Skip to main content
sharethis

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และคณะประชาชนจากกรุงเทพฯ และกาญจนบุรี แจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกป่าตาม​ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ​ 2562 ที่​ สภ.แก่งกระจาน

26​ ก.พ. 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า เนตรนภา​ งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า​ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่​ 22​ ก.พ. 2564​ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน​ หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เจ้าหน้าที่ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม​ เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ​ เจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144​ เจ้าหน้าที่กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) และเจ้าหน้าที่กองการบิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ป้องกันรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรตาม "ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร"

เจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่บุกรุก แผ้วถางพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณป่าบางกลอยบน หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตรวจพบพื้นที่ที่ถูกบุกรุก แผ้วถางอย่างเห็นได้ชัดเจน​ จำนวน 18 แปลง ตรวจยึดแล้ว 125.72 ไร่​

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ที่ตรวจยึด

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ที่ตรวจยึด

คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมในห้วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ถึง พ.ศ. 2556 ไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์แต่อย่างใด และตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 เริ่มพบการแผ้วถางตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2564 และมีการบุกรุก แผ้วถางเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 และวันที่ 13 ก.พ. 2564

ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • ฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม ตามมาตรา 19 (1) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า ถ้ากระทำในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำ​ ชั้นที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง​
  • ฐานเก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ​ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 19 (2) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ​
  • ฐานกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562​ ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 40 ไปในคราวเดียวกัน ตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 บรรดาระเบียบหรือประกาศใดๆ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการตรวจยึด นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน​ เพื่อดำเนินการติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ต่อไป

ไทยพีบีเอส ยังรายงานด้วยว่า อำนาจ เนียมเปีย อายุ 47 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พร้อมคณะจากกรุงเทพฯ และ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 10 คน ได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บุกรุกป่าต้นน้ำ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ปรากฏภาพถ่ายจากสื่อต่างๆ ด้วยเช่นกัน พร้อมร่วมกัน ถือป้ายมีข้อความว่า “พวกเราเซฟป่าแก่งกระจาน” และร่วมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรบุรี ในครั้งนี้ด้วย

มติ ป.ป.ท.ให้ออกจากราชการ “ชัยวัฒน์” คดีเผาบ้านบางกลอย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ไทยพีบีเอส รายงานว่าที่ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปรามปราม (ป.ป.ท.) ที่มี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

หนึ่งในวาระการประชุมของวันนี้คือ การพิจารณาคดี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ รวม 6 คน ได้เข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และของชาวบ้านอีกหลายราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค.2554

“ที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 และมีมติให้ออกจากราชการ โดย ป.ป.ท.จะส่งสำนวนให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินคดีอาญา”

คดีนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5-9 พ.ค.2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ เข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายโคอิหรือคออี้ มีมิ และของชาวบ้านอีกหลายราย ซึ่งเป็นชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชี้อสายกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เสียหายราว 100 หลัง

“นายคออี้ มีมิ ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมพวกที่วางเพลิงเผาทรัพย์ บ้านเรือนที่พักอาศัย ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และสำนวนถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)”
ต่อมา นายคออี้ และพวก ฟ้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ศาลวินิจฉัยได้ความแล้วว่า

“นายชัยวัฒน์ฯ กับพวก เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำความผิดในการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวก ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน”

การกระทำดังกล่าวของนายชัยวัฒน์ กับพวกในทางกฎหมาย อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไปนี้ ได้แก่ มาตรา 157 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (อายุความ 15 ปี)

มาตรา 217 ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น (อายุความ 10 ปี), มาตรา 218 (1) ความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย เช่น บ้านเรือน (อายุความ 20 ปี), มาตรา 218 (2) ความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า เช่น ยุ้งฉาง (อายุความ 20 ปี) และ มาตรา 358 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพยของผู้อื่น (อายุความ 10 ปี)

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่หาก ป.ป.ท.ส่งหนังสือมาแล้วชี้ชัดว่า ให้ออกจากราชการ ทางทส.จะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน ซึ่งกรณีการดำเนินคดีกับข้าราชการระดับ 9 จะเป็นอำนาจของปลัดทส.

ตอนนี้ยังไม่เห็นหนังสือจากป.ป.ท.และไม่ทราบเรื่องมาก่อน ขอให้หนังสือมาถึงทส.ก่อน และยืนยันว่าถ้าผิดจริง ไม่สามารถขัดมติ และอุ้มใครได้แน่นอน มติ ป.ป.ช.และมติ ป.ป.ท.ต้องดำเนินการทันทีภายใน 30 วัน แต่ผู้ที่ถูกกชี้มูล สามารถไปร้องแย้งด้วยตัวเอง

นายจตุพรกล่าวว่า กรณีข้าราชการทส.เคยถูกชี้มูล และมติให้ออกราชการ เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากกรณีของ นายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ อดีตหัวหน้าอุทยานสิมิลัน จ.พังงา เป็นจำเลยฐานทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โดยพิพากษาให้จำคุก 6 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net