อีก 4 วันสิ้นกุมภา เพิ่งรับมอบวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจากซิโนแวค 2 แสนโดส 

เพิ่งรับมอบวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจากซิโนแวค 2 แสนโดส ทั้งที่ต้นเดือนระบุแผนฉีดระยะแรก ก.พ.- พ.ค. ย้อนไปปลายเดือน ม.ค. อ้างวัคซีนจะมาต้น ก.พ. ส่วนวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 93 ราย

24 ก.พ.2564 วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นประธานรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 200,000 โดส จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” โดยมีอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารของทุกหน่วยงาน เข้าร่วมในพิธี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ วัคซีนลอตแรกที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมจัดหาเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโด๊ส รองรับการระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัท Astra Zeneca โดยวัคซีนล็อตนี้ เกิดจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การประสานงานจัดหา โดยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกระจายไปสู่ประชาชน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และในเดือนมิถุนายนจะได้รับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยโดยสมัครใจ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ฟื้นเศรษฐกิจ คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย

อนุทิน กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค ที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรกจำนวน 200,000 โดส เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยศุลกากร เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด 19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด

สำหรับวัคซีนงวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือนมีนาคม และงวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนี้ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และจะจัดส่งกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการจัดส่งและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

แผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดสนั้น จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า/เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตามเดิมเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 พ.ศ.2564 และแผนการกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส ภายในปี 2564 ระยะแรก ก.พ.- พ.ค. จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และระยะที่ 2 มิ.ย. – ธ.ค. อีก 61 ล้านโดส

เลื่อนจากฉีดเข็มแรก 14 กุมภา 

ขณะที่ก่อนหน้านั้น 25 ม.ค. 64 นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า วัคซีนจะมาต้นก.พ. แล้วจะต้องมาผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อน และกระจายวัคซีนได้ในสัปดาห์ที่ 2 จากนั้น คาดว่าประมาณ สัปดาห์ที่ 3 ถึงจะสามารถฉีดได้ แต่ปลัดสธ.เสนอให้ฉีดวันที่ 14 ก.พ.อย่างไรก็ตาม การฉีดก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้บุคลากรการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยง เข้าระบบผ่าน Line Official Account ในชื่อว่า “หมอพร้อม” วันที่ 12 ก.พ. ส่วนประชาชนกำลังพิจารณาช่องทางการลงทะเบียนที่เหมาะสมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ท่านรองนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าการฉีดต้องเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ

แผนการฉีดวัคซีน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวของข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

1. ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ

ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ

และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่ มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

ก่อนที่อีก 3 วันจากนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมหารือถึงการจัดการวัคซีน COVID-19 จากแอสตราเซเนกา 50,000 โดสที่มีการสั่งซื้อมาจากอิตาลี จากนั้นทยอยมาอีก 100,000 โดส จนครบ 150,000 โดส ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่าวัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไหร่ แต่อาจไม่สามารถเริ่มการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ.นี้ แต่คาดว่าวัคซีนคงถึงไทยภายในเดือน ก.พ.แน่ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง และทางอียูจำกัดการส่งออกวัคซีน

ศบค.ระบุ วันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 93 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 71 ราย มาจากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 59 ราย จากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 12 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 22 ราย ส่วนผู้ป่วยมีการรักษาหายเพิ่ม 96 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สำนักข่าว Hfocus และสำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท