ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ‘วอล์กเอาต์’ จากวงเจรจา หลังรัฐบ่ายเบี่ยงต่อรองตามข้อตกลง

สี่ตัวแทนเจรจาจากบ้านบางกลอยบน วอล์กเอาต์หลังภาครัฐบ่ายเบี่ยงการเจรจาตามข้อตกลงที่คุยกันเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564-ฝั่งชาวบ้านยืนยันว่าอยู่ต่อ แม้จะเผชิญการใช้ความรุนแรงจากรัฐ

ภาพถ่ายโดย จรัสรวี ไชยธรรม
ภาพถ่ายโดย จรัสรวี ไชยธรรม
 

26 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 25 ก.พ. 2564 กรมอุทยานป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ณ ศาลพอละจี บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อหารือกับตัวแทนชาวปกาเกอะญอ 4 คน ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับอำนาจจาก นอแอะ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนและได้ เดินเท้าลงมาจากบ้านใจแผ่นดิน และสมาชิกภาคีเครือข่าย เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินในผืนป่าแก่งกระจาน

เมื่อเวลา 09.40 น. ทีมเจรจาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดย จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ ทส. ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผช.อช. ประกิต วงศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยาน เนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน ประสูตร หอมบันเทิง นายอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พ.อ.สนอง ธัญญานนท์ ผอ.กอ.รมน. จ.เพชรบุรี ตำรวจ สภ.แก่งกระจาน พิชัย​ วัชรวงษ์ไพบูลย์​ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่​ 3​ สาขาเพชรบุรี ​ชาตรี วชิระเผด็จศึก ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล​ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาถึงศาลาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ในหมู่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อเจรจากับชาวบ้าน 4 คน ที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน และมีตัวแทนชาวบ้านทำหน้าที่ล่ามแปลการเจรจาเป็นภาษากะเหรี่ยง พร้อมผู้สื่อข่าวมากกว่า 10 สำนักร่วมติดตามสถานการณ์

เนตรนภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม โดยสื่อมวลชนสอบถามถึงยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร หรือปฏิบัตการนำชาวบ้านที่เดินทางกลับไปที่บ้านใจแผ่นดินกลับมาอาศัยที่บางกลอยล่าง ที่ดำเนินการวันแรกเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ว่าวันนี้ถือเป็นการปิดยุทธการหรือไม่ 

“ยุทธการปิดไปเมื่อสองวันที่แล้ว (23 ก.พ. 2564) ...ผลการปฏิบัติก็สืบเนื่องจนมาถึงเวทีนี้ ทำให้มีการพูดคุยกัน และก็ช่วยกันแก้ไขปัญหา” เนตรนภา กล่าว

นอกจากนี้ เนตรนภายังกล่าวเพิ่มเติมก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นว่า ทางภาครัฐจะมาช่วยแก้ไขปัญหาแบบพี่น้อง เปิดใจคุยกัน

ชาวบางกลอย ‘วอล์กเอาต์’ หลังทีมเจรจาฝั่งรัฐบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคุยเรื่องการกลับใจแผ่นดิน

จงคล้าย ตัวแทนการเจรจากล่าวกับชาวบ้าน ชี้แจงว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเจรจากับชาวบ้านวันนี้เผื่อมาแก้ปัญหาที่ชาวบ้านบางกลอยล่างประสบ โดยตลอด 3-4 วันที่ผ่านมา ทส. ส่งชุดเก็บข้อมูลมา สำรวจปัญหาและพบว่า ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องที่ดินไม่สามารถเพาะปลูกได้  ขาดแคลนที่ดินทำกินและแหล่งน้ำ  

(หน้าสุด) จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะกำลังเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน

(หน้าสุด) จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะกำลังเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน

"เมื่อก่อนนี้อาจจะมีปัญหาขลุกขลักเรื่องของวันนี้ไม่มีน้ำ ดินไม่ดี แต่ไม่เป็นไรเรื่องนี้พวกนี้แก้ไขปัญหาได้ ซึ่งรับปากไว้แล้วว่าเราจะมาช่วยตั้งแต่วันนั้น เดี๋ยวเราจะลองดูแต่ละแปลง ๆ ใครยังมีปัญหาอะไรอยู่ แล้ววันนั้น เรามาคุยกัน เรามาพูดให้ฟัง อาจจะไม่เชื่อว่ามากี่ครั้งก็ไม่เห็นช่วยสักที วันนั้นถามผม ...ที่ดินตรงนี้มันสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้” จงคล้าย กล่าว 

ขณะที่ตัวแทนผู้เจรจาฝั่งชาวบ้านนำข้อเสนอที่เขียนขึ้นที่บ้านใจแผ่นดินมาอ่านให้ตัวแทนจากภาครัฐฟังโดยมีข้อเสนอทั้งหมด 7 ข้อ คือ

1. พวกเราชาวบ้านบางกลอยยืนยันว่าต้องการอยู่ในถิ่นฐานเดิมที่เคยอยู่มาก่อน ไม่ได้ไปบุกรุกป่าใหม่ มีร่องรอยการทำมาหากินมาก่อน 

2. คนที่ไม่มีความประสงค์จะกลับขึ้นไปก็ควรได้รับการจัดสรรที่ดินให้สามารถทำกินได้

3. ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีการกระทำของเจ้าหน้าที่ทำให้สิ่งของบางอย่างเสียหาย หรือหายไป เช่น แผ่นโซลาร์เซลล์ และไฟฉาย 

4. ให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการต่าง ๆ ขณะที่มีคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงโดยตรง  

5. สื่อบางสำนักหรือเจ้าหน้าที่หยุดบิดเบือนความจริงว่า พวกเรา ชาวบ้าน ต้องการพื้นที่ 5,400 ไร่ ซึ่งพวกเราก็ไม่ได้พูดว่าจะขอพื้นที่เท่านั้น ๆ จะต้องเปิดป่า 5,400 ไร่ เราไม่ได้พูด

6. ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการมีส่วนร่วมเรื่องไร่หมุนเวียน

7. เราจะรอจนกว่าคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงจะหาข้อยุติร่วมกับคนกลาง

ขณะที่จงคล้าย ตอบข้อเสนอที่สองของชาวบ้าน คือเรื่องการแก้ปัญหาที่บ้านบางกลอยล่างว่า

“เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง อยากให้อยู่ทำกิน... ที่ดินตรงไหนไม่ดี เดี๋ยวเราจะมาดูให้ตรงไหนน้ำยังไม่ถึง กรมทรัพยากรน้ำเข้ามาช่วยดูระบบ ดินไม่ดี เดี๋ยวผมจะคุยกับท่านรองผู้ว่าฯ จ.เพชรบุรี เดี๋ยวจะมีการเกษตร และมูลนิธิปิดทองหลังพระมาช่วยกันดู” จงคล้าย กล่าว

จงคล้าย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางภาครัฐมีคณะทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งจะมาช่วยกันดู วิเคราะห์แก้ปัญหาต่าง ๆ แม้ว่าเมื่อก่อนจะให้การช่วยเหลือช้า แต่ตอนนี้ทุกอย่างจะเร็วขึ้น โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน จะแก้ไขให้ทันที

ด้าน ณัฐวุฒิ รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี กล่าวเพิ่มว่า นายกฯ มีคำสั่งการให้บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยบ้านบางกลอยล่าง โดยเรื่องน้ำ กรมทรัพยากรน้ำมาดูเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ บางที่น้ำไม่ทั่วถึง ดินไม่ดี ก็จะมาตรวจสอบ โดยการเจาะดินไปวิเคราะห์เลยว่ามันขาดอะไร หน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมาเข้ามาดูแล จากเดิมมีแค่กรมอุทยานฯ หลายหน่วยงานก็จะมาช่วยพัฒนาให้มันดีขึ้นกว่าที่มีอยู่ 

ระหว่างนั้น มีชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินที่นั่งฟังการเจรจาลุกขึ้น กล่าวว่า ต่อให้ทางภาครัฐจัดที่ดินให้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีที่ดิน เธอก็ไม่ต้องการ เนื่องจากถ้าภาครัฐนำที่ดินมาให้ ก็ต้องไปเอาของคนไทยคนอื่น ๆ มา ซึ่งเธอไม่อยากไปเอาของคนอื่น 

ขณะที่รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี ตอบกลับว่า ฉะนั้น เขาจึงพยายามพัฒนาที่ดินเดิมตรงนี้ให้มันดีขึ้น เพื่อให้อยู่ได้ พร้อมขอร้องว่าไม่อยากให้ชาวบางกลอยไปอยู่ที่อื่นนอกจากที่บางกลอยล่าง เพื่อสะดวกให้รัฐบริหารดูแลจัดการได้ 

สำหรับคำถามถึงภาครัฐว่า ตั้งแต่ชาวบางกลอยอพยพมาที่บางกลอยล่างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ตามคำสั่งของรัฐ มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน เลี้ยงชีพตลอด ไม่ทราบว่าเคยได้ยินหรือไม่ 

ณัฐวุฒิ รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี กล่าวว่า มาที่นี่เป็นสิบหนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ก่อนจะย้อนถามชาวบ้านว่า ที่บางกลอยล่างกับใจแผ่นดินอยู่ที่ไหนดีกว่ากัน ชาวบ้านตอบว่า ข้างบนดีกว่า ข้าวไม่ต้องซื้อกิน ผักไม่ต้องซื้อ อยู่สบายกว่า ไม่ต้องใช้เงินซื้อของกิน ไม่มีไฟฟ้าก็อยู่ได้ เราสามารถใช้ชีวิตตามวิถีของเราได้ 

ทางทีมฝั่งภาครัฐ กล่าวเพิ่มว่า วันนี้ทางรัฐจะพยายามแก้ปัญหา แต่ต้องวิเคราะห์พื้นที่ใหม่ เราจะย้อนกลับไปไม่ได้ เพราะเราตั้งชุมชนที่นี่แล้ว

จากนั้น ชาวบ้านที่นั่งฟังได้ลุกขึ้นตอบว่า วิถีเราอยู่มานาน อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจเหตุผลของเราที่อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน เพราะอยู่ที่บางกลอยล่างลำบากมาก ต่อให้เป็นตายอย่างไรเราจะขอกลับไป เรายอมตายที่บ้านเกิดดีกว่า และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่า ไม่ใช่ชาวบ้านทุกคนอยากกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนทุกคน บางคนอยากอยู่ที่บางกลอยล่าง 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าใดนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบ่ายเบี่ยงที่จะพูดถึงการกลับไปที่ใจแผ่นดิน เพียงแต่สัญญาว่าจะให้คณะกรรมการมาคุยเรื่องความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาของบ้านบางกลอยล่างเท่านั้น ตัวแทนชาวบ้านจากบางกลอยบน 4 คนจึงลุกออกจากวงเจรจา พร้อมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการจบการพูดคุย ชาวบ้านบางกลอยที่ทำหน้าที่ล่ามขอเล่าข้อมูลประวัติชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินให้ทุกคนฟัง แต่ปรากฏว่าผู้แทน ทส. ตัดบท ไม่ให้อธิบายใด ๆ ต่อ แต่ผู้สื่อข่าวแจ้งว่าต้องการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน

ก่อนที่จะได้เล่าประวัติบางกลอย-ใจแผ่นดิน มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐพูดแทรกขึ้นมาถามล่ามภาษากะเหรี่ยงว่า ชื่ออะไร อายุเท่าไร เกิดที่ไหน สุชาติ ตอบว่า ผมชื่อสุชาติ ต้นน้ำเพชร อายุ 39 ปี เกิดที่บางกลอยบน จากนั้น สุชาติเล่าข้อมูลจนจบ และการเจรจาสิ้นสุดลง โดยที่ไม่ข้อตกลงที่ลงตัว

สุชาติ ต้นน้ำเพชร ขณะอธิบายประวัติบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน
 

ผู้ตรวจสอบ ทส. ไม่รับปากหยุดปฏิบัติการนำชาวบ้านที่อาศัยที่บางกลอยบนกลับลงมา 

จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ ทส. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังการเจรจา เรื่องผลการเจรจา และแนวทางแก้ไขปัญหาให้บ้านบางกลอยล่าง โดยระบุว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการทำฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ฐานข้อมูลตรงกันมากที่สุด ภาครัฐก็ไปสำรวจร่วมกันและก็ไปกับชาวบ้าน ทั้งกลุ่มชาวบ้าน 57 ครอบครัว ลงมาปี 2539 ต่อมาขยายเป็น 61 ครอบครัว ต่อมาเพิ่มเป็น 116 ครอบครัว ซึ่งบางคนได้รับการจัดสรรที่ดินแล้วแต่มีปัญหาการทำกิน และขาดแคลนน้ำ ทส.จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาให้ ให้ที่ดินทุกแปลงสามารถทำกินได้ และ “จะทำให้ดีที่สุด” 

จงคล้าย ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการเจรจากับชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน

จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการเจรจากับชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน

"ตอนนี้รอคณะทำงานที่รัฐมนตรีตั้งขึ้นมา แก้ปัญหาที่ดิน แก้ปัญหาน้ำให้ชาวบ้าน คิดว่าบางสิ่งชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่น แต่รับรองจะนำปัญหาไปคุยในคณะทำงานให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด"

สำหรับคำถาม ที่เจรจากันวันนี้มีเพียงเรื่องบางกลอยล่างเท่านั้น ยังไม่มีการเจรจาเรื่องบางกลอยบน ไม่ทราบว่าจะยังมีเรื่องยุทธการหรือไม่ 

จงคล้ายไม่ระบุจะมีการขึ้นไปเอาชาวบ้านลงมาหรือไม่ แต่ระบุว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง

“หารือกับทางท่านรองฯ อีกที แต่รับรองได้ว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง” จงคล้าย กล่าว 

สำหรับคำถามว่า ถ้าชาวบ้านจะขออยู่บางกลอยบน และล่าง ตรงนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ 

จงคล้าย ไม่ยืนยัน ต้องปรึกษากับคณะทำงานในรายละเอียดก่อน ซึ่งติดขัดเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ โดยตนขอพูดเฉพาะเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ และสามารถแก้ไขได้ที่บางกลอยล่าง 

สำหรับคำถามว่าภาครัฐจะนำข้อเสนอทั้งหมดที่ชาวบ้านร่างใส่กระดาษ ไปพิจารณาหรือไม่ 

จงคล้าย กล่าวว่า จะเอาไปคุยในคณะทำงาน ซึ่งตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้ แต่รับปากจะทำให้ไวที่สุด 

สำหรับเรื่องการเยียวยากรณีที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ไม่สามารถทำมาหากิน หรือทำการเกษตรได้ ทางภาครัฐจะดำเนินการเยียวยาให้หรือไม่ และเมื่อใด 

จงคล้ายตอบว่า ต้องนำเรื่องเข้าไปคุยในคณะทำงาน แต่รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้เท่านั้น 

สำหรับคำถามสื่อที่ว่า ช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามขัดขวางไม่ให้เครือข่าย หรือผู้ที่นำอาหารมาบริจาคให้ชาวบางกลอย-ใจแผ่นดินนำอาหารขึ้นไปส่งที่บ้านใจแผ่นดิน อีกทั้ง มีปัญหาเรื่องการถูกตรวจหรือสกัด การประสานงานในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ตรงนี้สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ถ้าหากมีการนำของมาบริจาค

จงคล้ายตอบว่า การเข้ามามีเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และก็มีการตรวจในเรื่องสิ่งของเข้า-ออกปกติ แต่ขอไม่พูดเรื่องที่ผ่านมาแล้ว 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมจับตาปฏิบัติการณ์พิทักษ์ต้นน้ำเพชรว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทส.จะอธิบายอย่างไร นายจงคล้าย ตอบว่า ไม่อยากพูด เพราะเกรงผลกระทบในหลาย ๆ อย่าง แต่จะแก้ปัญหาที่บางกลอยล่างให้ดีที่สุด จากปัญหาที่คาราคาชัง 25 ปี 

ตัวแทนฝั่งชาวบ้านเปิดใจเรื่องการ “วอล์กเอาต์” 

หลังเสร็จสิ้นการเจรจา จอร์จ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านในการเจรจากับฝั่งรัฐ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการตัดสินใจเดินออกจากวงเจรจาว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขอให้มีตัวแทนมาเจรจาเรื่องที่พวกเราขึ้นไปอยู่บางกลอยบน แต่พอมาเจรจาจริง ๆ กลับพูดแต่เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับปากว่าจะเจรจากัน พูดเรื่องดินไม่ดี ขาดน้ำ ตนจึงลุกออกจากวงเจรจา

จอร์จ ตัวแทนเจรจาชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน คนที่สองจากซ้าย 

จอร์จ ตัวแทนเจรจาชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน คนที่สองจากซ้าย 

“ผมตั้งใจที่จะเดินออก เพราะเขา (ผู้เขียน-ภาครัฐ) ไม่ตั้งใจที่จะมาแก้ปัญหาให้พวกเรา เจ้าหน้าที่รัฐขึ้นไปเพราะว่าต้องการให้พี่น้องข้างบนส่งตัวแทนมาเจรจาเรื่องที่พวกเราขึ้นไปอยู่ข้างบน พอมาถึงกลับไม่ได้คุยเรื่องนี้ ...พอเขามาถึงก็แก้ไขปัญหาทางนี้ขาดน้ำ ดินไม่ดี ทำกินไม่ได้ เขาไม่ได้สนใจเรื่องที่พวกผมลงมา ผมเลยคิดว่าไม่มีอะไรต้องคุย” จอร์จ กล่าว

พวกเขายืนยันว่าจะอยู่ข้างบนต่อไป รวมถึงพะตี่นอแอะก็จะไม่ลงมา แต่คาดว่าฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะขึ้นไปเชิญแบบนี้อีก   

ตัวแทนชาวบ้านระบุว่ากลัวเรื่องที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธขึ้นไปข่มขู่ให้ชาวบ้านลงมาบางกลอยล่าง แต่ชาวบ้านก็ให้กำลังใจกัน พร้อมยืนยันว่าทุกคนจะไม่ลงมาบางกลอยล่าง 

“ถามว่ากลัวไหม กลัว ถามว่าอยากจะอยู่ไหม อยู่ แต่ว่าเราได้กำลังใจจากพวกเรา ให้กำลังใจกัน แต่ถ้าถูกจับ ก็ยอมถูกจับกันทุกคน ทั้งเด็กด้วย คนพิการด้วย ถ้าถูกยิงทิ้ง ก็ยอมถูกยิงทิ้งตรงนั้นทุกคน พวกผมก็ไม่ลง ก็คือจะไม่ลงมา” จอร์จ กล่าว 

 

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาในบ้านบางกลอยล่างโดยเฉพาะที่ดินทำกินเพาะปลูกพืชไม่ได้ โดยส่วนตัวเขายังไม่ค่อยเชื่อมั่นทางภาครัฐเท่าใด เพราะชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ยื่นข้อเสนอไปกว่า 20 ปีแล้ว แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ทำอะไร

“จะมาจัดระบบน้ำให้อะไรให้ แก้ไข ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านบางกลอย-โป่งลึก ยื่นข้อเสนอให้ไป 20 กว่าปีแล้ว ไม่ได้เลย แค่วันนี้คุณจะแก้ไขได้อย่างไร” จอร์จ กล่าว 

เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านคนดังกล่าวระบุว่า

“ตอนชุมนุมคนไปกันเยอะ พี่น้องบางกลอยมากัน 10 คน ทางนู้นมาเป็นร้อยเลย มาช่วยเยอะ ดีใจที่เขามาช่วย ถ้าเขาทำตามสัญญา พวกเราบ้านบางกลอยก็ไม่ไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น พี่น้องชาวเมืองบ้าง รู้สึกว่าอายด้วย ละอายใจด้วย เราไปทำให้เขาเดือดร้อน แต่ถ้าพวกเราไม่เดือดร้อนจริง ๆ ก็คงไม่ไป เป็นพื้นที่ที่พวกผมไม่ชินด้วย”  

“ตอนที่รัฐยอมเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ตอนแรกก็รู้สึกว่าได้รับชัยชนะ แต่ก็มีข้อกังวลว่าเขาจะทำตามที่เขาเซ็นรึเปล่า เขาจะทำไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับเขา ว่าเขาเต็มใจที่จะเซ็นให้เราหรือไม่เต็มใจ ไม่ค่อยมั่นใจว่าเขาเซ็นแล้ว เขาจะทำตามรึเปล่า ซึ่งวันนี้คำตอบก็ออกมาแล้ว เขาไม่ทำตามคำพูด สัญญาที่ให้กันไว้ และไม่เคยทำตลอด 25 ปี ได้แค่พูด ไม่เคยทำ” ตัวแทนเจรจา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรที่บางคนมีความเห็นว่า ‘คนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้’ ตัวแทนเจรจาคนดังกล่าวตอบว่า

“พ่อแม่อยู่ตั้งนาน ป่าก็ยังอยู่ แม่น้ำก็ยังดีกว่าที่กรุงเทพฯ ถ้าเปรียบเทียบ ถ้าพวกเราอยู่ไม่รักษาป่าคงหมดไปนานแล้ว” จอร์จ ทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท