มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จ่อฟ้องบอร์ดแข่งขันทางการค้าอนุญาตให้ควบรวม เทสโก้ - ซีพี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปักธงฟ้อง วันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคมนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตรียมฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กรณีอนุญาตให้ควบรวม เทสโก้ - ซีพี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเชิญชวนผู้บริโภค เกษตรกร และนักธุรกิจร่วมเป็นโจทย์ฟ้อง

 

24 ก.พ.2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า จากกรณีที่ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีมติอนุญาตให้บริษัทซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมธุรกิจกับบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 โดยให้เหตุผลว่าการรวมธุรกิจทำให้มีอำนาจตลาดเพิ่มแต่ไม่ผูกขาด และจำเป็นต้องควบรวมตามควรทางธุรกิจ นั้น

วันนี้ (24 ก.พ.64) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงมูลเหตุความเสียหายจากมติดังกล่าว ที่มีต่อผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกร และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ความมั่นคงด้านอาหาร และความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อระบบการปกครองและกฎหมายของประเทศ

ปรีดา เตียสุวรรณ์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (พศ. 2551-2552) กล่าวในทัศนะของกรรมการผู้ร่างกฎหมายว่า อำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นเมื่อมีผู้เล่นเจ้าใดเจ้าหนึ่งในตลาดเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าร้อยละ 50 ของส่วนแบ่งในตลาด เพราะผู้มีอำนาจนั้นสามารถที่จะกำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแก่กลุ่มของตนในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทั้งหลาย กลุ่มผู้มีอำนาจจึงสามารถตั้งราคาขายในตลาดต่ำกว่าคู่แข่ง จึงก่อให้เกิดการผูกขาดในสินค้านั้นๆ

ฉะนั้นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้แบ่งตลาดออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ร้านสะดวกซื้อ 2. ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 3. ร้านค้าส่ง จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าที่ราคาถูกกว่านั้นก็ตั้งอยู่ในร้านทั้ง 3 ประเภทอยู่ดี จากเหตุผลข้างต้น การผูกขาดได้เกิดขึ้นแล้วเพราะมีผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 ดังนั้น กรรมการแข่งขันทางการค้าจึงมีหน้าหน้าที่และความรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

ปรีดากล่าวต่อว่า สินค้าอุปโภคบริโภค (Grocery) ถือว่าเป็นสินค้ายุทธปัจจัยที่ประชาชนจะต้องใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อการผูกขาดเกิดขึ้นย่อมต้องกระทบต่อเสถียรภาพของผู้บริโภค สังคมและประเทศ ในท้ายสุดจะมีความกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต กระทบต่อขวัญและจิตใจของประชาชน โดยกังวลว่าสินค้านั้นจะถูกขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผลหรือไม่ หรือจะมีการกักตุนเป็นต้น ลงท้ายด้วยการก่อการประท้วงและจลาจลได้

รวมถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันชองบริษัทที่ประสงค์เข้ามาเป็นคู่แข่ง ขัดต่อการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตของผู้ลงทุนหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี เกิดการกีดกันการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศของผู้ค้าส่ง ผู้ผลิตสินค้า และนักลงทุนในอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสในการได้รับสินค้าที่หลากหลาย ในราคาที่เกิดจากการแข่งขันอย่างแท้จริง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเสริมว่า มตินี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศทำให้ภาคการเกษตรผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพา และอยู่ภายใต้อำนาจการกำหนดชนิดของสินค้าเกษตร และราคาของบริษัทเดียวที่มีอำนาจเหนือตลาดมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กล้วยหอม มีราคาใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าในประเทศในยุโรปหรืออมริกา ทั้งที่ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่า 5-11 เท่า การมีอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาดของบริษัทใดๆ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ตาม จะเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ยากลำบาก

สมชาย อามีน ทนายความในคดีดังกล่าว มองว่า การมีมติที่ให้บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดควบรวมได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า 2560 เนื่องจากการตีความครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและการบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจ การตีความทางกฎหมายที่ฉ้อฉลที่ตีความว่า การมีอำนาจเหนือตลาดกว่าร้อยละ 80 “ไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด” ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบการผูกขาดลักษณะเดียวกันในธุรกิจด้านอื่นๆ ของประเทศต่อไปในอนาคต ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก และผู้บริโภคได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด

กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการฯ มีมติเสียงข้างมากอนุญาตให้เกิดการควบรวมบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นั้น ผลของการควบรวมนี้ก่อให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาดของกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง มากกว่าร้อยละ 83.97 ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซีพีออล จำกัด และบริษัทสยามแมคโคร จำกัด ที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด ดังนั้นเป็นมติที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของพรบ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไม่ให้ภาคธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ในกิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท และขัดต่อสิทธิผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

“สถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 จะเห็นได้ว่าในหลายๆ พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง จะมีการปิดตลาด ปิดร้านอาหารตามกำหนดเวลา ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากเข้าร้านค้าส่ง คือห้างแมคโคร แทนตลาด เข้าร้านสะดวกซื้อเมื่อร้านอาหารปิดหลังสามทุ่ม ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 5 จังหวัด ที่มีเพียงร้านสะดวกซื้อของ 7-11 และเทสโก้โลตัสเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า จังหวัดเหล่านี้เกิดการผูกขาด 100% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในภาวะวิกฤต” กชนุชกล่าว

มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนผู้ได้รับผลกระทบจากมติของคณะกรรมการฯ ได้แก่ สมาคม หรือองค์กรทางการค้าปลีกค้าส่ง นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค เกษตรกร และผู้บริโภคทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคร่วมเป็นโจทก์ฟ้องร้องคณะกรรมการเสียงข้างมากต่อมติดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การแก้ไข และสร้างมาตรฐานมี่ดีต่อการค้าเสรี และการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป ในวันที่ 15 มีนาคม นี้ ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล โดยสามารถติดตามรายละเอียดการนัดหมายได้ที่เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท