Skip to main content
sharethis

“เราคือผู้คน อยู่บนผืนดินเดียวกัน เชื่อมโยงสัมพันธ์ร้อยเรียงเป็นผืนป่า 
เราคือผู้คน อยู่ในสายธารเดียวกัน หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้ดินได้ชุ่มเย็น
เราคือผู้คน ปกาเกอะญอก็คือคน ในความเป็นคน เราเหมือนกัน”

เสียงเพลง “ใจเดียวกัน” จากณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ​ “แก้วใส วงสามัญชน” ดังกังวานในการชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางแสงแฟลชจากมือถือของผู้เข้าร่วมชุมนุม พวกเขาถือป้ายผ้าข้อความว่า “save บางกลอย” ในขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถือป้ายที่มีข้อความว่า “We are all human” (“เราทุกคนคือคน”)

 

ผู้ชุมนุมถือป้าย “We are all human” ในการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้ชุมนุมถือป้าย “We are all human” ในการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 

การชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมาจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี หลังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่อุทยาน ตำรวจ และทหารสนธิกำลังเข้าไปในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเพื่อนำตัวชาวบ้านที่เดินทางกลับเข้าไปที่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของบรรพบุรุษในผืนป่าแก่งกระจานกลับออกมา โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามแล้วที่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยถูกบังคับให้อพยพจากแผ่นดินเกิดหลังการโยกย้ายครั้งแรกเมื่อราว 25 ปีก่อน 

กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าขนาดใหญ่บนเทือกเขาตะนาวศรี ติดกับชายแดนไทย-พม่า ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดประกอบไปด้วยเขตอนุรักษ์ 4 เขต หนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีพื้นที่ทั้งหมด 2,915 ตารางกิโลเมตร ทำให้อุทยานแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม 

ครั้งหนึ่ง พื้นที่ซึ่งขณะนี้เป็นอุทยานแห่งชาติเคยเป็นบ้านของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในฝืนป่าแก่งกระจาน ที่ผ่านมาชุมชนดังกล่าวเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับอพยพมาแล้วสองครั้ง คือใน พ.ศ. 2539 และครั้งที่สองใน พ.ศ. 2554 ที่มีการเผาบ้านและยุ้งข้าวของชาวบ้านและบังคับให้ชาวบ้านอพยพลงมาที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่นแผนที่ของกรมแผนที่ทหารจาก พ.ศ. 2455 ซึ่งระบุตำแหน่งของบ้านใจแผ่นดิน ยืนยันว่ามีชุมชนพื้นเมืองอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานใน พ.ศ. 2524 

นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำตัดสินในคดีที่ “ปู่คออี้” หรือโคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน และชาวบ้านอีกห้าคนฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในกรณีเผาหมู่บ้านใจแผ่นดิน ว่าชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและบ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการกระทำมิชอบ และมีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ่ายค่าเสียหายให้กับชุมชน

แต่ถึงกระนั้น ชุมชนบางกลอยและใจแผ่นดินก็ยังคงต้องประสบกับปัญหาสิทธิชุมชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนที่ดินทำกินไปจนถึงการสูญเสียวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่เพียงเท่านั้น จนถึงวันนี้พวกเขาก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังบ้านใจแผ่นดินซึ่งเป็นแผ่นดินของบรรพบุรุษได้

 

แผ่นดินของใคร?

“ก่อนหน้านั้นชาวบ้านก็อยู่กันแบบสบาย ไม่มีปัญหา ไม่มีการออกไปเรียกร้องสิทธิใดๆ” พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” ภรรยาของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงผู้หายสาบสูญไปในพ.ศ. 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กล่าว 

“แต่หลังจาก 2554 ก็จะมีการเผาที่ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ปัญหาก็จะเกิดตั้งแต่ตอนนั้น ทุกคนก็ต้องเดือดร้อนกันไปทั้งหมด แล้วก็ลงมาอยู่บางกลอยล่าง แรกๆ พี่บิลลี่พาปู่ไปเรียกร้องสิทธิ แล้วเขาก็ไปเรียกร้องไปตามขั้นตอน แต่เขายังทำไม่สำเร็จ ยังไปไม่ถึงไหน เขาก็หายตัวไปเสียก่อน”

ปัจจุบันมึนออาศัยอยู่กับแม่และลูก ๆ อีกห้าคนที่บ้านในตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวกะเหรี่ยงบนเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ป้ายหาเสียงจากการลงเลือกตั้ง อบต. ของบิลลี่ยังคงติดอยู่ที่หน้าบ้านไม้ไผ่ยกพื้นสูงที่ล้อมรอบด้วยสวนเล็ก ๆ ก่อนเขาจะหายตัวไป บิลลี่บอกกับภรรยาว่าคนที่เกี่ยวข้องไม่พอใจเขามาก และถ้าเขาหายไป ไม่ต้องตามหาเขา ไม่ต้องสงสัยว่าเขาหายไปไหน เพราะเขาน่าจะตายไปแล้ว

ป้ายหาเสียงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ที่หน้าบ้านครอบครัวของมึนอในตำบลป่าเด็ง
 

7 ปีที่ผ่านมา มึนอต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้สามีและชุมชนของเธอ แต่คดีการหายตัวไปของบิลลี่ก็ดูจะไม่คืบหน้า ในเดือนกันยายน 2562 กรมสืบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอประกาศว่ามีการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ถูกเผาในถังน้ำมันซึ่งจมอยู่ในเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งตรวจดีเอ็นเอแล้วพบว่าตรงกับดีเอ็นเอของแม่ของบิลลี่ ดีเอสไอจึงตั้งข้อหากับผู้ต้องหา 4 คน รวมถึงหัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้นและเจ้าหน้าที่อีก 2 คนที่เป็นผู้จับกุมบิลลี่ทั้งหมด 6 ข้อหา ซึ่งรวมถึงข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กักขังหน่วงเหนี่ยว และอำพรางศพ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2563 อัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องในทุกข้อหายกเว้นข้อหาปฎิบัติหน้าที่มิชอบ โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานว่าบิลลี่ได้เสียชีวิตไปแล้ว 

ในขณะเดียวกัน ชุมชนบางกลอยยังคงพบเจอกับปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อชุมชนถูกอพยพลงมาที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยใน พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการเจรจาและสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 7 ไร่ และสัญญาว่าจะแก้ปัญหาสถานภาพบุคคลให้คนในชุมชน 

แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามที่มีการสัญญาไว้ และที่ดินที่ได้รับก็เป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ขณะที่สมาชิกชุมชนหลายคนก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ 

ปัญหาเหล่านี้ทำให้สมาชิกชุมชนบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับไปอยู่ที่บ้านใจแผ่นดิน จนถึง พ.ศ. 2554 เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บังคับให้พวกเขาต้องอพยพอีกครั้งด้วยการเผาบ้านและยุ้งข้าวของชาวบ้าน ซึ่งนำไปสู่คดีความของปู่คออี้และชาวบ้านอีกห้าคนที่ฟ้องร้องกรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ใน พ.ศ. 2555

มึนอกล่าวว่าการขาดที่ดินทำกินเป็นสาเหตุที่ทำให้คนในชุมชนต้องออกไปรับจ้างข้างนอกหรือไปทอผ้าที่ศูนย์ทอผ้าในหมู่บ้าน ในขณะที่ปัญหาของชุมชนก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขแม้จะผ่านมาถึง 25 ปีแล้วก็ตาม 

ในขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปัญหาเหล่านี้แย่ลง เนื่องจากชาวบ้านหลายคนที่ออกไปรับจ้างเริ่มขาดรายได้ ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 มีรายงานว่าชาวบ้านบางกลอยจำนวนราว 70 คนเดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินเพื่อใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม

นอกจากนี้ชุมชนยังต้องการประกอบพิธีกรรมเพื่อส่งดวงวิญญาณของปู่คออี้ ซึ่งเสียชีวิตไปใน พ.ศ. 2561 ขณะมีอายุ 107 ปี โดยพิธีกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตนเองบนผืนดินที่ใจแผ่นดินเพื่อใช้ในพิธีกรรมและเลี้ยงผู้มาร่วมงาน

 

มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ​
มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ

ขณะที่มึนอระบุว่า เธอรู้สึกว่าภาครัฐไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจังและไม่ได้สนใจรับฟังเสียงของชาวบ้าน เธอเล่าว่าเคยจัดกิจกรรมให้ชาวบ้านพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน แต่หัวหน้าอุทยานก็ไม่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมเป็นเวลานานเท่าใดนัก

“ในความรู้สึกหนู มันเหมือนเขาไม่ให้ความสำคัญอะไรกับชาวบ้าน เขาก็เข้าไปคุยแป๊บ ๆ แล้วก็ออกจากห้อง เขาบอกว่าเขามีธุระด่วนที่อื่น เขาก็เลยไป มันมีชาวบ้านหลายคนกว่านี้อยากจะถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกิน บางคนก็ได้ถาม บางคนก็ไม่ได้ถาม เขาก็ไปแล้ว" มึนอกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ชุมชนบางกลอยไม่ใช่ชุมชนเดียวในเขตป่าแก่งกระจานที่กำลังประสบปัญหา ชุมชนชนพื้นเมืองอื่น ๆ เองก็กำลังประสบกับสถานการณ์ที่คล้ายกัน โดยเฉพาะการขาดแคลนที่ดินทำกินและการถูกดำเนินคดีเมื่อที่ดินทำกินดังกล่าวถูกรวมเข้าไปไว้ในเขตอุทยาน

วันเสาร์ ภุงาม อายุ 50 ปี เป็นชาวบ้านท่าเสลา อำเภอหนองหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นอีกชุมชนชนพื้นเมืองที่อยู่ติดกับอาณาบริเวณของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน วันเสาร์ทำกินบนที่ดินที่ได้รับตกทอดมาจากพ่อแม่ แต่หลังจากโครงการ One Map ที่มีการปรับปรุงแผนที่ของหน่วยงานราชการให้ตรงกันใน พ.ศ. 2559 มีการขีดเส้นขอบเขตของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานใหม่ ทำให้ที่ดินของวันเสาร์ถูกรวมเข้าไปอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติด้วย

 

วันเสาร์ ภุงาม
วันเสาร์ ภุงาม
 

พ.ศ. 2561 วันเสาร์ถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน และปรับกว่าสองล้านบาท ถึงแม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินให้ยกฟ้อง แต่สามปีที่ผ่านมาในระหว่างสู้คดี วันเสาร์ไม่สามารถใช้ชีวิตบนที่ดินของตนและบ้านบนที่ผืนดังกล่าวได้ 

“ศาลถามว่าเราอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ.ไหน เราก็บอกว่าเราจำไม่ได้หรอก เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาเราก็มีที่แปลงนี้ เราก็ทำมากับแม่” วันเสาร์กล่าว เธอยืนยันว่าไม่เคยบุกรุกเข้าไปในเขตอุทยานฯ และเชื่อเสมอมาว่าที่ของเธออยู่นอกเส้นแนวเขตของอุทยานฯ 

“มันเป็นสมบัติของเราชิ้นเดียวที่พ่อแม่ให้เราไว้ ให้เราทำมาหากิน ถ้าตรงนี้โดนยึดไปแล้วเราจะไปทำที่ไหน มันก็มีแค่นี้” วันเสาร์กล่าว

 

“ชนพื้นเมือง” ที่รัฐไทยไม่ยอมรับ 

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในเขตเทือกเขาตะนาวศรีเป็นหนึ่งในชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่กระจายตัวอยู่ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ มีประชากรราว 400,000 – 500,000 คน ชาวกะเหรี่ยงจึงเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดในชนพื้นเมืองทั้งหมด 39 กลุ่มในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนพื้นเมืองจากรัฐไทย ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะกล่าวถึงสิทธิของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ที่จะใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองอย่างสงบสุขและไม่ถูกรบกวน แต่ไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดใช้คำว่า “ชนพื้นเมือง” 

และถึงแม้ว่ารัฐไทยจะเป็นหนึ่งใน 144 ประเทศที่ลงนามในปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองหรือ UNDRIP นโยบายและกฎหมายฉบับต่าง ๆ ของภาครัฐก็ยังคงไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นผลให้ชุมชนชนพื้นเมืองเช่นชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานยังคงต้องพบเจอกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ ตั้งแต่การขาดแคลนที่ดินทำกินไปจนถึงการถูกดำเนินคดี การไม่ได้รับสัญชาติ และการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางในเวที "สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” 16 ธ.ค. 63
ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางในเวที "สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” 16 ธ.ค. 63
 

อภินันท์ ธรรมเสนา รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ระบุว่าสังคมไทยมักจะมองภาพของชนพื้นเมืองในแง่ลบ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ในยุคสงครามเย็นที่ทำให้รัฐไทยต้องทำให้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชนพื้นเมืองเช่นชาวกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชนพื้นเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ทำไร่หมุนเวียนมักถูกมองว่าเป็นคนทำลายป่า หรือถูกเข้าใจว่าเป็นคนค้ายาเสพติด ชนพื้นเมืองมักจะถูกมองเป็นคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ต้องการขอสัญชาติไทยมักจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ยาวนานและซับซ้อน ในขณะที่การไม่มีสัญชาติไทยก็หมายความว่าพวกเขามักจะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้

อภินันท์ระบุว่าชนพื้นเมืองหลายกลุ่มมักจะถูกกีดกันออกจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งภาครัฐมักจะมองว่าเป็นสมบัติของชาติที่มีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะดูแลได้ นอกจากนี้นโยบายอนุรักษ์ของภาครัฐก็มักจะเน้นไปที่การสงวนรักษามากกว่าการใช้ประโยชน์ ในขณะที่แนวคิดที่ว่ามีแต่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่จะดูแลพื้นที่อนุรักษ์ได้หมายความว่าชุมชนมักไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการ ซึ่งเป็นการละเลยองค์ความรู้ของชุมชนที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้

สำหรับอภินันท์ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อภินันท์เรียกว่า “ทุนทางวัฒนธรรม” ซึ่งชุมชนสามารถนำไปใช้ในการจัดการตนเองได้

สำหรับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย บ้านป่าเด็ง และบ้านท่าเสลา การขาดแคลนที่ดินทำกินหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้อีกต่อไป เนื่องจากไร่หมุนเวียนต้องใช้พื้นที่มากกว่าที่ภาครัฐจัดสรรให้ชุมชน เนื่องจากต้องมีการสลับไปเพาะปลูกบนที่ดินแปลงอื่นเพื่อให้โอกาสพื้นที่ป่าได้ฟื้นตัว ชุมชนหลายชุมชนต้องหันไปใช้สารเคมีเนื่องจากการเพาะปลูกบนที่ดินผืนเดิมอย่างต่อเนื่องทำให้ดินเสื่อมสภาพ ในขณะที่สมาชิกชุมชนหลายคนต้องออกไปรับจ้างข้างนอกเพื่อหารายได้เสริมเมื่อรายได้จากการทำเกษตรไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดความกังวลว่าพันธุ์พืชพื้นถิ่นจะต้องสูญพันธุ์ไป วันเสาร์กล่าวว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายชนิดกำลังจะสูญหายไปเนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำให้ไม่สามารถปลูกพันธุ์ข้าวเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับ “พริกกะเหรี่ยง” ที่วันเสาร์ระบุว่าเริ่มปลูกไม่ได้ในช่วงหลังนี้เช่นกัน 

ความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มจะสูญหายไป รุ่ง เสน่ติปัง สมาชิกชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่บ้านห้วยกระซู่ จังหวัดเพชรบุรี เล่าถึงประเพณีการนำสายสะดือเด็กเกิดใหม่ใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่เพื่อบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขาให้ดูแลเด็กที่เกิดมา แต่เมื่อเด็กรุ่นใหม่เกิดในโรงพยาบาล ชุมชนก็ไม่ได้ประกอบพิธีนี้อีก ซึ่งสำหรับรุ่ง สิ่งนี้เปรียบเสมือนการแยกผู้คนออกจากผืนป่า

ในขณะเดียวกัน มึนอเล่าว่าชุมชนของเธอเคยมีการทำพิธีทำขวัญข้าวโดยใช้ข้าวใหม่บูชาพระแม่โพสพ แต่เนื่องจากว่าพวกเขาปลูกข้าวไม่ได้เนื่องจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำให้ไม่ได้มีการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว 

“เราไม่มีที่ทำกิน เราไม่ได้ปลูกข้าว ลูกหลานเราก็จะไม่ได้เห็นประเพณีเหล่านี้ มันก็จะน้อยลงไปทุกวัน" มึนอกล่าว

 

จากมติ ครม. สู่กฎหมายคุ้มครองสิทธิชนพื้นเมือง ทางออกสู่การอนุรักษ์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ป้ายข้อความในเวที "สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” 16 ธ.ค. 63
ป้ายข้อความในเวที "สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” 16 ธ.ค. 63
 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการออกแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของชนพื้นเมืองในประเทศไทย โดยเมื่อ พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีการออกมติ ครม. สองฉบับ คือมติ ครม.เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล มติ ครม. เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

มติ ครม. ทั้งสองฉบับมีการกำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญ เช่นปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติและสถานภาพบุคคล ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน หรือปัญหาการจัดการทรัพยากร และมาตรการในการส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมติ ครม. เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงได้มีการระบุไว้ว่าให้มีการเพิกถอนพื้นที่อนุรักษ์ที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ทั้งสองฉบับยังคงมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระบุว่ามติ ครม. ทั้งสองฉบับมักไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่เมื่อมีการบังคับใช้ในพื้นที่ เช่นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ก็อาจจะอ้างว่าพระราชบัญญัติป่าไม้เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าตัวมติ ครม. ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติ ครม. ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมือง

ในขณะนี้มีกฎหมายราวสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชนพื้นเมืองที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างและเสนอร่าง หนึ่งในนั้นคือร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งเสนอโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หรือ คชท. เพื่อให้มีการรับสิทธิของชนพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเพื่อให้ชนพื้นเมืองในประเทศไทยได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมเข้าชื่อได้จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ด้วยการส่งแบบฟอร์มและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปที่สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

กิตติศักดิ์ระบุว่าร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าฯ จะเข้ามาคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองในทุกมิติ ทั้งในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงสิทธิเฉพาะด้านต่าง ๆ ซึ่งกิตติศักดิ์กล่าวว่าสิทธิเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิทธิที่ชนพื้นเมืองเคยมีอยู่แล้วและต้องการให้มีการบรรจุไว้เป็นกฎหมาย

"เนื้อหาของเราก็คือเราอยากจะมีนโยบายและแผนงานเฉพาะที่จะมาตอบโจทย์กับพวกเรา เพราะเท่าที่เราเห็น บทเรียนที่ผ่านมา นโยบายที่มันออกมาโดยภาครัฐส่วนใหญ่มันจะออกมาแบบกลาง ๆ เทา ๆ แล้วเวลาไปประยุกต์ใช้จริงมันไม่ตอบโจทย์ของชาวบ้าน แม้แต่ของสภาชนเผ่าพื้นเมืองเองก็อยากได้แผนเฉพาะที่มันตอบโจทย์ความต้องการของพวกเราจริง ๆ แล้วก็อยากจะให้ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมที่เราอยากจะอยู่ คล้าย ๆ เป็นการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเรากันเอง" กิตติศักดิ์กล่าว

ในขณะเดียวกัน ทางด้านศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายอีกฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองในการเลือกที่จะใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมและสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองไทย 

อภินันท์กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นบนหลักการของการสร้างเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม สร้างความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองไทย และขจัดการดูถูกเหยียดหยามกัน โดยจะมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองต่าง ๆ รวมถึงการประกาศ “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม” เพื่อสร้างกลไกให้ชนพื้นเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และมีกลไกที่จะใช้จัดการตนเองได้ 

ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน กฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นมาตรการกลางที่ทุกหน่วยงานของรัฐสามารถนำไปใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาของชนพื้นเมือง ซึ่งอภินันท์กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษกับชนพื้นเมือง แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิให้กลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

แต่การออกกฎหมายใหม่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอถ้าหากกฎหมายที่มีอยู่เดิมไม่ได้รับการแก้ไข สุนี ไชยรส จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา “จากกะเหรี่ยงบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์” เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 64 ว่ากฎหมายป่าไม้ของไทยที่ล้าหลังและไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชนก็ต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน

โดยสุนีกล่าวว่าการแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับชนพื้นเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านในชุมชนอื่น ๆ อีกมากมายที่ยังมีข้อพิพาทในพื้นที่ป่าอยู่เช่นกัน และในรัฐธรรมก็มีการพูดถึงสิทธิชุมชน และมีกติการะหว่างประเทศที่คุ้มครองอยู่แล้ว แต่รัฐไม่เคยนำมาปฏิบัติใช้ และถ้าจะมีกฎหมายขึ้นมาใหม่ก็ต้องไม่ใช่แค่คุ้มครอง แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจัดการตนเองและมีอำนาจในการตัดสินใจเองได้ 

สะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบถังน้ำมันซึ่งมีชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่
สะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบถังน้ำมันซึ่งมีชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่

 

ในขณะเดียวกัน การสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับการคุ้มครองวัฒนธรรมชนพื้นเมืองก็สำคัญเช่นกัน กิตติศักดิ์กล่าวว่าคนในสังคมมักมีอคติกับชนพื้นเมือง ซึ่งจะต้องใช้เวลาและการรณรงค์อย่างจริงจังในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

"เหมือนกับการจัดแจกัน ถ้ามีดอกร้อยอย่างมันก็จะสวย ถ้าดอกอย่างเดียวมันก็ดูจืด ๆ ถ้าให้เห็นมิติของความสวยงาม มิติของประโยชน์ คุณค่า คิดว่าระบบการศึกษาก็สำคัญ การรณรงค์ก็สำคัญ" กิตติศักดิ์กล่าว

ส่วนอภินันท์มองว่าการผลักดันให้ภาครัฐเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ในการอนุรักษ์อาจจะเป็นไปได้ยากถ้าหากภาพลักษณ์ในแง่ลบของชนพื้นเมืองยังไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นการทำงานเพื่อลดอคติทางวัฒนธรรมจึงสำคัญเช่นกัน และต้องทำงานสื่อสารกับสาธารณะเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับวิถีวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอีกด้วยก่อนที่จะไปถึงการสร้างโครงสร้างทางกฎหมาย ซึ่งเขาระบุว่าเป็นเพียงกลไกในการแก้ไขปัญหา แต่อาจจะไม่ได้นำมาสู่การทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีความหวังอยู่บ้าง สำหรับอภินันท์ ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน ถือเป็นเรื่องราวของความสำเร็จและเป็นข้อพิสูจน์ว่าชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้ ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นการจัดตั้งพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองสามารถใช้ชีวิตตามวิถีเดิมและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ซึ่งกระบวนการจัดการไฟป่าของบ้านดอยช้างป่าแป๋ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถดูแลป่าทั้งหมด 27,000 ไร่ได้โดยที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพียง 270 ไร่ต่อปี 

นอกจากนี้บ้านดอยช้างป่าแป๋ยังเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้หน่วยงานราชการหันมาให้ความสนใจถอดบทเรียนเพื่อนำเสนอเป็นแนวนโยบาย ซึ่งอภินันท์กล่าวว่าถือเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดในการมองชนพื้นเมืองมาเป็นว่าพวกเขามีความรู้ที่สามารถใช้จัดการตัวเองได้

ถึงแม้ว่าหนทางจะยังอีกยาวไกลโดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะ อภินันท์ก็กล่าวว่านี่คือสัญญาณของความสำเร็จ เขาตั้งข้อสังเกตว่าชนพื้นเมืองเริ่มพูดเรื่องของตนได้มากขึ้นและมีพลังที่จะใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมในการแก้ไขปัญหา 

“เราคิดว่าสิบปีของการมีมติ ครม. อย่างน้อยที่สุดมันมีสัญญาณบางอย่างที่เห็นว่ามันมีโอกาสจะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ ไม่ใช่ว่ามันไม่มีสัญญาณเลย” อภินันท์กล่าว

 

“ใจแผ่นดิน” แผ่นดินในหัวใจ 

หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่มายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ถือภาพวาดของปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่มายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ถือภาพวาดของปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
 

ที่บ้านบางกลอย สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น สมาชิกชุมชนต้องพบเจอกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตำรวจ และทหาร ประจำการในพื้นที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยมีการลาดตระเวนในพื้นที่ทุกวัน ในขณะที่มีการขัดขวางไม่ให้มีการขนส่งเสบียงอาหารขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินและมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยเป็นระยะ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังเข้าไปกดดันแกนนำชุมชน มีการถามชื่อและถามว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน ในขณะที่มีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงบังคับอพยพชาวบ้านที่เดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินเหมือนที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2554 

หลังการชุมนุมเป็นเวลาสองคืนสามวันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดการคุกคามชุมชน รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงทั้งหมด 4 คนได้มีการเซ็นสัญญา MOU กับตัวแทนชุมชน ซึ่งเป็นการให้สัญญาว่าชาวบ้านจะสามารถเดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินเพื่อใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ โดยภาครัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิของชาวบ้านในการกลับไปใช้ชีวิตที่แผ่นดินของบรรพบุรุษและจะต้องปฎิบัติตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในมติ ครม. เมื่อพ.ศ.​2553 อีกด้วย

นอกจากนี้สัญญาฉบับดังกล่าวยังระบุว่าสมาชิกชุมชนที่ต้องการอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยจะต้องได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปประจำการในหมู่บ้านจะต้องหยุดการตั้งด่านตรวจและลาดตระเวน ซึ่งถือเป็นการคุกคามสมาชิกชุมชน และต้องรับรองความปลอดภัยของชุมชน 

ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา, 25 ก.พ. 64

หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?, 4 ก.พ. 64

“Zero Burning” เมื่อไฟไม่ใช่ปีศาจเหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่อนุญาตให้เผา?, 3 ก.พ. 64

ตัวแทนชุมชนที่มาร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 
ตัวแทนชุมชนที่มาร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 
 

แต่ถึงกระนั้น เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 กลับมีรายงานว่ามีเฮลิคอปเตอร์บินเข้าไปในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน รวมถึงรายงานว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ขีดเส้นตายให้นำตัวชาวบ้านลงมาจากบ้านใจแผ่นดินภายในเวลา 18.00 น. ของวันนั้น ในช่วงเย็นวันที่ 22 ก.พ. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นำตัวชาวบ้านกลับลงมาแล้ว 13 คน

คืนวันที่ 22 ก.พ. ชาวบ้านที่ยังคงอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินมีทั้งหมดราว 60 คน หนึ่งในนั้นคือนอแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ซึ่งเดินไม่ได้และขอให้ลูกหลานช่วยกันแบกขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินเมื่อคืนวันที่ 21 ก.พ. 64

ที่ผ่านมา นอแอะเคยกล่าวไว้หลายครั้งว่าต้องการกลับไปอยู่ที่แผ่นดินของบรรพบุรุษ และกล่าวว่าตนยอมตายดีกว่าถูกบังคับให้อพยพอีกครั้ง 

หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่มายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ถือป้ายผ้ามีข้อความว่า “No rights, no world heritage site” (“ถ้าไม่มีสิทธิ ก็ไม่มีมรดกโลก”)​ 
หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่มายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ถือป้ายผ้ามีข้อความว่า “No rights, no world heritage site” (“ถ้าไม่มีสิทธิ ก็ไม่มีมรดกโลก”)​ 
 

บนเส้นทางโค้งสุดท้ายก่อนการเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเป็นครั้งที่สี่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมที่จะถึงนี้ที่เมืองฟู่โจว ประเทศจีน หลังจากที่ผ่านมาคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนพื้นเมืองในพื้นที่เสียก่อน ชุมชนชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานมีความกังวลว่าพวกเขาจะถูกละเมิดสิทธิมากไปกว่าเดิมหากปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนไม่ได้รับการแก้ไขก่อนที่กลุ่มป่าแก่งกระจานจะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

และถึงแม้ว่ารัฐอาจสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ แต่สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่ชุมชนต้องถูกพรากจากดินแดนของบรรพบุรุษ ต้องอยู่กับปัญหาที่เรื้อรังและยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมซึ่งไม่สามารถตีค่าเป็นเงินได้ต้องสูญเสียไป รัฐไทยจะรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net