Skip to main content
sharethis

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อจ้างศิลปินนักวาดผู้มีความสามารถในการสร้างตัวละครแทนโรคต่างๆ โดยทำให้กลายเป็นรูปคนแบบการ์ตูนมังงะ/ม่านฮวา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเหล่านี้

ไม่ว่าจะเป็นโรคซิฟิลิส, โรคพิษสุนัขบ้า หรืออีโบลา โรคเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่บนหน้าปกวารสาร "Disease" (โรค) จากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อไต้หวัน โดยทำให้โรคเหล่านี้มีภาพแทนเป็นลักษณะตัวบุคคล ที่ล่าสุดแม้กระทั่งโรค COVID-19 ก็มีการแปลงให้กลายเป็นบุคคลในลักษณะการ์ตูนมังงะ/ม่านฮวา

ภาพการ์ตูน COVID 19

ที่มาภาพ เพจ www.facebook.com/TWCDC เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.63

Chiyou นักวาดรูปเหล่านี้บอกว่า "เพราะโรค COVID-19 เข้ามาในประเทศโดยที่ไม่มีใครสังเกต เราจึงวาดมันให้มีลักษณะคล้ายแฮ็กเกอร์" นอกจากนี้ Chiyou ยังวาดรูปแทน COVID-19 ที่มีหลายมือหลายแขนผุดออกมาจากข้างหลัง เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า COVID-19 ที่เกิดจากโคโรนาไวรัสนี้มีเดือยแหลมเอาไว้เกาะติดกับเซลล์ของคนหรือสัตว์เพื่อทำให้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังวาดมงกุฎเพื่อสื่อให้เห็นถึงประเภทไวรัสคือโคโรนาไวรัสด้วย ("โคโรนา" แปลว่ามงกุฎ)

ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของไต้หวันยังเคยออกปฏิทินที่เต็มไปด้วยภาพวาดตัวการ์ตูนของโรคเหล่านี้บวกกับข้อมูลต่างๆ และมีการนำภาพเหล่านี้ไปใช้กับนิตยสาร Disease พร้อมกับเคล็ดลับในการดูแลตัวเอง

ศิลปินอีกรายหนึ่งชื่อ Hana เป็นผู้วาดรูปการ์ตูนตัวแทนโรคซิฟิลิสและรูเบลลากล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่ท้าทายในการสร้างผลงานภาพวาดออกมาโดยต้องผสมผสานระหว่างบุคลาธิษฐานที่ดูน่าดึงดูดสำหรับโรคหรือกลุ่มอาการที่ดูไม่น่าพิสมัยในโลกความจริง

วาดรูปตัวแทนซิฟิลิส

ที่มาภาพ เพจ www.facebook.com/TWCDC เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ก.ย.63

นั่นทำให้ Hana ตัดสินใจวาดรูปตัวแทนซิฟิลิสเป็นผู้หญิงคนเลี้ยงแกะและมีลายปักบนเสื้อของเธอที่ดูคล้ายอวัยวะเพศจากการที่โรคซิฟิลิสนั้นเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งชื่อตามคนเลี้ยงแกะในตำนานเรื่องเล่าของกวีชาวอิตาเลียนชื่อ ‘Syphilis sive morbus gallicus’ ที่เล่าถึงคนเลี้ยงแกะรายหนึ่งที่ถูกสาปจากเทพอพอลโลให้เป็นโรคร้าย ตัวละครของ Hana ยังมีการแต่งแต้มด้วยจุดสีแดงตามเสื้อผ้าของเธอแทนผื่นแดงซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรค

ถึงแม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่ารูปภาพเหล่านี้จะกลายเป็นการทำให้โรคร้ายแรงดูเป็นเรื่องที่ถูกลดความสำคัญหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนทั่วไปต่างก็ชอบโครงการใช้รูปภาพสื่อเหล่านี้และแม้กระทั่งมีการเรียนรู้โรคต่างๆ เพราะการใช้วิธีนี้

เขาข่ายหลิง จากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของไต้หวันกล่าวว่าการทำให้โรคเหล่านี้กลายเป็นตัวละครจะช่วยดึงดูดความสนใจจากประชาชนได้ ทำให้คนอยากจะหยุดและอ่านเรื่องราวจากตัวการ์ตูนเหล่านี้

นอกจากโรคต่างๆ แล้ว วารสารของไต้หวันยังมีรูปบุคลาธิษฐานตัวละครที่เป็นตัวแทนของ "การกักตัวเพื่อควบคุมโรคติดต่อ" ด้วย


เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net