Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์ระบุชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว แต่รัฐพยายามอ้างข้อกฎหมาย ชี้ต้องยุติการดำเนินการอันจะนำไปสู่การจับกุม ดำเนินคดี และใช้ความรุนแรงทั้งหมด เปิดทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หากดำเนินการใด ๆ กับชาวบ้านอีก พร้อมที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งและยกระดับกดดันมากกว่าเดิม 

 

แถลงการณ์กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย เรื่อง วิกฤตผลิตซ้ำมายาคติกะเหรี่ยงทำลายป่า...

โพสต์โดย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์  2021

 

21 ก.พ. 2564 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่ แถลงการณ์กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย เรื่อง วิกฤตผลิตซ้ำมายาคติกะเหรี่ยงทำลายป่า รัฐเตรียมฝ่าฝืนข้อตกลง ระบุว่าภายหลังกลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชุมชนบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เริ่มมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ และดูเหมือนปัญหาที่เรื้อรังฝังลึกถึง 25 ปีจะเริ่มคลี่คลาย
            
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังลงพื้นที่แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติ ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลับนำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และได้มีการนำภาพพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไปบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ผลิตซ้ำมายาคติกดทับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงด้วยวาทกรรม “บุกรุกป่า เผาป่า และทำไร่เลื่อนลอย” ทั้งที่ข้อเท็จริง ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะจากการนำเสนอของสื่อมวลชนบางฉบับนั้นคือภาพพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของบรรพบุรุษก่อนการถูกกดดันอพยพลงมาในปี 2554 สามารถพิสูจน์ได้จากการอ่านภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ดังนั้นการนำเสนอภาพข่าวจึงเป็นการจงใจบิดเบือนเพื่อทำให้ประชาชนมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่ข้ออ้างเหตุผลในการสนธิกำลังกันเข้าดำเนินการกับชาวบ้าน
            
เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่ามีอย่างน้อย 2 ประเด็นหลัก ที่หน่วยงานรัฐและกลุ่มอนุรักษ์สุดโต่งพยายามใช้ในการทำลายความชอบธรรมชาวบ้าน เพื่อให้เกิดปฏิบัติการจับกุม ซึ่งเราขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้

1. ข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม เราขอชี้แจงว่า ชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม จากการสอบถามชาวบ้าน ย้ำว่า แปลงที่ดินทำกินแบบไร่หมุนเวียนแปลงสุดท้ายที่ถูกถางคือเมื่อวันที่ 12 ก.พ. เป็นเวลา 3 วันก่อนชาวบ้าน 10 คนจะไปปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งแปลงที่ทำกินทั้งหมดยังเป็นพื้นที่ “ไร่ซาก” ที่เป็นที่ทำกินของชุมชนมาก่อนถูกอพยพในปี 2539 และ 2554

2. ข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านเผาป่า แท้ที่จริงแล้วเป็นการเผากำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม ไม่ได้สร้างมลภาวะหรือเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ดังที่มีงานทางวิชาการหลายด้านรองรับแล้ว ซึ่งหลังจากผ่านการแผ้วถางมาแล้วกว่า 1 เดือน ไม้ในไร่หมุนเวียนในแห้งแล้วจึงได้เวลาที่ต้องเผา หากรอนานกว่านี้ ฝนอาจจะตก และทำให้ไม่สามารถทำกินได้เลยตลอดทั้งปี

เรายืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงทุกข้อตามที่เจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อยุติ ในขณะที่รัฐพยายามอ้างข้อกฎหมาย ชาวบ้านกำลังยืนหยัดอยู่ในกฎกติกาแห่งจารีตของบรรพชน กฎหมายที่มาทีหลัง ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะบังคับใช้ในพื้นที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน โดยเฉพาะหากจะนำมาบังคับใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐต้องยุติการดำเนินการอันจะนำไปสู่การจับกุม ดำเนินคดี และใช้ความรุนแรงทั้งหมด ตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันแล้ว เพื่อเปิดทางให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและไม่เกิดการสูญเสียอีก และหากเกิดการดำเนินการใด ๆ ขึ้นกับชาวบ้าน ภาคี #SAVEบางกลอย พร้อมที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และยกระดับกดดันมากกว่าเดิม เพราะเราไม่ได้ฝ่าฝืน รัฐบาลต่างหากที่ฝ่าฝืนข้อตกลง

คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน
21 ก.พ. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net