Skip to main content
sharethis

ลูกจ้างบริษัทผลิตกรดมะนาว สัญชาติจีน บุกร้องผู้ว่าระยอง ถูกบริษัทค้างค่าจ้างกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีลูกจ้างบริษัทนิรันดร์ (ประเทศไทย) จก.ตั้งอยู่เลขที่ 8 ม.2 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง สัญชาติจีน ผู้ผลิตกรดมะนาว นำโดยนายบุญยืน สุขใหม่ ที่ปรึกษากฏหมาย สภาองค์การลูกจ้างสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านทางนายยุทธพล องอาจอิทธิชัย รอง ผวจ.ระยอง นางสาวสายทิพย์ แสงไฟ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง และนายสุปนันท์ สังข์สุวรรณ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง ถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปลัดกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีลูกจ้าง จำนวน 92 คน ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 10,121,318.85 บาท โดยมีการห้องร้องต่ศาลหลายคดี และเรื่องยืดเยื้อมานาน และนายจ้างกลับนิ่งเฉย

นายบุญยืน ตัวแทนลูกจ้างกล่าวว่า ทางบริษัทอ้างว่าขาดสภาพคล่อง จึงไม่ยอมจ่ายค่าจ้างมาตั้งแต่ ปี 2562 แล้ว จึงได้มายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับจังหวัด ได้ช่วยดำเนินการในเรื่องเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างพึงจะได้รับตามสิทธิและให้ดำเนินคดีกับบริษัทให้ถึงที่สุด ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ให้ถึงที่สุด และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดหาที่เก็บทรัพย์สินที่ลูกจ้างยึดและอายัดนายจ้างที่รอการขายทอดตลาด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาเงินมาชำระแก่ลูกจ้างตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งเป็นที่สุดแล้วทุกคนรวมเป็นเงิน 10,121,318.85 บาท

ด้านนางสาวสายทิพย์ แสงไฟ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง กล่าวว่า เบื้องต้นได้นัดทางลูกจ้างมาพูดคุยรายละเอียดความเดือดร้อนของทุกคนในวันที่ 5 เม.ย.นี้ เพื่อรวบรวมข้อเรียกร้องหาแนวทางแก้ไขบังคับให้นายจ้างได้ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 25/2/2564

‘แรงงาน’ ซัดนายก ตัวการปัญหา ทวงนโยบายขายฝัน ‘425 ค่าแรงขั้นต่ำ’ ชวนไม่เลือกนักการเมืองหน้าเก่า

สืบเนื่องจากกรณี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดหมายทำกิจกรรม “รวมพลคนไม่มีจะกิน” ครั้งที่ 2 ในเวลา 16.00 น. หน้าทำเนียบรัฐบาล นั้น เพื่อยื่น 5 ข้อเรียกร้อง คือ 1.มารดาประชารัฐ เเละค่าเเรงขั้นต่ำ 425 บาท ที่สัญญาไว้, 2.ประเด็นการศึกษา ลดค่าเทอม 3 ปี, 3.ลดขนส่งสาธารณะครึ่งราคา, 4.ลดภาษี จาก 7% เป็น 5% และ 5.เบี้ยชรา เบี้นคนพิการ 3,000 ต่อเดือน นั้น

เวลา 17.44 น. นายมงคล นางาม ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ราษฎรมาทวงสัญญา สัญญาว่างเปล่า ทั้งที่ทวงแล้วทวงอีกก็ไม่มีความคืบหน้าต่างๆ ถ้าคุณแรมโบ้ มารับ จะไม่ยื่น จะไปยื่นให้ รปภ.แทน กำหนดการคือ จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจ เรียนรู้ไปด้วยกัน กับปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้ และจะมีการอ่านแถลงการณ์ หลังอ่านแล้ว จะเป็นขั้นตอนยื่นหนังสือ 2 ทุ่มก็ต้องรอ เราต้องรอพี่น้องที่กำลังเดินทางมา เพราะมีหลายเครือข่าย เชื่อว่าราษฎรขมขื่น ที่ออกแรง หาเลี้ยงข้าราชการที่คอยแต่จะทำร้ายประชาชน เรามาทวงที่พลังประชารัฐหาเสียงจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ 425 บาท”

นายมงคลกล่าวต่อว่า รมว.แรงงานคนเก่า บอกให้ไปขอขึ้นค่าแรงกับพรรคที่เลือก แต่พอคนใหม่มา เป็นพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ได้ นายจ้างทวงบุญคุณ คนงานในฐานะหุ้นหลักไม่ได้แบ่งปัน ลดเงินเดือนอีกต่างหาก แม้กฎหมายจะบอกว่าไม่สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติลูกจ้างไม่อยากตกงานตอนนี้ อะไรก็ต้องเอา ซ้ำราย เจ้าหน้าที่รัฐยังเถียงแทนนายทุน แต่ไม่เคยพูดถึง 10-20 ปี ที่ได้กำไรมาเลย

“ตอนนี้มีโครงการ ม.33 เรารักกัน นายจ้างบางคนไม่ส่งข้อมูล ประกันสังคม ไม่ได้รับ จะไปไทยชนะ ก็หมดเขต ช่องทางการอุทธรณ์ ทำอย่างไรก็ดันไม่รู้ นี่คือผลของแรงงานที่ดันร่ำรวยในสายตาประยุทต์ แต่ความจริง เราไม่มีอันจะกินแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่มานั่งตรงนี้ แต่เราหวังว่า ความเดือดร้อนของเราจะได้รับการเหลียวแล หวังว่า ประยุทธ์ จะแปลงร่างจากเผด็จการ มาเป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ประชาชนมาส่งเสียง ว่าต้องการแบบนี้ ทำไม่ฟังเสียงประชาชน บอกแต่ว่า ‘คุณไม่อยู่ตรงนี้ คุณไม่รู้หรอก’ อยากแนะนำให้อ่านเรื่อง อำนาจ ของคุณประภัสสร ลักษณะเดียวกัน คือ ตั้งใจมาทำเพื่อประชาชน อยู่ไปนานๆ เริ่มเสพติดอำนาจ จนเชื่อว่าตัวเองจะเป็นแก้ไขปัญหาประเทศได้เพียงคนเดียว จึงวางแผนสืบทอดอำนาจ พรรคไหนก็ได้ สุดท้ายได้มาเป็นนายกแน่ๆ ซึ่งมีคนเก่งในประเทศอีกมาก ที่พร้อมแก้ไขปัญหา ท่านอยู่มา 6-7 คนยังจน สวัสดิการไม่กระเตื้อง เพียงแต่เป็นโอกาสดี ที่ท่านมีโควิดมาช่วย”

“ท่านควรลาออก คนเก่งๆ จะได้มาบริหาร ประชาชนมาส่งเสียง ขับไล่ ท่านก็ไม่ฟัง ไม่ได้เคารพเสียง ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย มิหนำซ้ำยังจุดประเด็นจากการเลือกปฏิบัติ กับคนเห็นต่าง ซึ่งความต่างเป็นความสวยงาม ให้เงื่อนไขจะสร้างความปรองดอง แต่พอมาเป็นรัฐบาล กลับสร้างความแตกแยก ไม่ต้องคิดแก้ไขปัญหา เพราะท่านคือตัวการหลัก ทำให้เกิดความขัดแย้งในประชาชน

มีน้องๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิด ต้องการเสรีภาพ กลับต้องมาทำงานเพื่อคนเล็กคนน้อย เปิดเผยข้อมูลให้คนสูงอายุได้รับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ และอย่าดูถูกประชาชนว่าโง่ ถูกจูงจมูก เพราะผมก็หาข้อมูล เมื่อข้อมูลหลายแหล่งตรงกัน ก็เชื่อได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง

ข้อเรียกร้องคือค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท นั้น จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งความจริงควรมีโครงสร้างค่าจ้างด้วย ขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นไม่แตกต่างระหว่างคนเก่า กับคนใหม่ ต้องมีการปรับกันทุกปี ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ กลับซ้ำเติม คงได้แต่หวังล้มแล้งๆ คงไม่เกิดในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน แต่เรายังยืนยัน ต้องการค่าจ้าง 425 บาท ต่อไปนี้ พรรคไหนหาเสียง แล้วไม่ทำตาม จะไม่เลือก จำหน้าไว้ โดนเฉพาะนักการเมือง ที่ชอบแปลงร่าง มีแต่นโยบายขายฝัน หน้าเก่าๆ ไม่ต้องไปเลือก ดูที่กึ๋น พวกบารมี นักเลงท้องถิ่น อย่าไปเลือกพวกนี้ใช้แต่กำลัง

ข้อเรียกร้องของผมในฐานะเครือข่ายแรงงาน ยังยืนยันเรียกร้อง” นายมงคลกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/2/2564

รมว.แรงงาน หารือ ก.คลัง ใช้เงินกองทุนชราภาพ 1.8 ล้านล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เจรจากระทรวงการคลังด้วยตัวเอง เปิดรับลงทะเบียนมาตรการ เยียวยา เรารักกัน ให้ผู้ประกันตนบริษัทใหญ่ ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนกว่า 1,000 คน พร้อมเดินหน้าทำประชาพิจารณ์แก้ไขกฎหมาย เปิดทางใช้ผู้ประกันตน ใช้เงินกองทุนชราภาพก่อนกำหนด

สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ ที่กระทบผู้ใช้แรงงาน ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติ ประกันสังคม ทั้งฉบับ เพื่อเปิดทางให้ ถอนนำเงินในกองทุนชราภาพ ก่อนผู้ประกันตน อายุ 55 ปี ตามเงื่อนไขกฎหมายเดิม

โดยกระทรวงแรงงาน จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว สิ้นเดือนนี้ ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี เพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมายตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน กองทุนชราภาพฯ มีมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

จากนั้นจะผลักดันการตั้งสถาบันการเงิน เพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นการเฉพาะ คล้ายธนาคารทหารไทย ในอดีต หวังเป็นกลไกแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้ง ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะเปิดช่องให้สำนักงานประกันสังคม ลงทุนสร้างโรงพยาบาลผู้ประกันตนด้วย

นอกจากนี้ นายสุชาติ ยังขอหารือกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย นำเจ้าหน้าที่ ไปตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน พนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ "เรารักกัน" รอบผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดปิดลงทะเบียนรอบทั่วไป หรือ รอรอบลงทะเบียนทบทวนสิทธิ

หลังได้รับการประสานจากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เข้าไปรับลงทะเบียนที่โรงงาน เพราะ พนักงาน ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และไม่มีสมาร์ทโฟน มากกว่า 1 พันคน ได้รับเงินเยียวยาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีส่วนเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 เท่าครึ่ง ถึง 7 รอบ คิดเป็นเงินมากกว่า 1 แสน ล้านบาท

ที่มา: Thai PBS, 24/2/2564

ผู้ประกันตนลงทะเบียนโครงการ ม.33 เรารักกัน วันที่ 4 ยอด 7.8 ล้านคน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รายงานผลการลงทะเบียนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com เพื่อรับสิทธิเงินช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพจากรัฐบาลคนละ 4,000 บาท โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-7 มี.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. ว่าวันนี้เป็นวันที่ 4 โดยตัวเลขล่าสุด ณ เวลา 15.00 น. สรุปรวมยอดผู้ลงทะเบียนรับสิทธิรวมกัน 4 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 7,807,103 ราย

อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคม ขอย้ำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เข้าหลักเกณฑ์ให้ลงทะเบียนโครงการ ม33เรารักกัน และหากผู้ประกันตนท่านใดที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่ผ่านสามารถขอทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ในวันที่ 15-28 มี.ค. 2564

ที่มา: 24/2/2564

สมาคมสายการบินวอนรัฐรีบฉีดวัคซีน COVID-19 ให้พนักงาน

24 ก.พ. 2564 รายงานข่าวจากสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งร่วมกันจัดตั้งโดยสายการบิน 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบิน ไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ประกาศแต่งตั้ง นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ให้เป็นนายกสมาคมฯคนแรก โดยอุปนายกสมาคมฯ ซึ่งรับตำแหน่งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบินสมาชิก และคณะกรรมการสมาคมฯ รับตำแหน่งโดยตัวแทนผู้บริหารจากสายการบินทั้ง 7 สาย

นอกจากนี้ ได้จัดการประชุมสมาคมฯ เพื่อแจ้งขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการ รวมไปถึง การหารือถึงแนวทางและมาตรการ เพื่อลดผลกระทบของสมาชิกสายการบิน จากสถานการณ์โควิด-19 การจัดประชุมสมาคมฯครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญในการแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมฯรวมไปถึงการหารือถึงแนวทางและมาตรการเพื่อลดผลกระทบของสมาชิกสายการบิน จากสถานการณ์ โควิด-19

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอของสมาชิกฯ ต่อรัฐบาล เช่น การเสนอให้รัฐบาลฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานสายการบิน ซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกครั้ง และสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาได้อย่างปลอดภัย และการเสนอมาตรการและแนวทางสำหรับสายการบินเพื่อเตรียมตัวในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับสมาคมสายการบินประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ประกอบไปด้วยสมาชิกสายการบินจำนวน 7 สายการบินได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ทมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาการบริการของสายการบินในประเทศไทยให้เกิดมาตรฐานอย่างยั่งยืนและเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ,บูรณาการการพัฒนาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานของรัฐเพื่อพัฒนาการบินและการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย , ดำเนินการหรือสนับสนุนภาคการศึกษาในการผลิตชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการร่วมทำการวิจัยและการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ,ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/2/2564

เปิดตัวเลขเงินออมหลังเกษียณ 2.8-4 ล้านถึงจะอยู่รอด

23 ก.พ. 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ยังเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง ‘หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยระบุว่าไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 หรือ 12 ปีข้างหน้า แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเสนอให้ภาครัฐดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุโดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งการสมัครและการขอรับสิทธิประโยชน์และทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมโดยการเก็บออมได้อีกทางหนึ่งด้วย

2.การเพิ่มรายได้โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน (Financial literacy)

“เราเคยมีการศึกษาไว้ว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ในเขตเมือง ต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนในชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท แต่ระบบบำนาญของเรา จะพบว่าคนที่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณไปแล้วอยู่ในระดับไม่ค่อยดีนัก และหากเราไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออม” นายดนุชา กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 23/2/2564

สภาพัฒน์เผย COVID-19 ส่งผลว่างงาน-หนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่ม

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2563 และภาพรวมปี 2563 ว่าสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการท่างานยังต่ากว่าภาวะปกติ

ขณะที่ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงาน ขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 0.1%

ด้านอัตราการว่างงานปี 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในส่วนหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3/63 ยอดคงค้างหนี้ NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับ 3.12% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3/2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Special Mention Loans: SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึง (1) การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ (2) การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และ (3) การต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 23/2/2564

รมว.แรงงาน เล็งตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน “ม.33 เรารักกัน” หน้าโรงงาน ช่วยลูกจ้างไม่มีสมาร์ทโฟน รับเงิน 4,000 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน เปิดเผยภายหลัง เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ว่า เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน ม.33 กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ให้สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 4,000 บาทในโครงการ ม.33เรารักกัน ให้รวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มแรงงานมีความกังวลหากหมดเขตการลงทะเบียนแล้วจะไม่ได้รับสิทธิ์ จึงมีแนวคิดให้ธนาคารกรุงไทย และสำนักงานประกันสังคม ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนที่หน้าโรงงานต่างๆ เพื่อดูแลกลุ่มดังกล่าว

“จากการสอบถามข้อมูลฝ่ายบุคคลของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ พบว่ามีพนักงานไม่มีสมาร์ทโฟนกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ประสานกับธนาคารกรุงไทย และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อไปตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนตามโรงงานต่างๆ แต่หากมีจำนวนไม่มากก็ให้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด”

นานสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ ม.33เรารักกัน เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องรีบมาลงทะเบียนและไม่ต้องรีบยืนยันสิทธิ์ ซึ่งยังสามารถทยอยลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 7 มีนาคม 64 และยังสามารถกดรับสิทธิ์ได้จนถึงวันที่ 12 เม.ย.64แต่ต้องใช้เงินให้หมดภายในวันที่ 31 พ.ค.64

พร้อมกันนี้ คาดว่ามาตรการ ม.33เรารักกัน ซึ่งใช้งบ 37,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกันตน 9 ล้านกว่าคน จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5-7 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 และ 4 เติบโตอย่างแน่นอน เนื่องจากเงินที่รัฐบาลให้ ไม่ใช่เงินสดแต่เป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายทันที

นอกจากนี้ยังได้หารือกับ รมว.คลัง เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อนำเงินในกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2.2 ล้านล้านบาท มาใช้ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายบังคับไม่ให้นำเงินไปใช้นอกวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะเงินในกองทุนชราภาพที่มีอยู่ 1.8 ล้านล้านบาท เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้เงินในภาวะฉุกเฉิน สามารถนำเงินมาใช้ได้ก่อนเกษียณอายุ โดยภายในสิ้นเดือน ก.พ. 64 กระทรวงแรงงานจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมทั้งระบบ หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/2/2564

สหภาพฯ "การบินไทย" ยื่นผู้ทำแผนขีดเส้นตายให้ยุบ "ไทยสมายล์" ย้ำห้ามเลิกจ้างพนักงาน

22 ก.พ. 2564 นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยระบุว่าเห็นสมควรยื่นข้อเรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตาม มาตรา 13 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 20 ข้อ ได้แก่

1.ให้สายการบินไทย โดยบริษัทการบินไทยฯ ทำการบินในประเทศมากขึ้นโดยด่วนเพื่อสร้างรายได้ และสร้างงานให้แก่พนักงาน

2.ยุบหรือควบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (WE) ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากมาตลอดนับจากการก่อตั้งบริษัท และเป็นภาระของบริษัทการบินไทยฯ

3.ต้องไม่มีการเปิดให้พนักงานสมัครกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งต่างๆ(Re-Launch) โดยการสอบข้อเขียน/สอบสัมภาษณ์ เพราะพนักงานมีศักยภาพ มีตำแหน่งการทำงานอยู่แล้วในปัจจุบัน และสามารถปฎิบัติงานได้ในทันที/ปฏิบัติงานอยู่แล้วเป็นปกติในปัจจุบัน

4.ห้ามมิให้บริษัทการบินไทยฯ แยกหน่วยธุรกิจหรือฝ่ายใดๆ เพื่อขายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพราะด้วยหลักการข้างต้นก็มีนัยยะที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยพนักงานมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างโดยขัดต่อกฏหมาย

5. การกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่บริษัทการบินไทยฯ จะประกาศใหม่ต้องไม่กระทบสิทธิของพนักงาน ระดับ 1-7 และต้องไม่ต่ำกว่าราคาอัตราเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจการบินในระดับสากล ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการลูกจ้าง หรือ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ก่อน

6.ห้ามมิให้มีการเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 เพราะจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างอย่างมาก เพราะบริษัทการบินไทยฯต้องจ่ายทันทีในวันสุดท้ายของการทำงาน และอาจเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าชดเชย 1-2 เดือน โดยหากผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

7. ตามประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 004/2564 เรื่อง โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (“MSPB”) และประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 005/2564 เรื่อง โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan C (“MSPC”) เงินตอบแทนการเลิกจ้างและเงินชดเชยต่างๆตามกฏหมาย ห้ามมิให้ผ่อนจ่าย เว้นแต่พนักงานยินยอม

8. ขอให้บริษัทฯ คืนสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทั้ง 19 ตอน ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ซึ่งเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เนื่องจากเป็นการตกลงสองฝ่าย มิใช่ข้อบังคับการทำงานที่นายจ้างกำหนดแต่ฝ่ายเดียวและไม่เป็นคุณยิ่งกว่า ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 1-7 สร.พบท.ยืนยันที่จะขอให้บริษัทฯ และคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ใช้ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลดังกล่าว

9.ขอให้บริษัทฯ ประกาศโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ให้พนักงานทราบอย่างเป็นทางการและเปิดเผย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก MSP B หรือ MSP C

10.ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับพนักงานอู่ตะเภา (UTP) ซึ่งตามมาตรา 60-64 ของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุไว้ว่า EEC จะต้องนำกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษฯ มาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย และให้หาอัตราตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับพนักงานอู่ตะเภา โดยไม่ต้องมีการสอบเพิ่มเติมอื่นใดทั้งสิ้น

11.ให้บริษัทการบินไทยฯ มีหน้าที่จัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายให้กับ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ทั้งนี้ให้คณะกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการ ตามกฎหมาย

12.ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ประกาศการเลิกจ้าง สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่ให้มีการหาตำแหน่งงานในส่วนภาคพื้นให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเหล่านั้นทำแทน

13.ให้คงใช้ระเบียบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเดิมทั้งหมด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และหากจะมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ต้องจัดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงระเบียบฯ โดยเป็นผู้แทนของ สร.พบท. เข้าร่วมในการพิจารณา

14.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนในการเข้าเป็นคณะทำงานฯ เพื่อร่วมพิจารณาในการออกประกาศ หรือคำสั่งใดๆ ที่กระทบสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพนักงาน อีกทั้งการแก้ไขระเบียบฯใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพการจ้าง และการปฏิบัติงาน ต้องมีข้อตกลงร่วมกับสหภาพฯ สร.พบท.

15.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนร่วมในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในการสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ

16.จัดให้มีสถานพยาบาล และแพทย์ตลอด 24 ชม. ในสถานประกอบการ และ จัดให้มีสวัสดิการ รถ-รับส่งตามเดิม

17.ให้บริษัทฯ แต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการสหภาพฯสร.พบท. เข้าเป็นคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงาน และเป็นกรรมการในเรื่องการพิจารณาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างเงินเดือนประจำปี และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน

18.ในกรณีที่บริษัทฯ มีการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนพนักงานจากสังกัดเดิมไปปฏิบัติงานสังกัดอื่น ต้องแจ้งให้พนักงานผู้ถูกโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ โดยต้องได้รับคำยินยอมจากพนักงานก่อน

19.ให้บริษัทฯ คงสิทธิ์พนักงานกองทุนบำเหน็จทุกคนให้ได้รับสิทธิในเงินกองทุนบำเหน็จโดยเป็นไปตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 5 การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ. 2537 และนำบรรจุในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้รับทราบถึงภาระที่บริษัทการบินไทยฯ มีอยู่ต่อพนักงานในกองทุนบำเหน็จ และแผนการจ่ายเงินจากกองทุนบำเหน็จในอนาคต

20.ให้บริษัทฯ คุ้มครองสิทธิ์สมาชิก สร.พบท.ที่เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนการจ่ายเงินสมทบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530ข้อตกลงใดที่ตกลงกันได้ตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันและใช้บังคับระหว่างบริษัทการบินไทยฯ กับพนักงาน และสมาชิกของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)

ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ สหภาพแรงงานขอแจ้งรายชื่อผู้แทนเจรจา คือ ประธานและกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย และขอให้บริษัทการบินไทยฯนัดเจรจาภายใน 3 วันคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มิฉะนั้น สร.พบท. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากบริษัทละเมิดกฏหมายแรงงานหลายข้อ

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 22/2/2564

เจ้าหน้าที่สั่งห้ามแรงงานพม่าที่ระนองชุมนุม เสี่ยงโควิด ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ได้ขออนุญาต ส่วนที่เกาะสองคนแน่น

22 ก.พ. 2564 ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองระนอง ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เริ่มมีแรงงานชาวเมียนมาร่วม 20 คน ทยอยกันเดินทางมาเพื่อรวมตัวกันชุมนุมประท้วง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ควบคู่ไปกับการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาบ้านเกิด แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้

เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดระนอง ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าชี้แจงถึงกฎหมายห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งมิได้ขออนุญาตชุมนุมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และอาจมีความผิด ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงทำให้แรงงานชาวเมียนมาต่างผิดหวัง แต่เข้าใจในคำชี้แจงของฝ่ายงานความมั่นคงเป็นอย่างดี ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ และแรงงานบางกลุ่ม ก็นั่งรถซาเล้งเดินทางกลับโดยดี ซึ่งเมื่อวานนี้ กลุ่มพี่น้องชาวแรงงานเมียนมาในเขต อ.เมืองระนอง ได้ร่วมกันบริจาคเงินสดคนละเล็กคนละน้อยเป็นเงินร่วม 70,000 บาท ส่งกลับให้กับกลุ่มชุมนุมประท้วงที่ จ.เกาะสอง ที่มีการนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันนี้

สำหรับบรรยากาศที่เมืองเกาะสอง ที่อยู่ปลายแหลมและใต้สุดของประเทศเมียนมา ตรงกันข้ามกับ อ.เมือง จ.ระนอง ได้มีชาวเมืองเกาะสอง ร่วมกันปิดห้างร้านและหยุดงาน ร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ออกมาร่วมเดินชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ ที่เมืองท่าเกาะสอง พร้อมตะโกน เราต้องการประชาธิปไตย รัฐบาลของประชาชน และไม่อยากกลับคืนไปสู่การปกครองโดยทหารแบบเดิม พร้อมกับตะโกนสโลแกนต่อต้านการรัฐประหารเช่น “เราไม่ต้องการเผด็จการทหาร เราต้องการประชาธิปไตย” และถือป้ายประท้วงมากมายรวมทั้งป้ายที่มีข้อความว่า “เคารพเสียงโหวตของเรา”

และมีการเดินถือ ป้ายซึ่งเขียนข้อความภาษาอังกฤษ “พวกเราต้องการประชาธิปไตย” รวมทั้งการยืนแปลอักษร ในข้อความ พวกเราต้องการประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ เราไม่ต้องการกลับไปเป็นการปกครองโดยทหาร เราไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว เราต้องการให้ อะ เหม่ ซู หรือคุณแม่ซูจี ได้รับการปลดปล่อยจากการควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้ง เราต้องการขุดรากถอนโคนระบบที่ทหารเข้ามาครองตำแหน่งบริหารของพลเรือน

ที่มา: คมชัดลึก, 23/2/2564

ก.แรงงาน ปล่อยกู้สถานประกอบการเพิ่มทักษะลูกจ้าง สุงสุด 1 ล้านบาทปลอดดอกเบี้ยฝ่าวิกฤตโควิด

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางเยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือของลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ทั้งนี้ กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2563-31 สิงหาคม 2564 ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

โดยการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่วันนี้-15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สยามรัฐ, 22/2/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net