโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2564 นักกิจกรรมทั้งในพม่าและต่างประเทศก็เรียกร้องให้บริษัทต่างชาติตัดสายสัมพันธ์กับพวกนายพลระดับสูงที่ก่อร่างสร้างจักรวรรดิธุรกิจของตัวเอง แต่ก็มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นยอมทำตาม

หนึ่งในกลุ่มที่ทำการกดดันนี้คือจัสติสฟอร์เมียนมาร์ มีการมุ่งเป้าไปที่รัฐวิสาหกิจพม่าที่ดูมีลับลมคมในไม่โปร่งใส หลังจากที่วิสาหกิจเหล่านี้กลับมาตกอยู่ในมือของกลุ่มคนระดับสูงของกองทัพอีกครั้ง โดยที่มีบริษัทจากต่างชาติหลายบริษ้ทที่มาลงทุนในภาคส่วนพลังงานก๊าซธรรมชาติของพม่าโดยอาศัยการเป็นหุ้นส่วนกับรัฐวิสาหกิจอย่างเมียนมาร์ออยแอนด์แก็สเอนเตอร์ไพรซ์ (MOGE) ซึ่งมีบรรษัทใหญ่อย่างเชฟรอนและโททัลมีส่วนร่วมด้วย

องค์กรจัสติสฟอร์เมียนมาร์แถลงว่ามันเป็นเรื่อง "ผลประโยชน์ทางธุรกิจอีกตามเคย" ที่นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้จะกลายเป็นผู้เกื้อหนุนเงินทุนแก่เผด็จการทหารพม่าที่โหดเหี้ยมและไร้ความชอบธรรมเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้วในช่วงก่อนปี 2554 ที่พม่ายังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบรัฐบาลกึ่งพลเรือนจากการเลือกตั้งแต่ก็จัดให้กองทัพยังมีอำนาจในเวลาต่อมา

จัสติสฟอร์เมียนมาร์ระบุอีกว่าการรัฐประหารโดยกองทัพทำให้บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดสัมพันธ์กับวิสาหกิจน้ำมันพม่าและกับเผด็จการทหารที่ควบคุมกิจการเหล่านี้

ในกลุ่มบริษัทน้ำมันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ MOGE กลุ่มที่มีหุ้นใหญ่ๆ ในกิจการก๊าซธรรมชาติในพม่าเหล่านี้ได้แก่โททอลบรรษัทสัญชาติฝรั่งเศส และเชฟรอนบรรษัทสัญชาติสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีบรรษัทจากเกาหลีใต้ชื่อ POSCO บรรษัทเปโตรนาสจากมาเลเซีย และ PTTEP จากไทย ที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทพลังงานพม่าด้วย

รัฐวิสาหกิจในพม่าเป็นภาคส่วนที่ทำรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งภาคส่วนพลังงาน MOGE เป็นส่วนที่ทำรายได้มากที่สุด คิดเป็นราว 1,320 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 39,600 ล้านบาท จากค่าเงินปัจจุบัน) ในปี 2559-2560 จากข้อมูลของสถาบันเพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของสหรัฐฯ

นั่นทำให้จัสติสฟอร์เมียนมาร์วิจารณ์ว่ากลุ่มหุ้นส่วนต่างชาติของ MOGE จะเป็นตัวช่วยทำให้เผด็จการทหารยังคงมีรายได้จึงเรียกร้องให้หุ้นส่วนต่างชาติเหล่านี้ถอนการลงทุน

อย่างไรก็ตามบรรษัทสัญชาติเกาหลีใต้ POSCO โต้แย้งว่าวิสาหกิจของพม่าเหล่านี้ "ไม่มีสายสัมพันธ์กับทหาร" โดยอ้างว่ามันมีการส่งรายได้เป็นงบประมาณให้กับกระทรวงเศรษฐกิจของการเงินของพม่าโดยตรง อีกบรรษัทหนึ่งที่ประกาศจะไม่ถอนทุนออกจากภาคส่วนพลังงานของพม่าคือเชฟรอน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มนักกิจกรรมเรียกร้องให้บรรษัทพลังงานต่างชาติถอนการลงทุนจากกิจการรัฐบาลพม่า ก่อนหน้านี้ในช่วงก่อนหน้าที่เผด็จการทหารยังคงมีอำนาจมากในพม่า นักกิจกรรมก็เคยเรียกร้องเรื่องแบบนี้มาแล้วเพราะอยากให้เผด็จการทหารเลิกใช้กำลังรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เชฟรอนและโททอลก็ปฏิเสธจะถอนทุน เชฟรอนยังกล่าวอ้างว่าการลงทุนของพวกเขาในพม่าและในรัฐอำนาจนิยมอื่นๆ จะ "เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ" เพราะจะ "ช่วยจ้างงานคนในประเทศนั้นๆ และช่วยให้เกิดงบประมาณสำหรับโครงการด้านสาธารณสุขและการศึกษากับพวกเขาได้"

ถึงแม้ว่าสิ่งที่บรรษัทเหล่านี้กล่าวอ้างจะมีส่วนจริงอยู่บ้างในเรื่องที่งบประมาณส่วนหนึ่งก็เข้าไปช่วยในภาคสวัสดิการสังคมพม่า แต่ก็มีการสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีพบว่า ถึงแม้บรรษัทเหล่านี้จะถอนทุนออกจากภาคส่วนพลังงานของพม่าในระดับทำให้มีการปิดกิจการสายการผลิต แต่รัฐบาลพม่าจะยังสามารถแปรรูปย้อนกลับให้กลายมาเป็นกิจการของประเทศและขายทอดกิจการต่อให้กับผู้ซื้อที่ไม่สนับสนุนการทำธุรกิจกับเผด็จการได้ นั่นทำให้นักเศรษฐศาสตร์รายนี้มองว่าต่อให้ต่างชาติที่ยังคงเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เผด็จการถอนทุนก็ไม่ทำให้งบประมาณแผ่นดินของพม่าลดลง

นอกจากนี้ในแง่ข้ออ้างเรื่องการจ้างงานแล้ว ท่อก๊าซของพม่าก็เคยถูกกล่าวหามานานแล้วว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รุกไล่ที่ดินทำกินของชาวบ้าน และข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่กองทัพกระทำ นั่นทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เน้นประเด็นพม่าคือฟอร์ติฟายไรท์มองว่าการถอนทุนของต่างชาติอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งได้ถ้าหากทุนเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือคนไม่ดี เช่นถ้าหากฝ่ายเผด็จการทหารแปรรูปให้กลับมาเป็นของรัฐทำให้มีอำนาจเหนือกิจการเหล่านี้เสียเอง อาจจะทำให้สถานการณ์บังคับใช้แรงงานเลวร้ายกว่าเดิม และทำให้ความโปร่งใสขาดหายไปโดยสิ้นเชิงจากที่มีความโปร่งใสในเรื่องนี้น้อยอยู่แล้ว

กลุ่มนักกิจกรรมและกลุ่มสิทธิมนุษยชนหวังว่าจะสามารถทำให้พม่ากลับสู่เส้นทางที่เป็นประชาธิปไตยได้ โดยหวังให้มีการคว่ำบาตรที่เน้นตัวพวกนายพลในกองทัพพม่าโดยตรงรวมถึงธุรกิจส่วนตัวของพวกเขา รวมถึงทำให้บรรษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจกับพวกเขาโดยตรงล่าถอยออกไป เพราะมีแต่วิธีการตัดช่องทางทำเงินของนายพลกองทัพเท่านั้นที่จะสามารถทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชนทั่วไป

เรียบเรียงจาก
Myanmar Coup Puts French, US Oil Majors Back in Spotlight, Voice of America, 19-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท