มองรัฐประหารพม่าจากมุมมองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

เว็บไซต์นิวแมนดาลาซึ่งเป็นเว็บไซต์อภิปรายเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นำเสนอบทความเรื่องมุมมองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งเขียนโดย KHIN KHIN MRA ที่วิเคราะห์ถึงชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์แม้จะมีความบาดหมางทางการเมืองกับพรรคเอ็นแอลดีและมีเป้าหมายที่ไปไกลกว่าการเมืองของผู้สนับสนุนพรรคของอองซานซูจี แต่กลุ่มชาติพันธุ์ก็มีบทบาทอย่างมากในการประท้วงของพม่า

สำหรับในพม่าแล้ว การรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น ในช่วงแรกๆ ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่ามองว่าเป็นการสู้กันเองระหว่างกองทัพและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือพรรคเอ็นแอลดี โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่าพรรคเอ็นแอลดีเองก็ล้มเหลวในการส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในช่วงรอบแรกที่พวกเขาได้เป็นรัฐบาล

นั่นทำให้ชนกลุ่มน้อยผู้ที่ไม่ชอบใจพรรคเอ็นแอลดีเช่นกันมองว่าการรัฐประหารในครั้งนี้ย้ำเตือนให้พวกเขานึกถึงช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดภายใต้รัฐบาลเอ็นแอลดี ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า และไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพหรือการปกครองของพรรคเอ็นแอลดีมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมาก กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มเช่น กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) บอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันทำให้มีอะไรเปลี่ยนไปน้อยมากสำหรับพวกเขา

การเลือกตั้งในปี 2563 ที่ผ่านมาพรรคเอ็นแอลดีชนะโดยได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2558 ขณะที่พรรคสายทหารอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาหรือยูเอสดีพีคะแนนโหวตลดลง แต่ขณะเดียวกันการเลือกตั้งปี 2563 ก็เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังสำหรับพรรคของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เองด้วย จากการที่พวกเขาชนะที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากเลือกพรรคเอ็นแอลดีเพื่อขัดขวางเสียงจากพรรคแนวร่วมของฝ่ายทหาร แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาได้ทำลายความฝันของการที่พรรคของชนพื้นเมืองจะได้เป็นพรรคแนวร่วมรัฐบาลและได้มีส่วนร่วมเป็น "ผู้กำหนดตัวผู้นำ"

พรรคของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์และชาวชาติพันธุ์จำนวนมากมองว่าพวกเขาถูกกีดกันและทำให้เป็นชายขอบจากพรรคเอ็นแอลดีในหลายๆ ด้าน ไม่เพียงแค่เรื่องกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น ถึงแม้ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะต้องการจัดให้มีการหารือกับพรรคชาติพันธุ์บางส่วนเพื่อให้เข้าร่วมกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติหลังจากการเลือกตั้งปี 2563 แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกีดกัน

มีหัวหน้าพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ 4 พรรคที่รับตำแหน่งสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารประเทศที่มีสมาชิก 15 คน ในจำนวนนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงผู้นำทหารระดับสูงที่กลายมาเป็นผู้นำรัฐประหารอย่างมินอ่องหล่ายอยู่ด้วย ขณะที่พรรคกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ปฏิเสธข้อเสนอของกองทัพพม่า เช่น พรรคแห่งชาติอาระกันหรือเอเอ็นพี

โดยที่พรรคเอเอ็นพีนี้มีความเจ็บปวดไม่พอใจจากสิ่งที่พรรคเอ็นแอลดีเคยกระทำกับท้องถิ่นของพวกเขาหลังการเลือกตั้งปี 2558 มาก่อน คือการที่เอ็นแอลดีส่งคนของตัวเองไปเป็นผู้ว่าการรัฐยะไข่ทั้งๆ ที่พรรคชาติพันธุ์เป็นผู้ได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการกีดกันอื่นๆ ตลอดช่วงที่มีวิกฤตในรัฐยะไข่ รวมถึงการกีดกันเอเอ็นพีออกจากการหารือหลังการเลือกตั้งปี 2563 ด้วยถึงแม้ว่ากองกำลังอาระกันอาร์มีและกองทัพจะให้การสนับสนุนการเจรจาหารือนี้

ในแง่ของการประท้วงในพม่านั้น ช่วงไม่กี่วันแรกของการประท้วงผู้ประท้วงจำนวนมากสวมเสื้อแดง (สีที่สื่อถึงพรรคเอ็นแอลดี) ชูธงพรรคเอ็นแอลดี และถือรูปภาพของอองซานซูจีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐก่อนที่จะถูกรัฐประหาร ภาพลักษณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการเน้นย้ำเรื่องเล่าที่ว่าการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับพรรคเอ็นแอลดี ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการปล่อยตัวกลุ่มผู้นำพรรคการเมืองเอ็นแอลดี การจัดให้มีการประชุมสภาเพื่อเป็นไปตามการเลือกตั้ง 2563 ซึ่งวิสัยทัศน์จากผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเชื้อสายพม่าเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนความต้องการของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์จำนวนมากรวมถึงกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารด้วย

ถึงแม้ว่ากลุ่มพรรคการเมืองชาติพันธุ์ก็ไม่เชื่อเรื่องที่กองทัพพม่ากล่าวความชอบธรรมในการยึดอำนาจว่ามีการโกงการเลือกตั้ง 2563 และถึงแม้ว่าพรรคเหล่านี้จะรู้สึกไม่ค่อยพอใจเอ็นแอลดีพวกเขาเองก็รู้สึกถูกทรยศจากพวกเดียวกันเมื่อมีผู้นำชาติพันธุ์บางคนเข้าร่วมกับสภาบริหารแห่งรัฐ

จากสภาพการเมืองเหล่านี้ทำให้ผู้ที่อยากจะยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับผู้ต่อต้านรัฐประหารรู้สึกว่ามีกำแพงทางใจขวางกั้น และรู้สึกขัดแย้งในตัวเองถ้าหากจะออกมาเรียกร้อง และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนไปมากกว่าเดิมมาจากการกระทำของกองทัพที่เข้าไปฉวยโอกาสเอาตัวคนจากพรรคชาติพันธุ์บางคนและจากกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มมาเข้าร่วมกับสภาบริหารที่กองทัพรัฐประหารจัดตั้ง เรื่องนี้ยิ่งสร้างความแตกแยกและความตึงเครียดให้กับกลุ่มพรรคชาติพันธุ์และผู้สนับสนุนพรรคมากขึ้นไปอีก

แต่ถึงแม้จะมีความไม่พอใจพรรคเอ็นแอลดีอยู่ ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากออกมายืนหยัดเคียงข้างประชาชนผู้ต่อสู้กับรัฐประหาร พวกเขาเข้าร่วมกับการประท้วงในเมืองใหญ่ๆ อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ในพื้นที่ท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์เองก็เริ่มมีการประท้วงในพื้นที่เหล่านั้น ไม่ว่าจะในรัฐคะฉิ่น, คะยา, กะเหรี่ยง, ชีน, ยะไข่, มอญ และฉาน

อย่างไรก็ตามการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีข้อเรียกร้องที่ขยายออกไปจากกลุ่มต่อต้านรัฐประหารแรกเริ่ม คือนอกจากจะเรียกร้องต่อต้านการรัฐประหารและระบอบเผด็จการแล้ว ยังขอให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551 และสร้างพม่าเป็นสหพันธรัฐที่มีพื้นฐานวางอยู่บนประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิในการจัดการตัวเองในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้ยึดอยู่แต่กับพรรคเอ็นแอลดี ในการประท้วงยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ต่างออกไปจากผู้ชุมนุมดั้งเดิมคือการสวมชุดดำและถือธงชาติพันธุ์แทนธงของพรรคเอ็นแอลดีและไม่มีรูปของอองซานซูจี

ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 นับเป็นวันที่ 5 ที่มีการประท้วงติดต่อกัน คณะกรรมการเพื่อการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ (GSCN) จัดตั้งขึ้นมาโดยเยาวชนชาติพันธุ์ที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ 27 กลุ่มในพม่า ขบวนการนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้มีเยาวชนรวมถึงนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมมากขบวนการมากกว่า 5,000 ราย ซึ่งผู้ประท้วงส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทำให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเหล่านี้รวมกันเป็นเสียงเดียวได้อย่างชัดเจนในการเรียกร้องให้หยุดระบอบเผด็จการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551 และทำให้พม่ากลายเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย รวมถึงให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมทั้งหมด

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าแสดงการต่อต้านเผด็จการโดยเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับสถาบันการเมือง ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีเน้นเรื่องการให้ปล่อยตัวผู้นำพรรคและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มองว่าการกระทำแบบหลังนี้จะเป็นแค่การทำให้ย้อนกลับไปสู่สภาพแบบเดิมเท่านั้น กลุ่มชาติพันธุ์คิดไปถึงเรื่องการมีระบอบการเมืองในแบบที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและอิสระในการปกครองตนเอง นั่นทำให้พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของ 2551 และอยากจะใช้โอกาสนี้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551 เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีหลักการสหพันธรัฐประชาธิปไตยนำทาง

ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายคนละระดับกันแบบนี้แต่การจัดตั้ง GSCN ก็เป็นความพยายามที่สร้างความเป็นไปได้ที่จะทำให้มีข้อตกลงร่วมกันได้ในการสื่อสารและการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อฟื้นคืนประชาธิปไตยใหม่พม่า ในขณะที่ผู้ประท้วงในเขตรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ เริ่มเผชิญกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ทางการแล้วนั้น พวกเขาต้องหาทางทำให้ผลประโยชน์และวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันหาจุดที่จะไปด้วยกันได้

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท