Skip to main content
sharethis

พม่านัดหยุดงาน ‘22222’ ห้างร้านทั่วประเทศร่วมปิดร้านหยุดงานด้วย ขณะเดียวกัน มวลชนฮือชุมนุมต้านรัฐประหารที่ทวายบ้านเกิด ‘มินอ่องหล่าย’ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐถูกจับกุม 30 รายหลังร่วมแข็งข้อรัฐประหาร ทั้งนี้ รายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า หรือ AAPP ระบุว่ามีผู้ต่อต้านรัฐประหารถูกจับกุมแล้ว 640 ราย

22 ก.พ. 2564  มีรายงานว่าประชาชนทั่วประเทศพม่านัดหยุดงานในแคมเปญ ‘22222’ หรือ “22.2.2021” โดยนอกจากการนัดชุมนุมใหญ่หลายเมืองได้แก่ ย่างกุ้ง เนปยิดอว์ มัณฑะเลย์ พะสิม พะโค มะริด ทวาย หลอยก่อ เมียวดี ผาอัน ปินโหลง หลอยแหลม ท่าขี้เหล็ก ฯลฯ ทั้งนี้มีประชาชนหลายพันคนชุมนุมต้านรัฐประหารที่เมืองทวาย ในภาคตะนาวศรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐประหารอีกด้วย

นอกจากนี้ในเพจ Natty in Myanmar ยังรายงานด้วยว่า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หลายธุรกิจ ได้ประกาศหยุดทำการในวันจันทร์ด้วย

ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่แยกถนนซูเลพญา ตัดกับถนนอโนรธา นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยนักข่าวพลเมือง)

ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ทวาย ภาคตะนาวศรี เมื่อ 22 ก.พ. 64

ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ทวาย ภาคตะนาวศรี เมื่อ 22 ก.พ. 64 (ที่มา: Dawei Watch)

รัฐบาลทหารจับกุมเจ้าหน้าที่แข็งข้อรัฐประหาร

ด้านสำนักข่าวอิระวดี รายงานตัวเลขเจ้าหน้าที่รัฐถูกจับกุมอย่างน้อย 30 ราย หลังเข้าร่วมประท้วงหยุดงาน ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของขบวนการทำอารยขัดขืนต้านรัฐประหาร (Civil Disobedience Movement หรือที่ถูกเรียกชื่อย่อในพม่าว่า CDM) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสองวันหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยกลุ่มอาชีพแรกที่ไม่ขอร่วมกับกองทัพ คือ บุคลากรสาธารณสุข อย่างแพทย์และพยาบาล ก่อนที่ขบวนการนี้จะถูกขยับขยายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐภาคส่วนอื่น ๆ ทั่วประเทศ เช่น พนักงานรถไฟ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ พนักงานการไฟฟ้า ตำรวจ และอื่น ๆ  

ขบวนการ CDM ไม่เป็นผลดีต่อกองทัพอย่างแน่นอน เพราะการทำงานในหลาย ๆ หน่วยงานต้องหยุดชะงัก เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร ส่งผลให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ ต้องออกมาปรามก่อนที่ขบวนการนี้จะลุกลามต่อไป  

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 เนื้อหาส่วนหนึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อกระบอกเสียงของกองทัพ อย่างเพจ True News Information Team บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก โดยเขาออกโรงเตือนบรรดาเจ้าหน้าที่ที่กำลังทำอารยขัดขืน หยุดงานประท้วงว่าให้กลับมาทำงาน หากฝ่าฝืนทางการจะดำเนินมาตรการลงโทษ 

จากแฟ้มภาพประชาไท พล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหาร วันที่ 9 ก.พ. 2564 จากแฟ้มภาพประชาไท พล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหาร วันที่ 9 ก.พ. 2564

 

อีกสองวันถัดมา ผู้นำคณะรัฐประหารออกประกาศยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งส่งผลให้กองทัพสามารถจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตรวจค้นเคหะสถานโดยไม่ต้องให้ศาลออกหมายค้น และควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นระยะเวลามากกว่า 24 ชม. 

นอกจากนี้ กองทัพยังยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของพลเรือน ซึ่งให้อำนาจตำรวจและทหารสามารถสอดส่องข้อมูลส่วนตัวของประชาชน จากทุกช่องทางโทรคมนาคม 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่น อิระวดี รายงานตัวเลขเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืนถูกจับกุม ประมาณ 30 รายจากเมืองเนปยีดอว์ มัณฑะเลย์ และรัฐกะฉิ่น 

ทางการพม่าไล่ปราบหนักขึ้น หลังกดดันเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำ CDM กลับมาทำงานไม่สำเร็จ

อิระวดี ระบุเพิ่มว่า มีรายงานการจับกุมเจ้าหน้าที่ที่เนปยีดอว์ ประมาณ 20 ราย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ 8 คนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เขตแหล่เว กรุงเนปยีดอว์ ถูกจับกุมจากมาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดว่า หากใครฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐ อาจมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทั้งหมดได้รับการประกันตัวออกไปในภายหลัง  

ภาพเจ้าหน้าที่พยาบาล และแพทย์ที่เข้าร่วม CDM จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564

ภาพเจ้าหน้าที่พยาบาล และแพทย์ที่เข้าร่วม CDM จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564

รองผู้อำอวยการ กระทรวงสวัสดิการ ถูกควบคุมตัวที่เนปยีดอว์ หลังจากเข้าร่วมขบวนการ CDM เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ 11 คนถูกจับกุมเมื่อเวลาประมาณตีสี่ของวันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่เขตตั๊ดโกง เมืองเนปยีดอว์ 

รายงานจากเมืองมัณฑะเลย์ ระบุว่า มีพนักงานขับรถไฟโดนจับ 2 รายหลังปฏิเสธไม่ทำงานให้กองทัพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรงงานดูแลและประกอบหัวรถจักรชื่อ “เมียนมา” (Myanma) ที่นครย่างกุ้ง ถูกจับกุมหลังหยุดงานประท้วงเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 

ครูใหญ่โรงเรียนประถม จากเขตมย่องเมียะ ภูมิภาคอิระวดี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 หลังเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการ CDM 

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 2564 มีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทุบตีครูที่กำลังเตรียมตัวไปเข้าร่วมการประท้วงอารยขัดขืนต้านรัฐประหารที่หน้าโรงเรียนวิทยาลัยการศึกษามิตจีนา (Myitkyina Education College) ที่เมืองมิตจีนา รัฐกะฉิ่น และมีการจับกุมครู 2 ราย จากวิทยาลัยดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดถูกปล่อยตัวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน หลังจากองค์กรสร้างสรรค์การเจรจาอย่างสันติ หรือ Peace-talk creation ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองมิตจีนา เป็นตัวกลางช่วยเจรจา ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมวันนั้นเปิดเผยว่า ระหว่างการควบคุมตัว พวกเขาถูกบังคับให้เซ็นยินยอมในเอกสารที่ระบุว่า พวกเขาจะไม่เข้าร่วมการประท้วงต้านกองทัพพม่าที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต 

ทนายซานซานมยิ๊ด จากนครย่างกุ้ง ที่ปรึกษาและช่วยเหลือด้านกฎหมายให้นักกิจกรรมที่เข้าขบวนการร่วมอารยขัดขืน ให้สัมภาษณ์กับทางอิระวดี ให้ความเห็นถึงมาตรการที่ภาครัฐใช้จัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วม CDM ว่า ช่วงที่ผ่านมา กองทัพมีการคุกคามเจ้าหน้าที่รัฐรุนแรงขึ้น มีทั้งการคุมขัง และเล่นงานด้วยกฎหมาย หลังพบว่าไม่สามารถกดดันให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับไปทำงานได้

“ผมอยากจะบอกว่า ไม่ว่าพวกเขา (กองทัพพม่า) จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ (ที่เข้าร่วม) CDM อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คือคนที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่รัฐที่หยุดงานประท้วงไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลย” ทนายซานซานมยิ๊ด ระบุ และกล่าวต่อว่า “CDM สามารถโค่นรัฐบาลทหารได้ ความสำเร็จของพวกเราอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ผมอยากให้คนที่เข้าร่วม CDM ยังคงนัดหยุดงานต่อไป” 

สถิตินักโทษการเมือง พุ่งทะลุ 640 คน มีเจ้าหน้ารัฐถูกจับ 45 คน 

รายงานจาก สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) หรือ AAPP องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่ขณะนี้ทำหน้าที่มอร์นิเตอร์เหตุการณ์จับกุม และคุกคามผู้ประท้วง โดยระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเข้ามาจนถึงวันที่ 19 ก.พ. 2564 มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐบาลทหาร หรือกองทัพ ทั้งสิ้น 569 ราย โดยเป็นผู้ทำอาชีพเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 45 ราย 

ภาพจาก Assistance Association for Political Prisoner (AAPP) สรุปสถิติผู้ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านกองทัพ

ภาพจาก Assistance Association for Political Prisoner (AAPP) สรุปสถิติผู้ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านกองทัพ

นอกจากรายการจับกุมที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีเจ้าหน้าที่วิศวกร แพทย์ อาจารย์ และผู้จัดการท่าอากาศยานพลเรือนถูกตำรวจควบคุมตัวจากกรณี CDM  

แม้จะถูกคุกคามจากรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ที่ประท้วงผละงานหลายรายยังยืนหยัดจะประท้วงต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากองทัพจะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชน

ทั้งนี้ สถิติผู้ถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกจากคดีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 640 ราย โดยใน 640 ราย มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวและออกหมายจับ ทั้งสิ้น 593 ราย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net