Skip to main content
sharethis

23 ก.พ. 2564 ครม. เห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 10 มีผล 1-31 มี.ค. 2564 หลังประกาศครั้งแรกเดือน มี.ค. 2563 อ้างเชื้อกลายพันธุ์ รัฐประหารในเมียนมาทำคนลักลอบเข้าไทย และการชุมนุมทางการเมืองเสี่ยงโรคระบาด

เว็บไซต์รัฐบาลไทยเผยแพร่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 ก.พ. 2564 ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

เดิมเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 9) ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นในประเทศ

วันที่ 18 ก.พ. 2564 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค. 2564 โดยมีเหตุผลและความจำเป็น สรุปผลการประชุม ดังนี้

1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภาพรวมทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค และยังมีการยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และไนจีเรีย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อผลลัพธ์ประสิทธิภาพของวัคซีนในการตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ว่าจะสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ และได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคควบคู่กับการกลับมาใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดอีกครั้ง อาทิ สหราชอาณาจักร และประเทศญี่ปุ่น

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังคงน่าวิตก อีกทั้งการเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมาทำให้มีการชุมนุมของชาวเมียนมาเพื่อประท้วงรัฐบาลเมียนมาในประเทศไทยหลายจุด และอาจเป็นสาเหตุให้มีผู้ลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นภายในประเทศ จนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในหลายพื้นที่ในวงกว้าง ประกอบกับได้พบการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศในแหล่งที่พักอาศัยและในชุมชน อาทิ ตลาด อย่างต่อเนื่อง และยังพบว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในหลายจังหวัดที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายเดิม จึงยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการติดเชื้อในแบบกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศ

3. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า ยังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกกฎหมายปกติในการบูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างเพียงพอในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ 1) การเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2) การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ และ 3) การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ

4. สำนักงานฯ ได้นำผลการประชุมดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564 ในวันที่ 22 ก.พ. 2564 เพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุมและมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป

ด้านโพสต์ทูเดย์รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขยายเวลา พรก.ฉุกเฉินฯ ไม่เกี่ยวกับการเพิ่มอายุราชการทวีคูณ และสิทธิประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้ พรรคฝ่ายค้านได้นำไปเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อสัปดาหห์ที่ผ่านมา จึงขอยืนยันว่าแม้ในกฎหมายจะระบุว่าในช่วงประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จะเปิดให้มีการเพิ่มอายุราชการทวีคูณ หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กัเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ แต่ต้องนำเรื่องเข้า ครม.แต่การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม้ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา จึงขอฝากไปยังฝ่ายค้านให้เข้าใจอย่างถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net